วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 09, 2566

#ยกฟ้อง ม.112 #ณัฐชนน แต่ให้ริบหนังสือปกแดงเกือบ 5 หมื่นเล่ม ศาลชี้เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่ไม่มีหลักฐานว่าณัฐชนนเป็นผู้ผลิตหรือครอบครอง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
13h·

#ยกฟ้อง ม.112 #ณัฐชนน แต่ให้ริบหนังสือปกแดงเกือบ 5 หมื่นเล่ม ศาลชี้เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่ไม่มีหลักฐานว่าณัฐชนนเป็นผู้ผลิตหรือครอบครอง
.
8 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ ณัฐชนน ไพโรจน์ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือ “หนังสือปกแดง”
.
โดยศาลพิพากษายกฟ้องณัฐชนน เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือ แต่ให้ริบหนังสือทั้ง 45,080 เล่ม เนื่องจากไม่มีเลข ISBN และที่ตั้งของโรงพิมพ์
.
.
เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ก่อนการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง, ตำรวจภูธรภาค 1 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เดินทางไปที่บ้านของสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และตรวจยึดหนังสือปกแดงจำนวนเกือบ 50,000 เล่ม ซึ่งอยู่ในรถเตรียมไปแจกในงานชุมนุมดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงหมายค้น อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกให้ณัฐชนนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 8
.
สำหรับหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือปกแดงเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยของแกนนำ 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคำปราศรัยของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น
.
อัยการสั่งฟ้อง ม.112 เหตุจำเลยผลิตหนังสือและมี 15 ข้อความ รวมถึง 10 ข้อเรียกร้องเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ก่อนศาลนัดสืบพยานทั้งสิ้น 4 นัด
.
ต่อมาในวันที่ 19 ม.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 เพียงข้อหาเดียว โดยบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยและพวกอีก 1 คนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ด้วยการร่วมกันผลิตหนังสือ ชื่อ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” จํานวน 45,080 เล่ม โดยอัยการได้หยิบยก 15 ข้อความในหนังสือ และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ระบุว่า เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112
.
ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 4 นัด โดยสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 22 ก.ย. 2566 ทั้งนี้ อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งสิ้น 9 ปาก ส่วนทนายจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก คือ ณัฐชนนผู้เป็นจำเลย
.
ณัฐชนนต่อสู้คดีโดยยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ รวมทั้งข้อความในหนังสือ หรือข้อความตามคำฟ้องก็ไม่ได้มีคำพูดของตน นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุที่มีการตรวจยึดหนังสือมีคนอยู่บนรถบรรทุกหลายคน แต่คนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด
.
ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน >> https://tlhr2014.com/archives/61220
พิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ชี้ การที่ณัฐชนนนั่งรถมากับหนังสือ ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นผู้ผลิตหรือครอบครอง
.
วันนี้ (8 พ.ย. 2566) ณัฐชนนและทนายความมาถึงศาลราว 08.45 น. มีเพื่อนนักกิจกรรม รวมถึงสื่ออิสระมาพูดคุยให้กำลังใจณัฐชนน ก่อนเดินขึ้นไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 โดยพร้อมเพรียงกัน
.
เวลาประมาณ 09.55 น. ศาลออกพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลได้ถามกับผู้ที่นั่งอยู่ในห้องว่าใครมาฟังคำพิพากษาคดีณัฐชนนบ้าง คนทั้งห้องราว 15 คน ก็ยกมือและกล่าวว่ามาร่วมฟังคดีนี้ จากนั้น ศาลถามณัฐชนนว่า ต้องการให้อ่านอย่างละเอียดหรือแบบสรุป ณัฐชนนบอกศาลว่าต้องการฟังอย่างละเอียด ศาลบอกให้ณัฐชนนนั่งลงและเริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
.
หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งมีข้อความตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ นอกจากจำเลยแล้วก็มีบุคคลอีกหลายคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และถึงแม้ว่าจำเลยจะขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค. 2563 แต่ก็ไม่มีคำปราศรัยของจำเลยในหนังสือ และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจยึดหนังสือมาจากจำเลย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด แม้จำเลยจะนั่งรถมากับหนังสือ แต่พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อนึ่ง หนังสือเล่มนี้ไม่มีเลข ISBN และที่อยู่โรงพิมพ์ จึงให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด 45,080 เล่ม
.
#พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด
.
วิชาญ ชำนาญกุล และ ภูมิภัทร ลาภนิยม ผู้พิพากษาในคดีนี้
.
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า หลังจากมาตรา 112 ถูกนำกลับมาบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ในคดีมาตรา 112 ที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 16 คดี จากทั้งหมด 57 คดี ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนั้นศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 26 คดี, ลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 8 คดี, ยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ 6 คดี และ ยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 1 คดี (ข้อมูลวันที่ 8 พ.ย. 2566)
.
ทั้งนี้ ณัฐชนนถูกดำเนินคดีทางการเมืองในข้อหา มาตรา 112 ทั้งสิ้น 2 คดี ได้แก่ คดีพิมพ์หนังสือถอดเทปคำปราศรัย “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ที่ฟังคำพิพากษาในวันนี้ และคดีจากกรณีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตาม “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลตามหมายจับคดีมาตรา 112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง ซึ่งยังอยู่ในชั้นสอบสวน
.
.
อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/61274





อ่านได้ที่ : http://thai-democracy.com/wp-content/uploads/2020/12/ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า-10สิงหา-ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์.pdf