วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2563

‘New narrative’ ทัพบก 'พยาพหลฯ' เป็นเผด็จการ ‘บวรเดช’ เป็นประชาธิปไตย และ 'นอกเครื่องแบบ' เป็นมาเฟีย


เมื่อ “นายอยากคุยด้วย” ก็แค่ส่งหัวไม้ในคราบเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปดักตะครุบตัว หรืออาจ อุ้มหาย เมื่อไรก็ได้ นี่หรือคือ ‘New narrative’ ของรัฐบาล คสช.๒ จากการที่มีกลุ่มคนปกปิดสังกัดพยายามเข้าควบคุมตัว โตโต้

ขณะที่ #กองทัพบก ก็พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยเมื่อปี ๒๔๗๕ ด้วยการออกแถลงข่าวเรื่อง “บำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช” ซึ่งก่อกบฏในปี ๒๔๗๖

ทัพบกสมอ้างอย่างด้านๆ ว่าจัดพิธีนี้ “เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน และยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย” โดยกล่าวหาพยาพหลฯ เป็นเผด็จการจึงต้องการให้รัฐบาลเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ข้อสำคัญที่ทัพบกอ้างเป็นวีรกรรมของบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงคราม แม่ทัพฝ่ายกบฏ ก็เพราะเรียกร้อง “ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้” ทั้งๆ ที่ชาวไทยใฝ่รู้ความจริงซึ่งมีจำนวนล้นหลาม โดยเฉพาะที่เป็นคนหนุ่มสาว เติบโตมาท่ามกลางการอำพรางประวัติศาสตร์


บัดนี้รับทราบกันถ้วนหน้าแล้วว่า ในเบื้องต้นคณะราษฎรคนสำคัญฝ่ายทหารเสนอว่า ยิงให้หมด แต่สมาชิกคนสำคัญฝ่ายพลเรือนค้านว่าทำอย่างนั้นรุนแรงเกินไป เหมือนฝรั่งเศสและรัสเซีย ทั้งรัชกาลที่ ๗ จึงยังทรงครองราชย์สืบต่อมาภายใต้รัฐธรรมนูญ

อำนาจของกษัตริย์อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ และบ่อยครั้งอ้างอิงบังคับใช้ตลอดมา รวมทั้งในการละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการสนับสนุนคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองอย่างเผด็จการ จนมาถึงรัชกาลที่ ๑๐ นี่พระราชอำนาจเต็มเปี่ยมเหนือกองทัพราชวัลลภ

แล้วยังทรงพระราชอำนาจเต็มเปี่ยมทางการเงิน เหนือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเคยอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง และดูเหมือนจะทรงพระราชอำนาจจัดการรื้อถอน (สัญญลักษณ์คณะราษฎร) และปลูกสร้างตามพระราชหฤทัย

การที่ทัพบกแสดงออกให้เห็นถึงความอคติที่มีต่อคณะราษฎร ด้วยการบิดเบือนว่าหัวหน้ากบฏ บวรเดชเป็นประชาธิปไตยและหัวหน้าคณะอภิวัฒน์ พยาพหลฯ เป็นเผด็จการ นี่เป็นความต่ำทรามลงไปอีกระดับหนึ่งของกองทัพไทย

อีกด้านหนึ่งมีปฏิบัติการในลักษณะอั้งยี่หรือ มาเฟียโดยรัฐ ภายใต้การปกครองระบบ คสช.๒ ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ นอกเครื่องแบบที่ไม่ยอมบอกสังกัด ไม่แสดงบัตร ไม่มีหมายสั่ง ออกติดตามจับกุมควบคุมตัวนักกิจกรรมบางราย
 
โตโต้เป็นหนึ่งในจำนวนนักกิจกรรมสี่ห้าคนที่ ข่าวลือ ว่าถูกหมายหัวจัดการ หุ้มหาย แบบเดียวกับที่เกิดกับ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา เรื่องลือที่ระบุนายทหารราชองครักษ์ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวฯ นี้ยังไม่มีความกระจ่างในทางใด จริง-ไม่จริง

ฉะนี้ เหตุที่เกิดกับ ปิยรัฐ จงเทพ เมื่อเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนา “จากกลุ่มชายที่ไม่เปิดเผยชื่อ และสังกัด แต่อ้าง ผู้บังคับบัญชามีอำนาจมากมาย ให้มาคุมตัวผมไปพบ” ขณะเขากำลังเดินทางกลับจากการร่วมกิจกรรมรำลึก ครบรอบ ๘๘ ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“ชายคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เดินตามผมมายังจุดเรียกรถแท๊กซี่ ก่อนจะพยายามห้ามรถแท๊กซี่ทุกคันจอดรับผม และเข้าประชิดตัวผม...ผมพยายามขัดขืน หลีกหนีเข้าหาฝูงชนและสื่อมวลชน จนกลุ่มชายดังกล่าวค่อยๆ ถอยห่าง”

นั่นเป็นเหตุการณ์ตามคำเล่าเจ้าตัวหลังจากที่สามารถแหวกวงล้อม ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มสื่อมวลชนและผู้ร่วมกิจกรรม ทำให้ “สามารถออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย” แต่ก็ได้ทราบในเวลาต่อมาว่าเหตุการณ์ที่เกิดเป็นปฏิบัติการของตำรวจ

ที่ “ต้องจับกุมตัวผมตามหมายจับ” โทรศัพท์ติดต่อจากตำรวจบอกแค่นั้น แต่ไม่มีใครบอกว่านอกเครื่องแบบกลุ่มนั้นมาจากหน่วยไหน ผู้ถูกหมายหัวไม่ร่วงรู้มาก่อนว่าถูก หมายจับ ในความผิดอะไร “ได้แต่คาดเดาว่าคงเป็นคดีเกี่ยวกับ พรบ.ชุมนุม”


เหตุการณ์อย่างนั้น มันเกินธรรมดา หรือ ‘abnormal’ ต่อครรลองประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่พวกศรัทธาใน บวรเดชอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา จึงได้แอบอ้างไม่ละอายว่าการกบฏที่หมายแย่งคืนสมบูรณายาสิทธิราช เป็นประชาธิปไตย