วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 02, 2561

ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 'ยิ่งลักษณ์' ผิดจำนำข้าว ไม่ง่าย ! - ไทยรัฐออนไลน์เปิดขั้นตอนข้อกฏหมาย





ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 'ยิ่งลักษณ์' ผิดจำนำข้าว ขั้นตอนปกติ หรือเกมการเมือง


โดย ไทยรัฐออนไลน์
 1 ส.ค. 2561 17:21


'ความผิดมาตรา 157 ปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของประเทศไทยนั้น ส่วนตัวก็ยังไม่แน่ใจว่า ที่อังกฤษ มีความผิดตามกฎหมายข้อนี้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ต้องหาคดีจำนำข้าว จึงเลือกจะไปที่ประเทศอังกฤษ นั่นเพราะอาจมีความยากในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกว่าประเทศอื่น'





หลายวันนี้ เรื่องหนึ่งที่เป็นที่สนใจของประชาชน หนีไม่พ้น เอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 5 ก.ค.2561 ไปที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ขอให้ส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย โดยจดหมายได้อ้างถึงสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรและสยามปี 1911 ว่าด้วยการส่งตัวอาชญากรผู้หลบหนีคดีกลับไปรับโทษในประเทศไทย พร้อมระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการนำตัวมารับโทษจำคุก 5 ปี ภายหลังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ม.157 และออกหมายจับตั้งแต่มีคำตัดสิน (คดีรับจำนำข้าว)





ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เปิดขั้นตอนข้อกฎหมาย ส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ร้ายข้ามแดนว่า ในความเป็นจริงแล้วจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ มีเปอร์เซ็นต์ที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

แหล่งข่าวระดับสูง ในสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้ยืนยันกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ถือว่า "ได้ดำเนินการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้วตามกฎหมาย" โดยต้องเข้าใจก่อนว่า ขั้นตอนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ขั้นแรก ต้องมีสนธิสัญญาระหว่างกัน อย่างอังกฤษกับไทย

อย่างที่สอง ต้องมีความผิดในคดีบางอย่างในกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ อาทิ ความผิด ฆาตกรรม หรือฉ้อโกง เมื่อมีแล้วเมื่อส่งเรื่องไป ทางประเทศปลายทางจึงจะรับพิจารณา แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางเป็นผู้พิจารณาว่า จะส่งกลับตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ และขึ้นอยู่เงื่อนไขของผู้ขอลี้ภัยด้วย

อย่างไรก็ตาม ความผิดตามมาตรา 157 ปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของประเทศไทย นั้น ส่วนตัวก็ยังไม่แน่ใจว่า ที่อังกฤษ มีความผิดตามกฎหมายข้อนี้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ต้องหาคดีจำนำข้าว จึงเลือกจะไปที่ประเทศอังกฤษ นั่นเพราะอาจมีความยากในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกว่าประเทศอื่น เพราะหากไม่มีข้อกฎหมายที่ถือว่าเป็นความผิดของทั้ง 2 ประเทศแล้ว การพิจารณาขอตัวก็ยากขึ้น หรือไม่สามารถทำได้ อันนี้ไม่นับรวมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาสำทับว่า จะได้ตัวหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของต่างประเทศ ที่จะพิจารณาตัดสินใจว่า จะส่งหรือไม่ส่ง ซึ่งไทยเราก็คงไปทำอะไรมากก็ไม่ได้





การปฏิบัติในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีดังนี้

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกรณีประเทศไทยร้องขอไปยังต่างประเทศ

1. ขอความร่วมมือจากตำรวจประเทศนั้นๆ ให้สืบสวนหาแหล่งที่อยู่ของผู้ต้องหา โดยอาศัยความร่วมมือทางช่องทางตำรวจสากล ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอยู่ 190 ประเทศ (www.interpol.int/Member-countries/World) หรือแจ้งโดยตรงไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศนั้นๆ

2. โดยการขอความร่วมมือผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของประเทศนั้นๆ ที่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้นๆ ในการสืบสวนหาแหล่งที่อยู่ของผู้ต้องหา

กรณีทราบว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมอยู่แล้วในคดีอื่นในต่างประเทศ แจ้งอัยการสูงสุดทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเพิ่มเติมกรณีอัยการสูงสุดแจ้งให้ดำเนินการ, อัยการสูงสุดจัดทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนพร้อมเอกสารประกอบส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อส่งไปยังประเทศที่ร้องขอ แล้วแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ และอัยการสูงสุดแจ้งผลของการร้องขอ

กรณีประเทศผู้รับคำร้องขอเห็นชอบให้มีการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ให้พิจารณาดำเนินการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหา





ส่วนขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องหากลับมายังประเทศไทย

เมื่อประเทศที่ทางการไทยร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้แจ้งให้ทราบว่า ให้ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ (หลังจากที่จับกุมและควบคุมผู้ต้องหาไว้แล้ว) ต่อมาอัยการสูงสุดจะแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบกำหนดการเดินทางไปรับตัวผู้ต้องหา สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมเดินทางไปรับตัวผู้ต้องหากับพนักงานอัยการ (โดยใช้หลัก เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คน ต่อ ผู้ต้องหา 1 คน)

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (หน่วยงานในสังกัด) จัดตัวแทนของหน่วยงานนั้นๆ ไปรอรับมอบตัวผู้ต้องหาที่ท่าอากาศยาน (กรณีเดินทางโดยเครื่องบิน) ตามวันเวลาที่จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย, พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ รับมอบตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป





สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาของรัฐผู้ได้รับการร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยทั่วไป

1. ต้องเป็นความผิดที่อาจมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ (Extradition Offences) หมายถึง ความผิดที่สนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ระบุฐานความผิดไว้โดยเฉพาะเจาะจงในสนธิสัญญา ระหว่างกัน

2. หลักต่างตอบแทน (Reciprocity) หลักการนี้จะใช้ในกรณีที่ไม่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงในเรื่องความร่วมมือทางอาญาระหว่างกัน แต่ประเทศผู้ร้องขอและประเทศผู้รับคำร้องได้พิจารณาแล้วว่า จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือการดำเนินคดีทางอาญาแก่กัน และเป็นการตอบแทนในลักษณะเดียวกัน

3. ต้องเป็นความผิดที่สามารถลงโทษได้ ทั้งตามกฎหมายของรัฐผู้ร้องขอและรัฐผู้รับคำขอ (Double Criminality) คือต้องเป็นมูลความผิดตามกฎหมายทั้งในประเทศที่ร้องขอและประเทศที่รับคำขอเช่นเดียวกัน

4. การไม่ลงโทษซ้ำในความผิดเดียวกัน (Double Jeopardy) หมายความว่า จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวได้รับการพิจารณาคดีและถูกพิพากษาลงโทษหรือถูกปล่อยตัวในรัฐที่รับคำร้องขอแล้ว ซึ่งเป็นความผิดเดียวกันกับความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

5. รัฐผู้ร้องขอจะดำเนินคดีได้เฉพาะความผิดที่ได้ระบุในคำร้องขอ (Rule of speciality) ซึ่งรัฐผู้ร้องขอไม่อาจดำเนินคดีได้ หากไม่ใช่ความผิดที่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำร้องขอ นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้รัฐที่ร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปยังรัฐที่สามอีกด้วย หากรัฐที่ได้รับคำร้องขอไม่ยินยอม

6. การไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีเล็กน้อย คือ จะไม่ดำเนินการในกรณีความผิดที่มีโทษจำคุกหรือกักขังไม่ถึง 1 ปี เพราะการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศที่มี พิธีการ (ทางการทูต) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

7. ต้องเป็นคดีที่ไม่ขาดอายุความ สำหรับอายุความนั้นให้ถือเอาอายุความในฐานความผิดของทั้งสองประเทศ คืออยู่ในช่วงเวลาอายุความทั้งในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและในประเทศผู้รับคำร้องขอ

8. บุคคลต้องปรากฏตัวอยู่ในรัฐที่ถูกร้องขอ คือ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นได้ข้ามแดนไปปรากฏตัวอยู่ในรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน





ข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

1. ความผิดทางการเมือง (Political Offences) เพราะถือว่าไม่เป็นอาชญากรรมที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการกระทำผิดเพราะมีแนวคิดไม่ตรงกับผู้มีอำนาจบริหารประเทศในขณะนั้น (แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของความผิดนี้)

2. ความผิดต่อกฎหมายพิเศษ เช่น ความผิดที่มีลักษณะเป็นความผิดต่อกฎหมายพิเศษในทางปกครอง ได้แก่ ความผิดกฎหมายการล่าสัตว์หรือกฎหมายป่าไม้ นอกจากนี้ยังรวมถึงความผิดต่อกฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายทหาร เป็นต้น

3. การไม่ส่งคนชาติตนข้ามแดน (Non-extradition of Nationals) ในประเทศกลุ่ม Civil Law จะไม่ส่งคนชาติของตนข้ามแดนไปดำเนินคดีในรัฐอื่น เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องคนชาติของตนและอาจไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐอื่น แต่ในประเทศกลุ่ม Common Law จะไม่มีการห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแม้เป็นคนชาติของตน เพราะประเทศเหล่านี้ถือหลักว่า ผู้กระทำความผิด ณ ที่ใด จะต้องถูกพิจารณาคดี ณ ที่ที่กระทำความผิด

4. ความผิดโทษประหารชีวิต (Death penalty) โดยเป็นไปตามสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (United Nations Model Treaty on Extradition) มาตรา 4 (d) ซึ่งเป็นแม่แบบในข้อยกเว้นเรื่องความผิดโทษประหารชีวิต

5. พยานหลักฐานไม่เพียงพอ (Insufficiency of Evidence) ซึ่งมีที่มาจากสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (United Nations Model Treaty on Extradition) มาตรา 3 ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นให้ประเทศภาคีสมาชิกสามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอตามมาตรฐานกฎหมายลักษณะพยานของประเทศผู้ถูกร้องขอ