วันอาทิตย์, มิถุนายน 28, 2563

เหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ "การปฏิวัติเสรีนิยม/รัฐธรรมนูญนิยม" ไม่ใช่ "เพื่อล้มราชบัลลังก์" ตามกองทัพบกอ้าง เพราะมันขัดฝืนกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ - อ.เกษียร




"...แผนกแถลงข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ ทบ. ได้เผยแพร่ ข่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม รวมทั้งกล่าวถึงคณะราษฎร ดังนี้: ในปี 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร "ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์"
%%%%%
ในฐานะอาจารย์ผู้สอนและวิจัยการเมืองการปกครองไทยมาร่วมสามสิบปี ผมเห็นต่างจากการนิยามสรุปสาระสำคัญของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า "ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์"
-จริงอยู่ว่าวิธีการให้ได้มาซึ่งอำนาจของคณะราษฎรใช้วิธีการ "รัฐประหาร" (putsch) ด้วยกำลังซึ่งถูกตีกรอบกำหนดความเป็นไปได้ให้จำต้องปฏิบัติการเช่นนั้นด้วยสภาพการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริงในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มิอาจใช้วิธีการอื่นเช่นตั้พรรคการเมือง ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้ง, หรือนัดชุมนุมมวลชนเดินขบวนแสดงพลังเรียกร้องอย่างสงบสันติได้ รวมทั้งถูกกำหนดจากทรัพยากรทางการเมืองในมือคณะผู้ก่อการฯซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการทหารและพลเรือนจึงสามารถเอื้อมถึงกำลังคนและกำลังอาวุธของทางราชการได้
-แต่เหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และกระบวนการที่เกิดตามมาในภาพรวมมีเนื้อหาสาระที่กว้างไกลไปกว่าแค่วิธีการรัฐประหารมาก สาระสำคัญของ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง" (regime change) จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ (absolute monarchy --> constitutional regime) หาได้หยุดยั้งอยู่แค่ "รัฐประหาร" แล้วไม่เปลี่ยนแปลงอะไรต่อในแง่สาระสำคัญเนื้อแท้ของระบอบการเมืองการปกครอง
-ฉะนั้น คำนิยามที่เหมาะสมคู่ควรแก่เนื้อหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ได้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงควรเป็น "การปฏิวัติเสรีนิยม/รัฐธรรมนูญนิยม" (liberal/constitutionalist revolution) ต่างหาก
-ส่วนที่ว่า "เพื่อล้มราชบัลลังก์" นั้นก็ขัดฝืนกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะสถาบันกษัตริย์ยังคงอยู่ในระบอบใหม่สืบต่อมาจนปัจจุบัน ดังโทรเลขของอุปทูตอังกฤษสมัยนั้นที่รายงานข่าวนำมาอ้างอิง:
"โทรเลขที่นายเจ.เอฟ.จอห์นส์ (J.F.Johns) อุปทูตของอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ในขณะนั้นได้ส่งรายงานด่วนกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศในลอนดอน ทันทีที่ทราบข่าวการรัฐประหารในวันที่ 24 มิ.ย. มีใจความว่า
"วัตถุประสงค์ของการก่อการครั้งนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อการล้มล้างพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความต้องการที่จะถอดถอนเจ้านายชั้นสูงที่กล่าวถึงทั้งสองพระองค์ออกจากรัฐบาล และเพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่อยู่ในรูปรัฐธรรมนูญ เท่าที่ข้าพเจ้ารับรู้มา ไม่มีการนองเลือด และจนถึงปัจจุบัน ทุกอย่างในเมืองดูสงบเงียบ"