Ilaw
นับตั้งแต่ปี 2548 การเมืองไทยตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งโดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ มีการรัฐประหารสองครั้งคือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีเหตุการณ์ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุนองเลือดในปี 2552 และ 2553 และการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่อีกหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความแหลมคม โดยเฉพาะในการชุมนุมของราษฎรปี 2563 การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่นายกรัฐมนตรี ทหารหรือนักการเมือง หากแต่ขยายไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่มากเป็นพิเศษ
เมื่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ ปัญหาต่างๆ ก็ปรากฏตัวออกมา ทั้งการตีความกฎหมายที่กว้างขวาง การปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว รวมถึงการดำเนินคดีกลั่นแกล้งกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีความพยายามที่จะเสนอให้มีการแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทว่าความพยายามที่เกิดขึ้นก็ถูกขัดขวาง ไม่ให้สามารถเดินหน้าได้
เอกสารให้ข้อมูลของครก.112 จัดพิมพ์ปี 2555 และเอกสารให้ข้อมูลของครก.112 จัดพิมพ์ปี 2564
นับตั้งแต่ปี 2548 การเมืองไทยตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งโดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ มีการรัฐประหารสองครั้งคือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีเหตุการณ์ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุนองเลือดในปี 2552 และ 2553 และการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่อีกหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความแหลมคม โดยเฉพาะในการชุมนุมของราษฎรปี 2563 การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่นายกรัฐมนตรี ทหารหรือนักการเมือง หากแต่ขยายไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่มากเป็นพิเศษ
เมื่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ ปัญหาต่างๆ ก็ปรากฏตัวออกมา ทั้งการตีความกฎหมายที่กว้างขวาง การปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว รวมถึงการดำเนินคดีกลั่นแกล้งกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีความพยายามที่จะเสนอให้มีการแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทว่าความพยายามที่เกิดขึ้นก็ถูกขัดขวาง ไม่ให้สามารถเดินหน้าได้
เอกสารให้ข้อมูลของครก.112 จัดพิมพ์ปี 2555 และเอกสารให้ข้อมูลของครก.112 จัดพิมพ์ปี 2564
ครก.112 รวบรวมรายชื่อเสนอ "แก้ไข" และถูกปัดตกโดยประธานรัฐสภา
คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ครก.112 ถือกำเนิดขึ้นในเดือนมกราคม 2555 เพื่อผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ ในช่วงบรรยากาศที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างหนักหลังการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีคดีความเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ "ดา ตอร์ปิโด" ที่ถูกจับและดำเนินคดีจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่สนามหลวงช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2551 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ "สุรชัย แซ่ด่าน" ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมหกคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2554 โดยมีคดีที่ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนคือคดีของอำพลหรือ "อากง sms" ที่ถูกกล่าวหาว่าส่ง sms ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำหยาบคายไปที่หมายเลขโทรศัพท์ของเลขานุการนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรวมสี่ข้อความถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลารวม 20 ปี
ความตื่นตัวของประชาชนต่อของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกิดขึ้นจากคดีอากงรวมถึงคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ทำให้ในเดือนมกราคม 2555 นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมรวมตัวกันในนาม "คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" (ครก.112) ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อผลักดันข้อเสนอ โดยในการเสนอกฎหมายต้องใช้หลักฐานทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ของประชาชนมากกว่า 10,000 คน
29 พฤษภาคม 2555 รายชื่อของประชาชนที่รวบรวมโดยครก.112 ถูกบรรจุใส่กล่องดำเพื่อนำไปยื่นต่อรัฐสภา (ภาพจากเฟซบุ๊ก ครก.112)
สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายที่นำเสนอในเวลานั้นมีสาระสำคัญ คือ แยกฐานความผิดเป็นฐานหมิ่นประมาทกับฐานดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย แยกความคุ้มครองให้การกระทำต่อพระมหากษัตริย์มีอัตราโทษสูงกว่าตำแหน่งพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนั้นก็ให้ปรับลดอัตราโทษจำคุกลงรวมทั้งให้มีบทยกเว้นความผิดและกำหนดผู้มีสิทธิในการกล่าวโทษเป็นการเฉพาะ
แม้การรวบรวมรายชื่อในยุคนั้นจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะต้องใช้ทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเป็นหลักฐาน รวมทั้งไม่สามารถลงชื่อออนไลน์ได้ และกระแสปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ยังแข็งกร้าว แต่ครก.112 ก็สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนร่างกฎหมายได้ถึง 26,968 รายชื่อ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555
ทว่าในวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายก็ได้รับจดหมายระบุว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยวินิจฉัยว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เข้าข่ายเป็นการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือในหมวด 5 ว่าด้วย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเสนอด้วยการเข้าชื่อ จึงไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาในสภาได้
หลังความพยายามในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎรล้มเหลวไปในปี 2556 สถานการณ์เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เลวร้ายลงไปอีกเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา 112 ด้วยการใช้อำนาจพิเศษในการเรียกตัวบุคคลมาสอบถามและควบคุมตัวในค่ายทหารไม่เกินเจ็ดวันเป็นเครื่องมือในการติดตามตัวผู้ที่อาจจะเคยปราศรัยหรือแสดงออกเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112รวมทั้งออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน โดยนับจากที่คสช.ยึดอำนาจจนถึงวันที่ได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง มีประชาชนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการแสดงออกด้วยรูปแบบต่างๆ อย่างน้อย 98 คน
ครย.112 บริบทที่เปลี่ยนไปกับข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนแปลง
การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เริ่มผ่อนคลายลงจนถึงช่วงปี 2561 มีการออกแนวปฏิบัติของสำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีทั้งหมดเพียงผู้เดียว การออกแนวปฏิบัตินี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงนโยบายจำกัดและผ่อนคลายการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ล่วงมาถึงปี 2563 มาตรา 112 ยังคงอยู่ในภาวะ "งดใช้" แม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่จะทวีความเข้มข้นขึ้น และผู้ชุมนุมบางส่วนแสดงออกถึงพระมหากษัตริย์มากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีกระแสข่าวการหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในกัมพูชา ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และปรามให้ผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมืองให้งดแสดงความคิดเห็นพาดพิงพระมหากษัตริย์
ต่อมาในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย และการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนในเดือนสิงหาคม 2563 กลับยกระดับการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมให้ทวีความเข้มข้น ก่อนที่ผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าราษฎรจะพัฒนาข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องหลักในการชุมนุม ท้ายที่สุดในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 มีการออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา กับผู้ชุมนุมที่ทำความผิด ซึ่งคล้ายเป็นการส่งสัญญาณในเชิงนโยบายที่จะนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง และจะใช้อย่างเข้มเข้ม
หลังมีการออกแถลงการณ์ข้างต้น ตำรวจทยอยออกหมายเรียกนักกิจกรรมที่เคยปราศรัยพาดพิงพระมหากษัตริย์ให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมและ "กลุ่มปกป้องสถาบัน" ต่างๆเช่น ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) หรือ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) ยังสอดส่องและบันทึกหลักฐานการดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางด้วย นับจาก 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth จนถึง 31 ตุลาคม 2564 มีคนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 159 คดี ซึ่งมากกว่าจำนวนเท่าที่บันทึกได้ของผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตลอดเวลาห้าปีเศษในยุคคสช. ทำให้นักเคลื่อนไหวเห็นว่าจำเป็นจะต้องดำเนินการบางอย่างกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เครือข่ายนักกิจกรรมในนาม "คณะราษฎรยกเลิก 112" (ครย.112) จึงนัดชุมนุมเปิดตัวแคมเปญเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่แยกราชประสงค์ โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า "ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112"
การชุมนุมและเปิดรับรายชื่อครั้งแรกของคณะราษฎรยกเลิก 112 31 ตุลาคม 2564
การชุมนุม "ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112" นับเป็นครั้งแรกที่คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) เปิดให้ประชาชนที่ต้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมลงชื่อ ในขณะที่ตัวแทนเครือข่ายร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องให้ศาลรับประกันสิทธิในการประกันตัวและปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน และให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกมาตรา 112 รุ้ง ปนัสยา หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 รวมสิบคดียังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยใช้มีดกรีดแขนตัวเองเป็นตัวเลข 112 พร้อมลายเส้นขีดฆ่าหนึ่งเส้นด้วย หลังจบการชุมนุมครั้งนั้นมีประชาชนมาร่วมลงชื่อบนแบบฟอร์มกระดาษ 3,760 รายชื่อ
ในช่วงดึกของวันที่ 31 ตุลาคม 2564 พรรคเพื่อไทยเผยแพร่เอกสารลงนามโดย ชัยเกษม นิติศิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย โดยมีสาระสำคัญว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดในรัฐสภาขณะนั้นพร้อมนำข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไปหารือในรัฐสภาเพื่อตรวจสอบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมต่อไป จากนั้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้ออกมาชี้แจงว่าเอกสารที่ออกมาเป็นเพียงการอาสานำปัญหามาหารือในสภาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการประกาศว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ขณะที่พรรคก้าวไกลก็เผยแพร่จุดยืนของพรรคในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ยืนยันว่ามาตรา 112 มีปัญหาทั้งตัวบทและการบังคับใช้
เนื่องจากพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ครย.112 เปิดเว็บไซต์ no112.org เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรวบรวมรายชื่อ ซึ่งปรากฎว่าเพียงคืนเดียวมีประชาชนมาร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ 100,556 รายชื่อ ภายในเวลา 24 ชั่วโมง นับถึงเดือนธันวาคม 2564 มีประชาชนมาร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ no112.org มากเกิน 200,000 คน
ล่วงมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางเครือข่ายไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org ซึ่งขณะนั้นสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 240,338 รายชื่อ โดยหน้าคอมพิวเตอร์ปรากฎข้อความว่า เนื้อหาถูกระงับการเข้าถึงเพราะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมา ครย.112 จึงให้ทนายความไปยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวนว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า ข้อความ "สถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะสถาบันการเมือง" ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ข้อความดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย
จนถึงขณะนี้คณะราษฎรยกเลิก 112 ยังไม่ได้นำร่างแก้ไขกฎหมายอาญา ยกเลิกมาตรา 112 ไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร
พรรคก้าวไกลเสนอ ก็ยังไม่ได้เข้า และกลายเป็นเหตุแห่งการยื่นยุบพรรค
นอกจากการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยภาคประชาชน ก็มีความพยายามที่จะใช้กลไกทางรัฐสภาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบโดยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย โดยมีสาระสำคัญคือให้นำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ออกจากประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง แล้วกำหนดลักษณะความผิดใหม่ คือ ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมาใหม่ และให้กำหนดบทยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ ลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา นอกจากนั้น ข้อเสนอจากพรรรก้าวไกลยังกำหนดให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ประชาชนทั่วไปจะริเริ่มคดีเองไม่ได้
แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ไม่เป็นผล ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ถึงร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลว่า สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งได้รับมอบหมายจากเขาให้เป็นผู้รับร่างกฎหมายที่มีการเสนอต่อสภา ซึ่งสุชาติได้ปรึกษากับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6
“ร่างดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดละเมิดไม่ได้ ซึ่งท่านสุชาติรอบคอบมาก และนอกเหนือจากฝ่ายกฎหมายแสดงความคิดเห็นแล้ว ท่านยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาอีกครั้ง ซึ่งทุกคนยังมีความเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ท่านสุชาติไม่ได้บรรจุในวาระ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ไข..."
การให้สัมภาษณ์ของชวนออกมาในบริบทที่พรรคก้าวไกลกำลังเตรียมส่งปดิพัทธ์ สันติภาดา ลงชิงตำแหน่งประธานรัฐสภา โดยพรรคก้าวไกลเองเคยโพสต์ถึงเหตุผลที่ต้องการตำแหน่งประธานรัฐสภาว่า เพื่อให้ทำหน้าที่ผลักดันร่างกฎหมาย โดยที่พรรคก้าวไกลเคยระบุไว้ในสัญญาประชาคมก่อนการเลือกตั้ง 2566 ว่า จะแก้ไขกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับ ซึ่งมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย
ความพยายามของพรรคก้าวไกลในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสภาชุดที่แล้วกับการหาเสียงว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการเลือกตั้ง 66 กลายเป็นเหตุผลที่ตัวแสดงทางการเมืองทั้งสว.และพรรคการเมืองอื่นๆ หยิบยกมาใช้สกัดกั้นโอกาสที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคจะได้รับความเห็นชอบในการลงมติของรัฐสภา จุดยืนและท่าทีของพรรคก้าวไกลที่มีต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกชาดา ไทยเศรษฐ์, สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน และเสรี สุวรรณภานนท์ หยิบยกมาใช้เป็นเหตุผลในการอภิปรายว่าเหตุใดจึงไม่สามารถสนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งได้
"หากจะดูแนวทางของพรรคก้าวไกล ดูได้จากร่างแก้ไข ม.112 ที่เสนอโดย ส.ส.เพื่อพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2564 แม้จะไม่ได้ถูกบรรจุเข้าวาระพิจารณา แต่ทางพรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่าจะผลักดันต่อ หรือหากพรรคก้าวไกลจะไม่ยื่นกฎหมายแก้ไข ม.112 ก็อาจไปขยิบตาให้ภาคประชาชน เช่น ไอลอว์ยื่นกฎหมายเข้ามา หรือแม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดกรอบด้วยว่าไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือจะไปจัดการกับองค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะท่านไม่ถูกใจแบบนี้ไม่ได้" สมาชิกวุฒิสภากล่าว
นอกจากถูกสกัดโอกาสในการเสนอแคนดิเดตนายกฯ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นเหตุให้มีคนไปยื่นเรื่องให้ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าการนำเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อกฎหมายและเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรคได้หรือไม่หลายกรณี เช่น
ในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 สุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี ยื่นหนังสือถึงกกต. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ว่าขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าพรรคการเมืองต้องไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หากพบว่ามีความผิด กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรค
ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ เริ่มกระบวนการยื่นคำร้องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 โดยนำเอกสาร เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2562 ที่สั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้านมาตรา 112 ที่ตัวเองเป็นผู้รวบรวมมายื่นให้ กกต.ว่า การหาเสียงด้วยนโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ธีรยุทธไปยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลเลิกกระทำการใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เนื่องจากอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งเรื่องตามที่ธีรยุทธร้องภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับเรื่อง ธีรยุทธจึงใช้สิทธิยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า กระทำการใดๆเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพิธาและพรรคก้าวไกล เข้าข่ายเป็นการใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครองหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 หนึ่งวันก่อนหน้าวันที่รัฐสภามีกำหนดประชุมร่วมเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี