เป็นปุจฉาน่าคิดเวลานี้ ทั้งๆ
ที่เศรษฐกิจของประเทศ (มหภาค) ยังซบเซาไม่เห็นทางฟื้นในอนาคตอันใกล้ และปากท้องของประชาชน
(รากหญ้า) ยังฝืดเคืองเรื่อยมาตลอด ๕-๖ ปี หมดหวังแก้ไขในวันมะรืนวันพรุ่ง
แต่ไฉนทางการเมืองเครือข่าย คสช.กลับอ้วนพีกัน
ไม่เท่านั้น “ฝ่ายตรวจสอบ-ถ่วงดุล”
หรือฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ ก็ “อาการหนัก ลุ่ม ๆ ดอน ๆ...ไม่สามารถคัดง้างฝ่ายตรงข้ามได้”
ดัง ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ออกบทวิเคราะห์เอาไว้
ว่าเมื่อตอนเริ่มต้นสูสีกัน ฝ่ายค้าน ๗ พรรค ๒๔๖ เสียง รัฐบาล ๑๙ พรรค ๒๕๔ เสียง
อยู่มา ๑ ปี
รัฐบาลประยุทธ์ได้เสียงเพิ่มเป็น ๒๗๖ จากฝ่ายค้านทั้งด้วยพลังดูดและแรงโดดเกาะ
โดยเฉพาะหลังจาก ‘อำนาจที่สืบทอด’ จาก คสช.สามารถยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ดังแผนพิมพ์เขียว ดูดเอางูเห่าเลื้อยเข้ารัฐบาลเป็นพรวน
ไหนจะคะแนนปัดเศษ ส.ส.เอื้ออาทร อีกทั้งการกลับมาเฟื่องฟูของการเมืองแบบเพื่อปากท้องของพรรคและพวก
ทำให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ย้ายฝั่งยกพรรค ทิ้งหัวหน้า ‘มิ่งขวัญ’
ค้างเติ่งอย่างเดียวดาย ฝ่ายค้านเหลือแค่ ๖ พรรค กับ ๒๑๒ ส.ส.
แล้วยังเลือกตั้งซ่อมสามสี่ครั้ง “ฝ่ายค้านไม่เคยชนะ”
ตั้งแต่เขต ๔ นครปฐม เขต ๒ กำแพงเพชร เขต ๒ ขอนแก่น และหมาดๆ เขต ๔ ลำปาง
เพิ่มเสียงแก่ฝั่งรัฐบาลเสียจนเป็น ‘ข้างมากหายห่วง’ แม้กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจข้อมูลเด็ดๆ แต่การแสดงหน่อมแน้ม
‘ประชาชาติ’ ยกเอากรณี “เพื่อไทยอภิปรายจนเวลาหมด
ไม่เหลือให้อนาคตใหม่ได้อภิปรายในวันสุดท้าย รัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติซักฟอกอย่าง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รอดการถูกซักฟอกแบบไร้รอยขีดข่วน” มาเปิดแผล
แม้นว่า สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านจากเพื่อไทย
อ้างเป็นเพียง “ขลุกขลักบ้าง เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราเพิ่งกลับมาเป็น ส.ส....พรรคร่วมฝ่ายค้านยังต้องแชร์ประสบการณ์เรียนรู้กันอีกเยอะ”
และว่าต่อไป “ภาพไม่เป็นขบวนจะไม่เกิด”
แต่ความอ่อนเปลี้ยของ ‘เพื่อไทย’ เป็นดัชนีชี้แนวดิ่ง ที่เริ่มต้นเป็นหัวแรงสำคัญฝ่ายค้าน
พอแตกใบอ่อนกลายเป็น ‘หางแถว’ ไม่นับ
รอยแยกในระดับแกนนำของเพื่อไทย “จนบางส่วนต้องไปตั้งกลุ่มแคร์” ที่ยังเป็นแค่ ‘Think
Tank’ เสียมากกว่าพลังการเมือง
จุดหักเหน่าจะอยู่ที่
เสียงค้านอันสำคัญต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในพรรคอนาคตใหม่ ‘ถูกคุมกำเนิด’ อย่างชั่วร้าย
ทั้งที่พวกเขาดิ้นกันอย่างสุดฤทธิ์ โดยที่พรรคข้างเคียง ‘มิตรร่วมอุดมการณ์’
ได้แต่ทำตาปริบๆ ท่ามกลางความหวาดหวั่นจะมาถึงตนด้วย
‘บอล’
ธนวัฒน์ วงค์ไชย ยกประเด็นขึ้นมาให้คิดจากนิด้าโพลล่าสุด พบว่า “คะแนนของอนาคตใหม่ไหลไปก้าวไกลแค่
๑๓%” ส่วนคะแนนให้ใครเป็นนายกฯ ที่ ‘ธนาธร’ เคยได้อันดับหนึ่ง ๓๑% “ไหลไปหาทิม พิธา แค่ ๔%”
จุดน่าสนใจอยู่ที่โพลนิด้า ‘เลี่ยง’ ที่จะเชิด ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแทน ธนาธร
จึงรุ่งเรืองกิจ เลี่ยงที่จะให้พรรคเพื่อไทยได้สวมความนิยมแทนอนาคตใหม่ โพลอันดับ
๑ กลับ “ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย” เช่นกันกับตัวนายกฯ “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้”
ทั้งที่ประโคมกันหนักต่อการที่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปคุมพรรคพลังประชารัฐด้วยตนเอง และ ‘เด้ง’ กลุ่มสี่กุมารออกจากลำดับสายการบังคับบัญชา หนำซ้ำพยายามจะดัน
‘บิ๊กอายส์’ โปรเฟสเซ่อโฆษกขึ้นไปเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทน
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
พอได้กรรมการบริหารชุดใหม่และ ‘๑๓ อรหันต์’ ภายใต้เฮียป้อมหัวหน้า เลขาฯ ใหม่ อนุชา
นาคาสัย พยายามชงให้ ศาสตราจารย์ด็อกเต้อ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ที่ได้เป็นเหรัญญิกของพรรค เทียบชั้นกูรูเศรษฐกิจ แต่ไม่สำเร็จ
เสียงวิจารณ์ว่าผลงานทางบริหารไม่มี
เคยสอนหนังสืออยู่ที่นิด้าก็งั้นๆ ไต่เต้าตามช่องทางของกระแสน้ำจนกระทั่ง ‘สมคิด’ ดึงไปเป็นผู้ช่วย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังในรัฐบาล
คสช. แม้จะย้ายไปเป็นโปรเฟสเซ่อโฆษกก็มีแต่เสียงยี้
มาได้ดิบได้ดีตอนช่วงหัวต่อโควิด-๑๙ กับการเปลี่ยนม้าศึกเศรษฐกิจทีมประชารัฐเดิม
พอ ‘อาจารย์แหม่ม’ ลดบทบาทจากโฆษกฯ
ไปเป็นเลขานุการรองนายกฯ ประวิตร เท่านั้นแหละดวงรุ่งอย่างไม่กระโตกกระตาก ก่อนที่จะทำท่าเป็นดาวร่วงขณะนี้
ขนาดที่เสียงนินทาบอก ก่อนหน้านี้ พปชร.พยายามทาบทามมืออาชีพทางเศรษฐกิจอย่าง
“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ปรีดี ดาวฉาย จากค่ายกสิกรไทย” ไปร่วมทีม
แต่ถูกปฏิเสธเป็นแถว “พอรู้ว่าต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับของนฤมล”
ซ้ำมีข่าว มิร้าย เรื่อง ‘แม่บิ๊กอายส์’ เอาใจลุงป้อม ว่าจ้าง ๓ แสน ให้ ฌอน
บูรณะหิรัญ ทำพีอาร์ชื่นชมประธาน ‘ป่ารอยต่อ’ เป็นผู้ใหญ่น่ารัก ในงานโค่นป่าปลูกต้นไม้ใหม่ อันทำให้ฌอนโดนถล่มไม่หยุดจนบัดนี้
ยิ่งกว่า ‘ตายหยังเขียด’
ถึงตรงนี้ ‘ฝ่ายค้าน’
ควรที่จะคิดออกแล้วละ ว่าทำไมถึงได้กลายเป็น ‘เบี้ยรองบ่อน’ ของพวกเสือสิงห์กระทิงแรด ที่นำวิชามารทางการเมืองกลับมาใช้กันอย่างเริงร่าได้