วันอังคาร, มิถุนายน 30, 2563

หลุดโลกสากลไปยิ่งกว่าเกาหลีเหนือ ขนาด ‘ผู้ป่วย’ ยังต้องมีกฏระเบียบกำกับ


ไตแลนเดียเนี่ยยิ่งกว่าเกาหลีเหนือแล้วนะ ขนาด ผู้ป่วย ยังต้องมีกฏระเบียบกำกับไว้เป็น “หน้าที่อันพึงปฏิบัติ” หากละเลยจนเกิดความเสียหาย ก็ “อาจมีโทษ” หรือว่า เอ๊ะ ประชากรไทยนี่งั่งมาก ขาดสามัญสำนึก ต้องออกคำสั่ง แจงสี่เบี้ย

ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศของแพทยสภา ๑๐ ข้อ แจกแจงละเอียดว่าผู้ป่วยจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร ในการ ให้ความร่วมมือ แก่ผู้ประกอบอาชีพเวชกรรม ทั้งนี้โดยอำนาจแห่ง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม ๒๕๒๕ มาตรา ๒๑(๑) ประกอบ ม.๗(๒) (๔)

ข้อแรกที่ว่าเป็น หน้าที่ของผู้ป่วยก็คือ “การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตนเอง” และ “ปฏิบัติตามคำแนะนำ” ของเวชกร อันนี้คงหมายถึงหมอยา หมอฟัน หมอประสาท หมอผ่าตัด และหมอนวดแผนใหม่ (chiropractors) ไม่ทราบรวมหมอนวดแผนโบราณด้วยหรือเปล่า เห็นหมอเค้าเรียกตัวเองว่าด็อกเต้อกัน

ส่วนหมออาบและหมอนาบที่รัฐบาลนี้จะให้กลับมาเปิดบริการในวันที่ ๑ กรกฎาคมนี้พร้อมกับโรงเรียน โดยมีระเบียบกำกับชนิดผู้ประกอบการบอกว่าถึงเปิดไปก็ไม่มีประโยชน์นั้น ก็เป็นวิธีทำงานแบบทหาร สักแต่ว่าสั่ง จะได้เรื่องแค่ไหน ไม่สน

เอาละ ใครๆ ก็อยากสุขภาพดีและพร้อมที่จะปฏิบัติตนป้องกันป่วยไข้ อาจทำไม่ค่อยจะได้กันเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องมีหมอไว้คอยรักษาไง ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาคอยกำกับ นี่เป็นเพราะประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพ ที่รัฐบาลนี้ไม่อยากจ่ายละหรือ

ไอ้การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพนี่นะ มันเป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว ในสหรัฐเท่าที่ทราบ (ที่อื่นไม่รู้) เขาเรียกว่า ‘Preventive Care’ เครือข่ายโรงพยาบาล Kaiser Permanente โด่งดังมากที่นำเอาระบบนี้มาใช้ประกอบในการดูแลคนไข้ เขามีหลักการคอยแนะให้ปฏิบัติ แต่ไม่ถึงกับเอากฎหมายมากำกับ

ข้อสองที่ว่า “ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ” จากประสบการณ์ของตัวเองนะ เวลาไปโรงพยาบาลพบหมอทีไร จะโดนพยาบาลตรวจเช็คร่างกาย น้ำหนัก ความดัน พร้อมทั้งซักไซร้กินยาอะไรบ้าง สูบบุหรี่หรือเปล่า กินเหล้ามากไหม มันเป็นทางปฏิบัติปกติเข้าใจได้ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายค้ำคอ

ข้ออื่นๆ ล้วนอีหรอบเดียวกัน หลีกเลี่ยงการกระทำอัน รบกวน ต่อเวชกร ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลากรสาธารณสุข ต้องอ่านเอกสารยินยอมให้ถ่องแท้ น่าจะหลักสากลอยู่แล้วว่าผู้ป่วยต้องลงนามให้ความเห็นชอบต่อการรักษาบางอย่าง เช่นผ่าตัดหัวใจ
 
ในประเทศตะวันตก ความผิดตามกฎหมายที่เรียกว่า ‘Malpractice’ ของผู้ประกอบอาชีพเวชกรรม เป็นสิ่งที่บรรดาคุณหมอเป็นห่วงกันมาก หากคนไข้เป็นอะไรไปโดยไม่บังควร สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหมอ โดยเฉพาะที่เกิดอาการง่อยเปลี้ยเสียขา หรือถึงตาย

แต่โดยทั่วไปแล้วทางปฏิบัติทั้งสิบข้อที่แพทยสภาไทยออกกฏมากำกับ นั้นเป็นเรื่องแจ้งให้ทราบหรือบอกกล่าวคุยกันให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนถึงขั้นต้องตราเป็นกฎหมาย จะว่าคนไข้เมืองไทยไม่ค่อยรู้ภาษา จริงหรือไม่จริงเพียงใดก็พูดอย่างนั้นไม่ได้

มันเป็นธรรมชาติของผู้ป่วยไข้ ต้องการให้หมอรักษารับภาระไปทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนหนทางป้องกันโรค เช่นเลือกบริโภคอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายประจำ รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง ลดน้ำตาล ไขมัน อะไรเหล่านี้ คนไข้พร้อมทำอยู่แล้ว ทำได้มากน้อยอีกเรื่อง

การที่ต้องมีการออกกฏเป็นทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยข้อโน้นข้อนี้เป็นสิบ นี่สะท้อนลักษณะสังคมบางอย่าง ในทางอำนาจนิยม และรัฐทหาร รัฐบาลชุดนี้และชุดที่แล้วที่มาจากต้นตอเดียวกัน คือการใช้แสนยานุภาพทางทหารยึดอำนาจการปกครอง

คณะยึดอำนาจล้มล้างกฎหมายเดิมและสร้างกฎหมายใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ในทางที่สงวนอำนาจหลายอย่างไว้แก่พวกตน และริดรอนเสรีภาพหลายอย่างสำหรับประชากรที่ไม่เห็นชอบกับการยึดอำนาจ และต่อต้านการใช้อำนาจอย่างเอาเปรียบ ไม่เท่าเทียม

คณะรัฐประหารสร้างกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่การครองเมืองยาวนานของพวกตน ผู้นำแต่ละคนชอบอ้างเสมอว่าอะไรๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย (ที่ตนสร้าง) พูดแบบนั้นกับประชาชนในประเทศอารยะที่เขาใช้ระบอบประชาธิปไตยธรรมดา (ไม่มีสร้อย) ฟังไม่ขึ้น

ถึงได้บอกว่าเมืองไทยเวลานี้ ดูทีจะหลุดโลกสากลไปยิ่งกว่าเกาหลีเหนือ