วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2563

ที่รัฐสภา : 24 มิถุนา ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน







24 มิถุนายน 2563 ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน

ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย หากแต่ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ อำนาจอธิปไตยหรือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” โดยมีบุคคลและคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วย กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล เป็นผู้ใช้อำนาจแทนตามที่ระบุไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี การสถาปนาหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยถูกขัดขวางมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 88 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากข้อความ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ในรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 จะถูกแก้ไขเป็น “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม” ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับใดอีก อำนาจของประชาชนยังถูกทำลายโดยการก่อรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองมีการก่อรัฐประหารรวม 24 ครั้ง สำเร็จ 13 ครั้ง หรือทุกสามปีครึ่งจะมีการก่อรัฐประหารทั้งสำเร็จและล้มเหลวหนึ่งครั้ง และในการทำรัฐประหารที่สำเร็จแต่ละครั้งจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหารมักขัดแย้งหรือไม่เป็นคุณต่ออำนาจของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของที่มา กระบวนการ หรือว่าเนื้อหา

ดังกรณีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้การกำกับของตน โดยไม่ได้มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือว่ามีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด และแม้ต่อมารัฐบาล คสช. จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่ามติของประชาชนได้ เพราะเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว อีกทั้งยังมีการระดมสรรพกำลังอย่างกว้างขวางและทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ควบคู่ไปกับการปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม และฟ้องร้องดำเนินคดีผู้นำเสนอข้อมูลอีกด้าน ไม่นับรวมการถือวิสาสะแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน หากแต่สะท้อนความต้องการของกลุ่มบุคคลที่จะสถาปนาอำนาจของตนในนามของรัฐพร้อมกับลดอำนาจของประชาชน สิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าหายไป ขณะที่สิทธิบางด้านถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐจะทำตามหน้าที่หรือไม่อย่างไร ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างเงื่อนไขให้ตัวแทนของประชาชนเช่นนักการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอและอยู่ในอาณัติขององค์กรที่ไม่ได้มาจากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน พร้อมกับให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างกว้างขวางในการกำกับควบคุมพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงการเป็นปราการด่านสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่นับรวมการมีบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่เหนือกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการระบุให้คำสั่ง ประกาศ และการกระทำของ คสช. และหัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก เป็นต้น

นอกจากหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎรด้านอื่นได้ถูกลบล้างอย่างกว้างขวางภายใต้รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่หมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างมีเงื่อนงำในช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 ขณะที่ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2561 มีการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไปเก็บไว้ในบริเวณที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบ เช่นเดียวกับในเดือนมกราคม 2563 มีการย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ลานหน้าสโมสรนายทหาร ค่ายพหลโยธิน และรูปปั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ไปเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบเช่นกัน นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่ที่เป็นชื่อบุคคลในคณะราษฎร เช่น “บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม” ที่ จ.เชียงราย ถูกเปลี่ยนเป็น “ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้น การลบล้างมรดกคณะราษฎรในลักษณะเช่นนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยไม่เคารพต่อข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการลบล้างหรือเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ผ่านแบบเรียน ภาพยนตร์ ละคร บทเพลง ฯลฯ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) มีเป้าหมายและพันธกิจในการแก้ไขหรือว่ายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นเบื้องต้น เห็นว่ามรดกที่คณะราษฎรได้มอบไว้ คือ หลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน สามารถอาศัยเป็นหมุดหมายในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ ประกอบกับวันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ครช. ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ณ รัฐสภาแห่งนี้ ให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญประชาชน ครช. จึงถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน 2563 นี้เป็นโอกาสในการทวงคืนมรดกคณะราษฎรและทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชนไปพร้อมกัน ดังนี้

1. การแก้ไขหรือการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องวางอยู่บนหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทั้งในแง่ของที่มา กระบวนการ และเนื้อหา
2. สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเร่งยกร่างและเสนอพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา และดำเนินการให้แล้วเสร็จในสมัยการประชุมนี้ เพื่อจะได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลายปีนี้ตามที่กำหนดไว้
3. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดให้มีกลไก เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นหลัก และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
4. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจต้องมาจากหรือว่ายึดโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร

ด้วยความเชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
24 มิถุนายน 2563
รัฐสภา