วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2563

4 มายาคติที่มีอิทธิพลครอบงำเกี่ยวกับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ในสังคมไทย




#88ปีอภิวัฒน์สยาม #mythofsiam

" ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร "

24 มิถุนายน 2475 : วันเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ปี 2475 (The Siamese revolution of 1932)

ในวาระครบรอบ 88 ปี อภิวัฒน์สยาม การเดินทางของประชาธิปไตยไทยที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ท่ามกลางกระแสที่พยายามจะลบเลือนบทบาทของคณะราษฏร รวมถึงมรดกที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยตกอยู่ภายใต้มายาคติที่ลดทอนคุณค่าของคณะราษฏร

มายาคตินี้เองที่กลายเป็นฐานรองรับให้ความชอบธรรมกับกระแสการถวิลหา และนำพาสังคมไทยหวนคืนกลับไปสู่การปกครองแบบโบราณภายใต้ชนชั้นนำจารีต

โดยเราขอนำเสนอมายาคติที่มีอิทธิพลครอบงำเกี่ยวกับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ในสังคมไทยซึ่งมีอยู่ถึง 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

1. มายาคติ “ชิงสุกก่อนห่าม”

คำว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” กลายเป็นคำที่ถูกผูกติดกับการปฏิวัติ 2475 เพื่อให้ภาพว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยที่ประชาชนยังไม่พร้อมเพราะขาดการศึกษา และเกิดขึ้นทั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว

ในขณะที่งานศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า 2475 เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหลายประการมาบรรจบกันจนสุกงอมแล้วต่างหาก ไม่ว่าจะเป็น

ปัจจัยด้านสถาบันการเมือง ที่มีการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูง จนการบริหารราชการแผ่นดินล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ บวกกับความไม่ยุติธรรมในระบบราชการ

ปัจจัยด้านอุดมการณ์ ที่มีการแพร่หลายของแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้สามัญชนเกิดจิตสำนึกตื่นตัวต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน ซึ่งท้าทายอุดมการณ์แบบจารีตที่เน้นชาติกำเนิด บุญบารมี และความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น

ปัจจัยด้านการก่อตัวของชนชั้นใหม่ ที่มีการเติบโตของชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักเรียนนอก นักเรียนใน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และวิชาชีพสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มคนใหม่ๆ เหล่านี้มาพร้อมกับจิตสำนึกใฝ่หาเสรีภาพ ความทันสมัย และความเสมอภาคเท่าเทียม

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อันได้แก่ วิกฤตการคลังตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2472-2475 รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลและปรับข้าราชการชั้นกลางและล่างออกหลายระลอก (แต่ปกป้องชนชั้นสูงและขุนนาง) ขึ้นภาษีรายได้กระทบคนชั้นกลางและราษฎร สร้างความเดือดร้อนให้กับคนระดับล่างและกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาล

ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ที่เกิดการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่จีน รัสเซีย เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี

คำกล่าวที่บอกว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องจริง ปัญหาอยู่ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาที่มุ่งปรับเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงมุ่งรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นสูงไว้ เพียงแค่ตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนได้ และให้มีสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการบริหารราชการ

ข้อเท็จจริงก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด) ก็ยังถูกบรรดาที่ปรึกษาของรัชกาลที่ 7 ลงความเห็นว่าก้าวหน้าเกินไป คนไทยยังไม่พร้อมกับการมีรัฐธรรมนูญแบบนี้

กล่าวโดยสรุปก็คือ จวบจนเดือนมิถุนายน 2475 สถานการณ์ของการเมืองโลกและการเมืองไทยมาถึงจุดที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เงื่อนไขของการปฏิวัติสุกงอมเหมือนมะม่วงที่พร้อมจะหล่นลงจากต้น รอเพียงแค่มีคนมานำการเด็ดเท่านั้น

2. มายาคติ “การปฏิวัติของนักเรียนนอกจำนวนน้อย”

อีกหนึ่งมายาคติที่แพร่หลาย คือ 2475 เป็นการปฏิวัติของคนหยิบมือเดียวที่เป็นนักเรียนนอกรุ่นหนุ่มใจร้อนฝักใฝ่แนวคิดฝรั่ง

ในความเป็นจริง หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อเช่นนี้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ประการแรก เฉพาะในกลุ่มคณะราษฎรเองก็ไม่ได้มีแต่นักเรียนนอก แต่มีทั้งนักเรียนใน และข้าราชการและพลเรือนที่เกิด เติบโต และเป็นผลผลิตของการศึกษาในประเทศ มายาคติที่บอกว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นเรื่องของคนหนุ่มที่แปลกแยกจากความเป็นไทยจึงไม่เป็นความจริง

ปัจจัยด้านแนวคิดจากต่างประเทศอาจมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะความคิด แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติคือ ความเสื่อมโทรมล้าหลังและความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในระบบการบริหารราชการแผ่นดินในประเทศ ณ ขณะนั้น

ประการที่สอง การปฏิวัติ 2475 มิใช่การปฏิวัติของคนจำนวนร้อยกว่าคนที่รวมตัวกันในนามคณะราษฎรเท่านั้น หลักฐานประวัติศาสตร์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่า มันคือการปฏิวัติที่มีฐานสนับสนุนทางสังคมอย่างกว้างขวางจากคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ

แน่นอนว่า หากนำเกณฑ์หลายอย่างมาวัด การปฏิวัติ 2475 มิใช่การปฏิวัติมวลชนที่มีคนเรือนแสนเรือนล้านมาเข้าร่วม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การยึดอำนาจของคนเพียงหยิบมือเดียว ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นความคิดที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มทางสังคมหลายกลุ่ม ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้มีการศึกษา ครู ชนชั้นกลางในเมือง พ่อค้า เจ้าของกิจการขนาดย่อย

3. มายาคติ “กระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง”

การมองเช่นนี้เป็นการมองการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 แบบขาวดำและผิดไปจากความเป็นจริง ที่ยิ่งเป็นตลกร้ายก็คือ งานวิชาการทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 2475 หลายชิ้นในระยะหลังกลับชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การปฏิวัติ 2475 ล้มเหลวในการสถาปนาประชาธิปไตย เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของคณะราษฎรที่ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเดิมในระบอบเก่ามากเกินไป แทนที่จะผนึกรวมอำนาจให้เป็นปึกแผ่นและผลักดันนโยบายของตนเองอย่างเต็มกำลัง

การประนีประนอมนี้น่าจะเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงในฐานอำนาจของฝ่ายนิยมระบอบใหม่ บวกกับความรู้สึกที่ไม่อยากหักหาญกับชนชั้นสูงในระบอบเก่า โดยเชื่อว่า หากแสวงหาความร่วมมือน่าจะผลักดันระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยได้ราบรื่นมั่นคงกว่า

ซึ่งกลายเป็นความผิดพลาดที่นำไปสู่ความวุ่นวายไม่รู้จบ หลังการปฏิวัติ 2475 ระลอกแรกเกิดจากฝ่ายขุนนางเก่าที่ต้องการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญและยื้อแย่งอำนาจกลับคืนจากคณะราษฎรไปสู่กลุ่มตน กระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาหยุดชะงัก

การโจมตีคณะราษฎรแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าหวงแหนอำนาจและยึดอำนาจจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางไปเป็นของกลุ่มตน โดยไม่พิจารณาความพยายามของขุนนางในระบอบเก่าที่ต้องการรวบอำนาจกลับไปไว้ที่ชนชั้นเจ้านายและขุนนางเช่นกัน จึงเป็นการมองประวัติศาสตร์แบบไม่รอบด้าน

หากพยายามจะเข้าใจพฤติกรรมของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 ก็จำเป็นต้องเข้าใจการปฏิปักษ์ปฏิวัติของกลุ่มขุนนางเก่าหลัง 2475 ด้วยเช่นกัน ประวัติศาสตร์คือเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ

4. มายาคติ “2475 เป็นเพียงการรัฐประหาร มิใช่การปฏิวัติที่แท้จริง”

มายาคตินี้บอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่การปฏิวัติ เพราะมิได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เป็นเพียงการรัฐประหารที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือครองอำนาจรัฐเท่านั้น

ในข้อนี้อีกเช่นกันที่งานวิจัยทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า “ไม่จริง” ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลและครอบคลุมคนวงกว้างทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมความคิด

ในด้านการเมือง เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจ สถาปนาการปกครองโดยรัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) มีการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ อาทิ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาคมการเมือง กลุ่มผลประโยชน์วิชาชีพ การเลือกตั้ง ฯลฯ ที่เปิดให้คนหน้าใหม่และสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจสาธารณะมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การขยายระบบราชการและปรับวิธีการทำงาน ทั้งยังมีการปฏิรูประบบกฎหมาย มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบกับต่างชาติ ทำให้ประเทศมีเอกราชที่สมบูรณ์

ในด้านสังคม มีการจัดระบบการศึกษา ระบบการแพทย์และสาธารณสุข และระบบคมนาคมที่ทันสมัย ครอบคลุม และเสมอภาคมากขึ้น โดยรัฐบาลดำเนินบทบาทหน้าที่แบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พยายามจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะให้ถึงมือประชาชน เกิดการขยายตัวของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และถนนหนทางเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า สามัญชนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการวางนโยบายและพัฒนาระบบการค้าและการลงทุนในภาคเกษตรกรรม บริการ และอุตสาหกรรม มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เข้าไปจัดหางานและส่งเสริมอาชีพต่างๆ

แน่นอนว่า การเข้าไปมีบทบาทของรัฐมากขึ้นในทางเศรษฐกิจนี้มีทั้งด้านบวกและลบ แต่ประเด็นตรงนี้คือ หลัง 2475 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ในด้านวัฒนธรรมและความคิด เกิดการเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วัฒนธรรมการพิมพ์ ละคร และวัฒนธรรมที่อยู่นอกภาครัฐ เกิดการถกเถียงทางอุดมการณ์อันหลากหลายเข้มข้นทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐ มีทั้งแนวคิดประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ อนุรักษนิยม รอยัลลิสต์ สังคมนิยม รวมถึงชาตินิยมแบบต่างๆ แพร่หลายและต่อสู้กัน เกิดพื้นที่ทางปัญญาและวัฒนธรรมใหม่ๆ มากมายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ 24 มิถุนายน 2475 จึงมีฐานะเป็นการปฏิวัติ เพราะมันสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมณฑลวงกว้างที่นอกเหนือจากศูนย์กลางในกรุงเทพฯ เกิดโครงสร้างการเมืองใหม่ รูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ และจิตสำนึกแบบใหม่ในหมู่ประชาชน

24 มิถุนายน 2475 ก็เหมือนการปฏิวัติในสังคมอื่นๆ มีทั้งด้านที่สำเร็จและล้มเหลว มีจุดแข็งและจุดอ่อน มีความก้าวหน้าและมีข้อบกพร่อง เพราะมันเป็นการปฏิวัติของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อที่เป็นปุถุชน มิใช่อรหันต์ ความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจในภายหลังก็เป็นเรื่องปกติเฉกเช่นการปฏิวัติครั้งอื่นที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์โลก

ปัญหาอยู่ที่ว่า จนถึงวันนี้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ “พลิกแผ่นดิน” ครั้งนี้อย่างรอบด้านแล้วหรือยัง การถกเถียงและการประเมินฐานะความสำคัญของเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเรื่องสำคัญและควรทำ แต่เงื่อนไขสำคัญคือสังคมต้องมีเสรีภาพให้ประชาชนได้เถียงและตั้งคำถามเรื่องประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องหวาดกลัวอำนาจลงทัณฑ์ทางกฎหมายหรือการปิดกั้นจากรัฐ

#Revolution

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บทความ การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://www.facebook.com/thammasatsu/photos/a.209343805769097/3038276936209089/?type=3&theater
...

อ่าน บทความ การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์