วันอังคาร, กันยายน 12, 2566

รัฐมนตรีคมนาคมวันนี้ บอกว่าจะมีการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 2 สายที่รัฐบริหารเอง (แดง ม่วง) ให้เหลือ 20 บาท "เป็นของขวัญปีใหม่" วันนี้มาดูกัน ว่านอกจาก 2 สายที่ว่ามาแล้ว รถไฟฟ้าทุกสายใน กทม. เนี่ย เก็บเงินเท่าไหร่ และมีรูปแบบสัมปทานแบบไหนบ้าง สายไหนจ่ายแล้วเงินเข้ารัฐ สายไหนเอกชนรับ


LivingPop
13h
·
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่ละสาย จ่ายเท่าไหร่? เงินเข้ากระเป๋าใครบ้าง?
จากที่ฟังการชี้แจงของรัฐมนตรีคมนาคมวันนี้ ที่บอกว่าจะมีการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 2 สายที่รัฐบริหารเอง (แดง ม่วง) ให้เหลือ 20 บาท "เป็นของขวัญปีใหม่" ให้ได้ภายใน 3 เดือนนี้
วันนี้เราเลยจะพามาดูกันครับว่านอกจาก 2 สายที่ว่ามาแล้ว รถไฟฟ้าทุกสายใน กทม. เนี่ย เก็บเงินเท่าไหร่ และมีรูปแบบสัมปทานแบบไหนบ้าง สายไหนจ่ายแล้วเงินเข้ารัฐ สายไหนเอกชนรับจบ มาดูกันในตารางนี้ครับ
------------------
ทีนี้เราอยากพาไปดูประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจครับ
--- ค่าโดยสารที่ต่างคนต่างเก็บ เปลี่ยนสายเริ่มคิดเงินใหม่ ---
ปัจจุบันรถไฟฟ้าในบ้านเราแบ่งออกเป็น 3 ค่ายครับ คือ
- ค่ายกรุงเทพมหานคร (สายสุขุมวิท/สีลม/สีทอง)
- ค่าย รฟม. (สายสีน้ำเงิน/ม่วง/เหลือง/ชมพู/ส้ม)
- ค่าย รฟท. (สายสีแดง/แอร์พอร์ตเรลลิงก์)
ซึ่งปัญหาในทุกวันนี้คือ ทั้ง 3 ค่ายยังเก็บค่าโดยสารแยกกัน การเดินทางที่เปลี่ยนสายข้ามค่ายจะถูกคิดเงินค่าแรกเข้าใหม่ บางค่ายต่อให้เป็นสายเดียวกันก็เก็บค่าโดยสารหลายต่อ สุดท้ายก็เป็นภาระของผู้ใช้บริการ
------------------
--- ราคาเพดาน 42-47 บาทใกล้เคียงกัน แต่ดูดีๆ แล้วแพงไม่เท่ากัน ---
ทีนี้เราอยากพาไปดูเรื่องของขั้นบันไดของค่าโดยสารต่อระยะทางกันครับ เราดูเผินๆ อาจจะมองว่ารถไฟฟ้าแต่ละสายก็มีเพดานราคาที่ 42 บาทบ้าง 45 บาทบ้าง หรือบางสายก็ 47 บาท ซึ่งก็ดูจะไม่แตกต่างกันมาก
แต่พอดูดีๆ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันตรงที่ราคาต่อระยะทางครับ
ใครที่ใช้รถไฟฟ้า BTS แบบซื้อตั๋วรายเที่ยว จะเห็นว่าขั้นบันไดของค่าโดยสารนั้นพุ่งจากราคาเริ่มต้นไปถึงราคาสูงสุดเร็วมากๆ เพียงแค่ 8 สถานีเราก็ต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราสูงสุด 47 บาทแล้ว
เทียบกับของ MRT สายสีน้ำเงิน ที่เราจะต้องเดินทางถึง 12 สถานี ราคาค่าโดยสารถึงจะขึ้นไปถึงเพดานสูงสุดที่ 43 บาท
หรือของ Airport Rail Link ที่เราต้องเดินทางจากต้นสายที่พญาไท ไปจนถึงปลายทางสุวรรณภูมิ เราถึงจะต้องจ่าย 45 บาท หากลงสถานีระหว่างทาง จะไม่มีโอกาสที่ต้องจ่ายในอัตราสูงสุดเลย
จะเห็นว่านอกจากการโฟกัสที่ "ค่าแรกเข้า" หรือ "ราคาสูงสุด" แล้ว การให้ความสำคัญกับค่าโดยสารต่อระยะทางก็สำคัญเช่นกัน ที่ผ่านมาไม่ได้มีใครมองเห็นราคาที่ซ่อนอยู่ตรงนี้ ทำให้การปรับราคาแต่ละครั้ง ผู้ให้บริการจึงมักจะปรับราคาเฉพาะ "ไส้ใน" ตรงนี้แทนเพื่อไม่ให้ราคาสูงสุดเพิ่มขึ้นจนผิดสังเกต
------------------
--- วิธีการคิดค่าโดยสาร "แรกเข้า" + "ระยะทาง" ที่แตกต่างกัน ---
ตอนนี้เรามีการคิดค่าโดยสารตามระยะทางอยู่ 2 แบบ
- แบบแรกคือการคิดค่าระยะทางเป็น "จำนวนสถานี" โดยการกำหนดตารางที่ชัดเจนออกมาว่าเดินทาง "กี่สถานี" คิดค่าโดยสาร "กี่บาท" ซึ่งสายที่ใช้วิธีคิดแบบนี้ คือรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท/สีลม, MRT สายสีน้ำเงิน, แอร์พอร์ตเรลลิงก์
- แบบที่ 2 คือการสร้างสมการค่าโดยสารแบบ "ค่าแรกเข้า" บวกกับ "ระยะทางเป็นกิโลเมตร" แล้วปัดเศษ ซึ่งการคิดแบบนี้จะทำให้ราคาระหว่างสถานีไม่เท่ากัน แปรผันไปตามระยะห่างระหว่างสถานี และมีจุดสังเกตก็คือ "ราคาเริ่มต้น" ที่ประกาศออกมา เป็นราคาสำหรับการเหยียบเข้าสถานีอย่างเดียว ไม่ได้เป็นราคาค่าโดยสารที่แท้จริง สายที่ใช้วิธีคิดแบบนี้ คือรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง, เหลือง, ชมพู, แดง
พอคิดค่าโดยสารแบบเดินทางจริงๆ 1 สถานี ทำให้รถไฟฟ้ากลุ่มนี้มีค่าโดยสารเริ่มต้นที่แท้จริงคือ
สายสีม่วง ค่าเดินทาง 1 สถานีแท้จริงคือ 16-17 บาท
สายสีเหลือง ค่าเดินทาง 1 สถานีแท้จริงคือ 18-21 บาท
สายสีแดง ค่าเดินทาง 1 สถานีแท้จริงคือ 14-23 บาท
ส่วนสายสีชมพู ยังไม่มีการประกาศตารางราคาระหว่างสถานีออกมาครับ
------------------
--- รูปแบบสัมปทานที่แตกต่างกัน ---
รถไฟฟ้าในบ้านเรามีรูปแบบสัมปทานหลักๆ อยู่ 2 แบบครับ
- แบบแรกคือสัมปทานรับจบ มีการกำหนดและควบคุมราคาค่าโดยสารเอาไว้ในสัญญา ผู้ให้บริการเก็บเงินมาเท่าไหร่ก็รับกำไรขาดทุนไปเต็มๆ และถ้าได้กำไรถึงเกณฑ์ค่อยแบ่งให้รัฐ กลุ่มนี้ได้แก่ BTS สายสุขุมวิท/สีลม, MRT สายสีน้ำเงิน, เหลือง, ชมพู, ส้ม
- แบบที่ 2 คือสัมปทานแบบจ้างเอกชนเดินรถและบริหารจัดการให้ แต่ค่าโดยสารส่งเข้ารัฐ อันนี้เอกชนจะไม่ต้องมารับภาระกำไรขาดทุน และราคาค่าโดยสารรัฐสามารถกำหนดเองได้ กลุ่มนี้ได้แก่ BTS ส่วนต่อขยาย, MRT สายสีม่วง, รถไฟฟ้าสายสีแดงและแอร์พอร์ตเรลลิงก์ของ รฟท.
ซึ่งด้วยความที่รูปแบบสัมปทานมี 2 รูปแบบเนี่ย ทำให้การควบคุมราคาก็จะแตกต่างกันครับ
แบบแรกเนี่ยรัฐแทบจะไม่สามารถไปควบคุมได้เลย เพราะเป็นข้อตกลงที่ทำกันไว้ตั้งแต่ตอนทำสัญญาแต่แรกแล้ว หากรัฐต้องการลดค่าโดยสาร ก็อาจจะต้องมีการชดเชยให้กับเอกชนในสัดส่วนที่สัญญาบอกไว้ว่าเขาควรจะได้รับ
แต่แบบที่ 2 รัฐสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารเองได้เลย ไม่ต้องจ่ายชดเชยให้กับเอกชน แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักต้นทุนค่าก่อสร้าง-ค่าบริหารจัดการ ว่าถ้ามีการลดราคาลงแล้วจะมีเงินพอให้ไปจ่ายหนี้ที่กู้มาสร้างหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเอางบประมาณมาจ่ายส่วนต่างเหมือนกันครับ
------------------
ดังนั้น นอกจาก 2 สายที่รัฐมนตรีได้ให้สัญญาเอาไว้ในวันนี้ ที่สามารถสั่งลดราคาให้เหลือ 20 บาทได้ง่ายๆ เพราะว่าเป็นเส้นทางที่จ้างเอกชนวิ่ง
อีก 7 สายที่เหลือ เป็นรูปแบบสัมปทานเอกชนรับจบทั้งนั้นเลยครับ ซึ่งรัฐมนตรีบอกว่าจะใช้การ "เจรจา" กับเอกชน ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเจรจากันอย่างไร รัฐจะต้องใช้เงินจ่ายอุดหนุนชดเชยเท่าไหร่บ้าง แล้วตกลง 20 บาทเป็นราคา "ตลอดสาย" หรือ "ตลอดทาง" ก็รอความชัดเจนกันอีกทีครับ