ทั้งที่ คสช. ยังไม่ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมือง (ฝ่ายไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯ ต่อ) จัดกิจกรรมหาเสียงเสนอนโยบายกันได้อย่างเต็มพิกัด ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน
ก็ยังเห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงก์ จากการอภิปรายของสามตัวแทนพรรคการเมืองเมื่อวาน (๑
ส.ค.) ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ
จะเห็นการเตะถ่วงของ คสช. ได้ชัดจากคำอธิบายที่อ้อมค้อมของนาย
วิษณุ เครืองาม เต้นรอบๆ การคลี่คลายคำสั่ง คสช. ๕๓/๒๕๖๐ ว่า
คสช.ระดับตัดสินใจยังไม่ได้ประชุมกัน (แค่นั้น ไม่มีไทม์ไลน์ ไม่รู้เมื่อไหร่)
แถมแนะว่า สนช.ควรจะยืดกรอบเวลาออกไป ไม่งั้นไม่ทัน เพราะถ้าประกาศเลือกตั้งแล้วมีเวลาเพียง
๕ เดือน ต้องใช้แบ่งเขตเลือกตั้งเสียสองเดือน ทำไพรมารี่โหวตอีก ๑ เดือน เหลือเวลารับสมัครเลือกตั้งแค่สองเดือน
โดยเฉพาะประเด็นเลือกตัวผู้สมัครพรรค หรือ ‘ไพรมารี่’
ที่บ่นกันว่าจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปจากโร้ดแม็พ ‘กุมภา ๖๒’ และมีข้อเสนอให้ ‘ลดสเกล’ หรือเลื่อนไปทำตอนเลือกตั้งครั้งหลังจากนี้ ที่ คสช.ได้ยินแล้ว แต่ยังไม่
‘เคาะ’
(ดูข้อวิจารณ์ของ ‘พี้ชทีวี’ ที่ https://www.youtube.com/watch?v=YQoOLnNJ9Ms)
อย่างน้อยๆ
เสียงจากพรรคการเมืองที่ประกาศแล้วว่าจะลงสู้เลือกตั้งครั้งที่จะมีปีหน้า ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัด
และเงื่อนรัฐธรรมนูญเพียงใด คือพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และอนาคตใหม่
ยังพอเป็นนำร่องให้ประชาชนที่สนใจฟังตื่นรู้
ว่าจะได้พบกับสภาพเช่นไร
ทั้งระหว่างเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง
และเตรียมรับมือกันได้พร้อมสรรพกว่าเมื่อครั้งออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙
ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศมัวซัว เมื่อ คสช.ไม่ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาร่างฯ
จึงออกมาเป็นรูปแบบของการสืบเนื่องอำนาจ อีกไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีที่เห็นๆ กันวันนี้
แม้กระทั่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง แห่งพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งที่
คสช. ปากว่าอย่างแต่ยังไม่ทำให้เห็นว่าจะมีขึ้นจริงๆ ในต้นปี ๒๕๖๒ หรือไม่
รวมทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็บอกว่า ถึงมีก็จะได้
ส.ส.อย่าง ‘เบี้ยหัวแตก’
แน่นอน ความเห็นจากตัวแทนพรรคเก่าและใหญ่ทั้งสอง
เป็นเพียงข้อคิดจาก ‘มือรอง’ ไม่ใช่แกนกลางของพรรค
ที่ต่างอ้างว่าการได้มาซึ่ง ‘หัวหน้า’ จะต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย
“ต้องฟังเสียงสมาชิกพรรค” ก็ตาม
ทว่าความเห็นของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (‘ว่าที่’
เพราะขณะนี้พรรคยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก กกต.) เป็นข้อเสนออันควรที่จะได้รับพิจารณาอย่างยิ่ง
ทั้งในหมู่ผู้จะไปออกเสียงเลือกตั้ง และพรรคการเมืองอื่น ที่รู้ตัวดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ในครอบงำของระบอบ
คสช. ต่อไปอีกยาวนาน
ในการร่วมอภิปรายเรื่อง ‘การปฏิรูปพรรคการเมือง กับ
การพัฒนาประชาธิปไตย’ ธนาธรพูดถึงวงจรรัฐประหารของชุด คสช.
ที่ “เราอยู่ในวงจรนี้มาแล้ว ๑๒ ปี (นับแต่ปี ๒๕๔๙) และอาจจะใช้เวลาอีก ๑ ปีเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง
แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ที่มาจากการแต่งตั้งมีวาระ ๕ ปี ซึ่งคร่อมการเลือกตั้ง ๒ สมัยเป็นเวลา ๘ ปี ดังนั้น
เมื่อรวมแล้วพบว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร เราจะอยู่กับวงจรรอบนี้
อยู่กับวังวนนี้ถึง ๒๑ ปี เป็นอย่างน้อย”
ธนาธรเสนอทางออกจาก ‘วังวน’ “เพื่อที่จะล้มรัฐธรรมนูญฉบับปี
๒๕๖๐ ของระบอบ คสช. ฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะในคูหาถึง ๓ ครั้ง คือ ๑.เลือกตั้งทั่วไป ๒.ประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดย สสร.ที่มาจากประชาชน และ ๓.ประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ”
เท่านั้นไม่พอ ยังจะต้อง ‘ไปให้สุดทาง’ “ไม่กลับมาเจอวงจรหรือเจอวังวนแบบนี้อีก เราต้องทำอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ
ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร
เอากลุ่มคนที่มีส่วนร่วมยึดอำนาจไปจากประชาชนมาลงโทษ
ดังเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ทำสำเร็จ เอาทหารออกไปจากการเมืองได้”
คงไม่ต้องชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเหตุใดต้อง ‘ยับยั้ง’ และ ‘สลาย’ ระบอบ คสช.
การกระทำย่ำยีทั้งโดยคดีความต่างๆ สารพัดข้อหาที่ คสช. และตุลาการในระบอบรัฐประหาร
ยัดใส่ฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิเสียงในทางประชาธิปไตย ตลอดสี่ปีที่ผ่านมานั้นมากมายเพียงใด
นายธนาธรเองเพิ่งโดน ‘เจ้าพนักงานฟ้อง’ ของ
คสช. พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ แจ้งข้อกล่าวหา ‘กระทำการขัดต่อความมั่นคง’
จัดรายการเฟชบุ๊คไล้ฟ์พูดถึงการดูด ส.ส.ของพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งเพื่อสนับสนุนให้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้เป็นนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง
อีกราย นายพิชัย นรัพทะพันธุ์
คณะทำงานเรื่องเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ถูกตำรวจส่งหมายเรียกตัวไปรับข้อกล่าวหาของ
พ.อ.บุรินทร์ว่า “กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ขณะเขียนนี่ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำอะไร
แต่นายพิชัยคนนี้ ‘ถูกทำ’ ให้เป็นสถิติ
ว่าโดน คสช. เรียกตัวไปปรับทัศนคติ ถูกตำรวจเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหา (จากทหาร)
มากที่สุด นี่เป็นครั้งที่ ๑๑ แล้ว
ที่สุดของความน่ารังเกียจและเป็นเสนียดต่อชุมชนประชาธิปไตยของ
คสช. เห็นได้จากบทความในหนังสือพิมพ์ ‘จากาต้าโพสต์’ เมื่อคอลัมนิสต์
คอร์เนเลียส เพอร์บา เขียนเรียกร้องกลุ่มอาเซียน
“อย่ายอมให้หัวหน้ารัฐบาลทหารไทยได้เป็นประธานองค์การในปีหน้า”
ตามธรรมเนียมของการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประธาน คอร์เนเลียสชี้ว่าพม่าได้เป็นประธานในปี
๒๕๕๗ สามปีหลังจากที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม เป็นรางวัลจากการที่เตียนเสียนทำการปฏิรูป
ปรับประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
เขาอ้างด้วยว่าประเทศในชุมชนอาเซียนส่วนใหญ่ “แม้จะมีปัญหาภายในเพียงใด”
ก็มักจะยกไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเป็นสรณะ แต่ ‘ไทยฮุนต้า’ ถึงจะทำการปราบปรามคอรัปชั่น “ก็ทำแต่กับพวกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก่อนอื่น”
มิหนำซ้ำประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะทหารผู้ครองประเทศ ‘ผิดคำพูด’
ละเลยที่จะจัดเลือกตั้ง ‘ที่สมบูรณ์และเที่ยงธรรม’
มาแล้วหลายครั้งแล้ว แม้เขาจะเพิ่งย้ำเมื่อเร็วๆ นี้ว่าถึงอย่างไรจะต้องมีเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่
“มันยากที่จะเกิดได้ ว่าเขาจะรักษาคำพูดของตนเอง”
เสียงจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงยังมองเห็นความไม่น่าเชื่อถือของหัวหน้า คสช.
เพียงนี้ นึกหรือว่าผู้นำชาติตะวันตกที่มีอารยะทางประชาธิปไตยจะมองไม่เห็นเล่ห์เหลี่ยมเผด็จการของ
คสช.
สำหรับประเทศที่เคยผ่านเผด็จการชั่วช้าอย่างซูฮาโต้ในอินโดนีเซีย
“กลเม็ดของประยุทธ์ในการปิดปากสื่อ ชักใยสภานิติบัญญัติ กดขี่เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม”
ไม่ใช่เรื่องที่จะหลอกกันง่ายๆ “ไม่รู้คนไทยรวมทั้งสื่อรับได้อย่างไร”
นายเพอร์บาว่า