วันอาทิตย์, สิงหาคม 12, 2561

งง ? รับฟ้องคดีได้ไง ผู้บันทึกภาพหน้าจอ ที่นำมากล่าวหาจำเลยในคดี112 ช่างตัดแว่น ไม่ถูกเรียกเข้ามาสอบสวนและไม่เคยเปิดเผยตัวตนใดๆ ภาพที่กล่าวหาก็ไม่มี url ตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ได้จากการตรวจค้น ก็ไม่พบภาพตามข้อกล่าวหา



คดี ม.112 “ช่างตัดแว่นเชียงราย” พนง.สส. ไม่เคยสอบผู้บันทึกภาพ และไม่พบ URL ในภาพที่กล่าวหา


10/08/2018
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

10 ส.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย นัดสืบพยานโจทก์ในคดีของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดแว่นตาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559





ในนัดนี้เป็นการถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 4 คือ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงราย หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้ ต่อจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 ที่พยานได้เข้ามาเบิกความในคดี และทนายจำเลยได้แถลงเพื่อขอเลื่อนการถามค้านออกมาในนัดนี้


ย้อนดูสรุปคำเบิกความ พนง.สส.เบิกความคดี ม.112 “ช่างตัดแว่นเชียงราย” ส่งตรวจคอมฯ-มือถือ ไม่พบภาพตามข้อกล่าวหา


ทนายความได้เริ่มถามค้านพยานปากนี้ใน 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือประเด็นที่ว่าผู้บันทึกภาพหน้าจอ ที่นำมากล่าวหาจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่ถูกเรียกเข้ามาสอบสวนและไม่เคยเปิดเผยตัวตนใด ๆ และอีกประเด็นคือภาพบันทึกหน้าจอที่จำเลยถูกกล่าวหานั้น ไม่ปรากฎที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ในภาพดังกล่าว และจากการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ได้จากการตรวจค้น ก็ไม่พบภาพตามข้อกล่าวหา

พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความยืนยันว่า พยานหลักฐานภาพถ่ายในคดีนี้นั้น พ.ท.อิสสระ เมาะราษี นายทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 ผู้แจ้งความในคดี นำมามอบให้กับพยานในวันที่แจ้งความร้องทุกข์ด้วย โดยในคำให้การส่วนหนึ่งของ พ.ท.อิสสระ ที่พยานได้สอบคำให้การระบุว่า พยานหลักฐานภาพถ่ายที่ได้นำมามอบไว้นั้น พ.ท.อิสสระ ไม่ได้จัดทำขึ้นเอง แต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองจัดทำ และนำมามอบให้ พ.ท.อิสสระ ซึ่งพยานในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีและคณะพนักงานสอบสวนที่ถูกตั้งขึ้น ไม่ได้มีการเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสสระ เข้ามาสอบสวนใด ๆ เลย เนื่องจากสอบถามพูดคุยกับ พ.ท.อิสสระ แล้วได้รับคำตอบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องปกปิดตัวตน

ต่อมา พยานได้ตอบการถามค้านของทนายจำเลย โดยยืนยันว่าภาพถ่ายที่จำเลยถูกกล่าวหานั้น ส่วนด้านบนที่มีที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) นั้นได้ถูกตัดออกไป จึงไม่ทราบที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ของภาพและข้อความประกอบภาพ ต่อมา มีการตรวจค้นบ้านพักของจำเลย และมีการยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปตรวจสอบ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ผลการตรวจสอบก็ไม่พบภาพที่จำเลยถูกกล่าวหาในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ถูกตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบ IP Address ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจการตรวจสอบ

สุดท้ายอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้ถามติงคำถามค้านของทนายความจำเลยว่า สาเหตุที่ภาพถ่ายที่จำเลยถูกกล่าวหาไม่ปรากฏที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) นั้นเกิดจากเหตุใด พยานได้ตอบว่าจากการพูดคุยกับ พ.ท.อิสระ ได้รับคำตอบว่า เหตุที่ตัดภาพด้านบนที่มีส่วนที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ออกไป เนื่องจากจะปรากฏข้อมูลส่วนหนึ่งของผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสระ ที่เป็นผู้บันทึกภาพหน้าจอดังกล่าวไว้ ซึ่งต้องปกปิดตัวตน จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ในส่วนนี้พยานไม่ได้ทำการบันทึกไว้ในคำให้การในชั้นสอบสวน

เมื่อเสร็จสิ้นถามค้านและถามติงพยานโจทก์ปากที่ 4 อัยการโจทก์ได้แถลงหมดพยานในวันนี้ และขอนำพยานโจทก์ปากที่ 5 เข้าเบิกความในนัดหน้า ในวันที่ 4 ต.ค. 61 เวลา 9.00 น. ต่อไป

สำหรับ นายสราวุทธิ์ ปัจจุบันอายุ 33 ปี เปิดกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นสายตาในจังหวัดเชียงราย เขาและภรรยามีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตอายุ 6 ปี และคนเล็กอายุ 2 ปี สราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สังกัดกลุ่มใด โดยมากเป็นการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ โดยหลังการรัฐประหาร สราวุทธิ์ถูกเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านมากกว่า 10 ครั้ง

หลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ นายสราวุทธิ์ไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงแรก หลังจากญาติยื่นขอประกันตัวจำนวน 3 ครั้ง จนกระทั่งได้รับการประกันตัวในการยื่นครั้งที่ 4 ด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท หลังจากถูกคุมขังในเรือนจำรวม 38 วัน ก่อนที่จะถูกส่งฟ้องต่อศาลทหารเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559