วันอังคาร, กันยายน 12, 2566

วันแรกของการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา 1” สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ต่างวิจารณ์คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “ไม่ตรงปก” ไม่ตรงกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ พร้อมตั้งฉายาว่าเป็น “นโยบายล่องหน” ซ้ำยังขาดรายละเอียด ตัวชี้วัด และที่มาของงบประมาณ



เศรษฐา 1: นายกฯ แจงเติมเงินดิจิทัล 10,000 กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น - จุลพันธ์ รับกระบวนการยังไม่ชัด แต่ไม่กู้เพิ่ม

11 กันยายน 2023
บีบีซีไทย

วันแรกของการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา 1” สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ต่างวิจารณ์คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “ไม่ตรงปก” ไม่ตรงกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ พร้อมตั้งฉายาว่าเป็น “นโยบายล่องหน” ซ้ำยังขาดรายละเอียด ตัวชี้วัด และที่มาของงบประมาณ

วันนี้ (11 ก.ย.) ถือเป็นครั้งแรกที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เดินทางเข้ารัฐสภา โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า มีหลายความรู้สึก ทั้งเป็นเกียรติและตื่นเต้นเพราะไม่เคยมา ส่วนการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา “ไม่มีอะไรน่ากังกล เพราะเตรียมตัวมาดี”

นายเศรษฐาใช้เวลาราว 50 นาที ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา (อ่านสรุปนโยบายของรัฐบาล ที่นี่)

ขณะที่ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปรายเพื่อติติง คัดค้าน และให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 14 ชม. โดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จัดเตรียม “ขุนพล” ไว้ราว 30 คน มีทั้ง สส. หน้าเก่าและหน้าใหม่ ส่วน สว. ขอใช้สิทธิอภิปรายกว่า 50 คน ทำให้ได้เวลาพูดเฉลี่ยคนละ 5 นาทีเท่านั้น

หลังฟังอภิปราย 7 ชม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นแจงเป็นครั้งแรก ยืนยันนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ส่วนการพักหนี้เกษตรกร รัฐบาลมีแนวทางเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ 3 เท่าภายใต้ 4 ปี

ภายหลังฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา (สว.) วิจารณ์นโยบายรัฐบาลตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ 10.35 น. นายเศรษฐา ได้ชี้แจงต่อรัฐสภา ในเวลา 17.35 น. โดยไล่เรียงนโยบายแต่ละข้อที่ได้แถลงต่อสภา

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายจะยึดโยงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และครอบคลุมคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 ว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่ฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อสังเกตในคำแถลงนโยบาย

นโยบายพักหนี้เกษตรกร นายกฯ กล่าวชี้แจงว่า การพักหนี้เกษตรกรในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 13 ครั้ง รัฐบาลตระหนักดีว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงมีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งนายเศรษฐาประกาศว่า จะทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี โดยการใช้แนวทาง "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ควบคู่ไปกับการพักหนี้

ในด้านนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นายเศรษฐา กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินโครงการ อย่างเช่น ระยะเวลาใช้เงิน 6 เดือน ยืนยันว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้น ส่วนการให้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากบัตรประชาชน เป็นไปเพื่อเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค แต่อาจจะพิจารณาปรับขยายในบางพื้นที่

"เศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น ถ้าคนที่มีถิ่นฐานที่จังหวัดใด ก็ควรกลับไปใช้ที่นั่น มีเวลา 6 เดือน กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น เรื่อง 4 กม. ต้องขอคงไว้ ยกเว้นบางจังหวัด บางเขตอาจจะมีการขยาย"



ส่วนนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการระบุตัวเลขไว้ในนโยบายรัฐบาลทั้งที่พรรคเพื่อไทย มีการหาเสียงว่าจะขึ้นเป็นวันละ 600 บาทภายในปี 2570 นายเศรษฐา ชี้แจงว่า "ค่าแรงขั้นต่ำ สมควรได้รับการปรับโดยเร็วที่สุด และเราตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าแรงขึ้นไปได้ถึง 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน"

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะ "สามารถลดค่าพลังงานให้ต่ำลงอย่างมีนัยได้" การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเริ่มทำโดยเร็ว ดำเนินการก่อนในส่วนที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน และการแก้ปัญหาทุจริตที่จะนำระบบดิจิทัลมาใช้มากขึ้น

จุลพันธ์ แจงแหล่งงบฯ นโยบายเงินดิจิทัล ไม่กู้เพิ่ม ไม่แตะ "ทรัพย์สมบัติของชาติ"

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ไม่ใช่เรื่องกระบวนการได้มาของคะแนนเสียงระหว่างการเลือกตั้ง แต่เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจของ ประเทศที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากไปยังทุกภูมิภาค และชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับประเทศ และ “ไม่มีเทคโนโลยีใด โปร่งใส และตรวจสอบได้เท่ากับเทคโนโลยีบล็อกเชนในปัจจุบัน"

"ประชาชนมีกระเป๋าเงินสองกระเป๋า คือ กระเป๋าเงินสด และกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้รองรับ เป็นโอกาสที่จะมาถึงและเราต้องคว้าให้ได้ในโครงการนี้"

สำหรับแหล่งที่มาของงบประมาณ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลยึดมั่นกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก โดยจะไม่ใช้เงินนอกงบประมาณ ตามที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) อภิปราย แต่แหล่งเงินงบประมาณจะมาจากที่ใด ขอเวลาพิจารณารายละเอียดให้มีความชัดเจน โดยยืนยันว่าจะไม่กู้เพิ่ม ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และยึดหลักกรอบวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด

"จะไม่มีแตะต้องทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักดิ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันตนก็ตาม... กระบวนการที่เราจะทำสุดท้ายจะมีความชัดเจน ขอเวลาในการดูรายละเอียด”

ในการชี้แจง รมช.กระทรวงการคลัง ยังไม่ยืนยันถึงความชัดเจนของรายละเอียดการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการใช้จ่ายและระยะทาง โดยย้ำว่าอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น ส่วนข้อวิจารณ์ว่าเป็นโครงการจะทำให้ทุนใหญ่ได้ประโยชน์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติ โดยจะให้สิทธิประชาชนในการเลือกใช้จ่ายเชื่อว่าประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้เม็ดเงินอย่างมีประโยชน์สูงสุด

นายกฯ ประกาศใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท “จุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจ”


เศรษฐา ทวีสิน ใช้เวลา 50 นาทีในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา

หนึ่งในนโยบายสำคัญรัฐบาลนายเศรษฐาที่สังคมให้ความสนใจ และถูกสมาชิกรัฐสภาหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างกว้างขวาง หนีไม่พ้น นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้รับการบรรจุให้เป็นนโยบายระยะสั้นของรัฐบาล

ในระหว่างแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา นายเศรษฐาชี้แจงว่า นโยบายนี้ “จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง” โดยใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน เกิดการผลิตสินค้ามากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ โดยรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า นโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

นายกฯ คนที่ 30 ยังเปรียบเปรยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของไทยเป็นเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 เป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยอีกครั้ง

สว.-สส.ฝ่ายค้าน รุมถาม เอาเงิน 5.6 แสนล้านมาจากไหน

อย่างไรก็ตาม บรรดา สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ต่างตั้งคำถามตรงกัน 2 ข้อคือ รูปแบบดำเนินการจะใช้แพลตฟอร์มใด และใช้งบประมาณจากแหล่งใด ใช้เงินในงบประมาณ หรือนอกงบประมาณแผ่นดิน

ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรค พท. แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การดำเนินโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะใช้งบประมาณราว 560,000 ล้านบาท โดยใช้การบริหารระบบงบประมาณปกติและบริหารระบบภาษี มีที่มาจาก 4 แหล่ง

1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท

2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท

3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท

4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา มองว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทถือว่าเป็นนโยบายที่ชาญฉลาด กล้าหาญ แต่ก็แฝงความสุ่มเสี่ยง จากการเทงบประมาณมหาศาลเทียบเท่างบลงทุนของหนึ่งปีงบประมาณลงไป

“ท่านนายกฯ บอกว่าพรรคเพื่อไทยไม่ใช่แค่ใช้ต้นทุนสูงมาก (ในการจัดตั้งรัฐบาล) แต่เทหมดหน้าตัก การเทหมดหน้าตักในครั้งนี้ไม่ใช่แค่หน้าตักของเพื่อไทย หรือของพรรคร่วมฯ แต่เป็นหน้าตักของประเทศ เพราะงบมันสูงเท่ากับงบลงทุนในหนึ่งปีงบประมาณ เทไปโครมเดียวเลย” นายคำนูณกล่าว

สว. รายนี้ยังแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อแหล่งที่มาของเงินมีปัญหา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไปแตะสินทรัพย์อื่นของประเทศ เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศ "เหมือนในอดีตพรรคของท่านแถลงนโยบายบอกว่าจะบริหารสินทรัพย์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอนนั้นมีแนวคิดจะตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ แต่ที่สุดตั้งไม่ได้ในช่วง 4 ปี"


เอกสารนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาที่แจกจ่ายให้สมาชิกรัฐสภามีเนื้อหา 52 หน้า

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่ว่าจะใช้เงินในหรือนอกงบประมาณแผ่นดินมาดำเนินการนโยบายนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีเงินสด 560,000 ล้านบาทมากองเพื่อการันตีว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่ากับ 1 บาทในโลกดิจิทัล เพราะถ้าไม่มีเงินแบ็กอัพ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของร้านค้า

สส.หญิงรายนี้ เห็นว่า รัฐบาลมี 2 ทางเลือก ระหว่าง

ทางเลือกแรก ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ถ้าดูงบประมาณปี 2567 กรอบวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท จะพบว่า “ไม่เพียงพอ” โดยเหลืองบที่ใช้ได้จริง ๆ เพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น หลังหักงบประมาณรายจ่ายประจำ, ค่าใช้จ่ายบุคลากร, ชำระหนี้, ชดใช้เงินคงคลัง, งบผูกพัน, ท้องถิ่น และสวัสดิการออกแล้ว

ทางเลือกที่สองใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 ช่องทาง
  • ขายกองทุนวายุภักษ์ มูลค่า 346,000 ล้านบาทให้หมดใน 4 เดือน ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุน และทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน
  • ยืมกองทุนหมุนเวียน โดยเลือกระหว่างล้วงกระเป๋าผู้ประกันตน (ใช้กองทุนประกันสังคม) หรือล้วงกระเป๋าข้าราชการบำนาญ (ใช้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
  • กู้แบงก์รัฐ โดยกรอบนโยบายการคลังให้กู้ได้ 32% ของงบประมาณ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 มีวงเงินเหลือ 62,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือ 18,000 ล้านบาท ถ้านายกฯ เลือกวิธีนี้ ก็ต้องขยายเพดานทางการคลัง ซึ่งต้องถามว่า “นายกฯ บอกว่าจะเคร่งครัดเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่งานแรกจะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยเลยหรือ”

ศิริกัญญา วิจารณ์ “เขียนคำแถลงนโยบายเป็นแค่คำอธิษฐาน”

เมื่อดูภาพรวมของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา เห็นว่า “มีแต่ความว่างเปล่า เบาหวิว ไม่ได้บอกอะไร”

น.ส.ศิริกัญญา ยังหยิบยกนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ชุดล่าสุด ประกอบด้วย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ปี 2566, นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2562 และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554 มาเปรียบเทียบกันในมิติต่าง ๆ ก่อนวิจารณ์รัฐบาลนายเศรษฐา

ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดเป้าหมายเพียงว่า “สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเรา” แต่ไม่กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน, ไม่มีการอธิบายรายละเอียด, ไม่มีกรอบเวลาในการดำเนินการ, ไม่ตรงกับนโยบายที่สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง พูดง่าย ๆ ว่า “ไม่ตรงปก”



น.ส.ศิริกัญญา วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบันว่า “เขียนคำแถลงนโยบายเป็นแค่คำอธิษฐาน ไม่มีเป้าหมาย” และ “เป็นคำแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยาน เหมือนหลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง” ทั้งปัญหาความขัดแย้งการเมือง ปัญหาชายแดนภาคใต้ และปัญหาความเหลื่อมล้ำแทบไม่พูดถึง ไม่กล้าแตะเรื่องยาก ๆ ที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ


รองหัวหน้าพรรค ก.ก. มองว่า การแถลงนโยบายของเศรษฐาออกมาคล้าย ๆ กับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากรัฐบาลกลัวการผูกมัด ทำไม่ได้ จึงไม่บอก นอกจากนี้เมื่อเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว และพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นคนละขั้ว เมื่อหาข้อตกลงสิ้นสุดไม่ได้ จึงต้องเขียนให้ลอย อีกทั้งที่มาของอำนาจทำให้ต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุน


จุรินทร์ เหน็บ “มาตรฐานของนโยบายรัฐบาลสวนทางส่วนสูงนายกฯ”

“มาตรฐานนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ สวนทางกับความสูงของท่านนายกฯ” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นอีกคนที่อภิปรายคำแถลงนโยบายของนายกฯ เศรษฐา ผู้มีส่วนสูง 192 ซม. อย่างดุเดือด

สส.ฝ่ายค้านรายนี้ วิจารณ์ว่า การตั้งโจทย์ประเทศก็คลุมเครือ นโยบายเลื่อนลอยขาดความชัดเจน และถ้าอ่านให้ครบ "จะพบว่าฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรมวกไปวนมา" กลายเป็น “นโยบายน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง” และนโยบายที่แถลงกับตอนหาเสียง เขาบอกว่า “หนังคนละม้วน ไม่ตรงปก”

จากนั้นเขาไล่เรียง 10 นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งหลายเรื่องเคยหาเสียงไว้ แต่กลับไม่พบในคำแถลงนโยบาย หรือเขียนไว้อย่างไม่ชัดเจนนัก ทำให้นายจุรินทร์เรียกขานว่า “นโยบายนินจา” หรือ “นโยบายล่องหน” อาทิ เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570, รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย, ลดความเหลื่อมล้ำ ใช้คำว่า “เติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ทุกเดือน”

"วันนี้หายเข้ากลีบเมฆไปแล้วครับ" จุรินทร์ ระบุ

เช่นเดียวกับนโยบายกระจายอำนาจ ตอนหาเสียงเพื่อไทยระบุจะจัดให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มีความพร้อม มาวันนี้ "นอกจากไม่มีสักคำ แถมถูกแปลงโฉมจากผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอ เปลี่ยนกระจายอำนาจท้องถิ่น เป็นรวบอำนาจมาที่ราชการส่วนภูมิภาค ย้อนยุคไป 20 ปี สุดท้ายขอใช้คำว่า "แค่ลมปากตอนหาเสียง"

“ที่ผมพูดเพราะอยากให้รัฐบาลได้ตระหนักว่าหาเสียงได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอน ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ สุดท้ายหนูและงูก็มาอยู่ด้วยกัน เป็นเทคนิคการหาเสียง หรือแค่นโยบายการละคร สิ่งนี้ประชาชนไม่ต้องการเห็น ประชาชนต้องการยกระดับการหาเสียง พูดแล้วประชาชนคาดหวัง” รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. อภิปราย



ดักคอรัฐบาลต้องปฏิบัติต่อ “นักโทษ” ทุกคนเท่าเทียม

อีก 2 นโยบายที่นักการเมืองสังกัดพรรค ปชป. พูดถึง คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งนายจุรินทร์ห่วงว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหน เพราะเนื้อหา "ซุกแค่อยู่ครึ่งบรรทัด" ในนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเขียนไว้ว่า “การป้องกันการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วม”

“รัฐบาลท่านเคยถูกยึดอำนาจ 2 ครั้ง เพราะเหตุทุจริต และออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จนคนออกมาชุมนุมเป็นล้าน” นายจุรินทร์กล่าว ทำให้ สส.เพื่อไทยลุกขึ้นมาประท้วง

อีกนโยบายคือ ฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่มีความเข้มแข็ง โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า มีแต่หลักนิติธรรมที่เข้มแข็งที่จะทำให้ประเทศมีความหวังคือ ทุกคนเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าคนจน รวย คนมีอำนาจ ไม่มีอำนาจ ไม่เว้นแต่นักโทษ นักโทษรวย จน นักโทษเคยมีอำนาจ ไม่เคยมีอำนาจ นักโทษทุกคนก็ย่อมเท่าเทียมกันและย่อมต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้บังคับใช้กฎหมายโดยเสมอกัน

"นโยบายยนี้คือจุดเริ่มต้นของความหวัง และจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่อยู่ที่นายกฯ และรัฐบาล"

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การพระราชทานอภัยลดโทษที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 1 ก.ย. ระบุชัดเจน "โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่หาที่สุดมิได้ที่ผู้ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษต้องสำนัก และรัฐบาลก็ต้องสำนึก เมื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษยังเป็นผู้มีความผิด หากมีคำพิพากษาศาลสถิตยุติธรรมในคดีใดว่ามีการกระทำความผิด ก็ยังต้องรับโทษใหม่ในอนาคต"

จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาล ต้องตระหนักว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยหลักนิติธรรม เท่าเทียม เสมอหน้าเท่ากันต่อไป "ถ้ารัฐบาลก่อนหน้าทำไม่ถูก ท่านก็ทำให้ถูก อย่าปล่อยเลยตามเลย อย่าสร้างมาตรฐานใหม่เหยียมย่ำหัวใจคนรักความยุติธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตให้ต้องหมดกำลังใจ"

สมาชิกรัฐสภาเสนอสูตรลดค่าไฟ-ค่าน้ำมัน หลังไม่พบในนโยบายรัฐบาล

อีกประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาหยิบยกมาอภิปรายคือ ราคาพลังงาน ซึ่งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ระบุว่าจะลดค่าไฟและลดค่าน้ำมันอย่างไร นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ระบุว่า มีการเขียนไว้ในคำแถลงนโยบาย "ไม่ถึง 10 บรรทัด" และ "มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ"


"คำแถลงรัฐบาลประยุทธ์ที่ว่าแย่ ยังดีเสียกว่า" นายศุภโชติกล่าวและว่า "พวกท่านกำลังทำอะไรอยู่ นโยบายไม่มีรูปธรรม หรือเลี่ยงการผูกมัดตัวเอง"

เขายังทวงถามความ "กล้าหาญ" ของรัฐบาลนายเศรษฐา เพื่อแก้ไขกฎหมายทลายทุนผูกขาดและนายทุน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงด้านค่าไฟฟ้าและราคาพลังงาน เพราะในวันที่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี กำลังลำบาก ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงจน "เห็นบิลทุกเดือนแทบจะเป็นลม" แต่ธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง กลับมีแต่ทุนผูกขาด

เช่นเดียวกับนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ที่เสนอ “บันได 6 ขั้นสู่การแก้ไขราคาพลังงานให้ถูกลง” ประกอบด้วย ตรึงค่าไฟผันแปร (FT), หยุดการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในประเทศและการนำเข้าจาก สปป.ลาว, จัดการต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ, ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อเอกชน, เร่งสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองด้านพลังงานด้วยโซลารูฟทอป และรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานเข้าสู่ระบบ และหยุดผูกขาดสัมปทานรัฐกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

ด้านนายเจน นำชัยศิริ สว. อภิปรายเสนอแนะว่า การลดราคาพลังงานควรเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการแข่งขัน ไม่ใช่การอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งไม่ยั่งยืนและเป็นภาระกับประชาชนในระยะยาว นอกจากนี้หากจำเป็นต้องอุดหนุน ก็อุดหนุน แต่ต้องใช้ชั่วคราวเท่านั้น และยกเลิกทันทีที่หมดความจำเป็น กองทุนนี้ไม่ควรเป็นยาสามัญประจำบ้าน

หวั่น “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” คือการแปลงร่างของ OTOP+CPOT


อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ระบุว่า หากการพัฒนาแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคนเกิดขึ้นได้จริง ไทยจะมีแรงงานสร้างสรรค์เป็น 2 ใน 3 ของโลก

นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์” (One Family One Soft Power - OFOS) ที่มีเป้าหมายยกระดับให้คนไทยเป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้ให้ครอบครัว 200,000 บาท

เขาตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมต้องเกณฑ์คนมาทำ” และเป็นการ “เริ่มต้นตีโจทย์ผิดหรือไม่” เพราะถ้าดูแรงงานสร้างสรรค์ของนานาประเทศ พบว่า ประเทศสหรัฐฯ มี 14.3 ล้านคน, สหราชอาณาจักร 2.29 ล้านคน, เกาหลีใต้ 6.8 แสนคน ส่วนไทยมี 9.8 แสนคน หรือคิดเป็น 2.57% ของการจ้างแรงงานทั้งระบบ 38.4 ล้านคน

นโยบาย OFOS ทำให้ผู้แทนราษฎรก้าวไกลย้อนนึกถึงโครงการเก่า ๆ เช่น โครงการ “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” (OTOP) ของกระทรวงมหาดไทย และโครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของกระทรวงวัฒนธรรม “เมื่อดูตรงนี้ผมเกรงว่าจะเป็นการแปลงร่างของ OTOP ผสมกับ CPOT”

นายอภิสิทธิ์ยังตั้งคำถามต่อไปว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนทำงานสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน หลังพบว่ามีกฎหมายหลายฉบับเป็น “เครื่องมือกีดขวางระดับแสดงออกทางปัญญาของคนไทย ด้วยเหตุผลของรัฐว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี ขัดต่อความมั่นคง” เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสทช., พ.ร.บ.ส่งเสริมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ทำให้มีภาพยนตร์ถูกเซ็นเซอร์ และมีเพลงที่ถูกส่วนราชการฟ้อง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ส่งเสริมสวัสดิการคนทำงานสร้างสรรค์ด้วย

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย "กลวง" ?


สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอดีตรองประธานกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นอภิปรายถึงนโยบายด้านคมนาคมของรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่เขามองว่า “กลวง” และ “ไร้ทิศทาง”

นโยบาย “เรือธง” ที่เขาเน้นย้ำและตั้งคำถาม คือ รถไฟฟ้า “20 บาทตลอดสาย” ที่สัญญาไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งมาหลายครั้ง เช่นเดียวกับปี 2567 แต่กลับไม่ชี้แจงกระบวนการ และกรอบเวลา “มีแต่ข่าวลอย ๆ เดี๋ยวทำเดี๋ยวไม่ทำ... พลิกลิ้นไปเรื่อย ไม่น่าเชื่อถืออะไรเลย รัฐบาลส้มหล่น”



เขาตั้งคำถาม พร้อมขอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคเพื่อไทย ตอบว่าหากตั้งใจดำเนินนโยบายนี้จริง ตามที่นายสุริยะเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อทันทีหลังเข้ารับตำแหน่ง “ก็ควรจะบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลเล่มนี้” ก่อนหยิบหนังสือนโยบายรัฐบาลขึ้นมา

“20 บาทตลอดสายทำจริงได้ไหม ควรทำหรือไม่ หรือเกิดมาเพื่อการโฆษณา” สุรเชษฐ์ กล่าว ก่อนชี้แจงว่า ไม่ควรดำเนินนโยบายนี้ เพราะท้ายสุด การจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าจาก 17-62 บาท มาเป็น 20 บาทตลอดทาง รัฐบาลต้องนำงบไปสนับสนุน เนื่องจาก “ไม่มีทาง” ที่บริษัทเอกชน ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าจะยอม และเขาไม่เชื่อว่าแนวทาง “เจรจา” ตามที่นายเศรษฐาเคยให้สัมภาษณ์ออกสื่อ จะเป็นไปได้จริง

สุรเชษฐ์ ย้อนเหตุผลสำคัญที่ออกมาจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของพรรคเพื่อไทย ในปี 2554 ที่ชี้ว่า การลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาท “ล้มเหลวทำไม่ได้ เพราะกระทบรายได้ของผู้ถือหุ้น และอาจมีปัญหาฟ้องร้องในอนาคต”

“ฐานคิดของ 20 บาท ไม่ใช่ตั้งไปเรื่อย เอาว้าว 20 มันทำไม่ได้ ต่อให้ท่านทำได้ มันก็ไม่สมควรทำ… เพราะหากจะทำจริง ๆ ต้องใช้เงินอุดหนุนเยอะมาก และต้องจ่ายทุก ๆ ปี เพื่ออุดหนุนชนชั้นกลางระดับบน” ซึ่งเงินอุดหนุนนั้น ก็จะมาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่ง “ทำไมคนทั้งประเทศต้องมาอุ้ม”

สำหรับสุรเชษฐ์ รถไฟฟ้าเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ที่อำนวยความสะดวกสำหรับชนชั้นกลาง โดยเฉพาะในแนวคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้า แต่สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ คือ การพัฒนาเมือง พัฒนาเส้นเลือดฝอย เพื่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และโดยสารรถเมล์เป็นหลัก

“ท่านควรให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย มากกว่าเส้นเลือดใหญ่ กลับไปคิดให้ดี แล้วใช้เงินภาษีให้ดีกว่านี้” เขาเตือน

ต่อมาเวลา 21.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงถึงการอภิปรายนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดเส้นทางว่า จะมีการดำเนินการต่อไปและนโยบายนี้จะเริ่มทันที โดยรัฐบาลจะรวบรวมสัมปทานเดินรถของเอกชนทุกรายทุกเส้นทาง ก่อนแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งการเจรจามีรายละเอียดที่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น นโยบาย 20 บาท ตลอดเส้นทางจะดำเนินการได้ทันที

นายสุริยะกล่าวต่อด้วยว่า ส่วนเส้นทางการเดินรถของรัฐ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-รังสิต ระยะทาง 41 กม. ราคาปัจจุบัน 14-42 บาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางจากบางซื่อ-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กม. จำนวน 16 สถานี ราคาปัจจุบัน 14-42 บาท จะให้มีการปรับราคาเป็น 20 บาท เส้นทาง พร้อมเร่งผลักดันให้เริ่มใช้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่ง สส.ก้าวไกล อภิปรายว่าไม่โปร่งใสนั้น เป็นโครงการของ กทม. ต้องรอให้ กทม. ดำเนินการ โดยกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้สนับสนุน พร้อมจะตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (เอ็มอาร์ แมป) ในทุกมิติตามที่ฝ่ายค้านอภิปราย

สุดาวรรณ ชี้แจงยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว อย่าเหมารวมมีแต่จีนเทา

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เปิดอภิปรายนโยบายการท่องเที่ยวว่า นโยบายที่คิดมานั้นคิดถูกหรือไม่ หนึ่งในปัญหาที่ สส.เชียงใหม่ หยิบยกมาอภิปราย คือ นโยบายฟรีวีซ่าหรือวีซ่าฟรี ที่เขากล่าวว่าเป็น "นโยบายที่หนักใจที่สุด"

นายณัฐพลกล่าวว่า จากเอกสารแถลงนโยบายระบุถึง ฟรีวีซ่า ซึ่งหมายถึง นักท่องเที่ยวต้องขอวีซ่าอยู่ แต่ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม แต่นายเศรษฐากลับชี้แจงในรัฐสภาว่า นโยบายที่ตั้งใจทำคือ วีซ่าฟรีที่หมายถึงไม่ต้องขอวีซ่าเลย แต่ที่หนักใจยิ่งกว่า คือ การที่นายกฯ ให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นพิเศษ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในหลายด้าน ทั้งอาชีพมัคคุเทศก์ เกิดปัญหาไกด์เถื่อน ธุรกิจนำเที่ยวเถื่อน คนไทยเสียโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจ และยังมีทุนจีนสีเทาเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมาย

"ที่ผ่านมาเราไม่มีฟรีวีซ่าหรือวีซ่าฟรี แต่ทุนต่างชาติทุนจีน ก็อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ใช้วีซ่าผิดประเภท ใช้นอมินีคนไทย เข้ามาทำมาหากินในบ้านเราได้ขนาดนี้ เมื่อเป็นแบบนี้ท่านคิดถูกแล้วจริง ๆ ใช่หรือไม่ ว่านโยบายของท่านจะไม่ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิม เพิ่มเติมปัญหาใหม่"

ด้าน น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงการอภิปรายเรื่องการยกเว้นวีซ่าเพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวว่าหากดูจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกว่า 2.23 ล้านคน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว 1 แสนล้านบาท ตัวเลขทั้งหมดนี้ไม่ควรเหมารวมว่านักท่องเที่ยวทั้งหมดจะเข้ามาเพื่อแย่งอาชีพคนไทย

"เราไม่ควรจะเหมาว่าทั้งหมดเข้ามาทำธุรกิจแย่งคนไทย ทำธุรกิจผิดกฎหมายไปเสียทั้งหมด แต่หากพบว่ามีการกระทำผิดต้องใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเด็ดขาด การที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นจะสามารถสร้างโอกาสในหลายประการให้กับเมืองไทยและเมืองรองอื่น ๆ"

ไร้นโยบายประกัน-ชดเชยราคาพืชผล-แก้ปัญหาต้นทุนการผลิต

นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด ไทยสร้างไทย กล่าวว่า นโยบายสำหรับเกษตรกร "เหมือนการมาบอกกล่าวในภาพรวม ว่าจะใช้ "ตลาดนำ นวัตกรรม เพิ่มรายได้" ให้เกษตรกร แต่ปัญหาอื่น ไม่ว่าจะเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น น้ำเพื่อการเกษตร หรือต้นทุนการผลิต รัฐบาลให้แค่ภาพรวม แต่ไม่มีแนวทางแก้ไข อีกทั้งในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร เข้าใจว่ารัฐบาลจะไม่มีนโยบายอุดหนุนแก่เกษตรกร ไม่ว่าจะประกันราคาข้าว จำนำ หรือการจ่ายเงินชดเชยอื่น ๆ

"เท่าที่เห็นก็มีแต่นโยบายพักหนี้เกษตรที่พอจะช่วยเหลือได้บ้าง แต่ท่านคิดว่าจะเพียงพอหรือไม่ การที่ไม่มีนโยบายรับรองปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในการแถลงนโยบาย มันเหมือนกับการที่ท่านยื่นพาราเอาไปรักษาคนไข้อาการหนัก"

สส.ไทยสร้างไทย ยังกล่าวถึงปัญหาต้นทุนการผลิตว่า หนึ่งในนั้นคือปัญหาเรื่องปุ๋ยที่ต้องนำเข้าหัวเชื้อจากต่างประเทศ เขาตั้งคำถามว่า มีกลุ่มทุนผูกขาดหรือไม่ที่ทำให้ราคาปุ๋ยกลายเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับเกษตรกร โดยมี 5 บริษัทใหญ่ ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% จึงขอให้รัฐบาลตรวจสอบและแก้ปัญหา

"ปุ๋ยแพง ข้าวถูก ปลูกหมามุ่ยยังเจ๊ง การที่รัฐบาลเกรงใจกลุ่มทุนผูกขาด ต่อให้บริหารจัดการภาคเกษตรครบถ้วนทุกด้าน... สุดท้ายรายได้ที่ท่านเพิ่มให้แก่เกษตรกรก็กลับเข้าสู่กระเป๋านายทุนผูกขาดเช่นเดิม แล้วประชาชนจะพึ่งใครได้ครับ นำไปสู่คำถามของพี่น้องประชาชนว่า คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ" นายชัชวาลกล่าว

ให้เวลาฝ่ายค้าน 14 ชม.

สำหรับกรอบเวลาในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา กำหนดไว้ 2 วันคือ วันที่ 11-12 ก.ย. รวมเวลา 30 ชม. แบ่งเป็นเวลาของ สส.ฝ่ายค้าน 14 ชม. ส่วนที่เหลือเป็นเวลาของประธานรัฐสภา 1 ชม., ครม. 5 ชม. (รวมเวลาแถลงของนายกฯ ด้วย), สส.รัฐบาล 5 ชม. และ สว. อีก 5 ชม.

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปราย จะไม่มีการลงมติแต่อย่างใด

นายกฯ-คณะรัฐมนตรี "หายไปไหน"

ช่วงเวลา 14.00 น. นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นสอบถามประธานที่ประชุม เรียกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกลับเข้ามาฟังอภิปราย

"อภิปรายให้ใครฟังครับ เพราะนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีหายไปหมดเลย ท่านประธานช่วยถามหาคนหายหน่อยครับ เรียกเข้ามาฟังโดยด่วน สมาชิกที่อภิปรายเขาซักถาม เสนอแนะ ท่านไม่มาฟัง หมายความว่าท่านไม่มีความรับผิดชอบ" เฉลิมชัย กล่าว

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า "ท่านนายกฯ คงฟังอยู่ด้านนอก" และได้ให้เจ้าหน้าที่สภาไปตรวจสอบ จากนั้นการอภิปรายจึงดำเนินต่อไป

ครม. "หายไปไหน"


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอีเอส เข้าทักทายนายกฯ ในห้องประชุมรัฐสภา


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและ สส. ลูกพรรคของเขา