วันอังคาร, มิถุนายน 02, 2563

คำถามที่คนอยากได้ยินคำตอบจาก ปปช. - #ยืมใช้คงรูป จากนี้ไปเราจะ #ป้องกันการให้สินบนเป็นสิ่งของได้อย่างไร?





#ยืมใช้คงรูป กับคำถามต่อ ปปช.
จากนี้ไปเราจะ #ป้องกันการให้สินบนเป็นส่ิงของได้อย่างไร?

วันเสาร์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องผลการพิจารณาของ ปปช. (หนังสือ ปปช. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563) ที่มีการขอให้ชี้มูลความผิดของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้แจ้งนาฬิกาจำนวนหลายสิบเรือนซึ่งราคารวมนับสิบล้านบาทลงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดย ปปช. สรุปว่า การยืมนาฬิกาของพลเอกประวิตรเป็นการ “ยืมใช้คงรูป” แม้ว่าจะเป็นหนี้ เพราะผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืน แต่มิใช่หนี้สินที่ ปปช. กำหนดให้ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะรายการหนี้สินที่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน “หมายถึงหนี้สินที่ต้องเป็นเงินตราเท่านั้น” ดังนั้น พลเอกประวิตร “จึงไม่มีหน้าที่ที่ต้องแจ้งรายการยืมนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ซึ่งทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร

ผมเห็นว่า #ประเด็นหลักของเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมาย ว่าการยืม หรือที่ ปปช.ใช้ถ้อยคำทางกฎหมายว่า “ยืมใช้คงรูป” จะต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ แต่ #ประเด็นหลักเป็นปัญหาข้อเท็จจริงครับ คือนาฬิการาคาแพงจำนวนหลายสิบเรือนที่พลเอกประวิตรเคยใส่ แล้วปรากฏเป็นภาพข่าวต่างกรรมต่างวาระกันนั้น #เป็นนาฬิกาเพื่อนจริงหรือไม่ ซึ่ง ปปช.ไม่ได้พูดถึงประเด็นข้อเท็จจริงตรงนี้เลย คือเหมือนกับเชื่อไปเลยว่า พลเอกประวิตรยืมเพื่อนมาจริง แล้วก็ข้ามประเด็นข้อเท็จจริงนี้ ไปประเด็นข้อกฎหมายเลย ว่าของที่ยืมมาไม่ต้องลงในบัญชีทรัพย์สินและหนึ้สิน

เรื่องการทุจริตเป็นเรื่องข้อเท็จจริงครับ ซึ่งควรต้องทำให้ยุติก่อนให้ได้ว่านาฬิกาเป็นของใคร ซึ่งถ้า ปปช. มีข้อเท็จจริงที่ทำให้ ปปช. เชื่อว่า พลเอกประวิตร ยืมนาฬิกาเพื่อนมาจริง ปปช.ก็ควรแสดงหลักฐานให้ปรากฏต่อสาธารณะให้คนสิ้นสงสัย เพราะนาฬิการาคาแพงล้วนแต่มีหลักฐานการซื้อขายและมีใบรับรองทั้งนั้น ทำไมถึงไม่ให้เจ้าของนาฬิกา หรือทายาทเอาหลักฐานการเป็นเจ้าของออกมาแสดงเลย เพียงแค่นั้นก็จบแล้วครับ

แต่เมื่อ ปปช.ไม่ดำเนินการในเรื่องข้อเท็จจริงตรงนี้ แล้วใช้แต่ข้อกฎหมายเช่นนึ้ ก็ไม่มีทางแก้ข้อสงสัยได้ และคนก็จะสงสัยตลอดไปอยู่อย่างนั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพลเอกประวิตรเลยหากเป็นนาฬิกาที่เพื่อนให้ยืมมาใส่จริงๆ โดยเฉพาะอย่างย่ิงเมื่อพลเอกประวิตรจะเล่นการเมืองเต็มตัวแล้วตามข่าวที่ปรากฏออกมาครับ

แล้วประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ จากนี้ไป ปปช. จะป้องกันผู้ทุจริตที่เอาเงินที่ได้มาโดยมิชอบไปซื้อของแพงๆ เช่น นาฬิกา หรือแหวนเพชรราคาหลายล้านบาท แล้วก็ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินโดยอ้างว่ายืมเพื่อนมาได้อย่างไร? เมื่อ ปปช. ไม่หาข้อยุติในเรื่องข้อเท็จจริงก่อนว่าสิ่งของนั้นเป็นของคนอื่นจริงหรือไม่เช่นนี้

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปปช. #จะป้องกันการให้สินบนในรูปแบบของสิ่งของได้อย่างไร เช่น การให้สินบน ค่าอำนวยความสะดวก หรือ ส่วย ด้วยการให้นาฬิการาคาแพง หรือการให้ของมีค่าอย่างอื่น เพราะเป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันมากอยู่แล้ว และจากนี้ไปก็อาจจะยิ่งทำกันได้มากขึ้น เพราะทุกคนจะอ้างได้หมดแล้วว่ายืมเพื่อนมา

ด้วยความเคารพ นี่เป็นคำถามที่คนอยากได้ยินคำตอบจาก ปปช. ครับ

...

อ้วน รามคำแหง อาจารย์ครับ แล้ว พรป.ปปช.๒๕๖๑ ม.๑๒๘ ละครับ (ดูรูป) ในเมื่อ ปปช.ทราบข้อเท็จจริงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ได้มีการ"รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำณวนเป็นเงินได้จากผู้ใด"เกิดขึ้น ไฉนจึงนิ่งเฉยไม่ดำเนินการละครับ... จะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเปล่าครับผม

กรณีนี้ ข้อเท็จจริงคล้ายกับเรื่องของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในส่วนของทรัพย์ที่เป็นรถโฟล์คตู้ราคาสามล้านบาทมาก ที่ภรรยาไปให้การกับ ปปช.ว่าเพื่อนให้ยืมมาใช้... ทำไมรายนั้นศาลพิพากษาลงโทษ แต่กรณีนี้ ปปช.กลับบอกว่าไม่ผิดละครับ

เรื่องนี้ผมคิดว่าขว้างงูไม่พ้นคอครับ... ช่วยให้รอดจาก ม.๑๖๗ ได้อย่างสีข้างแดงเถือก แต่ก็ไปไม่รอด ต้องมาติดที่ ม.๑๒๘ อยู่ดี... จึงไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการใดๆ เลย ทำนิ่งเฉยมันซะอย่างนั้น อย่างนี้ ผมว่าน่าจะผิดกฏหมายอาญา ม.๑๕๗ นะ... ครับผม

ปล.ทำลายหลักการเพื่อประโยชน์ของคนๆ เดียว... อย่างนี้มันใช้ไม่ได้... แย่มากเลยนะครับอาจารย์


Prinya Thaewanarumitkul อ้วน รามคำแหง ขอบคุณครับ เห็นด้วยเลยครับ