สรุปบทเรียนจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475
โดย จักรภพ เพ็ญแข
1. ภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ต้องเตรียมความพร้อมในการรักษาอำนาจอย่างจริงจังและอย่างเป็นระบบ อาจใช้วิธีการสมมติสถานการณ์วิกฤติ (crisis simulation) เข้ามาประกอบ คณะราษฎรใช้เวลาวุ่นวายกับการบริหารจัดการอำนาจอยู่เกือบ 25 ปี แล้วก็พ่าย แทบจะไม่มีเวลาทำงานรับใช้ชาติและประชาชนตามที่ตั้งใจไว้
2. ผู้มาด้วยอุดมการณ์ มักเสียเปรียบผู้ที่ครองอำนาจอยู่เดิมที่ไม่ยอมเสียเวลากับอุดมการณ์ เพราะเขาเป็นคิดแบบสัตว์มากกว่าคิดแบบคน คนที่มาใหม่จึงต้องคิดรับมือกับสัตว์และคนไปพร้อมๆ กัน
3. คนบางชนชั้นถูกอบรมจนมีความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการหว่านล้อมหลอกล่อ โปรดอย่าโง่หลงลม คณะราษฎรดีใจที่เขาพูดดีด้วยและไม่มีทีท่าจะต่อต้าน จึงตายใจ และต่อมาก็ตายจริง
4. ในขบวนประชาธิปไตย มักจะมีผู้ทรยศปนอยู่ด้วยเสมอ คนแบบนี้เลวกว่าศัตรู เพราะแสร้งว่าเป็นมิตรแต่คอยทำลายจากภายใน เราต้องมีวิธีที่จะรับมือกับคนเยี่ยงนี้อย่างเหมาะสม
5. เมื่อ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรไม่มีมวลชน แต่ในยุคนี้มีมวลชน
6. คณะราษฎรยกคนแบบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ช้าเกินไป ทำให้เกิดขัดแย้งแย่งชิงกันเสียก่อน ตัว จอมพล ป. ไม่ใช่นักประชาธิปไตยแท้ แต่เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยในระยะตั้งไข่
7. อย่าลืมการปฏิวัติทางวัฒนธรรม มิฉะนั้นเชื้อชั่วไม่มีวันยอมตาย แต่กรุณาศึกษาตัวอย่างในด้านที่ไม่ดีของระบอบเหมาในเมืองจีนประกอบด้วย
8. ความอิจฉาริษยากันเอง ทำลายขบวนการทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย
9. คำว่า ประชาชนไม่พร้อม ไม่มีจริง เป็นเพียงข้ออ้างของชนชั้นปกครองที่ต้องการผูกขาดอำนาจ ประชาชนรู้ดีว่าอะไรดีอะไรเลว
10. ปฎิบัติเสมือนว่า จากนี้ไปเป็นวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือเป็นรุ่งขึ้นของวันปฏิวัติสยามเสมอไป จะได้เลิกเสียเวลาของบ้านเมืองเสียที
ด้วยความเคารพในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรและของมวลชนปัจจุบัน
จักรภพ เพ็ญแข
24 มิถุนายน พ.ศ. 2563