วันศุกร์, กันยายน 08, 2566

RECAP: รู้จักคดี 112 ของน้ำ-วารุณีจากการตัดต่อชุดราตรี “Sirivanavari” บนพระแก้วมรกต


iLaw
8h
·
RECAP: รู้จักคดี 112 ของน้ำ-วารุณีจากการตัดต่อชุดราตรี “Sirivanavari” บนพระแก้วมรกต

น้ำ-วารุณี จำเลยคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเหยียดหยามศาสนาจากการตัดต่อชุดโอกูตูร์แบรนด์ Sirivanavari Couture แทนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต คดีนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เธอมีความผิดลงโทษจำคุกสามปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งปีกับอีกหกเดือน ศาลอธิบายถึงปัญหาสุขภาพจิตของน้ำว่า เธอมีปัญหาดังกล่าวแต่ทำไปด้วยรู้สำนึกจึงไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษไว้ แม้การพิจารณาจะยังไม่ถึงที่สุดแต่น้ำกลับไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนับแต่วันนั้น จนกระทั่งวันที่ 21 สิงหาคม 2566 เธอจึงประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ย้อนดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้

——-

1. น้ำเป็นผู้หญิงร่างเล็กน้ำหนักไม่ถึง 40 กิโลกรัม ท่วงทำนองบนโลกออนไลน์ของเธอค่อนข้างมีสีสัน วิจารณ์เสียดสี ติดตลกไปตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้น ในบางจังหวะเธอบอกเล่าอาการทางจิตเวชของเธออย่างไบโพลาร์หรืออารมณ์สองขั้ว วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊ก “Warunee Weerasak” เผยแพร่มีม “แก้วมรกต x Sirivanavari Bangkok” โดยเป็นภาพขณะที่รัชกาลที่สิบกำลังประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต แต่เครื่องทรงฤดูหนาวถูกแทนที่ด้วยชุดราตรียาวสีม่วงและมีภาพสุนัขผูกโบว์สีม่วงอยู่ด้านข้างพระแก้วมรกต ปัจจุบันประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวได้แล้ว

2. หลังโพสต์ภาพดังกล่าว มีผู้ใช้เฟซบุ๊กแชทและคอมเมนท์บนเฟซบุ๊กของเธอในทำนองข่มขู่ เช่น อย่าปิดเฟซบุ๊กหนีนะ และคดีมาตรา 112 ใครก็แจ้งความที่ไหนก็ได้ “เกียมอบอุ่นในโลกออนไลน์ แต่เดียวดายที่หน้าบัลลังก์ ได้เลย แต่ละคอมเม้นท์ด้านล่างที่กำลังยุส่ง ถามมันดูมีใครจะไปศาลเป็นเพื่อนมั้ย คดีแบบนี้ใครแจ้งก็ได้ ระวังจะเจอตั้งแต่ ยะลายันศรีสะเกษ ถึงตอนนั้นจะรู้ว่ามันคุ้มหรือไม่” ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เธอโพสต์ภาพมีผู้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กรณีการตัดต่อพระแก้วมรกต พร้อมข้อความว่า ขำพาดหัวคลิป คอมเมนท์ยังเต็มไปด้วยข้อความจากฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามว่า พระแก้วมรกตเป็นกษัตริย์หรือ เหตุใดถึงใช้มาตรา 112 ได้
https://www.facebook.com/photo/?fbid=4974012499299618&set=a.416521828382064

3. วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ตำรวจปอท.จับกุมน้ำที่บ้านพักในจังหวัดพิษณุโลกและแจ้งข้อหาคือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, เหยียดหยามศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้นพดล พรหมภาสิต จากศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ที่เพิ่งประกาศปิดตัวลงเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวน้ำตลอดมาในชั้นสอบสวนและระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น
https://tlhr2014.com/archives/38572

4. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ตามคำฟ้องระบุตอนหนึ่งทำนองว่า การกระทำของน้ำทำให้ประชาชนที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่สิบทรงนำเครื่องแต่งกายผู้หญิงคือชุดราตรีสีม่วงที่เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีทรงออกแบบเป็นโอกูตูร์หมายเลขสิบของแบรนด์ Sirivanavari Couture มาเปลี่ยนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่สิบและแสดงความไม่เคารพสักการะต่อวัตถุและสถานที่ทางศาสนา โดยมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทำให้ดูตลกขบขัน และถูกด้อยค่าต่อประชาชน

5. วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก น้ำเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะและพินิจจำเลยเพิ่มเติม โดยนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ค่ำวันนั้นเธอโพสต์ภาพเซลฟี่พร้อมข้อความว่า “ยิ้ม” ยังคงยิ้มได้ และสเตตัสบนโลกออนไลน์ของเธอยังคงสนุกเช่นเดิมเข้ากับกระแสการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง ดราม่าการเมืองล้วนโลดแล่นอยู่บนไทม์ไลน์ของเธอ
https://www.facebook.com/photo/?fbid=6606565599377625&set=a.416521828382064

——-

6. วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ศาลพิพากษาว่า เธอมีความผิดในทุกข้อกล่าวหาและลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นบทหนักที่สุดสามปี การรับสารภาพถือเป็นเหตุบรรเทาโทษเหลือกึ่งหนึ่ง คงจำคุกหนึ่งปีกับหกเดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะ “จำเลยกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งยังกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปในสังคมที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยมีปัญหาสุขภาพจิต แต่เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ กรณียังไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย”

7. น้ำยื่นคำร้องขอประกันตัวอย่างน้อยห้าครั้งแต่ศาลปัดตกหมดทุกคำขอ แบ่งเป็นยื่นต่อศาลอาญาสี่ครั้ง ซึ่งศาลส่งต่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และอีกครั้งเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวต่อศาลฎีกา เหตุผลหลักในการปฏิเสธไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวคือ โทษอัตราสูง จำเลยให้การรับสารภาพและเกรงว่าจะหลบหนี https://tlhr2014.com/archives/59187 ในการยื่นประกันตัวครั้งที่สาม เธอยินยอมที่จะสวมกำไล EM โดยบอกกับทนายความว่า “เอา EM มาติดคอหนูเลยก็ได้พี่ ทำเป็นโช๊กเกอร์ ติดเท้าติดแขนไปเลย ถ้ากลัวหนูจะหนี (หัวเราะ)” แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดิม https://tlhr2014.com/archives/57455

8. ไบโพลาร์หรืออารมณ์สองขั้วเป็นอาการทางจิตเวชที่น้ำเผชิญมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ แต่ศาลไม่ได้นำมาเป็นเหตุยกเว้นโทษ โลกหลังกรงขังของผู้ป่วยทางจิตเวชอย่างเธอเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อได้พบจิตแพทย์ในเรือนจำน้ำได้รับยานอนหลับ แต่ยารักษาสมดุลโรคไบโพลาร์ไม่มี อาจจะต้องซื้อจากภายนอกและส่งเข้ามาในเรือนจำเอง https://tlhr2014.com/archives/5802

9. วันที่ 21 สิงหาคม 2566 น้ำตัดสินใจอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว เริ่มจากการดื่มเฉพาะนมเท่านั้นก่อน และหากครบสามวันแล้ว ศาลยังไม่สั่งปล่อยตัวอีก เธอจะพิจารณายกระดับการแสดงออกเป็น “การอดอาหารและน้ำ” ทันที และจะปฏิเสธการรักษาทุกอย่างด้วย น้ำเริ่มต้นอดอาหารด้วยน้ำหนักตัวเพียง 33 กิโลกรัมเท่านั้น https://tlhr2014.com/archives/58581 ท้ายสุดศาลยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เธอจึงเริ่มอดน้ำและปฏิเสธการรักษา

10. วันที่ 5 กันยายน 2566 น้ำถูกส่งตัวออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2566 เธออดอาหารมาแล้ว 18 วันและอดอาหารและน้ำรวมแล้ว 15 วัน

——-

#Saveวารุณี #righttobail #สิทธิการประกันตัว #no112



.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h
·
คำชี้แจงกรณีวารุณี : ทนายความเข้าเยี่ยมวารุณีที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ประจำวันที่ 7 กันยายน 2566
.
ในวันที่ 7 กันยายน 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยมวารุณี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ภาพพระแก้วมรกตใส่ชุดราตรีแบรนด์สิริวรรณวลี ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากวารุณีได้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมาเป็นวันที่ 18 และจำกัดการดื่มน้ำเป็นวันที่ 15
.
อาการของร่างกาย
.
วันนี้เป็นวันที่สามที่วารุณีได้ย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ วารุณีแจ้งว่าน้ำหนักเธอลดลงอีกหนึ่งกิโลกรัม ทำให้ตอนนี้หนัก 32 กิโลกรัมเท่านั้น แต่วารุณีบอกว่าเธอยังอาการทรงตัว ผลเลือดต่างๆ สะท้อนว่าขาดน้ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นผิดปกติ ทำให้เธอสงสัยว่าสภาพร่างกายเธอทนอยู่ได้อย่างไร เมื่อเทียบกับตอนที่อยู่ในเรือนจำนั้นอาการทรุดลงเรื่อยๆ เธอยังคงไม่ได้ขับถ่ายเลยตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เธอเล่าว่าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แม้เธอจะปฏิเสธการรักษา แต่เจ้าหน้าที่และแพทย์ก็ดูแลเป็นอย่างดี
.
วารุณียังหยิบแก้วน้ำที่เธอวัดปริมาตรไว้ 60 CC สำหรับทานยารักษาโรคประจำตัว เธอยังปฏิเสธการให้น้ำเกลือและยาชนิดอื่น
.
ความประสงค์
.
วารุณียังยืนยันอดอาหาร จำกัดการดื่มน้ำ จนกว่าจะได้รับสิทธิประกันตัว
.
การยื่นขอปล่อยตัว
.
วารุณี ยื่นขอประกันจากศาลอุทธรณ์มา 5 ครั้ง และศาลฎีกา 2 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวเนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี
.
.
ทนายความและญาติวารุณี
7 กันยายน 2566