วันศุกร์, พฤศจิกายน 13, 2563

แข่งกันโต๊บเหลือง "ถึงจุดนี้เราอาจเข้าใจได้ว่า #มุสลิม นั้นมีความแตกต่างกันภายใน... หากอ่านจากคอมเมนท์ที่กระจายเกลื่อนวอลล์ในเวลานี้ก็เห็นได้ชัดว่าความขัดแย้งทางการเมืองได้ลากพาเอาสถาบันศาสนาอิสลามไปข้องเกี่ยวด้วยแล้ว วิกฤตครั้งนี้ใหญ๋หลวงนัก"


Romadon Panjor
November 10 at 9:26 PM ·
หากพิจารณาตำแหน่ง #จุฬาราชมนตรี ในประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่ารากเหง้าเดิมทีนั้นอยู่ในสายธารของมุสลิมชีอะห์ที่พัฒนามาจากตำแหน่งคนคุมการค้ามาสู่การดูแลงานการเมืองให้กษัตริย์สยาม ความสัมพันธ์ระหว่าง #ผู้แทนมุสลิม กับสถาบันกษัตริย์ในสายนี้จึงแนบแน่น ก่อนที่ตำแหน่งผู้แทนประชาคมดังกล่าวจะถูกรื้อฟื้นและโยกย้ายข้ามนิกายมาที่มุสลิมซุนนี่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นคือ แช่ม (ซำซุดดิน) พรหมยงค์ มุสลิมชาวปากลัดที่ไปร่ำเรียนศาสนาที่อียิปต์ และเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการของ #คณะราษฎร และถือเป็นหนึ่งในคนที่ปรีดี พนมยงค์ ไว้อกไว้ใจแม้ในยามยากลำบาก
ที่เราเห็น ๆ อยู่ในเวลานี้ จริง ๆ แล้วมีที่มาที่ไปสลับซับซ้อน หาได้ต่อเนื่องยาวนานไร้รอยต่อมาแต่บรรพกาลไม่
กรณี #โต๊บเหลือง ทำให้ต้องกลับไปค้นคว้าต่อนิดหน่อยและพบว่าจริง ๆ แล้วพี่น้องชีอะห์ได้จัดงานรวมพล #เสื้อเหลือง มาก่อนหน้านั้น คือในวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึกวันประสูติท่านนบีมุฮัมหมัด (+งานต่อต้านอเมริกาอีกดอก) จัดกันที่นครศรีธรรมราช อันเป็นศูนย์กลางของพวกเขา มีท่านซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี หนึ่งในผู้นำชาวชีอะห์ในเมืองไทยเป็นประธาน เห็นได้ว่าการเมืองของชาวชีอะห์นั้นช่วงชิงชัดเจนมาก
หลังจากนั้น 2 วัน เพจ สำนักจุฬาราชมนตรี ก็เผยแพร่โปสเตอร์ระดมพลโต๊บเหลือง (4 พ.ย.) และใช้เวลาเรียกคนจริง ๆ ไม่ถึงสัปดาห์ (งานจริง 10 พ.ย.) ดูภาพรวมจากข้างนอกเข้าไปก็เห็นว่าค่อนข้างจะเป็นการเตรียมงานที่กระชั้นพอสมควร สาระสำคัญเป็นการมุ่งพิทักษ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์และยอพระเกียรติที่อุปถัมภ์ค้ำชูประชาคมมุสลิมในประเทศไทย ไม่ได้มีเฉดในการต่อต้านความอยุติธรรมหรือต่อต้านอเมริกาหรืออะไร การจัดงานในห้วงขณะนี้จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองที่ตอบสนองต่อสถานการณ์เผชิญหน้าในขณะนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (คนคิดเองได้ ประเมินเองได้)
สอบถามจากเพื่อนชาวชีอะห์ในเบื้องต้น เห็นว่าทั้งสองงานไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กัน และต่างฝ่ายต่างไม่ได้เชิญกันและกันอย่างเป็นทางการ ประมาณว่าต่างคนต่างทำ ถ้าติดตามกันดี ๆ จะเห็นด้วยว่ามีเสียงคัดค้านภายในของทั้งกลุ่มชีอะห์และซุนนีด้วยครับ ถึงจุดนี้เราอาจเข้าใจได้ว่า #มุสลิม นั้นมีความแตกต่างกันภายใน และดูเหมือนจะประชันกันเพื่อแสดง #ความจงรักภักดี ต่อสถาบันกษัตริย์กันด้วยครับ หากอ่านจากคอมเมนท์ที่กระจายเกลื่อนวอลล์ในเวลานี้ก็เห็นได้ชัดว่าความขัดแย้งทางการเมืองได้ลากพาเอาสถาบันศาสนาอิสลามไปข้องเกี่ยวด้วยแล้ว วิกฤตครั้งนี้ใหญ๋หลวงนัก
#ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
#ปฏิรูปสถาบันศาสนาอิสลาม
..