วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 02, 2561

ฤาคำว่า "ศีลธรรมและความดีงาม" ของประเทศนี้ไม่ได้รวมถึงการ "ห้ามกล่าวความเท็จ" ดูกรณีคำสารภาพเรื่องแผนผังล้มเจ้า ของ (อดีตโฆษก ศอฉ.) หรือ “เสธ.ไก่อู”





ข้อสังเกตบางประการต่อคำสารภาพเรื่องแผนผังล้มเจ้า


Jun 3, 2011
Voice TV


สาวตรี สุขศรี นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ตั้งข้อสังเกตต่อคำสารภาพเรื่องแผนผังล้มเจ้า


อาจารย์สาวตรี สุขศรี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ เขียนประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 23 เรื่อง " ข้อสังเกตบางประการต่อคำสารภาพเรื่องแผงผังล้มเจ้า " โดยมีเนื้อหาดังนี้


" สัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฎการณ์น่าสนใจกำเนิดขึ้น ต้นตอมาจากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (อดีตโฆษก ศอฉ.) หรือ “เสธ.ไก่อู” ซึ่งกล่าวต่อศาลไว้ทำนองว่า “แผนผังล้มเจ้า” นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงเรื่องที่ศอฉ. คิดขึ้นเองแบบทันทีทันใด โดยยังไม่มีข้อยืนยันว่า รายชื่อที่อยู่ในแผนผั งคือคนที่คิด "ล้มเจ้า" หรือ "ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์" จริง ๆ 1 คำสารภาพนี้ได้มีการกล่าวโทษไปยังบทบาทและการทำหน้าที่ของ "สื่อมวลชน" ด้วยที่นำแผนผังฯ ไป "ขยายความ" ต่อกันเองจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด พร้อมกันนั้นก็แสดงความเชื่อมั่นต่อการใช้ "ดุลพินิจและวิจารณญาณ" ของสังคมและประชาชนไทย ว่าคงจะสามารถพิจารณาเองได้ว่า ผังล้มเจ้าของ ศอฉ. นั้นหมายความอย่างไรกันแน่

จากปรากฎการณ์ดังกล่าว มีเรื่องที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกต และข้อน่านำไปปฏิบัติหลายประการดังนี้...

๑. สังคมที่ร้องหาคนดี โดยไม่มีคำตำหนิต่อผู้กล่าวความเท็จ

"ประการที่สอง ในช่วงเวลานั้น มีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเตอร์เน็ตกล่าวหาในลักษณะทำนองว่า ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์มาสั่งการศอฉ. อยู่ตลอดเวลา ให้ดำเนินการนานับประการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่น ซึ่งหมายความว่ามีความพยายามยามเป็นความจริง ศอฉ ก็มีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบความจริงเป็นเช่นไร" – คำให้การช่วงหนึ่งของพอ. สรรเสริญฯ

คำชี้แจงของอดีตโฆษกศอฉ. ในประเด็นเรื่อง ความพยายามในการช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่อาจไม่เป็นความจริง และน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ "ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์" นั้น อันที่จริงต้องถือเป็นเรื่องถูกต้องดีแล้ว หากศอฉ. จะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษหาทางชี้แจง เพื่อปกป้องบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการกระทำ หรืออำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง

และจะยิ่งถูกต้องที่สุด ถ้าความเป็นสุภาพบุรุษของศอฉ.เยี่ยงนี้ เกิดขึ้นกับทุก ๆ คนไม่ว่าผู้นั้นจะมียศฐาเป็น "ท่านผู้หญิง" หรือว่าเป็นเพียง "สามัญชนคนธรรมดา"

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ควรยอมรับได้เลย หากคำชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลคนหนึ่ง กลับกลายเป็นการกล่าวหา หรือ "เสมือนกล่าวหา" บุคคลอีกคนหรืออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บน "มูลความจริง" เพราะนั่นย่อมทำให้บุคคลอื่น ๆ เหล่านั้นอาจได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกันกับท่านผู้หญิงฯ

เราย่อมไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อพบว่า "ความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร" อันเป็นคำชี้แจงของอดีตโฆษกศอฉ. นั้น กลับไม่ใช่การชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่เป็น “ความจริง” เพื่ออธิบายให้สังคม “ทราบความจริง” แต่กลายเป็นการกล่าว “ความไม่จริง” เรื่องหนึ่ง เพื่ออธิบาย “ความไม่จริง” อีกเรื่องหนึ่ง คำถามก็คือ เช่นนี้แล้วเมื่อไหร่กันที่สังคมไทยจะได้รับทราบ "ความจริง"

อนึ่ง ไม่ว่าในความเป็นจริงจะมีขบวนการล้มล้างสถาบันฯ อยู่หรือไม่ หรือใครจะเป็นผู้คิดล้มล้าง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ประเด็น หรือข้อแก้ตัวให้กับการกล่าวหาบุคคลใด ๆ โดยขาด "ข้อเท็จจริง" ที่จะมายืนยันความผิดที่ผู้ถูกใส่ความจนอาจได้รับโทษ หรือถูกเกลียดชังจากสังคม ฉะนั้น ศอฉ. จึงต้องมีความรับผิดชอบบางประการต่อเรื่องนี้ (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป) ในขณะที่คนอื่นใดที่เพิกเฉยต่อการกระทำของศอฉ. โดยยกข้ออ้างทำนองว่า "แผงผังอาจไม่จริง แต่ก็ใช่ว่าขบวนการล้มเจ้าจะไม่มีอยู่จริง" ควรต้องนับว่าเป็นผู้บกพร่องทางตรรก วิจารณญาณ และออกจะไร้สติสัมปชัญญะอยู่มาก

นับเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน เมื่อปรากฎการณ์นี้มาพร้อมกับความเงียบงันโดยพร้อมเพรียงกันของผู้คนทั้งที่มีอาวุโส และไม่มีอาวุโสทั้งหลาย ที่มักคร่ำครวญหาผู้มีศีลธรรมความดีงามให้เข้าสู่อำนาจและทำตนเป็นแบบอย่าง เป็นหลักเป็นฐานกับบ้านเมือง เขาเหล่านี้ทำเหมือนกับว่า "การไม่กล่าวคำเท็จ การไม่พูดจาส่อเสียด หรือการไม่นำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน รวมทั้งการกล่าวคำที่อาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย" เหล่านี้ ไม่ได้เป็นข้อหนึ่งที่ผู้มีธรรมควรยึดถือปฏิบัติ หรือเป็นหมุดหมายหนึ่งของคุณลักษณะแห่งการเป็น "คนดีมีศีลธรรม" บุคคลเหล่านี้ คือ คนที่พร้อมยกมือสนับสนุนให้จำกัดจัดการเสรีภาพของสามัญชนอย่างถึงที่สุด หากคำพูดของมันผู้นั้นทำท่าว่าจะก่อความเสียหายให้แก่อภิสิทธิ์ชน แต่กลับหดมือซุกกระเป๋า เมื่ออภิสิทธิ์ชนเป็นคนทำให้สามัญชนต้องเสื่อมเสีย

ฤาคำว่า "ศีลธรรมและความดีงาม" ของประเทศนี้ไม่ได้รวมถึงการ "ห้ามกล่าวความเท็จ"

๒. บทบาทของสื่อกระแสหลัก

น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อสังคมไทยต้องพบว่า ณ เวลาที่ศอฉ. แถลงข่าวต่าง ๆ ในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อกระแสหลักทุกช่องต่างทำ จ้องทำ หรือต้องทำข่าวเพื่อนำเสนอต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดสดการแถลงข่าว (อันเป็นเสมือนหน้าที่ของสื่อเหล่านั้น) แล้ว ยังมีการสรุปความและนำเสนอในช่วงเวลาข่าวเช้าบ่ายเย็นอีกด้วย แต่การณ์กลับปรากฏว่าสื่อกระแสหลักทุกช่อง สื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อ้างว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่างพร้อมใจกันเพิกเฉย และไม่ทำข่าวการสารภาพของโฆษกศอฉ. ว่าแท้ที่จริงแล้ว “แผนผังล้มเจ้า” (ที่สำนักข่าวตนเคยนำไปขยายความเอง ตามคำซัดทอดของพ.อ.สรรเสริญ) นั้น ศอฉ. มิได้พูดหรือมิได้ตั้งใจให้หมายความว่า คนซึ่งมีรายชื่อในผังนั้นมีพฤติกรรม หรือมีความคิดที่จะล้มล้างสถาบันฯ จริง ๆ คงมีเพียงสื่อทางเลือก หรือสื่อกระแสรองเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่เขียนข่าวถึง

ไม่ว่าการ “ขยายความต่อ” จะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด หรือจากความสมัครใจหรือไม่ แต่เมื่อปรากฎว่าสิ่งที่นำไปขยายความนั้นไม่เป็นข้อความจริง หรืออย่างน้อยที่สุดมันอาจทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จนอาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย คำถามก็คือ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้บ้างหรือไม่ การทำข่าวนำเสนอ “ความจริง” เพื่อแก้ไข “ความไม่จริง” หรือแก้ไข "ความบิดเบือน" ที่ตนเคยเสนอออกไปในอดีต มิได้เป็นสิ่งที่ควรทำ หรือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการทำหน้าที่ของ “สื่อไทย” ฉะนั้นหรอกหรือ

ฤาว่าผู้มีรายชื่อในแผนผังกำมะลอฉบับนี้ และได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวของสื่อเหล่านี้ ควรต้องดำเนินการฟ้องร้องสื่อจริง ๆ ตามคำแนะนำของ พ.อ. สรรเสริญ เพื่อสร้างบรรทัดฐานแก่สังคม พร้อม ๆ กับเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่อ
๓. โปรดใช้วิจารณญาณแบบไทย ๆ

"...แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องตัดสิน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจะฟ้องร้องกับผู้ที่นำไปขยายความในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของศอฉ ก็สุดแล้วแต่บุคคลเหล่านั้นจะพิจารณา...“ – คำให้การช่วงหนึ่งของพอ. สรรเสริญฯ

เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2553 สถานีวิทยุชุมชนถูกปิดจำนวน 26 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ถูกยุติการออกอากาศจำนวน 6 แห่ง ปรากฏชื่อในข่ายมีความผิด 84 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ราวเดือนเมษายนปี 2554 วิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่งถูกปิด หรือให้ยุติการออกอากาศ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล 3 จากการสำรวจสถิติการปิดกั้นเว็บไซท์ตั้งแต่ปี 2550 ถึง กลางปี 2553 มีเว็บเพจถูกคำสั่งศาลปิดกั้นอย่างเป็นทางการ หรือไม่ให้เผยแพร่ทั้งหมด 74, 686 ยูอาร์แอล เลขหมายยูอาร์แอลดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักพันเป็นหลักหมื่นในช่วงปี 2552 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 25534 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการชุมนุม และมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง

ข้อเท็จจริงเบื้องต้น คือ สื่อต่าง ๆ ที่ถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงเหล่านี้ นอกจากฝ่ายรัฐบาล หรือหน่วยงานที่ปิดกั้นแล้ว ไม่มีใครมีโอกาสได้รับรู้เลยว่าเนื้อหาที่เผยแพร่อันเป็นสาเหตุของการถูกปิดกั้นนั้นเป็นอย่างไร หรือขัดต่อกฎหมายอย่างไร สื่อที่ถูกปิดกั้นบางสื่อ นำเสนอเรื่องราวที่หลากหลายมีทั้งที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดได้ และเรื่องทั่ว ๆ ไปที่ไม่น่าจะเป็นความผิดได้ (เพราะเนื้อหาในลักษณะเดียวกันสามารถนำเสนอได้ในสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ถูกปิดกั้น) แต่ด้วยเหตุผลบางประการ "สื่อเหล่านั้น" ก็กลับถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงทั้งหมด

จำนวนตัวเลขยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งศาลจากผลการสำรวจดังกล่าว ยังมิได้นับรวมเว็บเพจอีกจำนวนมหาศาลที่ถูกปิดกั้นโดยศอฉ. ซึ่งไม่ได้ขอคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (มาตรา 20) แต่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อเท็จจริงเบื้องต้นอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ที่ผ่านมาแม้สื่อจำนวนมากจะโดนปิดกั้นไปแล้ว (ปัจจุบันหลายแห่งยังถูกปิดกั้นต่อไป แม้จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไปแล้ว) หรือห้ามไม่ให้ดำเนินการหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน แต่กลับมีผู้ที่ต้องรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นเจ้าของสื่อเหล่านั้นที่ถูกฟ้องร้อง หรือถูกศาลพิพากษาว่าเผยแพร่สิ่งที่เป็นความผิดตามกฎหมายจริง ๆ ในจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนสื่อที่ถูกปิดกั้น

ตัวเลขสถิติ (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) รวมทั้งรูปแบบ และวิธีการในการปิดกั้นสื่อเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดสามารถสะท้อนได้ว่า ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐไม่ได้ต้องการให้ประชาชนรับสื่อ โดยใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินความน่าเชื่อถือของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง รัฐหาได้พยายามเปิดพื้นที่ หรือให้โอกาสในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสำหรับทุก ๆ ฝ่ายไม่ ทั้งที่ข้อมูลที่หลากหลายเหล่านั้นมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้การคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งของประชาชน และสังคมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง หรือไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และด้วยสถานการณ์การไล่ล่าสื่อที่เห็นต่างจากฝ่ายรัฐดัวกล่าวมา ประกอบกับพฤติกรรมดูถูกหรือไม่ไว้วางใจสติปัญญาของประชาชนไทยของภาครัฐ จึงควรต้องนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่งว่า เมื่อมาถึงกรณี “แผนผังล้มเจ้า” แล้ว พ.อ. สรรเสริญ กลับร้องหาและเชื่อมั่นอย่างมากในวิจารณญาณของผู้คนในสังคม

ต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ประเด็นคงมิใช่เรื่องที่ผู้เขียนอยากตัดพ้อ หรือประชดประชันการใช้อำนาจรัฐแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญที่อยากชี้ชวนให้ตั้งคำถามดัง ๆ ก็คือ ในท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนคนไทยมีโอกาสเข้าถึง หรือได้รับข้อมูลข่าวสารอย่าง “ครบถ้วนรอบด้าน” จากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากันหรือไม่ อย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจหรือใช้วิจารณญาณต่อเรื่อง "แผนผังล้มเจ้า" (รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาด้วยว่าฝ่ายใดผิดถูก) หากพิจารณาให้ดี ๆ เราจะเห็นถึงความย้อนแย้งในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ ศอฉ. เรียกร้องการตัดสินใจจากสังคมโดยวิเคราะห์จากข้อมูลอื่น ๆ ที่มีอยู่ แต่ปรากฎว่าในช่วงเวลานั้น รัฐ ศอฉ. และสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐ แทบจะเป็นฝ่ายเดียวที่มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่

เช่นนี้แล้ว ศอฉ. จะต้องแปลกใจด้วยหรือ หรืออันที่จริงแล้วศอฉ. ควรคาดหมายได้อยู่แล้วด้วยซ้ำไปว่า ด้วยการใช้ “วิจารณญาณแบบไทย ๆ” ผลลัพธ์ที่ออกมาต่อกรณีแผนผังล้มเจ้าของตนและพวกจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

๔. ว่าด้วยความรับผิดชอบในทางกฎหมาย

ไม่ว่าเสธไก่อู ศอฉ. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า "แผนผังล้มเจ้า" มีหน้าที่ "ทางการเมือง" ประการสำคัญ (ดังที่เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้แล้ว) เพราะนอกจากผังดังกล่าวจะกลายเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงโดย DSI ในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเคยใช้ผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการอ้างอิงความชอบธรรมสำหรับการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำรุนแรงต่อคนไทยด้วยกัน ในฐานะองค์กรผู้ปกป้องสถาบันฯ สำคัญของชาติ ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลหรือองค์กรที่ปรากฎอยู่ในแผนผังจำนวนหนึ่งคือชื่อของแกนนำนปช. ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ แล้ว ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี รวมทั้งผู้ที่อาจยังไม่ถูกตั้งข้อหาใด ๆ แต่ถูกประณามจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ด้วยพลังการทำลายล้างของ "แผนผังล้มเจ้า" ไม่ว่าจะเป็น การสลายการชุมนุมจนมีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมากถึงสองครั้งสองครา การสร้างความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ตำรวจ ทหาร การดำเนินคดีกับบุคคลฝ่ายต่าง ๆ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับการล้มล้างสถาบันฯ ส่งผลให้บุคคลจำนวนไม่น้อยถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว หมายรวมกระทั่งความไม่พอใจต่อสถาบันฯ ที่เริ่มแผ่ขยายไปในหมู่ประชาชนมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

เราจึงไม่อาจเพิกเฉย หรือไม่ตั้งคำถามใด ๆ ต่อเรื่องนี้ได้เลย และกลุ่มบุคคลผู้เต้าแผนผังฯ จะสามารถลอยตัวเหนือปัญหา โยนภาระให้ฝ่ายต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายแบบที่เป็นอยู่กระนั้นหรือ หากวิเคราะห์จากพฤติการณ์และเจตนาแล้ว การกระทำของศอฉ. และพวก จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 326, 3285 กล่าวสรุปให้สั้น และง่ายสำหรับบทบัญญัติทั้ง 3 มาตรานี้ได้ว่า มาตรา 157 คือบทที่ว่าด้วย "ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ" กล่าวคือ เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปในทางมิชอบก็ดี ไปในทางทุจริตก็ดี เพียงเพื่อใส่ร้าย กลั่นแกล้ง หรือก่อให้เกิดความเสียหายในทางใดทางหนึ่งแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ดี เจ้าพนักงานของรัฐเหล่านั้นจะต้องมีความรับผิดทางอาญา เช่นนี้แล้วเมื่อ ศอฉ. รู้ทั้งรู้ว่ารายชื่อที่ตนนำมาจับโยงใยไปมาในเอกสาร แล้วตั้งชื่อเอกสารว่า "แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า" เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมูล หรือยังไม่มีข้อยืนยันได้ว่าคนเหล่านั้นคิดล้มล้างสถาบันฯ จริงๆ แต่ยังนำมาแถลงให้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม แจกจ่ายเอกสารแก่สื่อมวลชน จึงย่อมมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ มุ่งแต่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม และทำให้บุคคลในแผนผังฯ ได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังเข้าข่ายเป็นการ "ใส่ความ" ตาม มาตรา 326 คือ การกล่าวร้ายต่อบุคคลอื่นใดกับบุคคลที่สาม ในประการที่ "น่าจะ" ทำให้บุคคลที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาท บทบัญญัตินี้มีความน่าสนใจอยู่มากตรงที่ ผู้ถูกใส่ความสามารถร้องขอความเป็นธรรมจากศาลได้แม้จะไม่ปรากฎ "ความเสียหาย" ที่เป็นรูปธรรมขึ้นจริงก็ตาม เพราะกฎหมายใช้คำว่า "น่าจะ" เท่านั้น จากกรณีนี้ ย่อมชัดเจนว่าประเทศไทยและสังคมยังคงอ่อนไหวกับเรื่องราวใด ๆ ที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (พิจารณาได้จากสถานการณ์เชียร์และต้านมาตรา 112) ดังนั้น ไม่ว่าในความเป็นจริงบุคคลต่าง ๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในแผนผังฯ จะได้รับความเสียหายหรือถูกใครเกลียดชังจริงหรือไม่ แต่คำว่า "ล้มเจ้า" นี้ห้วงยามปัจจุบันย่อมเป็นถ้อยที่ "น่าจะ" ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเสียหาย หรือถูกเกลียดชังได้ทั้งสิ้น อนึ่ง พฤติการณ์ในการ "ใส่ความ" ดังกล่าว ได้ปรากฎชัดเจนว่า ศอฉ. กระทำด้วยการแถลงต่อ "สื่อ" หรือด้วยการ "โฆษณา" ดังนั้นจึงอาจต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 328 (หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา)

อย่างไรก็ตาม จากคำรับสารภาพของพ.อ. สรรเสริญ ที่ว่า

"ข้าฯได้รับมอบหมายให้นำเอกสารเหล่านั้นไปแจกแก่สื่อมวลชน ซึ่งเอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้ เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง....ซึ่งมิได้แถลงเลยว่า บุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม...“

ผู้เขียนจึงเห็นควรต้องอธิบายถึงบททีว่าด้วย "เจตนา" ในทางอาญาโดยสังเขปไว้เสียด้วย ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ศอฉ.ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยคำแก้เกี้ยวง่าย ๆ ดังกล่าว

ในทางกฎหมายอาญานั้น "เจตนา" ในการกระทำความผิด อันถือเป็นองค์ประกอบ (ภายใน) สำคัญที่จะตัดสินได้ว่าผู้กระทำต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนหรือไม่นั้น มิได้มีแค่เพียง "เจตนาประสงค์ต่อผล" เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเจตนาอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้กระทำสามารถ "คาดหมาย" หรือ "เล็งเห็น" ผลเสียหายจากการกระทำของตนด้วย หรือที่เรียกว่า "เจตนาเล็งเห็นผล" ยกตัวอย่างเช่น

นาย ก ยิงปืนไปที่ นาย ข เพราะต้องการฆ่านาย ข ให้ตาย ปรากฎว่านาย ข ตายจริง เช่นนี้ย่อมชัดเจนว่า นาย ก มีเจตนาที่ประสงค์ต่อผล คือ ความตายของนาย ข นาย ก ต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผล

แต่ในอีกกรณีหนึ่ง นาย ก ยิงปืนไปในฝูงชน โดยมีความประสงค์แค่ต้องการ "ข่มขู่" ไม่ได้อยากให้ใครตาย แต่ในความเป็นจริงการยิงปืนไปเช่นนั้น นาย ก ย่อมสามารถคาดหมาย หรือเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีหรืออาจมีใครตาย ปรากฎว่า นาย ข ซึ่งยืนอยู่ในฝูงชนนั้นตายจริง ๆ จากลูกกระสุนของนาย ก เช่นนี้ นาย ก จะโบ้ยใบ้ว่าตนเองไม่ได้เจตนาให้นาย ข ตาย หรืออย่างมากก็แค่ประมาทเลินเล่อ (ซึ่งมีโทษน้อยกว่าเจตนา) มิได้ ในทางกฎหมายอาญานั้น นาย ก ต้องรับผิด ฐานฆ่า นาย ข ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

เมื่อนำตัวอย่างดังกล่าวมาพิจารณากับกรณี "แผนผังล้มเจ้า" จะเห็นได้ว่า ด้วยห้วงยามแห่งการแถลงข่าว ด้วยความที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากสำหรับประเทศไทย ด้วยรายชื่อที่เกี่ยวข้อง (คนที่โดนพิพากษาว่าหมิ่นแล้ว โดนข้อหา แกนนำนปช.) ด้วยข้อมูลอื่นที่ศอฉ. และฝ่ายรัฐโหมเสนอต่อประชาชนก่อนหน้า ซึ่งแวดล้อมแผนผังฯ อยู่ เช่นนี้ แม้ศอฉ. ไม่ได้กล่าวถ้อยคำด้วยตนเองตรงๆ ชัดๆ ว่า "เอกสารที่ไปแจกนั้น หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์" ก็ย่อมเป็นกรณีที่ศอฉ. สามารถเล็งเห็นผลได้ว่า สื่อและสังคมจะเข้าใจไปเช่นนั้น และเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฎในหลาย ๆ กรณีว่าได้เกิดความเข้าใจไปเช่นนั้นจริง ๆ ศอฉ. ย่อมมิอาจปฏิเสธความรับชอบของตนได้โดยอาศัยหลักการในเรื่อง "เจตนาเล็งเห็นผล" นี้เอง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และ 4236 สำหรับคนที่มีรายชื่อในแผนผังฯ และได้รับคามเสียหายเกิดขึ้นจริงจนอาจพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมถึง "ค่า" แห่งความเสียหายนั้น น่าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกด้วย ทั้งนี้ โดยอาศัยมาตรา 420 และมาตรา 423 ในหมวดทีว่าด้วยเรื่องละเมิดโดยทั่วไป และการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง เพราะจากคำรับสารภาพของพ.อ. สรรเสริญ เองย่อมชัดเจนแล้วว่าเป็นการ "กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง"

พระราชบัญญัติว่าด้วยกากระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ที่ผ่านมาได้เคยมีการนำเอกสาร หรือแผนผังดังกล่าวไปเผยแพร่ หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยหน่วยงานของศอฉ. หรือหน่วยงานของรัฐบาลเองด้วยหรือไม่ แต่หากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ย่อมมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 14(2) ได้เช่นกัน ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน..." ปฏิเสธได้ยากว่าข้อหา "ล้มเจ้า" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยฝ่ายรัฐ (ไม่มีฐานความผิดนี้ปรากฎอยู่ที่ใดในกฎหมาย) เป็นคำกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกล่าวหานี้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เกิดกระแสการคัดง้างกันระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าและไม่นิยมเจ้าอยู่เนือง ๆ ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปเองก็เริ่มรู้สึกหวาดกลัว และไม่มั่นคงในสเถียรภาพ เมื่อจู่ ๆ หน่วยงานของรัฐ (โดย ศอฉ.) เป็นผู้ลุกขึ้นมาปั้นแต่งว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่จริง โดยทำทีชี้ชัดได้ว่ามีใครในขบวนการนี้บ้างย่อมต้องก่อให้เกิด "ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ได้เป็นธรรมดา

สำหรับคำถามที่ว่า แผนผังล้มเจ้ากำมะลอฉบับนี้ สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานชี้ได้เลยหรือไม่ว่า ฝ่ายรัฐกระทำผิดกฎหมายในการสั่งให้ทหารสลายการชุมนุมจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย หรือใช้เพื่อการสั่งให้จับกุมหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลอื่นไว้โดยมิชอบ โดยความเห็นของผู้เขียน เห็นว่า ณ ปัจจุบัน โดยตัวของเอกสารเอง คงไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อชี้ชัด ๆ เช่นนั้นได้ เว้นแต่มีเอกสาร "คำสั่ง" ชิ้นอื่นใดมาประกอบว่าการสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม หรือการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยแผนผังฯ นี้เป็น "ข้อหา" หลักหรือข้อหาพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อหาอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อหาการ "ก่อการร้าย" ที่รัฐบาลมักกล่าวถึงเสมอๆ หากในที่สุดแล้วข้อเท็จจริงยังมีแค่เพียงว่า ศอฉ. หรือฝ่ายรัฐ ใช้แผนผังฯ นี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการ "กล่อมเกลา" หรือ "ชักจูง" ให้ตำรวจทหารผู้ปฏิบัติการ ปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่เพราะรู้สึกว่าตนกำลังกระทำใน "สิ่งที่ถูกต้อง" หรือกำลัง "กำจัดอริราชศัตรู" การดำรงอยู่ของแผนผังฯ นี้ คงเป็นได้แต่เพียงเอกสาร "โฆษณาชวนเชื่อ" ของฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายนิยมเจ้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า พฤติกรรมการสร้างเรื่อง แต่งผังฯ รวมทั้งการแถลงข่าวแบบเล็งเห็นผลในความเสียหายที่อาจมีต่อบุคคลอื่นได้ดังกล่าวไปแล้วนั้น ย่อมใช้เป็น "หลักฐานประกอบ" ในประเด็กการชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำพูด และการกระทำในช่วงที่ผ่านมาของฝ่ายรัฐได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทที่รัฐมีกับประชาชน การยัดเยียดข้อกล่าวหา, การบิดเบือนคลิปภาพ และวีดิโอ, การพบอาวุธในที่เกิดเหตุ ฯลฯ เพราะคำสารภาพโดยศอฉ. ครั้งนี้ย่อมเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายรัฐที่ผ่าน ๆ ตั้งอยู่บนความโปร่งใส มีมูลเหตุที่ไม่สุจริต มีเป้าหมายอื่นใดแอบแฝง หรือได้ทำไปเพื่อความสงบสุข หรือเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง หรือไม่

สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่า ถ้าสื่อไทยมีจรรยาบรรณกว่านี้อีกนิด ถ้าคนไทยเปิดตากว้างกว่านี้อีกหน่อย และถ้าสังคมไทยจะมีวุฒิภาวะกว่านี้อีกเพียงเล็กน้อย กรณีแผนผังล้มเจ้ากำมะลอของศอฉ. ก็น่าจะพอมีคุณูปการได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่เป็นเครื่องเตือนสติคนไทยว่า อย่างมงายหลงเชื่อถ้อยแถลงของฝ่ายรัฐไปเสียทุกเรื่อง. "