วันศุกร์, มิถุนายน 26, 2563

~ ความฝันที่วาบหวามใจ ~ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์จากความทรงจำ




~ ความฝันที่วาบหวามใจ ~

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คุณลุง จำลอง ดาวเรือง เป็นหนุ่มวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 มีอาชีพนายท้ายเรือยนต์ขึ้นล่องส่งผู้โดยสารและสินค้าบนแม่นำ้โขงระหว่างจำปาศักดิ์และปากเซภายใต้ฝรั่งเศส

หนังสือ 'ชีวิตและงานของสี่อดีตรัฐมนตรี' เขียนโดยนาย หัด ดาวเรือง คุณพ่อของข้าพเจ้า ผู้ถือเอาคุณลุงผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องที่แก่กว่าเป็นแรงบันดาลใจและเป็นผู้อุปถัมภ์คำ้ชูของชีวิต กล่าวถึงคุณลุงในฐานะนักสู้และนักผจญภัยจากบ้านงัวบา หมู่บ้านยากจนขนาด 40-50 หลังคาเรือนในอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ยากจนขนาดไหนลองจินตนาการหมู่บ้านอีสานเมื่อ 70-80 ปีที่ผ่านมาดู

คุณแม่เคยเล่าว่าผู้เฒ่าผู้แก่ล้วนบอกคุณลุงเป็นหนุ่มหล่อนิสัยครื้นเครงและ 'น่ารัก' ในขณะที่คุณพ่อบันทึกประวัติท่านไว้ว่าหลังจบมัธยมท่านก็ผันตัวเป็นช่างเครื่อง เก็บเงินกับเพื่อนซื้อรถเก่ามาวิ่งในวัย 16-17 แต่ไปต่อไม่ไหวเนื่องจากเพื่อนเยอะจึงทำให้รถโดยสารครึ่งหนึ่งเต็มไปด้วยเพื่อนผู้นั่งฟรีโดยที่เจ้าของรถเต็มอกเต็มใจ เมื่อวิ่งรถทำท่าจะไม่รอดหนุ่มมีเรี่ยวมีแรงอย่างท่านก็ไม่ย่อท้อ ตัดสินใจไปเร่ร่อนหางานที่ปากเซ ประเทศลาว ยึดอาชีพหลักๆ คือนักมวยและขับเรือ พูดง่ายๆ คุณลุงคือแรงงานอพยพผู้พูดได้ทั้งลาว เขมรและเวียดนาม ไปไหนก็มีเพื่อนเฮฮาไปทั่วอีกตามเคย

สองปีในอินโดจีนจบลงเมื่อคุณลุงต้องกลับบ้านมาใช้หนี้ (ติดเขาไว้ตอนออกรถเก่ามาทำรถโดยสาร) หนุ่มขับเรือจึงกลายมาเป็นครูประชาบาล และด้วยความเจ้าคารมคมคายเลยจับพลัดจับผลูไปชนะโต้วาทีระดับอำเภอ การเมืองจึงเดินเข้ามาหาโดยปริยาย

เมื่อ พ. ศ. 2480 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสส.ทางตรงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คุณลุงได้รับเลือกตั้งเป็น สส. มหาสารคามในวัย 27 ปี การเมืองแบบใหม่และคนหนุ่มจากทั่วสารทิศงอกงามเหมือนต้นอ่อนที่ผลิบานหลังฝน คุณลุงพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สส.อุบล, นาย ถวิล อุดล สส. ร้อยเอ็ด, นายเตียง ศิริขันธ์ สส. สกลนคร เป็นที่รู้จักกันในนาม 'สี่เสืออีสาน' ยึดแนวคิดเสรีนิยม เน้นนโยบายท้องถิ่นนิยมกระจายอำนาจสู่ชนบท

ไม่มีใครรู้ว่าคุณลุงดอดไปเรียนวิชากฎหมายที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ นอกจากนั้นท่านยังตั้งโรงเรียนเรืองวิทยาคมที่เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในมหาสารคามที่น่าเสียดายว่าเลิกทำการไปแล้ว ด้วยความที่ธรรมศาสตร์ยุคต้นๆ เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่คนจนมีสิทธิ์เอื้อมถึงต่อมาคุณพ่อจึงหันเข้าหาคณะเดียวกัน ตามมาด้วยคุณลูกที่รัฐศาสตร์อย่างช่วยไม่ได้

ขบวนการเสรีไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองมาเยือน เสรีไทยสายอีสานร่วมกันตั้งค่ายขึ้นที่บ้านนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีคุณลุงเป็นหัวหน้า ค่ายนี้ใหญ่โตที่มีสนามบินเป็นของตัวเอง และมีเรื่องราวครบทุกประการที่จะสร้างเป็นภาพยนต์ดีๆ ได้เรื่องหนึ่ง.. ถ้ากล้านะ

สงครามโลกยุติลง คุณลุงและเสรีไทยสายอีสานผู้มีนโยบายสนับสนุน นาย ปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งพรรคสหชีพขึ้น แถมยังออกหนังสือพิมพ์ราย 10 วันชื่อ 'สยามอุโฆษ' เมื่อถึงพ.ศ. 2480 พรรคสหชีพจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยบุคคลในคณะราษฎรและเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดีเช่นกัน

ในวัยหนุ่มแน่น คุณลุงเป็น สส. และรัฐมนตรีหลายสมัย แต่ยังไม่ทิ้งนิสัยบางประการที่คนยุคนี้อาจเรียกว่า 'ห้าว' ผู้ใหญ่เล่าว่าท่านเคยเดินเท้าเปล่าไปนั่งกินข้าวแถวเสาชิงช้าแล้วเว่าล้าว เสียงดังฟังชัด แบบว่าข่อยบ้อสน เผลอๆ บางครั้งเวลาท่านนึกรักใครชอบใครก็ประกาศด้วยเสียงดังฟังชัดพอๆ กัน

คุณลุงได้อุปถัมภ์คุณพ่อผู้ซึ่งเวลานั้นเป็นเด็กกำพร้าเรียนดีเป็นเลิศแต่จนระดับท็อปของหมู่บ้าน ส่อแววจะได้ยึดอาชีพ 'บัฟฟาโลว์ บอย' หรือเด็กเลี้ยงควายแห่งบ้านงัวบาเป็นการถาวร คุณพ่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถไฟเมื่ออายุราว 16 ปีมีเงินติดตัวอยู่ 50 สตางค์ พอเข้าเมืองได้เห็นรถยนต์เป็นครั้งแรก ตื่นเต้นเป็นที่สุด

การอุปถัมภ์เด็กบ้านนอกของคนสมัยโน้นคือการนำไปฝากกับบ้านคนรู้จักที่พอมีฐานะให้ช่วยอบรมและให้มีข้าวกินแลกกับการใช้สอยเล็กๆ น้อยๆ ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการพาไปฝากวัด สำหรับสส. บ้านนอกอย่างคุณลุงที่ไม่ได้มีสตุ้งสตางค์กับเขา วัดเท่านั้นคือคำตอบ

คุณลุงฝากฝังคุณพ่อให้ได้บวชเณรที่วัดเบญจมบพิตร แล้วบวชพระในภายหลังโดยมีสมเด็จพระวันรัตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรที่คุณพ่อเรียกในหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ท่านเขียนว่าพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

ประหนึ่งว่าชีวิตยังแปลกไม่พอ คุณพ่อเล่าว่า ข่าวการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เดินทางมาถึงกลางพิธีบวช ทำให้สี่รัฐมนตรีที่กรุณาไปร่วมงานต้องออกจากงานกระทันหัน ในวันเดียวกันนั้นเอง มีคนเห็นปลาในคลองหน้าวัดพากันตายลอยขึ้นเป็นแพอย่างไม่ทราบสาเหตุ

คุณพ่อใช้ชีวิตในพระอารามขณะที่การเมืองในโลกภายนอกร้อนเหมือนไฟ รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกโค่นลงด้วยการรัฐประหาร 2490 นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ แล้วตามมาด้วยความรุนแรงทางการเมืองของ 'ยุคทมิฬ'

กลุ่มสี่เสืออีสานยกเว้นนาย เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับและคุมขังในข้อหากบฏในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 วันที่ 3 มีนาคม ตำรวจย้ายตัวบุคคลทั้งสามและนาย ทองเปลว ชลภูมิ สส. ปราจีนบุรีจากห้องขังโรงพักไปสถานีตำรวจบางเขน รถตำรวจวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธินในเวลาตี 3 ของวันใหม่ คุณลุงและทุกคนในกลุ่มถูกระดมยิงจนเสียชีวิตทั้งที่ยังใส่กุญแจมืออยู่

คำแถลงการณ์ของตำรวจในภายหลังระบุว่า กลุ่มผู้ดักสังหารเป็นโจรมลายู และแต่งเครื่องแบบทหารมลายู

ในเกือนธันวาคม พ.ศ. 2495 นายเตียง ศิริขันธ์ ถูกฆ่ารัดคอและเผาศพทิ้งที่จังหวัดกาญจนบุรี

เปิดฉากสถาปนาวัฒนธรรมการอุ้มฆ่าที่ฝังรากในการเมืองไทยมานับแต่นั้น

**

คุณลุงจำลองเสียชีวิตเมื่อยังหนุ่มแน่นในวัยเพียง 39 ปี หลายปีมาแล้วเมื่อไปเยี่ยมคุณป้าทองดำ ภรรยาของคุณลุงในวาระครบรอบ 90 ปีของท่าน ภาพของคุณลุงในชุดครุยคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่แขวนไว้ในบ้านยังยิ้มกริ่มทะลุกรอบรูปด้วยรอยยิ้มของวัยหนุ่ม

ชีวิตของคุณลุงเป็นหนึ่งในหลายชีวิตที่โลดแล่นและได้รับผลพวงอันโหดเหี้ยมของการเมืองหลัง 2475 แม้ประวัติศาสตร์จะบันทึกมันไว้อย่างขาดๆ เกินๆ แต่ประวัติศาสตร์ของคนที่มีเลือดเนื้อชีวิตชีวายังดำรงอยู่ได้ด้วยการถ่ายทอดปากต่อปาก จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

ประหนึ่งพวกเขาไม่เคยตาย

**

คุณ ไสว สุทธิพิทักษ์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ผู้เป็นเพื่อนของคุณลุงและหนึ่งในกลุ่มคนหนุ่มของการเมืองร่วมสมัยกับท่าน ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือของคุณพ่อเมื่อปี 2507 ว่า

"ความทรงจำของข้าพเจ้าในเรื่องการเมืองในยุคนั้นค่อนข้างจะเลือนลางเต็มที คงมีเพียงว่าเราสนุกกันดี และเมื่อเปรียบเทียบชีวิตธุรกิจตลอดเวลา 18 ปีที่ผ่านมาแล้วก็ดูเหมือนกับความฝันเท่านั้นเอง .. แต่เป็นความฝันที่วาบหวามใจอยู่”

**

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)