จริงด้วย ผู้หญิงเสื้อเหลืองที่ถือรูปพอเห็นคนทุ่มลำโพงคือหันหลังหลบแล้วยิ้มเฉยเลย จิตใจคือ;-; ไม่เหลือความเป็นมนุษย์แล้วนะ #ม็อบ21ตุลา
— พริพริเอ๊ง✨||| (@pripri_mana) October 21, 2020
pic.twitter.com/YFSQ5wILr5
iLaw
10h ·
“ยิ่งโดน (ทำร้าย) ยิ่งสู้” เปิดใจ ‘แบม’ นักศึกษาปี 1 ผู้บาดเจ็บจากเหตุชุลมุนที่รามคำแหง
วันที่ 21 ตุลาคม ทางเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยนัดหมายชุมนุมที่ลานพ่อขุน ก่อนหน้านี้การจัดชุมนุมในพื้นที่รามคำแหงพอจะดำเนินการไปได้โดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ แต่ครั้งนี้สถานการณ์ดูจะแตกต่างออกไปเพราะในวันนี้มีกลุ่มประชาชนที่มีแนวคิดต่างกันสองกลุ่มนัดหมายชุมนุมใรพื้นที่เดียวกันคือที่ลานพ่อขุน กลุ่มประชาชนที่มีชุมนุมแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันนัดหมายชุมนุมในเวลา 14.00 น. ส่วนทางเครือข่ายฯ นัดชุมนุมในเวลา 17.30 น.
แบมเล่าว่าในวันนั้นน้องๆ นักเรียนมัธยมเริ่มมาถึงที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมายชุมนุม เมื่อมาถึงเขาก็ไม่รู้จะไปไหนกัน ส่วนที่ลานพ่อขุนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใส่เสื้อเหลืองก็ยังไม่ยอมกลับกัน ทางเครือข่ายเลยตัดสินใจประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมจากลานพ่อขุนมาเป็นที่ตึกอธิการบดีและตัดสินใจขยับเวลามาตั้งเวทีเร็วขึ้นเล็กน้อย จากที่เดิมนัดไว้ห้าโมงครึ่งเพื่อให้น้องๆ นักเรียนมัธยมกับผู้ชุมนุมที่มาถึงก่อนมีสถานที่รวมตัวกันเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความพยายามชุมนุมอย่างปลอดภัยไม่กระทบกระทั่งกันนั้นไม่สู้จะประสบความสำเร็จ
แบมเล่าว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก หลังพวกเธอตั้งเวทีได้ไม่นานและน้องนักเรียนมัธยมซึ่งเป็นผู้ปราศรัยคนแรกเพิ่งเริ่มพูดไปได้ครู่เดียว กลุ่มคนสวมเสื้อเหลืองก็เดินเข้ามา จากนั้นทุกอย่างก็ชุลมุนไปหมด ผู้สังเกตการณ์ของไอลอว์ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมรายงานสถานการณ์ขณะนั้นว่า
"เหตุการณ์ปะทะเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 17.03 น.ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองบริเวณลานพ่อขุนประมาณ 80 คน เรียกรวมตัวเพื่อเตรียมเดินแถวไปบอกกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มว่าพื้นที่นี้เป็น ‘พื้นที่ของพระมหากษัตริย์’ ให้ออกไป เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต และพยายามห้ามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองผ่านรั้วเหล็กมา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองก็ใช้กำลังผลักดันรั้วเหล็กด่านแรกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาได้ แล้วตรงเข้าไปหากลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งชูพระบรมฉายาลักษณ์และโบกธงเหลือง มีการล้อมรถกระบะเครื่องเสียงของกลุ่มนักศึกษา ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงบริเวณรถกระบะประมาณ 10 คน"
แบมเล่าต่อว่าระหว่างที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองพยายามเข้ามาล้อมรถเครื่องเสียง จริงๆ แล้วทางทีมงานก็มีการตั้งการ์ดล้อมรถเครื่องเสียงไว้ชั้นหนึ่งและรอบรถก็ยังมีผู้สื่อข่าวที่มีถ่ายภาพล้อมรถไว้อีกชั้นหนึ่งเลยเหมือนว่ามีการ์ดสองชั้นล้อมรถเครื่องเสียงไว้ แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ เท่าที่เธอพอจะนึกได้เหตุชุลมุนมันเกิดขึ้นเร็วมาก เธอในฐานะพิธีกรที่มีอาวุธคือไมค์ในมือจึงต้องพยายามควบคุมสถานการณ์เท่าที่ทำได้
"พวกเขาเดินเข้ามาหาพวกเรา บางคนถือพระบรมฉายาลักษณ์มาด้วย บางคนตะโกนออกไปๆ ตอนนั้นเหตุการณ์ชุลมุนมาก กำลังตำรวจเองก็มีน้อยมาก มีตำรวจมาห้ามบ้างที่รอบๆ รถแต่ก็ทำอะไรไม่ได้
"ตอนนั้นหนูไม่ได้กลัวนะคะ ตอนแรกหนูงงอยู่แต่ว่าเรามีไมค์เลยจับไมค์มาพูดว่าอยากให้ทุกคนสงบสติอารมณ์ เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ก็ทำได้แค่พูดกับขอร้อง
"ระหว่างที่หนูพูดข้างล่างเขาก็ยังตีกันอยู่ คือคนที่ฟังเราไม่ใช่เค้า (ผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง) แต่เป็นคนของเรา หนูพยายามพูดกับคนของเราว่าอย่าไปตีกับเค้า แต่เค้าก็ไม่หยุด เราบอกฝั่งเค้าไม่ได้ ได้แต่พูดกับคนฝั่งเรา"
เหตุวุ่นวายจากด้านล่างเริ่มลามขึ้นมาบนรถโมบาย แบมเล่าว่าครั้งแรกกรวยถูกโยนขึ้นมาบนรถ แต่โชคดีที่ไม่โดนใคร จากนั้นลำโพงก็ตามขึ้นมา
"ตอนนั้นบนรถมีคนอยู่บนรถ 5 คนรวมหนูด้วย ตอนนั้นมันมีความพยายามทำร้ายคนบนรถ ทำลายเครื่องเสียงด้วย คนที่อยู่ด้านล่างบางคนพยายามดึงคนที่อยู่บนรถลงไป ตอนนั้นการ์ดกระจัดกระจายไปหมดแล้วแต่ยังมีพี่ๆ นักข่าวที่ล้อมรถอยู่คอยเก็บภาพ เลยเหมือนกับพี่เขาช่วยกันหนูไว้
"ส่วนเรื่องลำโพง ตอนแรกหนูเห็นเหมือนมีคนพยายามเอาลำโพงของเราไป พวกเราก็เลยตะโกนกันว่าจะเอาไปทำไม เหมือนเขารู้ว่าเรารู้แล้วว่าจะเอาลำโพงไป เขาก็เลยโยนคืนมาให้ ประมาณว่าอยากได้ก็เอาคืนไปสิ"
เมื่อถามต่อว่าการที่มีการโยนลำโพงมาให้นั้นคิดว่าเขาจงใจทำร้ายเราหรือเป็นแค่การโยนแบบแก้เกี้ยวคล้ายคนที่ทำผิดแล้วถูกจับได้
"จริงๆ โยนลำโพงมามันก็ตั้งใจทำร้ายอยู่แล้วมั้ยคะเพราะลำโพงมันใหญ่มาก
"ตอนเขาโยนมาหนูก็เห็นนะแต่มันเร็วมาก ตอนที่โดนหนูก็ยังไม่รู้สึกอะไรเพราะตอนนั้นทุกอย่างชุลมุน เครือข่ายฯ เห็นว่าไม่ไหวแล้วเลยประกาศว่าเราจะย้ายไปรวมตัวที่หน้าสน.หัวหมาก ตอนนั้นหนูก็ยังเขยกๆ ตามไปเลย"
แบมระบุว่าตอนที่เธอกับรุ่นพี่ลงมาจากรถโมบายเหตุชุลมุนย้ายไปที่หน้าตึกอธิการแล้วเพราะเหมือนมีคนวิ่งหนีแล้วก็มีคนวิ่งตาม ส่วนคนเสื้อเหลืองที่เคยล้อมรถก็กระจายตัวกันไปแล้ว รุ่นพี่ในเครือข่ายเลยช่วยกันกันตัวเธอที่เดินกะเผลกออกไปจากมหาวิทยาลัยได้
พอไปรวมตัวที่หน้าสน.แบมได้รับการปฐมพยาบาล แบมก็ระบุว่าเธอไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบมาดูแลรักษาความปลอดภัยในจุดที่คนไปชุมนุมเลย แม้จะเป็นการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจก็ตาม กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ในบางกรณีที่มีประชาชนไปชุมนุมในที่สาธารณะเพียงไม่กี่คนเพื่อต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ แม้จะไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ มักพบว่าว่าเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่จากที่แบมเล่าดูเหมือนว่าการชุมนุมที่หน้าสน.หัวหมากวันนั้นมีความสุ่มเสี่ยงอยู่มากที่อาจเกิดการปะทะอีก แต่กลับไม่มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างชัดเจน
"หนูก็กะเผลกๆ ของหนูไปทำหน้าที่ต่อ ตอนนั้นมันไม่รู้สึกอะไรนอกจากโกรธ โกรธมากจนเราไม่อยากทิ้งหน้าที่พิธีกร ถ้าวันนั้นพี่เขาไม่พาเราขึ้นมาแจ้งความเราก็คงไม่ได้แจ้งความ เพราะโฟกัสกับการเป็นพิธีกรจนแทบไม่ได้สนใจอาการที่ขาแล้ว
"ที่หน้าสน.หัวหมากตอนนั้นคือหนูเจ็บมากแล้ว มันมีเครื่องปั่นไฟอยู่บนรถ เวลาจะขยับตัวบนรถหนูก็เกาะเครื่องปั่นไฟเอา พอจะมีคนมาพูดหนูก็นั่ง แล้วยืนคั่นเวทีระหว่างรอคนปราศรัยคนต่อไป
"หนูว่าหนูดื้อนะ ตอนนั้นปฐมพยาบาลไปแล้วไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นอะไรร้ายแรง หนูเพิ่งมาเห็นว่าตัวเองโดนอะไรก็หลังจากนั้นที่มาเห็นคลิป เพราะตอนเกิดเรื่องมันเร็วและชุลมุนมาก"
รุ่นพี่พาแบมไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในเวลาประมาณ 19.00 น. จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเธอจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัย แพทย์วินิจฉัยว่าเอ็นยึดข้อเท้าฉีก เบื้องต้นเธอต้องใส่เฝือกและใช้ไม้ค้ำเวลาเดินประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นสามารถถอดเฝือกช่วงกลางวันได้แต่ต้องใส่เฝือกเวลานอนต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนเธอจึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปราว 10,000 บาท ซึ่งเงินทั้งหมดพี่ๆ เพื่อนๆ ในเครือข่ายฯช่วยกันระดมมา โดยไม่มีการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด
การเมืองในราม และความช่วยเหลือที่ยังมาไม่ถึง
คำบอกเล่าของแบมในภาพรวมน่าจะสะท้อนว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัยของวันเกิดเหตุน่าจะมีปัญหาบางอย่าง แต่ปัญหาดังกล่าวอาจดูเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับกรณีที่มีบุคลากรของทางมหาวิทยาลัยอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
แบมเล่าว่าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคนหนึ่งน่าจะเป็นแกนนำของการชุมนุมที่เกิดขึ้นด้วย และที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวมีประวัติเคยทำร้ายร่างกายนักศึกษาในกรณีอื่น แต่เท่าที่เธอทราบเขาถูกลงโทษเพียงถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกอื่นเท่านั้น ไม่เคยได้ยินว่าเขาถูกลงโทษทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัยแต่อย่างใด และในครั้งนี้ก็มีทั้งภาพและวิดีโอคลิปที่แสดงว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวน่าจะมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ชุลมุนและการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ (2 พฤศจิกายน 2563) ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว นั่นทำให้เธอและทางเครือข่ายฯไม่สบายใจ จนต้องไปยื่นหนังสือถึงผู้บริหารเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่าเหตุใดการชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในกรณีของรามคำแหงกลับจบลงด้วยเหตุการณ์รุนแรงต่างจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยอื่นๆ แบมให้ความเห็นว่าเป็นเพราะการเมืองภายในและลักษณะเฉพาะของ "นักศึกษา" ที่นี่มีความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น
"ทุกอย่างในรามมันเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้วพี่"
สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ นักศึกษาระดับปริญญาตรีจะอยู่ในช่วงอายุ 18-23 ปีแต่นักศึกษารามจะแตกต่างออกไป แม้ว่านักศึกษาส่วนหนึ่งจะเป็นคนวัยเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ไม่ใช่
"มีบางคนที่เรียนเป็น 10 ปีแล้วยังไม่จบ ก็อยู่ในรามไปเรื่อยๆ พูดตรงๆ ก็เหมือนกับอยู่เป็นผู้มีอิทธิพล ที่มหาลัยอื่นเขาเรียนกัน 4 ปีจบ อายุการเป็นนักศึกษามันแค่นั้น แต่ที่รามคืออายุเท่าไหร่ก็เรียนได้ ที่รามจะบอกว่าเรียนปี 1 อายุ 19 ใช่ไหม ไม่ใช่ทั้งหมด บางคนอาจเรียนปี 1 ตอนอายุ 25 ก็ได้"
แบมระบุด้วยว่านักศึกษาบางคนที่อายุเยอะแล้วก็ยังเข้าไปทำงานในพรรคของนักศึกษา แบมตั้งข้อสังเกตด้วยว่ากรณีเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนเธอได้รับบาดเจ็บก็มีบุคคลที่น่าจะมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
"ถ้าเปรียบเทียบกับธรรมศาสตร์ คนที่ออกมาชุมนุมน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ที่รามคนที่ออกมาชุมนุมเป็นคนกลุ่มน้อย สภาพมันจะต่างกันค่อนข้างมาก"
อีกทั้งท่าทีของผู้บริหารรวมถึงคณาจารย์ก็ดูจะแตกต่างออกไป ขณะที่หมาวิทยาลัยอื่นๆ เวลานักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวแล้วถูกดำเนินคดีอย่างน้อยจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ความช่วยเหลือหรือดูแลเมื่อถูกจับแต่ที่รามคำแหงออกจะต่างไป แบมเห็นว่าอาจเป็นเพราะอาจารย์ที่นี่กลัวว่าหากออกมาแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ส่วนใหญ่จึงตัดสินใจเลือกอยู่เงียบๆ
ขณะที่ผู้บริหารเองก็ดูจะมีความล่าช้าในการดำเนินการและสิ่งที่ทำให้เธอเสียใจและสิ้นหวังคือ การที่ผู้บริหารออกมาเปิดเผยทำนองว่าทางมหาวิทยาลัยเองก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายที่พร้อมเข้าไปดูแลช่วยเหลือนักศึกษาแต่ยังไม่มีการประสานงานมา ทั้งที่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่รู้กันเป็นการทั่วไป มหาวิทยาลัยน่าจะทำงานเชิงรุกได้โดยไม่ต้องรอการประสานงาน เหมือนที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ทำเองโดยไม่ได้ต้องรอการประสานจากนักศึกษา
ในขณะที่การดำเนินการหาข้อเท็จจริงและการหาตัวผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์เป็นไปอย่างล่าช้า แบมกับทางเครือข่ายจึงไปยื่นหนังสือกับตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อทวงถามความคืบหน้าของการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563
ในขณะที่ความพยายามจะจัดการความจริงของเหตุการณ์อย่างเป็นสาธารณะและเปิดเผยดูจะล่าช้า ความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้เงียบกลับดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แบมระบุว่าเธอได้รับการติดต่อมาทางเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยบุคคลคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งอ้างตัวว่าเขาถูก "ร้องขอ" โดยอาจารย์คนหนึ่งให้มาเสนอเงินช่วยเหลือกับแบมแลกกับการให้ยุติการดำเนินคดีและให้ยุติความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แต่แบมก็ปฏิเสธไปเพราะประเด็นนี้มันเป็นประเด็นสาธารณะและอยากให้มีการดำเนินการต่างๆ แบบเปิดเผยต่อสาธารณะ
ยิ่งถูกตี ยิ่งโกรธ ยิ่งต้องสู้
เมื่อถามถึงการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันในหมู่นักศึกษา แบมระบุว่าในวันที่เธอและทางเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยมายื่นหนังสือก็ไม่ได้มีเพื่อนๆ นักกิจกรรมจากที่อื่นมาร่วมยื่นหนังสือด้วย แต่เธอก็เขาใจว่าแต่ละที่ก็อยู่ในสภาพถูกคุกคามหรือต่างมีปัญหาของตัวเอง เธอไม่ได้รู้สึกว่าการที่ไม่มีเพื่อนสถาบันอื่นมาร่วมแสดงพลังในวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องที่ต้องเก็บมาคิดหรือน้อยใจอะไร
เมื่อถามว่ากระบวนการหาความจริงก็ดูจะล่าช้า ออกมาเคลื่อนไหวก็เจ็บตัว กระทบการเรียนโดยเฉพาะช่วงที่ขาเจ็บก็ไปเรียนไม่ได้ หลังจากหายดีแล้วจะทบทวนบทบาทตัวเองใหม่หรือไม่ แบมตอบว่า
"เอาตรงๆ นะ หนูเลิกทำไม่ได้จริงๆ หนูเจ็บขายังบ่นกับพี่ๆ ทุกวันอยู่เลยว่าอยากไปม็อบ อยากไปม็อบ
"หนูเสียใจมากที่ไม่ได้ไปหน้าสถานทูต หนูรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่แบบ ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พลาดมากวันนั้น
"คือหนูดื้อมากแบบอยากใช้ไม้ค้ำไปม็อบ แต่ว่าแค่ออกมาโรงพยาบาลหนูยังเหนื่อยเลย เพราะเราใช้เท้าได้ข้างเดียว ก็เลยเลิกดื้อดีกว่า อยู่บ้านก็ได้
"เวลาออกจากบ้านสภาพนี้ หนูโมโหมาก เหมือนเราได้เห็นมุมมองของคนพิการด้วย เราพิการแค่ชั่วคราวก็รู้เลยว่าทางเท้าบ้านเรามันเดินไม่ได้ แล้วคนที่เขาต้องอยู่แบบนี้ 10 ปี 20 ปี หรือตลอดชีวิตเขาทำยังไง มันไม่ใช่ว่าคนพิการทุกคนที่มีเงินไปไหนมาไหนใช้รถส่วนตัวได้ บางคนแค่รถเข็นยังไม่มีด้วยซ้ำ ไปไหนมาไหนก็ลำบากกลายเป็นว่าต้องเสียตังมากขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย ทั้งที่ทางเดินเท้าที่สะดวกหรือบริการสาธารณะที่เอื้อกับคนทุกคนมันน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ว่าคนพิการหรือใครควรได้รับอยู่แล้ว
"ช่วงนี้หนูเองก็มีค่าใช้จ่ายเยอะขึ้นเพราะแค่ไปๆ มาๆ ระหว่างมหาลัยกับ สน.หรือโรงบาลต้องใช้แท็กซี่ตลอดถ้านั่งรถเมล์มีหวังได้ขาหักอีกข้าง
"กลายเป็นว่าพอยิ่งมีบาดเจ็บแบบนี้หนูยิ่งเห็นปัญหา หนูยิ่งโกรธ หนูเข้าใจความรู้สึกของคนที่ติดคุกออกมาแล้วเปรี้ยวกว่าเดิมว่ามันเป็นยังไง ยิ่งโดนยิ่งโกรธจริงๆ นะ ถ้าเขาคิดว่าทำร้ายเราแล้วเราจะถอยอะไรแบบนี้มันไม่จริงเลย เรายิ่งโดน เรายิ่งสู้"
ตอแหล !