“ตอนนั้นชุลมุนมาก รู้ตัวอีกทีคือเห็นเพื่อนโดนกระทืบอยู่ที่พื้น ส่วนเราพอล้มลง ก็โดนทั้งเท้า ทั้งหมัด แล้วก็ถูกอุ้มขึ้นรถ พอขึ้นไปบนรถ เขาก็เตะอีกทีหนึ่งแล้วก็โดนใส่กุญแจมือ” ชวนอ่านเรื่องราวของบาสผู้ต้องหาต้องหาที่เคยถูกคุมขังจากการชุมนุม 13 ตค 63 https://t.co/dPp2uwpuqA pic.twitter.com/AvWJtoXZfK
— iLawFX (@iLawFX) November 13, 2020
Reflection from Prison: ความในใจของบาส นักศึกษาที่ถูกคุมขังจากเหตุสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน 13 ตุลาคม 2563
“ตอนนั้นชุลมุนมาก รู้ตัวอีกทีคือเห็นเพื่อนโดนกระทืบอยู่ที่พื้น ส่วนเราพอล้มลง ก็โดนทั้งเท้า ทั้งหมัด แล้วก็ถูกอุ้มขึ้นรถ พอขึ้นไปบนรถ เขาก็เตะอีกทีหนึ่งแล้วก็โดนใส่กุญแจมือ”
ปากคำของ ‘บาส’ หนึ่งใน คณะราษฎรอีสาน ผู้ต้องหาที่ถูกจับและคุมขังเป็นเวลา 6 วัน จากการร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรอีสานเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
13 พฤศจิกายน 2020
ILaw
บาสเล่าถึงชีวิตตัวเองสั้นๆให้ฟังว่า เขาจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ช่วงเข้ามหาลัย ปี 1 โดยได้รู้จักกับกลุ่มดาวดิน ถึงแม้ในช่วงแรกนั้นยังไม่มีการชุมนุมทางการเมือง ก็มักจะไปลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหาชาวบ้านเพราะโดยส่วนตัวคือชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว
เมื่อถามถึงเรื่องการมาชุมนุม บาสบอกกับเราว่า “ทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพ ก็มาตลอด มากับทีมคณะราษฎรอีสานเซทนี้แหละที่โดนจับด้วยกัน ครั้งนี้ก็เหมือนกัน พอรู้ว่าจะมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ เราก็เลยตามมาสมทบด้วย”
บาสเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาและเพื่อนโดนจับว่า “เราก็กำลังจัดเวที แขวนป้ายบริเวณหน้าร้านแมคโดนัล ตอนแรกก็มีชุดเจรจาเข้ามาก่อน มาขอให้หยุด เราก็ยืนยันว่ามันเป็นสิทธิที่เราทำได้ เพราะตอนแรกที่เรามา คือแค่จะมาค้างคืนรอชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 สักพักเจ้าหน้าที่ก็กระชับพื้นที่เข้ามาแล้วก็ดึงตัวเราไป ตอนนั้นชุลมุนมาก รู้ตัวอีกทีคือเห็นเพื่อนโดนกระทืบอยู่ที่พื้น ส่วนเราพอล้มลง ก็โดนทั้งเท้า ทั้งหมัด แล้วก็ถูกอุ้มขึ้นรถ พอขึ้นไปบนรถ เขาก็เตะอีกทีหนึ่งแล้วก็โดนใส่กุญแจมือ ชุดจับกุมที่อยู่บนรถคือไม่ใส่ชุด ไม่มีป้ายชื่ออะไรเลย ไม่มีการแสดงหมายอะไรทั้งนั้น”
เมื่อถามความเป็นอยู่ตลอด 6 วันที่อยู่ในเรือนจำ บาสบอกกับเราว่า เข้าไปตอนแรกก็ยังปรับตัวอะไรไม่ได้ ถึงสภาพจิตใจจะยังดีอยู่เพราะมีเพื่อนเข้าไปด้วย แต่อาหารการกินความเป็นอยู่คือ ไม่ดี
“ต่อให้โดนข้อหาอะไร ผมว่ามันไม่ควรไปอยู่อะไรแบบนั้น แค่สิทธิพื้นฐานยังไม่มีเลย ขนาดน้ำดื่ม นักโทษบางคนยังต้องไปกรอกน้ำปะปามากิน อาหารเรือนจำ ช่วงแรกคือกินไม่ได้เลย แย่มากๆ พอช่วงหลัง มีคนฟ้องไป เขาก็ปรับปรุงอยู่”
บาสบอกกับเราด้วยเสียงหนักแน่นว่า “หลังจากนี้ก็ยังยืนยันที่จะเคลื่อนไหวต่อ ไม่หยุด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันยิ่งทำให้เราโกรธ เรายึดหลักสันติวิธีมาตลอด แต่สิ่งที่เราโดนคือมันไม่สมควร”
“ไม่ควรมีใครเข้าไปอยู่ในนั้น เราไม่ได้ทำผิดร้ายแรง เราแค่ออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เราควรมี”
สุดท้าย บาสบอกกับเราว่า “อยากให้คนออกมาสู้ด้วยกัน สู้ต่อไป ถ้าคนข้างในเห็น ก็จะรู้สึกมีกำลังใจ ตอนที่เราอยู่ในเรือนจำ เราแทบไม่ได้เห็นข่าวข้างนอกเลย พอได้เห็นข่าว 10-20 วินาที ว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ข้างนอก เราก็รู้สึกดีใจ เราก็ยังสู้ต่อ คนที่อยู่ข้างนอกก็สู้แบบนึง คนที่อยู่ข้างในก็สู้อยู่แต่แค่เปลี่ยนวิธี”
----------
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะราษฎรอีสาน" เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแม็คโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน
ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่
ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ
ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง
ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู็ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน
“วินาทีที่เข้าไปในเรือนจำ คือ มันแย่มาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่ต้องถูกส่งเข้ามาอยู่ในคุก ต้องมีคำนำหน้าว่า ข.ญ. ที่แปลว่า ขังหญิง คือการเป็นนักโทษ" ความในใจของกิ๊งส์ นักศึกษาวัย 21 ปี ที่ถูกจองจำเพราะร่วมการชุมนุมคณะราษฎรอีสานเมื่อ 13 ตค 63 https://t.co/Ai1J56uQxl pic.twitter.com/MGBPiV65OO
— iLawFX (@iLawFX) November 13, 2020