วันศุกร์, กันยายน 08, 2566

ดราม่าน่าทึ่ง สภา กทม.งัดข้อ ผู้ว่าฯ ตีตกงบประมาณติดตั้งแอร์ห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล

มันเป็นดราม่าน่าทึ่ง ที่สภา กทม. ๔๙ เสียงงัดข้อ ผู้ว่าฯ ไม่ยอมอนุมัติโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล มูลค่า ๒๑๙ ล้านบาท ในงบประมาณรายจ่าย ปี ๖๗ ตามที่ผู้อภิปรายสงวนความเห็น ๔ คน ค้านแหลก

แม้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แจ้งว่าโครงการนี้ “อยู่ในนโยบายการจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง อายุ ๑-๖ ขวบ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมองจะสามารถพัฒนาได้ดีที่สุด หลายครั้งเราละเลยเด็กกลุ่มนี้ ประกอบกับการสอนให้เด็กเล็กใส่หน้ากากทำได้ยาก”

และมีวลีคมคายจากปากผู้ว่าฯ ด้วยว่า “ทำไมห้องผู้ว่าฯ ยังมีแอร์ได้” แต่โฆษกของสภาฯ ออกมาตอบโต้ต่อเสียงวิจารณ์ขนาดหนัก ว่าเหตุที่ “พวกเรา” ตีตกโครงการนี้ของผู้ว่าฯ เพราะติดใจสงสัยว่าจะเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ของบฯ เกินจริง

นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สก.เขตคลองสามวา ออกคลิปชี้แจงว่านักเรียนอนุบาลใน กทม.มีไม่มากเท่าที่โครงการอ้างจำนวน ๔๐๐ กว่าแห่ง การของบประมาณเพื่อติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด ๓ หมื่นบีทียู ๒ เครื่องต่อ ๑ ห้องเรียนมากไป

ผู้อภิปรายคัดค้าน อ้างเหตุผลหลายอย่างที่คนทั่วไปก็ฟังไม่ขึ้นเหมือนกัน บ้างอ้างปัญหาทางเทคนิค ว่า “เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการ” สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบังบอก “เพราะแต่ละโรงเรียนมีงบฯ สำหรับปรับปรุงซ่อมแซม ๕ แสนบาทอยู่แล้ว

ทำไมไม่ใช้ตรงนั้นล่ะ” บ้างว่าไม่คุ้มค่างบประมาณ กนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง บอกแอร์สองเครื่องไม่ช่วยให้เด็กมีสุขภาพเด็กที่ดีแล้ว ยังเป็นภาระของกรุงเทพมหานครไปอีกนาน และยังเป็นคุรุภัณฑ์ที่เป็นภาระของโรงเรียนอีกด้วย

ด้าน วิรัช คงคาเขตร จาระไนตัวเลขว่านอกจากค่าใช้จ่ายติดตั้งกว่า ๒๐๐ ล้านนี้แล้ว ยังจะมีค่าไฟที่จะเพิ่มขึ้นเป็นงบประมาณผูกพันอีกปีละ ๕๐ ล้านบาท เขาว่าโครงการนี้ “ยังไม่ถึงเวลา” แต่เด็ดสะระตี่กว่าใครต้อง ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี สก.เขตสายไหม

“เด็กสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่ได้รวย เวลากลับไปอยู่บ้านไม่ได้นอนห้องแอร์ ท่านอย่าลืมคิดตรงนี้” เธอว่าจะเอาไปเปรียบกับกับโรงเรียนเอกชนไม่ได้ “อย่าลืมนะกรุงเทพมหานครของเรา เรียนพรี...ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

แล้ว “ค่าใช้จ่ายค่าไฟตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” ซึ่งสำนักงานของรองผู้ว่า ศานนท์ หวังสร้างบุญ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กทม.มีระเบียบการปิด-เปิดแอร์เพื่อควบคุมค่าไฟไม่ให้พุ่งสูงอยู่แล้ว และเรื่องห้องเรียนขนาดจริง ๔๗-๖๙ ตารางเมตร

จุนักเรียนและครูประมาณ ๕๐ คน ขนาดกำลังแอร์ ๖ หมื่นบีทียู เป็นไปตามมาตรฐานอยู่แล้ว สำหรับกรณีที่ ดร.รัตติกาล แนะให้เอางบประมาณก้อนนี้ไปสร้างบ้านพักครู “แทนที่เราจะเอาเงินเหล่านี้ไปทำอย่างอื่น เอามาช่วยเหลือพวกเรากันเองดีกว่า”

ทางรองผู้ว่าฯ ตอบว่า “กทม.มีโครงการทำห้องพักครูอยู่ในร่างงบประมาณถึง ๕ โครงการ ทำ (งบประมาณ) แยกไว้อยู่แล้วประมาณ ๓๐๐ ล้าน” อันรวมถึงสวัสดิการรองรับครูเข้าใหม่ เรื่องนี้อยู่ในร่างงบฯ “เล่มที่ผ่านไปเมื่อวานนั่นแหละค่ะ” ท่าน สก.ดูให้ถ้วนนะคะ

(https://twitter.com/InterviewHer/status/1699738291074121865, https://twitter.com/quote_wiwata/status/1699676811184193903 และ https://twitter.com/Thairath_News/status/1699771319439814698)