วันอังคาร, พฤศจิกายน 10, 2563

The Standard คุยกับทูตนอกแถว ‘รัศมิ์ ชาลีจันทร์’ ทูตเกษียณ ผู้เปิดตัวร่วมชุมนุมกลุ่มราษฎร เล่าจากประสบการณ์การเป็นนักการทูตว่า ประเทศไหนที่เป็นรัฐบาลทหารหรือขวาจัด เผด็จการ แล้วทำให้ประเทศเจริญได้ “ผมรับรองว่าไม่มี”



คุยกับทูตนอกแถว ‘รัศมิ์ ชาลีจันทร์’ ทูตเกษียณ ผู้เปิดตัวร่วมชุมนุมกลุ่มราษฎร

โดย ธนกร วงษ์ปัญญา
09.11.2020
The Standard

HIGHLIGHTS

  • รัศมิ์ ชาลีจันทร์ เป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ เขาคือเจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว’ ก่อนที่จะเปิดตัวมาเดินร่วมม็อบกลุ่มราษฎรด้วยความตั้งใจ เขาเปิดเผยว่า นี่คือการออกมาชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกในชีวิตของเขา
  • ทูตรัศมิ์เล่าจากประสบการณ์การเป็นนักการทูตว่า พร้อมท้าให้ไปหามาเลยว่าประเทศไหนที่เป็นรัฐบาลทหารหรือขวาจัด เผด็จการ แล้วทำให้ประเทศเจริญได้ “ผมรับรองว่าไม่มี ไม่เคยเห็น”
นับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวของม็อบนักเรียน เยาวชน ที่ดันเพดานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากติดตามผู้เข้าร่วมชุมนุม เราจะพบเห็นการเข้าร่วมจากคนหลายแวดวง ไม่เว้นแม้กระทั่งล่าสุดที่มีการปรากฏตัวของ ‘รัศมิ์ ชาลีจันทร์’ อดีตเอกอัครราชทูตที่เพิ่งเกษียณ ก็ได้เข้ามาร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วย

ทูตรัศมิ์ หรือที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’ ที่ตั้งแต่ตัดสินใจเปิดเพจเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพียงไม่ถึงสัปดาห์มีผู้กดติดตามสูงกว่า 4 หมื่นรายแล้ว

สำหรับประวัติของทูตรัศมิ์ เคยได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2558 จากกรมสารนิเทศ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศ ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก เมื่อปี 2559 ต่อจากนั้นในปี 2561 ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน

ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน THE STANDARD ได้มีโอกาสชวนคุยสั้นๆ ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมกับอดีตทูตวัยเกษียณถึงมุมมองของทูตต่อการชุมนุมที่เกิดขึ้น

ด้วยภาพลักษณ์ของทูตมันจะดูห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้มาก เป็นอิมเมจที่ดู Elite ปกติวงการทูตมีอย่างนี้ไหม

จริงๆ ทั้งสองอย่างนะ สมัยก่อนก็มีทูตหลายท่านออกมาเล่นการเมือง แต่น่าเสียดายที่ตอนออกมาเล่นการเมืองไปเป่านกหวีดเสียส่วนใหญ่ พวกทูตก็มีที่ตื่นตัวทางการเมืองที่อยากแสดงออก จะอยู่ข้างไหนอะไรก็อีกประเด็นหนึ่ง แต่มีมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมี เพียงแต่ของผมยุคนี้มันยุคโซเชียลมีเดีย มันก็ต่างไป เราก็สื่อสารได้วงกว้างขึ้น

อะไรทำให้ตัดสินใจมาเปิดเพจ ‘ทูตนอกแถว’

ที่ผ่านมาก็เขียนลงเฟซบุ๊กบ้างอยู่แล้ว แต่ในเฟซบุ๊กก็เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของเราเอง ซึ่งมีทั้งเรื่องส่วนตัว จิปาถะ เรื่องความคิดเห็นต่างๆ ของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของเรา เขียนไปก็มีคนตามเยอะขึ้น เราก็เลยอยากจะแยก เลยตัดสินใจเปิดเพจขึ้น จะได้แยกชีวิตส่วนตัวกับการแสดงความเห็นของเรา ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดเพจ

เรื่องที่เล่าส่วนใหญ่ก็อยากจะแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ที่เราผ่านมา เพราะอาชีพเราไม่ค่อยมีคนรู้จักในมุมอื่นๆ นัก ซึ่งจริงๆ เราปฏิบัติงานกันมาในฐานะกระทรวงการต่างประเทศก็ร้อยกว่าปีแล้ว เลยคิดว่ามีบางแง่มุมที่คนทั่วไปอาจจะสนใจและอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง เน้นด้านการต่างประเทศเป็นหลัก

ทำไมถึงตัดสินใจออกมาแสดงตัวร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มราษฎร

จริงๆ ขอสารภาพว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 60 ปี ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่อะไร เพราะที่ผ่านมาจริงๆ เราก็รู้สึกว่ามีอยากมีส่วนร่วม แต่มีการชุมนุมทีไรเราก็อยู่ต่างประเทศทุกที ไม่เคยได้อยู่เมืองไทย ไม่เคยได้มาเลย จนกระทั่งเกษียณ เพิ่งมาเป็นครั้งแรก เพราะได้กลับมาเมืองไทย เลยได้โอกาสมา อยากจะบอกว่า จริงๆ ด้วยความที่เราเรียนรัฐศาสตร์ และมีความสนใจทางด้านการเมือง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นปัจจัย ซึ่งเราเห็นหลายประเทศมาในโลกนี้ เราก็รู้ว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญได้มันคือความเท่าเทียมกันของสังคม มันเป็นประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้ประเทศชาติเจริญได้ มันไม่มีหรอก ผมยืนยัน ในโลกนี้คุณไปหามาเลย ประเทศไหนที่เป็นรัฐบาลทหารหรือขวาจัด เผด็จการ แล้วคุณทำให้ประเทศเจริญได้ ผมรับรองว่าไม่มี ไม่เคยเห็น

ในฐานะที่เป็นทูตอยู่หลายที่ ประเทศอื่นๆ เขามองประเทศไทยอย่างไร

ประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงมาก ภาพพจน์เราดีมาตลอด ซึ่งในแง่หนึ่งการที่เรามีภาพพจน์ดีมาตลอด มีทั้งดีและเสีย ในแง่หนึ่งถึงเราจะมีรัฐบาลที่หลายประเทศ ในหลักการ หลายประเทศเขาไม่เห็นด้วย แต่การที่เรามีภาพพจน์ดี มันก็ทำให้เขาไม่มากดดันอะไรมาก แต่ความรู้สึกของแต่ละรัฐบาลที่มีต่อประเทศไทยมันก็ไม่เหมือนกัน อย่างที่รู้สึกมาก ไม่ยอมพบกับเราเลยหลังมีรัฐประหาร แทบจะแบบ ‘ไปเลย ไม่ต้องมาพูด’ ก็คืออย่างแอฟริกาใต้ เพราะแอฟริกาใต้เขาต่อสู้มามากกว่าเขาจะได้ความเท่าเทียม สิทธิ ประชาธิปไตย กว่าเขาจะเป็นทุกวันนี้ สปิริตเขาสูงมาก ซึ่งมันก็ลดหลั่นต่างกันไปแต่ละประเทศ ซึ่งก็ยกตัวอย่างว่ามันก็มีแบบนี้ครับ

ถ้ามองสถานการณ์ประเทศไทยเวลานี้ หรือมองว่าการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเวลานี้ ถ้าให้ประเมินคิดว่าจะไปต่ออย่างไร

ก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะไปต่ออย่างไร มันไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงและ พัฒนาการของเมืองไทยมันก็มีความยูนีก มันก็ไม่เหมือนกับประเทศอื่นเสียทีเดียว เพราะฉะนั้นเราจะไปคาดหวังว่ามันจะเหมือนกับประเทศอื่นก็ไม่ได้ พลวัตสมัยนี้มันก็เปลี่ยนไป แต่ที่แน่ๆ ตราบใดที่ประเทศชาติยังไม่มีประชาธิปไตย ยังไม่มีความเท่าเทียมกันในสังคม ประเทศไม่มีทางพัฒนาไปได้ ตราบใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คุณก็ไม่มีทางดีขึ้นไปได้

มองการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นความหวังขนาดไหน

เป็นความหวังแน่นอนครับ และเป็นสิ่งที่ยูนีกมาก ผมไม่เคยเห็นปรากฏการณ์นี้ในโลก ที่เด็กมัธยมออกมาเคลื่อนไหว เป็นที่แรก ผมว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และการใช้โซเชียลมีเดียเยอะๆ ไม่ใช่โฉมใหม่เฉพาะของไทย แต่เป็นของโลก ผมว่าหลายประเทศก็จับตามองอยู่ น่าภาคภูมิใจที่เยาวชนไทยมีความคิดก้าวหน้า ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งนักเรียน น้องๆ จะเป็นคนนำการชุมนุมอย่างนี้ได้

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า