ออกมาดิ้นอีกคน รองประธานสภานิติบัญญัติ
หรือ สนช. ปมสมาชิก ๓๖ คน ขอแก้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แล้วถูก ‘ประชาวิพากษ์’ ว่าเป็นลูกไม้ยืดกำหนดเลือกตั้ง
ยื้อเวลาให้ คสช. อยู่นานๆ
รองประธานฯ คนที่หนึ่ง โอดว่า “เหมือนเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับสนช.
เพราะความจริงเป็นการใช้สิทธิของแต่ละสมาชิกที่จะเสนอแก้กฎหมาย” นายสุรชัย
เลี้ยงบุญเลิศชัย ไม่รู้เหรอว่าสิทธิที่ว่ามีอยู่นั้น คสช.ปล้นมาให้
ครั้นนักข่าวถามย้อนว่า “การขอเสนอแก้ไขดังกล่าว
สนช.ก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ กกต.หรือไม่” นายบุญชัยทำเป็นซื่อบื้อ ตอบว่า “ขอให้มองว่าเป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
ไม่ใช่เรื่องการก้าวก่าย”
เออน่ะ ทีงี้เป็น ‘ความเห็นต่าง’ มันจะต่างอย่างไรในเมื่อการคัดตัวผู้ตรวจการเลือกตั้ง
๖๑๖ คนที่ กกต.ชุดนี้ทำ ก็เป็นไปตามกฎหมายที่พวกคุณเองชงกันไว้มิใช่หรือ เพียงเพราะเขียนด้วยมือแล้วไม่ได้อย่างใจ
(ไม่ชอบรายชื่อที่ กกต.ชุดเก่าเลือกไว้) อยากจะใช้สีข้างลบทิ้งซะงั้น
ความจริงควรเป็นเช่นที่
อจ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ว่า “ไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรเกี่ยวกะเลือกตั้งอีกแล้ว
เป็นข้ออ้างทั้งนั้น เลือกตั้งก่อนแล้วแก้ก็ได้ ไม่งั้นก็แก้กลับไปกลับมาอยู่นั่น”
มันทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปอีกแน่ๆ จะมากจะน้อยล้วนแต่เป็นเรื่องของการไม่แยแสไทม์ไลน์
ไม่รักษาคำพูดนั่นละ
ทีนี้ได้เห็นเหตุผลเฉียบคมของ #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
หรือยัง “นี่ไงที่เขาต้องออกมาเรียกร้อง
ลต.ปีนี้ เพราะรู้ว่าจะต้องเกิดข้ออ้างมากมายเพื่อเลื่อน ลต. ที่อ้าง roadmap ลต.น่ะไม่มีหรอก มีแต่โรดหมก” iLaw Club ทวี้ตไว้เหมาะเหม็ง
ถึงแม้ว่าเมื่อไล่เรียงโร้ดแม็พไปสู่การเลือกตั้งในสถานการณ์ยื้อยุดอย่างนี้
จะพบว่าอย่างน้อยๆ ไม่มีทางได้เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ อย่างที่พวก
คสช.ตั้งแต่หัวถึงหาง เลยไปถึงขนหน้าแข้งและผังผืดใต้ส้นเท้าชอบอ้างกันด้วย
ไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งในขณะนี้อยู่ที่ระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม
๒๕๖๒ ในเมื่อเงื่อนไขคือ “ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยส.ส.
ที่จะสามารถประกาศในราชกิจานุเบกษาอย่างช้าสุดคือ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ ก่อนรอบังคับใช้
๙๐ วัน”
ซึ่งเท่ากับราวๆ กลางเดือนธันวาคม ๒๕๖๑
พรป.จะประกาศในราชกิจจาฯ จากนั้นอีก ๑๕๐ วันจึงมีกำหนดเลือกตั้ง
ดังนั้น ความหมายในเบื้องลึกคำพูดของครูหยุย
(วัลลภ ตังคณานุรักษ์) ว่าการแก้กฎหมายของ สนช.คงจะเสร็จไม่ทันต้นกุมภา ๖๒
ก็ถูกต้องละ ส่วนจะดันกันไปแค่ไหนจนเลยไทม์ไลน์อีก ใครจะรู้
แต่ก็ยังดีที่แม้ว่า
สนช.จะไม่สามารถพิจารณาแก้ไขกฎหมาย กกต. ได้ทันวันประกาศเลือกตั้ง
รายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดเดิมทำไว้ก็จะยังนำมาใช้ดำเนินการเลือกตั้งได้
“ตามที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ยืนยันว่าไม่โละทิ้ง”
ถ้าหากไม่มีเจตนาแอบแฝงอื่นนอกจากเป็นนัก ‘นิติบริการ’ มือมั่วให้ คสช. แล้ว ‘ลองผิด’ คิดแก้ตัวโดยไม่สนเงื่อนเวลา ถือตนว่าวิเศษได้รับใช้อำนาจรัฐประหาร
จะนานแค่ไหนไม่สำคัญขอให้ไปสุด เจ้านายพอใจเป็นใช้ได้
เว้นแต่ ‘เจ้านาย’
สั่งมายัง สนช. บางคนบางกลุ่ม ขอให้เล่นแร่แปรธาตุกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกันต่อไปอีกหน่อย
เพื่อยืดเวลาเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าสถานการณ์เรียบร้อย
สงบราบคาบเหมือนดั่งที่ผ่านมาอีกสักสี่ห้าปี มีรัฐบาลของตนเองหลังเลือกตั้ง
หรืออย่างน้อยกำกับให้อยู่ใต้การครอบงำ
จึงจะปล่อยให้มีเลือกตั้งได้