วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 01, 2563

"ผมแค่ทำตามคำสั่ง" Nuremberg Defence กับ ป.อ. ม. 70



Paul Adithep
11h ·

"ผมแค่ทำตามคำสั่ง" Nuremberg Defence กับ ป.อ. ม. 70

"แค่ทำตามคำสั่ง" หรือ "just following orders" เป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดอันโด่งดังซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น Nuremberg defence เนื่องจากมันเป็นข้ออ้างของสมาชิกนาซีระดับสูงที่ถูกไต่สวนในคดีอาชญากรรมสงครามที่นูเรมเบิร์ก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคณะตุลาการไม่ยอมรับฟัง

ทั้งนี้ การปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นหัวใจของการปกครองโดยเฉพาะในระบบทหาร แต่คณะตุลาการชี้ว่า ถ้าคำสั่งนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน บุคคลนั้นจะต้องรับผิดในการกระทำของตน จะปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ การฆ่าพลเรือนของนาซีเป็นคำสั่งที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมซึ่งสมาชิกนาซีทุกคนควรรู้

ส่วนข้ออ้างที่ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้รับคำสั่งหากไม่ปฏิบัติตามย่อมถูกลงโทษ ศาลกล่าวว่า "ไม่มีศาลใดที่จะลงโทษบุคคลที่ถูกบีบบังคับให้ลั่นไกโดยที่ตัวเองก็ถูกปืนจี้หัวอยู่ หรือต้องมีอันตรายใกล้จะถึงประมาณนั้นจึงจะพ้นการลงโทษได้ แต่จำเลยถูกบีบบังคับให้ต้องฆ่าชาวยิวเนื่องจากถูกข่มขู่ให้ต้องฆ่าตัวตายหากไม่ปฏิบัติตามภารกิจฆาตกรรมอย่างนั้นหรือ?" (World Courts)

แม้จำเลยในคดีสังหารหมู่ชาวยิวจะอ้างว่า ตนเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ว่า ถ้าไม่ฆ่ายิวเป็นพวกเค้าเองที่จะถูกฆ่า แต่พวกเค้าก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีชาวเยอรมันคนใดต้องตายเพราะไม่ฆ่ายิว ข้ออ้างของพวกเค้าจึงขาดน้ำหนัก

ดอริส เบอร์เกน นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า "ชาวเยอรมันไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นฆาตกร ใครที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งจะถูกสั่งย้าย หรือสั่งให้รับภารกิจอื่น ถึงปัจจุบันยังไม่พบตัวอย่างของชาวเยอรมันที่ถูกประหารเพราะปฏิเสธที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการฆ่าชาวยิวหรือพลเรือนอื่นๆ ทนายจำเลยที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาอาชญากรรมสงครามพยายามอย่างยิ่งในการหาคดีเช่นว่า เพื่อพิสูจน์ว่าลูกความของตนไม่มีทางเลือก อย่างไรก็ดี ระบบของนาซีมิได้เป็นเช่นนั้น มันมีคนที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งอยู่แล้ว การบังคับขู่เข็ญถูกสงวนไว้ใช้กับพวกที่เป็นศัตรู" (War and Genocide: A Concise History of the Holocaust)

แน่นอนว่า ศาลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีกับนาซีหรือกองทัพญี่ปุ่นเป็นศาลการเมืองที่พบข้อบกพร่องหลายอย่าง ทั้งหลักความเป็นกลาง หรือหลักห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่กรณีปฏิบัติตามคำสั่งที่ผิดกฎหมาย ศาลอเมริกันได้วางหลักไว้เป็นร้อยปีแล้วว่า จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

เห็นได้จากคดี The United States v. John Jones ช่วงสงคราม 1812 ระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ (คาบเกี่ยวกับสงครามนโปเลียน) เป็นกรณีที่กลุ่มลูกเรือลาดตระเวณอเมริกันไปสกัดตรวจเรือสัญชาติโปรตุเกสที่วางตัวเป็นกลางและยังปล้นเอาทรัพย์สินมีค่าบนเรือไป ลูกเรืออ้างว่าตนปฏิบัติตามคำสั่งของกัปตัน แต่ศาลตัดสินว่า "เจ้าหน้าที่ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็ไม่อาจออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาละเมิดกฎหมายของประเทศได้ และคำสั่งเช่นนั้นก็ไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างหรือเหตุในการปฏิบัติ (อันละเมิดต่อกฎหมาย) ได้ สมมติว่า นายพลของกองทัพหรือผู้บัญชาการเรือสั่งให้คนในสังกัดของตนทำการฆาตกรรมหรือก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้หรือไม่? คำตอบคือไม่ได้"

ถึงปัจจุบันกฎหมายของประเทศส่วนใหญ่มีหลักใกล้เคียงกันว่า การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั้น ผู้ปฏิบัติมิต้องรับผิด เว้นแต่คำสั่งดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ในประเทศไทย ก็มีหลักการดังกล่าวเช่นกัน แต่บทบัญญัติดูเหมือนจะให้น้ำหนักไปที่การปฏิบัติหน้าที่มากกว่าการคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย ดังปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ความว่า

“ผู้ใดกระทําตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คําสั่งนั้นจะมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้กระทํามีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้นั้นไมต้องรับโทษ เว้นแต่จะรู้ว่าคําสั่งนั้นเป็นคําสั่งซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย”

ด้วยเหตุนี้ “ในอดีต” การจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ “เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม” เจ้าหน้าที่รายนั้นก็ไม่ต้องรับโทษ

ตัวอย่างตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2508 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตกเป็นจำเลยเนื่องจากไปจับกุมโจทก์โดยไม่มีหมายจับและไม่ใช่กรณีเป็นความผิดซึ่งหน้า แต่ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า

“เป็นเรื่องไปจับตามคำสั่งของพันตำรวจตรีประธานซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ถึงแม้จะสั่งด้วยวาจามิได้ออกหมายจับให้ไปก็ดีจำเลยก็เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งได้ถือเป็นหลักปฏิบัติกันตลอดมาว่าไปจับได้ ทั้งตามพฤติการณ์ที่ปรากฏก็น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองน่าจะเข้าใจว่า ตามที่พันตำรวจตรีประธานสั่งให้ไปจับนายเริ่มด้วยวาจาโดยมิได้ออกหมายจับให้ไปนั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมาย เพราะได้ถือปฏิบัติกันเช่นนั้นตลอดมา ฉะนั้นถึงแม้การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจะเป็นการมิชอบจำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70”

หรือกรณี “บุกรุก” พื้นที่ของเอกชน แม้คำสั่งนั้นจะมิชอบด้วยกฎหมาย แต่คนที่ทำตามคำสั่งก็ไม่ผิด หากว่าตน “เชื่อว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม” ดังคำพิพากษาฎีกาที่ ความว่า 7370/2538

“โจทก์ครอบครองเพิงไม้ที่ปลูกอยู่ติดกับข้างอาคารพาณิชย์ที่จำเลยที่ 1 เช่าจากเทศบาลตำบลปากช่อง ซึ่งเทศบาลตำบลปากช่องแจ้งให้ภริยาโจทก์รื้อถอนเพิงไม้ดังกล่าว แต่ภริยาโจทก์อ้างว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเพิงไม้นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปากช่องจึงสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนเพิงไม้ จำเลยที่ 1 เชื่อว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นแม้การที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนเพิงไม้จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 70”

ด้วยเหตุนี้ การอายัดตัวนักกิจกรรมประชาธิปไตยซ้ำซากโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมาย (แต่มักอ้างว่าตนไม่รู้ข้อกฎหมาย) แม้นักกฎหมายจะบอกว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ก็เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ทั้งหลายคงไม่ต้องรับผิด เพราะพวกเค้าสามารถอ้างได้ว่าตน “เชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม” คำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งศาลฎีกามักจะตีความเป็นคุณกับผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งเสมอ แม้ว่าการปฏิบัติเช่นนั้นจะกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ตาม

(ภาพจาก เดลินิวส์)

https://www.facebook.com/photo/?fbid=4971609429516186&set=a.106211759389335
...