วันอาทิตย์, กันยายน 10, 2566

เด็กก้าวร้าวไม่ควรมีสิทธิเสรีภาพ ?


นักเรียนเลว
11h
·
“เด็กแบบนี้ไม่ควรได้รับสิทธิอะไรเลย”
“ทำตัวแบบนี้แล้วยังจะมาถามหาสิทธิอีกเหรอ”
นี่อาจเป็นความคิดของหลาย ๆ คนที่มีต่อเด็กที่ไม่ใช่ “เด็กดี” ตามขนบของสังคมที่ออกมาเรียกร้องสิทธิอะไรบางอย่าง หลายคนต้องการให้ “เด็กดี” ได้รับสิทธิของตน แต่กลับไม่อยากให้เด็กที่พวกเขามองว่าเป็น “เด็กเลว” หรือ “เด็กก้าวร้าว” ได้รับสิทธินั้นด้วย ความคิดเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาความไม่เข้าใจหลักการของสิทธิมนุษยชนที่เป็นหลักพื้นฐานที่ทุกคนมีโดยเสมอหน้ากันไม่ว่า “ดี” หรือ “เลว”
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 2 ระบุไว้ว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดอาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด”
สิทธิมนุษยชนมีลักษณะเฉพาะคือเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด มีความเป็นสากล ไม่สามารถถูกพรากไปหรือยกให้แก่กันได้ และไม่สามารถแบ่งแยกได้ นั่นหมายความว่าทุกคนไม่ว่า “ดี” หรือ “เลว” มีสิทธิมนุษยชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง การจะบอกว่าใครควรมีหรือไม่มีสิทธินั้นขัดกับหลักการของสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิมนุษยชนคุ้มครองทุกคนโดยไม่แบ่งแยก
หากมองในมุมของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่การ “ร้องขอ” แต่เป็นการ “ทวงคืน” สิทธิที่ถูกพรากไป เราต้องยึดหลักการที่ว่าทุกคนมีสิทธิมนุษยชนและรัฐที่มีหน้าที่ในการเคารพ ปกป้อง และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของพวกเขา ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นผู้เรียกร้องหรือเรียกร้องด้วยวิธีใดก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ารัฐยังมีหน้าที่เหล่านั้นอยู่นั่นเอง
นอกจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้นก็คุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนและรัฐก็มีหน้าที่ในการดำเนินการให้เด็กได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกัน โดยได้ระบุไว้ดังนี้
1. รัฐภาคีจะเคารพและประกันสิทธิตามที่กำหนดไวในอนุสัญญาน้ี แก่เด็กแต่ละคนที่อยู่ในเขตอำนาจของตน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าชนิดใด ๆ โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่น ๆ ของเด็ก หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
2. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง เพื่อที่จะประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ หรือการลงโทษในทุกรูปแบบ บนพ้ืนฐานของสถานภาพ กิจกรรมความคิดเห็นที่แสดงออกหรือความเชื่อของบิดา มารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือสมาชิกในครอบครัวของเด็ก
หลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิคือการคุ้มครองทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน เด็ก “ก้าวร้าว” ก็ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิโดยไม่แบ่งแยก เราควรยึดมั่นในหลักที่ว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ว่าเขาจะถูกมองว่าเป็น “เด็กดี” หรือ “เด็กเลว” ก็ตาม
อ้างอิง
https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/
https://www.amnesty.or.th/latest/blog/62/
https://www.amnesty.or.th/.../0373/escr_mannual_thai.pdf
https://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/crct.pdf
——
#นักเรียนเลว
.....

Sunai @sunaibkk

ถ้า #หยก ยอมรับกระบวนการยุติธรรมก็คงใช้ศาลเป็นช่องทางแก้ปัญหาการแต่งตั้งผู้ปกครอง และโต้แย้งคำสั่งของโรงเรียน #เตรียมพัฒน์ ที่ถอดชื่อจากทะเบียนนักเรียนเพราะอ้างว่าไม่ได้มอบตัวตามขั้นตอน แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพ และสิทธิเด็ก เช่น สธ. พม. กสม. ต้องรีบช่วยแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก อย่าปล่อยให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อหยก และนักเรียนคนอื่น #ส่องทวิตยามเช้า