
[ "มรดกคณะราษฎร" และ “มรดกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” อาจอยู่ใกล้บ้านคุณมากกว่าที่คิด ]
สุดสัปดาห์นี้ คณะก้าวหน้าชวนทุกท่านไปสำรวจและถ่ายภาพกับ “มรดกคณะราษฎร” ทั่วประเทศ!
งานรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง "24 มิถุนายน 2475" สำหรับปีนี้ถือว่าคึกคักเป็นอย่างยิ่ง พี่น้องประชาชนที่รักประชาชาธิปไตยเริ่มต้นกิจกรรมกันตั้งแต่ย่ำรุ่ง
.
แม้ไม่มี "หมุดคณะราษฎร" เป็นจุดรวมคนเหมือนแต่ก่อนแล้ว ประชาชนก็ถือเอา "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" เป็นหลักหมายให้ได้มาเจอะเจอกัน ในหลายจังหวัดทั่วประเทศก็มีกิจกรรมคู่ขนาน ขณะที่ทางด้านภาควิชาการหลายๆ สถาบัน หลายๆ องค์กรก็ยังคงจัดเวทีพูดคุยต่อเนื่อง
.
นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของประชาชนบริเวณ "สกายวอล์ก" เพื่อร่วมกันอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ "พระยาพหลพลพยุหเสนา" หนึ่งในแกนนำ "คณะราษฎร" ได้เคยอ่านในเวลาย่ำรุ่งของวันนั้น ซึ่งแม้จะมีความพยายามสกัดขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างเรื่องอยู่ภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่แน่ใจว่าจะมีผู้ร่วมกิจกรรมวันนั้นถูกแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ แต่กระนั้นประชาชนก็ยังมาร่วมกิจกรรมกันอย่างเนืองแน่น
.
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ "คณะราษฎร" มอบให้กับประเทศไทย หลัก 6 ประการที่ประกาศ ได้แก่ เอกราช, ปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ, การศึกษา ก็เปรียบเสมือนหลักประกันและคำสัญญากับประชาชนในยุคสมัยของประชาธิปไตย ว่าชีวิตในฐานะพลเมืองของรัฐจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งที่เป็นหลักฐานทางวัตถุ สถานที่ที่สามารถพบเห็นและจับต้องได้ อาทิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มอาคารริมถนนราชดำเนิน วัดประชาธิปไตย (วัดมหาธาตุบางเขน) ฯลฯ ซึ่งใช่มีแต่เพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ "มรดกคณะราษฎร" ยังกระจายไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
.
โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ที่บางแห่งจัดสร้างขึ้นก่อนที่จะมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เสียอีก มิหนำซ้ำหลายๆ แห่งงบประมาณที่ใช้ในการจัดสร้างก็มาจากประชาชนคนในพื้นที่ ช่วยกันบริจาคคนละเล็กคนละน้อย ซึ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบบใหม่เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การปฏิวัติ การอภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือจะเรียกอะไรก็ตามแต่ จึงไม่ใช่เรื่องของ "คนเพียงไม่กี่คน" อย่างที่พวกเขาชอบกล่าวอ้าง หากแต่มีประชาชนคนทั่วไปอีกจำนวนมากที่สนับสนุนเอาด้วย
.
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ในบรรยากาศเดือนแห่งการรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ อยากชวนไปสำรวจ "มรดกคณะราษฎร" ที่ไม่ได้มีอยู่แต่ใน "พระนคร" เท่านั้น หากแต่ยังกระจายตัวไปทุกทิศทั่วไทย และในห้วงยามที่มีความพยายามรื้อทำลาย ในห้วงยามที่เป็น "การเมืองเรื่องทำให้ลืม" มีปฏิบัติการทางการเมืองโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองปฏิบัติการทางการเมืองอยู่นี้ ไม่อาจมีใครรับประกันได้เลยว่า สิ่งที่เราเห็นอยู่ในวันนี้ จะไม่อันตรธานหายไปในวันหน้า
.
ดังนั้น กางแผนที่และออกไปสำรวจด้วยตัวเอง ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น และอย่าลืมโพสต์รูปที่คุณได้ไปพบกับมรดกคณะราษฎร พร้อมติด #อยากให้ลืมเราจะจำ
.
#คณะก้าวหน้า #คณะราษฎร #24มิถุนา

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนธรรดา สามัญได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นได้รองรับสิทธิพื้นฐานของประชาชนในเรื่องนี้ การมีกลไกระบบรัฐสภา มีการเลือกตั้งผู้แทนครั้งแรกในปี 2476 ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของอำนาจ และรู้สึกว่าเสียงของตนนั้นได้รับความสำคัญ เพราะผู้แทนแต่ละจังหวัดต่างก็นำปัญหาไปสะท้อนให้กับผู้มีอำนาจได้รับรู้ในสภา ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของ "การปกครองท้องถิ่น" ซึ่งคณะราษฎรพยายามที่จะจัดให้มีเทศบาลทั่วประเทศ ก็ได้ทำให้คนธรรมดาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร มีส่วนร่วมในการครองท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด

ในช่วงเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย รัฐบาลได้มีการการตั้ง "กองโฆษณาการ" เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับระบอบใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะหลัก 6 ประการ มีการส่งผู้แทนไปเป็นวิทยากร มีการพิมพ์หนังสือเผยแพร่เรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการแพร่กระจายในเชิงวัฒนธรรมก็มีด้วยเช่นกัน นั่นคือ การนำเอาสัญลักษณ์ "พานรัฐธรรมนูญ" ไปใส่ไว้ในสิ่งของต่างๆ เพื่อให้คนได้คุุ้นเคย ศาสนสถานตามที่ต่างๆ มีร่องรอยปรากฏ และยังเป็นที่มาให้ประชาชนชาวมหาสารคามร่วมกันสร้าง "อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ" ขึ้นเป็นแห่งแรกใน ปี 2477 ก่อนที่จะตามมาด้วยอีกหลายๆ แห่ง เช่น สมุทรสาคร ปี 2478, ร้อยเอ็ดและสุรินทร์ ปี 2479 เป็นต้น

ในปี 2477 ได้มีการทำ "รัฐธรรมนูญจำลอง" และมอบให้กับ ส.ส. ทุกจังหวัดเชิญไปเก็บไว้ที่จังหวัดตนเอง ขณะเดียวกันบางสถานที่ก็มีบุคคลสำคัญของรัฐบาลได้ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญจำลอง และการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเฉลิมฉลองด้วย เพราะในการจัด "งานฉลองรัฐธรรมนูญ" ครั้งแรกมีขึ้น 10 ธันวาคม 2475 ในพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เพียงแห่งเดียว แต่ในปีต่อๆ มา ได้เริ่มกระจายขยายไปยังต่างจังหวัด จนกระทั่งได้มีการจัดขึ้นทั่วประเทศ

ในงานเฉลิมฉลองนี้ มีการออกร้านขายของ มีกิจกรรมสันทนาการ มีกิจกรรมที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า คหบดี ประชาชน ทุกคนเท่าเทียมกัน นี่เป็นงานมีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับเรื่องระบอบใหม่อย่างแยบยล และที่สำคัญ ยังมีเรื่องของเงินที่เป็น "รายได้" จากการจัดงานเฉลิมฉลอง จากการบริจาค ที่ถูกนำไปใช้ในการบำรุงท้องถิ่น สร้างสุขศาลา สร้างสิ่งสาธารณูปโภค ต่างๆ อีกมากมายด้วย ทั้งนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปีมาจนจนเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปลายปี 2484 การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญทั่วประเทศจึงเริ่มเสื่อมคลายลง และเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศจึงปิดฉากลง เหลือเพียงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ เท่านั้น และงานได้ยุติอย่างสิ้นเชิงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจในปี 2500