วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2563

หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏบวรเดช พวกเขาถูกคุมขังที่ไหน




เฉลย > ก. และ จ.

กบฏบวรเดช

หรือ คณะกู้บ้านเมือง เกิดขึ้นเมื่อ 11 ต.ค. 2476 เป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ และข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ระบุถึงแนวทางการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การถือครองและการเช่าที่ดิน การจัดรัฐสวัสดิการ การแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ

ชนวนเหตุของการก่อกบฏเกิดขึ้นตั้งแต่ความวุ่นวายเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชและนายพลโดนปลดจนเกิดความไม่พอใจรัฐบาล และมองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เป็นเพียงการรัฐประหารไม่ใช่การปฏิวัติ

ข้อเสนอของกบฏบวรเดชต่อรัฐบาลมี 6 ข้อคือ ต้องทำให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน, ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะการตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาล, ข้าราชการตำแหน่งประจำการต้องอยู่นอกการเมือง และไม่ตัดสิทธิข้าราชการในการยึดถือลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งเพื่อสนับสนุนเผยแผ่, การแต่งตั้งบุคคลต้องถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลักโดยไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องทางการเมือง, ให้พระเจ้าอยู่หัวเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง และกองทัพต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น

เหตุการณ์กบฏบวรเดชเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา

ปัจจุบันอนุสาวรีย์ที่รำลึกเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชตั้งอยู่บริเวณหลักสี่ กรุงเทพฯ มักเรียกกันว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" โดยที่ชื่อจริงคือ อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชและปัจจุบันอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าย้ายไปอยู่ที่ใด

หลังกบฏบวรเดชถูกปราบ พระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้าคณะกบฏและภรรยาบินหนีไปยังเวียดนาม

นักโทษคนอื่นถูกคุมขังในที่ต่างๆ จนเมื่อศาลพิเศษพิพากษาก็นำตัวมาจำคุกที่แดน6 มหันตโทษ(บางขวาง)ทั้งหมด จนกระทั่งราชทัณฑ์ตั้งนิคมนักโทษที่ตะรุเตาจึงย้ายนักโทษการเมืองบางส่วนไปไว้ที่นั่น
เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกจึงย้ายนักโทษการเมืองจากตะรุเตามาไว้ที่เกาะเต่า

หนังสือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อฯ' ของณัฐพล ใจจริง ระบุตอนหนึ่งว่า ศาลพิเศษ พ.ศ.2476 ตัดสินลงโทษบุคคลที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ฐานก่อกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิต(แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน) และจำคุกในระยะเวลาต่างๆ ตามแต่ความผิดของแต่ละคน มีจำนวนผู้ถูกตัดสินลงโทษทั้งหมด 250 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน

ข้อมูลของไทยรัฐระบุว่า เรือนพักนักโทษบนตะรุเตาเป็นเรือนขนาดใหญ่ อยู่หลายคน นักโทษหญิงจะอยู่ในพื้นที่จัดพิเศษ นักโทษต้องทำงานอย่างหนัก ถูกตีตรวน หากหลบหนีหรือขัดขืนก็จะถูกยิงตาย กระทั่งปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 1 ส.ค. 2487 นักโทษการเมืองจึงต่างพ้นมลทินในที่สุด ต่อมาในเดือนมีนาคม 2489 คุกตะรุเตาถูกปิดตัวลง รัฐบาลไทยประกาศถอนการหวงห้ามของกรมราชทัณฑ์ และกำหนดให้หมู่เกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติ

ที่มา ประชาไท
แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับ ‘การปฏิวัติสยาม 2475’

https://prachatai.com/journal/2020/06/88317

มีสาระและได้ความรู้