วันอังคาร, มิถุนายน 30, 2563

ไลฟ์โค้ชตัวจริง 😊 ในหลายๆคน รอบตัวเรา “อย่าอายถ้าเราจน แต่ให้อายถ้าเราเลว”




คุณจำผู้หญิงคนนี้ได้ไหมครับ
.
ผมเป็นคนชอบดูโฆษณาครับ ย้อนไปในยุควิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้น ม.2 ผมยังจำได้ว่า ช่วงปีสองปีจากปี 2540 นั้น ผมจะเห็นรูปผู้หญิงคนหนึ่งบ่อยมากตามโฆษณา เป็นตัวหลักบ้าง ตัวรองบ้าง สลับกันไป แต่ผมเห็นเธอในหลายโฆษณามากในช่วงนั้น ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าเธอเป็นใคร รู้แค่ว่าเห็นเธอบ่อย และไม่รู้ทำไมผมถึงจำเธอได้ ทุกวันนี้ผมก็ยังจำภาพนี้ได้
.
ผมมารู้ทีหลังว่า นี่คือพี่หญิง กัญญา ไรวินทร์ นักแสดงและพิธีกรมืออาชีพ
.
แต่ภาพโฆษณาที่เราเห็นเธอบ่อยๆ ในยุคนั้นมีเรื่องราวเบื้องหลังที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน
.
ย้อนไปเมื่อก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พี่หญิงกำลังเรียนในคณะบัญชี จุฬาฯ ในยุคนั้นสูตรของเด็กบัญชีคือเรียนจบตรีแล้วไปต่อ MBA ที่เมืองนอก เพื่อนๆ ของพี่หญิงพากันบอกว่า พี่หญิงทั้งสวย เรียนเก่ง บ้านมีฐานะดี ชีวิตดีขนาดนี้น่าจะเป็นคนแรกที่ได้ไปเรียนต่อเมืองนอกแน่เลย
.
จนกระทั่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจ “ซุปก้อนรีวอง” ของครอบครัวพี่หญิงล้มละลาย พี่หญิงค่อยๆ ได้เรียนรู้สถานการณ์ในบ้านว่ามีหนี้ 30 ล้าน --- อ่านไม่ผิดครับ 30 ล้านบาท --- และรู้ว่าจากนี้ชีวิตของเธอจะเปลี่ยนไป
.
หนึ่งในเหตุการณ์ที่พี่หญิงไม่เคยลืมก็คือ ครั้งหนึ่งพี่หญิงไปธนาคารเพื่อถอนเงินหลายแสนออกมา พนักงานธนาคารเห็นพี่หญิงถอนเงินมาเยอะขนาดนั้นก็แสดงความยินดีกับพี่หญิง นึกว่าพี่หญิงจะไปซื้อรถ พี่หญิงตอบอะไรไม่ถูก ได้แต่ยิ้มแล้วเดินออกมาจากธนาคารแล้วร้องไห้
.
เพราะเงินจำนวนนั้นต้องเอาประกันตัวคุณพ่อที่โดนคดีเช็คเด้ง
.
พี่หญิงในตอนนั้นเริ่มมีงานในวงการบันเทิงบ้างแล้วผ่านโมเดลลิ่ง พอเมื่อที่บ้านล้มละลาย พี่หญิงใช้วิธีการไปแคสต์งานให้เยอะที่สุด งานบางงานพี่หญิงไปแคสต์ทั้งๆ ที่รู้ว่าไปแล้วก็ไม่ได้หรอก แต่พี่หญิงบอกว่ายังไงก็ต้องต้องไป อาจจะไม่ได้งานนี้ แต่เขาจะต้องจำพี่หญิงได้ เผื่อว่าถ้ามีงานต่อไป จะได้นึกถึงพี่หญิง อาจจะเรียกพี่หญิงมาแคสต์อีก
.
และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ครับ พี่หญิงพบว่าการที่ออกไปแคสต์บ่อยๆ ยิ่งทำให้พี่หญิงมีโอกาสเพิ่มขึ้น ต่อให้ไม่ได้รับเลือกแต่ก็กลายเป็นคนที่ทีมแคสติ้งนึกถึงและเรียกมาแคสต์บ่อย นั่นยิ่งทำให้พี่หญิงขยันออกไปแคสต์งาน ต่อให้รู้ว่าไม่ได้ แต่ก็คิดว่าเป็นการลงทุนเพื่อไปสู่โอกาสในครั้งต่อๆ ไป
.
ใน 2 ปีนั้น พี่หญิงถ่ายโฆษณาไปแล้ว 40-50 ชิ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะพี่หญิงไม่เคยหยุดคิดว่าตัวเองจะไม่มีโอกาส แต่ถ้ามีแคสต์งานที่ไหนพี่หญิงจะไปที่นั่น ไปทุกที่ ไม่ว่าจะมีโอกาสน้อยแค่ไหนก็ยังไป
.
เบื้องหลังโฆษณาที่พี่หญิงถ่ายไป 40-50 ชิ้นที่ผ่านสายตาเรานั้น สิ่งที่เราไม่ได้เห็นคือมีโฆษณาอีกนับไม่ถ้วนที่พี่หญิงไม่ได้รับคัดเลือก แต่การไม่ได้รับเลือกอยู่บ่อยๆ ทำให้พี่หญิงได้ฝึกการจัดการกับความรู้สึกผิดหวังที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ได้รู้ว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน และทำให้พี่หญิงรู้ว่าประตูของโอกาสไม่เคยปิดถาวร ประตูบานหนึ่งปิด แต่ก็ยังมีประตูบานอื่นเปิด วันนี้ไม่ได้รับเลือก แต่วันหน้าอาจได้รับเลือกก็ได้ ต้องรักษาหัวใจให้มีความหวังไว้ และต่อให้พี่หญิงได้รับเลือกแต่ก็ไม่เคยประมาท เพราะวันนี้ได้รับเลือก แต่วันหน้าอาจไม่ได้รับเลือกก็ได้
.
พี่หญิงไม่เคยเลือกงาน ตรงไหนมีโอกาสก็ทำ ต่อให้ไม่มีโอกาสก็ไปเพื่อที่จะต่อยอดโอกาสให้เกิดขึ้นให้ได้ พี่หญิงยอมเล่นละครบางเรื่องทั้งๆ ที่ไม่ชอบบทนั้น แต่เพื่อหารายได้ พี่หญิงก็เล่นอย่างเต็มที่ ปรากฏว่าบทนั้นกลายเป็นบทที่คนดูชอบ ทำให้คนดูมีความสุข กลายเป็นว่าพี่หญิงเลยได้งานต่อๆ มาจากงานที่ตัวเองไม่ชอบนั่นแหละ
.
มันจึงเป็นบทเรียนให้พี่หญิงรู้ว่า บางทีชีวิตคนเราอาจจะต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ แต่เมื่อเป็นหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด แล้วผลงานที่ดีจะต่อยอดให้เราไปเจอโอกาสที่ดีต่อไป
.
ในวิกฤตนั้น พี่หญิงได้เจอเพื่อนที่ดีมาก เพื่อนพี่หญิงที่เรียนด้วยกันจะชวนพี่หญิงกินข้าวด้วย เพื่อนบอกพี่หญิงว่าเธอกินน้อยอยู่แล้ว ข้าวจานเดียวก็แบ่งทานสองคนได้ พี่หญิงได้ติดรถเพื่อนไปเรียนด้วยกัน เพื่อนไม่มีท่าทีเปลี่ยนไปเลยเพียงเพราะบ้านพี่หญิงล้มละลาย เพื่อนยังคงรักและมีน้ำใจกับพี่หญิงเหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกัน
.
คนบางคนเมื่อเผชิญวิกฤตที่เปลี่ยนแปลงสถานะของตัวเองไปก็อาจจะรู้สึกกังวลว่าคนจะมองเราเปลี่ยนไปไหม จะปฏิบัติกับเราเปลี่ยนไปไหม และติดกับดักของภาพลักษณ์ พี่หญิงไม่เคยรู้สึกอายหรือกังวลว่าคนจะมองอย่างไรที่บ้านล้มละลาย เธอขายรถยุโรปที่เคยมีตั้งแต่ก่อนล้มละลายไปใช้รถราคาถูกลงมาแทน ขายบ้านหลังใหญ่แล้วไปอยู่บ้านหลังเล็กที่ภาระน้อยกว่า เอาของฟุ่มเฟือยที่เคยมีอยู่ออกขายในตลาดนัดคนเคยรวยแบบไม่เสียดาย และวิ่งเข้าหาทุกโอกาสที่เธอจะได้ใช้ความสามารถของตัวเองไปเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้หนี้ต่อ
.
คำสอนหนึ่งที่แม่ของพี่หญิงสอนในตอนนั้นและจำขึ้นใจอยู่ถึงทุกวันนี้คือ
.
“อย่าอายถ้าเราจน แต่ให้อายถ้าเราเลว”
.
การล้มละลายในครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่หญิงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของทุกคนในบ้าน พร้อมกับเป็นแรงผลักให้เธอต้องรู้จักการมีวินัยทางการเงินตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ เธอบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คิดแล้วคิดอีกก่อนจะใช้ ที่เคยฟุ่มเฟือยสมัยก่อนต้มยำกุ้งก็เลิกหมด เธอใช้หลัก “เก็บก่อนใช้” คือแบ่งเงินทั้งใช้หนี้ เก็บออม แบ่งเงินลงทุน แล้วที่เหลือค่อยเอาไว้ใช้ ไม่ใช่ว่าใช้ก่อนแล้วเหลือเท่าไรค่อยเก็บ
.
ผมถามพี่หญิงว่าอะไรที่ทำให้พี่หญิงรู้สึกว่ายังมีความหวังอยู่ในตอนนั้น พี่หญิงบอกว่าตัวเองเหมือนคนจมน้ำที่รู้ว่าข้างบนมันต้องมีผิวน้ำ แต่ไม่รู้หรอกว่าอีกไกลแค่ไหนจะโผล่ขึ้นมาพ้นผิวน้ำได้ สิ่งเดียวที่พี่หญิงทำคือตะกายต่อไปโดยที่ไม่รู้ว่าอีกไกลแค่ไหน รู้อย่างเดียวว่ามันต้องมีผิวน้ำอยู่ข้างบน ที่ต้องสู้ขนาดนี้ก็เพราะรู้ว่าไม่ได้สู้เพื่อตัวเองคนเดียว แต่เพื่อครอบครัวทุกคน
.
มีหลายครั้งที่พี่หญิงท้อ ร้องไห้ก็หลายครั้งว่าทำไมชีวิตต้องเจอเรื่องยากแบบนี้ เคยอยู่ในจุดที่ทั้งบ้านมีเงินเหลืออยู่ 3,000 บาทและไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ เคยมีเงินติดตัวพี่หญิงอยู่ 500 บาทก็ต้องออกไปเรียนและทำงานต่อ
.
พี่หญิงต้องทำงานหนักกว่าจะได้กลับบ้านก็ดึก แต่ยังไม่ทันที่แปรงสีฟันที่เพิ่งแปรงก่อนนอนเมื่อคืนจะแห้ง เธอก็ต้องลุกขึ้นไปทำงานแต่เช้าตรู่อีกรอบ เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องไป เป็นแบบนี้อยู่หลายปีที่ใช้ชีวิตแบบแปรงสีฟันยังไม่ทันแห้งก็ต้องลุกขึ้นสู้ในวันใหม่อีกรอบ
.
แต่สิ่งที่ทำให้พี่หญิงมีกำลังใจต่อคือครอบครัว เป็นเหมือนแบตเตอรี่สำรองที่ทำให้เธอมีพลังขึ้นมาได้อีกครั้งในวันที่ต้องยอมให้ตัวเองอ่อนแอ
.
เรื่องที่เราจะเจอมันจะร้ายแรงแค่ไหน ถ้าแต่คนในบ้านยังกอดกันแน่นอยู่ ยังรักกันเหมือนเดิม เราก็จะผ่านมันไปได้
.
พี่หญิงใช้เวลาเป็นสิบกว่าปีในการทยอยใช้หนี้จนหมด พี่หญิงบอกว่ายังจำได้เลยว่าวันที่เห็นโฉนดบ้านมีครุฑแดงอยู่ในมือเป็นวันที่มีความสุขที่สุด เพราะครั้งหนึ่งเคยล้มละลายจนต้องขายบ้านหลังใหญ่มาอยู่บ้านหลังเล็ก แต่บ้านหลังนี้ก็อบอุ่น มีครอบครัวทุกคนอยู่พร้อมหน้าทั้งในวันที่ดีและร้าย แล้วในที่สุดเธอก็ผ่อนบ้านตัวเองได้หมดจากความพยายามของเธอที่ไม่มีวันหมดและกำลังใจจากคนที่เธอรักซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด
.
บทเรียนจากวิกฤตในวันนั้นทำให้พี่หญิงและครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น รักกันเหนียวแน่นขึ้น และมีภูมิต้านทานชีวิตมากขึ้นไปด้วย ความทุ่มเทและความรับผิดชอบในหน้าที่การงานของพี่หญิงตลอดสิบกว่าปีงอกเงยเห็นผล พี่หญิงเองมีงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ เป็นพิธีกรที่ได้ชื่อว่านอกจากงานจะมีคุณภาพแล้ว คนทำงานด้วยยังสบายใจทุกครั้งที่ทำงานด้วยกัน นอกจากนั้น พี่หญิงยังรักษาวินัยทางการเงินเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน
.
จากวิกฤตต้มยำกุ้งมาถึงโควิด – 19 พี่หญิงเผชิญวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง ธุรกิจของพี่หญิงทุกอันเป็นธุรกิจที่ต้องหยุดดำเนินการในช่วงล็อกดาวน์ทั้งหมด ร้านตัดผมก็เปิดไม่ได้ อีเวนท์ก็ไม่มี โรงเรียนกวดวิชาก็เปิดไม่ได้ พี่หญิงยังหัวเราะและบอกว่าแจ็กพอตจริงๆ ไม่มีอันไหนไม่โดน ทำอะไรต่อไม่ได้เลย ที่ทำได้คือปล่อยวาง มีสติแล้วค่อยๆ คิด แก้เท่าที่ทำได้ อดทนรอให้นานพอที่จะรักษาความหวังไว้ไม่ให้หมดจนถึงวันที่ฟ้าเปิดอีกครั้ง
.
พี่หญิงใช้โอกาสระหว่างที่ธุรกิจต้องหยุดชั่วคราวในการคิดหาทางใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ทุกวันนี้ร้านตัดผม Phoenix ของเธอเปิดเพื่อให้ช่างตัดผมในสังกัดยังมีรายได้ก็พอใจแล้ว และก็ไปคิดพัฒนาเรื่องการตัดผมแบบ Delivery ถึงบ้านต่อ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้แหละตอบโจทย์มากๆ เช่นเดียวกับส่งเสริมให้พนักงานในช่วงหยุดล็อกดาวน์ไป ไปพัฒนาทักษะให้ดีขึ้น เปิดเมืองมาเมื่อไรช่างจะได้เก่งขึ้น ธุรกิจอีเวนท์ของเธอก็หันมาทำอีเวนท์แบบ Virtual มากขึ้นเพราะแนวโน้มต่อไปงานอีเวนท์แบบให้คนมาร่วมเยอะๆ อาจจะยังทำไม่ได้ แปลว่าต้องไปลุยทำ Virtual Event ให้ดี ลูกค้าจะได้ตามมา ส่วนโรงเรียนกวดวิชาก็ไปพัฒนาเป็นการเรียนออนไลน์ต่อ และนั่นแหละครับ...ฟ้ากำลังค่อยๆ เปิดขึ้นอีกครั้ง
.
เรื่องราวของพี่หญิงน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่กำลังเผชิญอุปสรรคอยู่ ถ้าเราจะเรียนรู้จากคนเคยล้ม (ละลาย) ได้ก็คือ การอยู่กับความจริง ไม่ยึดติด ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ อดทนต่อความยากลำบาก เห็นคุณค่าของโอกาส ไม่ว่าโอกาสจะมากหรือน้อยก็มีความหมายทั้งนั้น สำคัญคือเราต้องรับผิดชอบต่อโอกาสที่ได้มา เพื่อให้โอกาสในแต่ละครั้งไปต่อยอดให้เกิดโอกาสครั้งต่อๆ ไป เหนื่อยแค่ไหน ยากแค่ไหน ถ้ารู้ว่าทำไปเพื่อคนที่มีความหมาย หัวใจของเราก็คงมีแรงสู้ต่อได้
.
สมัยก่อนตอนเด็กๆ ผมเห็นภาพโฆษณาชิ้นนี้แล้วผมรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้สวยจัง วันนี้เมื่อได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของผู้หญิงในรูปว่าเธอต้องผ่านอะไรมา และผ่านมันมาได้อย่างไร ผมดูรูปนี้อีกครั้งด้วยความรู้สึกอีกแบบ...
.
ผมดูแล้วรู้สึกมีความหวัง
.
.
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์