วันพุธ, กันยายน 06, 2566

‘ปิยบุตร’ ขอรัฐบาลเศรษฐาเร่งผลักดันนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง

‘ปิยบุตร’ ขอรัฐบาลเศรษฐาเร่งผลักดันนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง

2023-09-05
ประชาไท

ปิยบุตร เลขาฯ ก้าวหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลเศรษฐาเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมืองย้อนหลังถึงปี 48 ถึงปัจจุบันทุกฝ่ายการเมืองนับตั้งแต่ พธม. นปช. กปปส. และราษฎร เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและความปรองดอง

5 ก.ย.2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ในเฟซบุ๊กทางการของตนที่ฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีให้ผลักดันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมืองย้อนหลังไปไกลถึงการชุมนมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ด้วย

ปิยบุตรก็ได้ระบุถึงกรณีที่มีคนตั้งคำถามและแสดงความไม่เห็นด้วยในกรณีของทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารไปเมื่อ 19 ก.ย.2549 ได้เดินทางเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 22 ส.ค.2566 อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาอภัยลดโทษในคดีเหลือจำคุก 1 ปี จากทั้งหมด 8 ปีไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาและเตรียมเข้าสู่กระบวนการพักโทษหรือได้รับอภัยโทษตามวโรกาสสำคัญต่อไปนั้น

เลขาธิการพรรคก้าวไกลได้เสนอถึงรัฐบาลเศรษฐาและพรรคการเมืองในสภาว่าเพื่อลดทอนการตั้งคำถามเรื่องความไม่เสมอภาค และเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริงและเท่าเทียมแล้ว ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ทุกฝักฝ่ายทั้ง พธม., แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช., คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. และกลุ่มเยาวชน และ “ราษฎร” ด้วย

“นี่ต่างหากที่จะเป็นก้าวแรกของการก้าวข้ามขัดแย้งที่แท้จริง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และเกิดประโยชน์ตกแก่ประชาชนคนธรรมดา นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนลดข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในประเด็นเกี่ยวกับบ่อเกิดของการตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้อีกด้วย” ปิยบุตรระบุ

ทั้งนี้การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ไม่ได้มีเพียงปิยบุตรเท่านั้น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเคยเรียกร้องถึงพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้วเนื่องจากนับตั้งแต่เกิดขบวนการเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาล่าสุดมี 1,241 คดีและมีประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,925 คนแล้ว รวมถึงมีเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกดำเนินคดีอีก 286 คน ใน 215 คดี (ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 5 ก.ย.2566)

ทั้งนี้ในช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์การจับขั้วรวมพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในช่วงแรกพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมและพรรคการเมืองหน้าใหม่รวม 8 พรรคมีข้อตกลงร่วมกันในการผลักดันนโยบายของพรรคต่างๆ เมื่อได้เป็นรัฐบาลจะไม่มีประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอยู่ด้วย แต่เมื่อสถานการณ์ในช่วงที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยกำลังตกลงกันเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะมีการออกข้อตกลงร่วมกันออกมาอีกฉบับที่มีการบรรจุเรื่องนิรโทษกรรมเอาไว้

อย่างไรก็ตามเมื่อสุดท้ายแล้วพรรคก้าวไกลที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ทำให้ข้อตกลงทั้งสองฉบับมีอันตกไป ทำให้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนนักว่ารัฐบาลใหม่ที่เกิดจากการรวมกันของพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาลสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ในวันนี้องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights-FIDH) ร่วมกับอีก 3 องค์กรในไทยคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw), และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเศรษฐาเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนใน 10 ประเด็น ซึ่งมีข้อเรียกร้องในประเด็นการยกเลิกคดีการแสดงออกทางการเมืองอยู่ด้วย

4 องค์กรสิทธิ์เรียกร้องรัฐบาล ‘เศรษฐา’ แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนคดีการเมือง แก้ม.112
MOU 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' ดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่รวมคดี ม.112 และ 'ทักษิณ'
'พท.-กก.-สามัญชน' รับข้อเสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองอย่างน้อยย้อนถึง 49
.....

prachatai @prachatai

ประชาไทอ้างอิงข้อมูลบันทึกโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อัพเดทรายงานจำนวนผู้ถูกคุมขังทางการเมืองในเดือน ส.ค. 2566 มีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นจำนวนทั้งหมด 29 ราย 

นอกจากนี้ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลไม่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองเลยสักคนเดียว 

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 10 ราย ได้แก่ มาตรา 112 (อัญชัญ ปรีเลิศ ปริทัศน์ และ เมธิน) พ.ร.บ.คอมฯ (ศุภากร และเอกชัย หงส์กังวาน) คดีทะลุแก๊ส (ทัตพงศ์ สุวิทย์ และณัฐชนน) และสหพันธรัฐไท (กฤษณะ และวรรณภา) 

ขณะที่คดีที่ยังไม่สิ้นสุด หรืออยู่ในระหว่างชั้นสอบสวน จำนวน 19 ราย โดยแบ่งเป็น คดีมาตรา 112 จำนวน 7 ราย และและที่เหลือเป็นคดีของกลุ่มการชุมนุมทะลุแก๊ส อีก 12 ราย 

ระหว่างถูกฝากขังระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ มีผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 ประกาศอดอาหาร และอดทั้งน้ำและอาหารประท้วง เรียกร้องสิทธิประกันตัวจากในเรือนจำ 2 คน ได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก และวารุณี 

ทั้งนี้ คดีที่สิ้นสุดแล้วจะไม่สามารถทำอะไรได้ และต้องรับโทษจนครบกำหนด ขณะที่อีก 19 คนที่เหลือยังสามารถอุทธรณ์คำพิพากษา และควรได้รับสิทธิการประกันตัวโดยวางอยู่บนหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ก่อนที่จะมีคำตัดสินคดีเด็ดขาด ด้วยการนี้ ประชาไท ชวนย้อนดู 19 ผู้ต้องหาทางการเมืองว่ามีใครบ้างที่ยังถูกคุมขัง และยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว 

อ่านรายละเอียด https://prachatai.com/journal/2023/09/105779…