วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 09, 2561

โค้ชเอกและลูกทีมหมูป่าได้สัญชาติไทยแล้ว แล้วคนไร้สัญชาติอีก 1 ล้านคนละ ? "เกิดในประเทศไทยแท้ ๆ ก็ยังไม่ได้ ถ้าเขาได้ เราได้ด้วยไม่ได้เหรอ" หญิงชราวัย 65 ปี เชื้อสายไทใหญ่ ถาม





ทีมหมูป่า กับ ความหวังของคนไร้สัญชาติเกือบ 1 ล้านคน



PANUPONG CHANGCHAI/BBC THAI
คำบรรยายภาพนางเอื้อนบอกว่า "เงิน" อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกชายของทั้งสองของเธอได้สัญชาติจนได้


26 กรกฎาคม 2018
บีบีซีไทย


"เกิดในประเทศไทยแท้ ๆ ก็ยังไม่ได้ ถ้าเขาได้ เราได้ด้วยไม่ได้เหรอ" หญิงชราวัย 65 ปี เชื้อสายไทใหญ่ ตั้งคำถาม

นางทอง* เจ้าของกิจการร้านขายของชำใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังพูดถึงข่าวการขอสัญชาติของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี เปรียบเทียบกับหลานสาววัย 22 ปีของเธอที่เกิดในประเทศไทยแต่กลับเป็นคนไร้สัญชาติ

ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่สำเร็จลุล่วง ได้จุดประเด็นเรื่องคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในไทย เนื่องจากโค้ชทีมหมูป่าและนักฟุตบอลของทีมบางคน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในไทย แต่ไม่ได้มีสัญชาติไทย อย่างไรก็ดี ล่าสุดวันนี้ (8 ส.ค.) ได้มีพิธีมอบสัญชาติไทยให้ผู้ที่ขอสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ และมาตรา 23 ตามพ.ร.บ.สัญชาติ จำนวนทั้งหมด 30 คน ซึ่งรวมถึงสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ช่วยโค้ช 4 คน ได้แก่ ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน นายพรชัย คำหลวง และนายเอกพล จันทะวงศ์ หรือโค้ชเอก อายุ 25 ปี ด้วย

"ภาวนาขอให้ได้" นางทองกล่าว "อยากให้คนนี้ได้ เป็นห่วงเพราะว่าเขาไม่มีพ่อไม่มีแม่ ขาดความอบอุ่น อยากให้เขาได้บัตรไทย ถ้าได้บัตรไทยแล้ว แม่เฒ่าก็ดีใจ" นางทองกล่าว



เมื่อกลางเดือน ก.ค. สำนักข่าวไทยรายงานว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกมายืนยันว่า กรณีขอสัญชาติของสมาชิก 4 คนของทีมหมู่ป่าอะคาเดมี จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติเหมือนกับทุกคน แต่คำถามที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางก็คือ บุคคลไร้สัญชาติคนอื่น ๆ จะได้รับการดำเนินการด้วยมาตรฐานและความรวดเร็วแบบเดียวกันหรือเปล่า


KAONA PONGPIPAT/BBC THAI
คำบรรยายภาพด.ช. อั้ม ซึ่งเคยสังกัดทีมหมูป่าอะคาเดมี บอกว่า รู้สึก "ดีใจด้วย" หากเพื่อน ๆ จะได้รับสัญชาติไทย


ตามข้อมูลประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ตามหลักฐานการขึ้นทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2560 ในจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทยที่มีมากว่า 66.1 ล้านคน มีบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยถึง 875,814 คน

นางทอง และลูกสาวและหลานสาวของเธอ ก็เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้น ซึ่งถือบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 หรือ 9 ซึ่งเป็นบัตรของบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน นั่นคือ ไม่ปรากฏว่าบุคคลนั้นมีสัญชาติใดเลย การถือบัตรนี้ถือว่าอยู่ในกระบวนการขึ้นทะเบียนเพื่อรอการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลในการขอสัญชาติ

"ด.ญ. ไทยใหญ่"

ปัญหาสำหรับหลานสาวของนางทองคือ มีหนังสือรับรองการเกิดแต่กลับยังไม่ได้เขียนชื่อ ที่โต๊ะหินอ่อนหน้าร้านขายของชำ นางทองนำเอกสารหลักฐานปึกใหญ่มาเปิดให้ดู ชื่อบนหนังสือรับรองการเกิดของหลานสาวเธอเขียนเพียงว่า "ด.ญ." และนามสกุลว่า "ไทยใหญ่" ซึ่งเธอบอกว่าเป็น "ความไม่ละเอียด" ของทางการ


KAONA PONGPIPAT/BBC THAI
คำบรรยายภาพ"ด.ญ. ไทยใหญ่"


นางทองเล่าว่า ทั้งพ่อและแม่ของหลานสาวเสียชีวิตไม่นานหลังจากเธอเกิด และนี่ทำให้หลานสาวของเธอไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดในประเทศไทยจริง ๆ และก็ไม่มีรูปถ่ายจากงานศพของพ่อแม่เป็นหลักฐานตามที่มูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือเรื่องการขอสัญชาติแนะนำ

นางจันทร์* ลูกสาวอีกคนหนึ่งของนางทองซึ่งถือบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 เช่นกัน เล่าว่า ขณะนี้ หลานสาวซึ่งกำลังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องพบกับปัญหามากมาย อาทิ สมัครงานยากเพราะนายจ้างส่วนใหญ่ต้องการคนที่ถือประจำตัวประชาชนไทย และยังต้องเดือนทางกลับบ้านมาเพื่อรายงานตัวทุก ๆ 6 เดือนด้วย

ในกรณีของทีมหมูป่าอะคาเดมี สมาชิกทีมทั้ง 4 คน คือ ด.ช.มงคล บุญเปี่ยม อายุ 13 ปี ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน อายุ 14 ปี นายพรชัย คำหลวง อายุ 16 ปี และนายเอกพล จันทะวงศ์ หรือโค้ชเอก อายุ 25 ปี ล้วนไม่ได้แจ้งการเกิด และไม่มีสูติบัตร ตามรายงานของสำนักข่าวไทย การขอสัญชาติของคนทั้ง 4 คน ต้องเริ่มด้วยการพิสูจน์ว่าพวกเขาเกิดในประเทศไทยเพื่อที่จะได้รับสูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิดจากนายทะเบียน โดยพยานหลักฐานสำคัญที่จะต้องใช้ได้แก่ บุคคลที่รู้เห็นการเกิด อาจเป็นหมอตำแย ญาติ เพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น


KAONA PONGPIPAT/BBC THAI
คำบรรยายภาพนางทอง และหลานสาวของเธอ ถือบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0


ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ด.ช.มงคล และนายพรชัย จะได้รับสัญชาติหากพวกเขาเกิดในประเทศไทย โดยมีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ทางราชการได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ และมีเลขประจำตัว 13 หลัก เและบิดาหรือมารดาต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีนับถึงวันที่บุตรยื่นขอสัญชาติ

นางทองมีเอกสารที่เธอคิดว่าน่าจะเป็นหลักฐานได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักกันมาตั้งแต่หลานสาวเกิด สมุดรายงานประจำตัวที่โรงเรียนอนุบาล ไปจนถึงใบแสดงผลการเรียนระดับมัธยมต้นและประกาศนียบัตรวิชาชีพ นางจันทร์บอกว่า มูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือเรื่องการขอสัญชาติบอกเธอว่า การจบปริญญาตรีจะเป็นอีกโอกาสหนึ่งให้หลานสาวเธอมีสิทธิได้สัญชาติในที่สุด ซึ่งอาจเข้าหลักเกณฑ์แบบโค้ชเอก ซึ่งระบุว่า ถ้าเด็กเกิดในประเทศไทยโดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่มิใช่ชนกลุ่มน้อย เด็กจะต้องเรียนในประเทศไทยจนจบปริญญาตรี แล้วเอาหลักฐานปริญญาบัตรและผลการเรียนไปยื่นขอสัญชาติ

ในกรณีดังกล่าว รมว. กระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้นายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ กรณีผู้ขอสัญชาติมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ กรณีผู้ขอมีสัญชาติมีอายุเกินกว่า 18 ปี

"เราจะเอาตังค์ไปส่งให้ลูกให้หลายเรียนได้ไง ลูกของเราเรายังลำบากเลย อันนี้หลาน" นางจันทร์กล่าว "พ่อแม่เขาก็เสียหมด แล้วเราก็เลี้ยงเขามาถึงขนาดนี้ เขาก็โตแล้ว เขาก็ไปทำงานแล้ว ไม่อยากเป็นภาระให้เรา ...คนไทย ถ้าเขาไม่มีเงินเรียน เขาก็กู้ กยศ. ได้ เราไม่ได้ไง เราไม่มีบัตรไทย ขอไม่ได้ ขอเรียนต่อไม่ได้"


THAI NAVYSEAL/FACEBOOK
คำบรรยายภาพสมาชิกทีมหมูป่าทั้ง 4 คนล้วนไม่ได้แจ้งการเกิด และไม่มีสูติบัตร


อีกหนึ่งหลักเกณฑ์ที่โค้ชเอกสามารถยื่นขอสัญชาติได้คือ ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งกำหนดคุณสมบัติว่าผู้ขอจะต้องมีหลักฐานการเกิด มีเลขประจำตัว 13 หลัก มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม และอาศัยอยู่ติดต่อกันในประเทศไทย โดยกฎหมายให้อำนาจนายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ แต่ในขณะที่คนทั้งโลกรู้จักโค้ชเอกในฐานะ "ฮีโร่" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ รอดชีวิตออกมาได้ สิ่งที่สังคมอาจตั้งคำถามได้คือ นิยามของการ "ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม" คืออะไร และหลานสาวนางทองจะสามารถใช้หลักเกณฑ์นี้ได้หรือไม่

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวกับบีบีซีไทย ถึงปัญหาบุคคลไร้สัญชาติที่มีจำนวนหลายแสนคนในประเทศไทย ว่า สาเหตุที่คนไร้สัญชาติจำนวนมากยังไม่ได้สัญชาติ มีทั้งปัจจัยด้านตัวบุคคลเองที่ยังไม่ได้ยื่นขอ กลุ่มนี้เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีเอกสารราชการยืนยัน และมีอุปสรรคทางการสื่อสารที่ต้องใช้ภาษาไทย หรือหลาย ๆ กรณียื่นไปแล้ว ดำเนินการล่าช้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายขอบซึ่งมีบุคคลไร้สัญชาติจำนวนมาก

" บางอำเภอมีสภาพปัญหาเยอะ แต่อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่กลับเท่ากับพื้นที่ที่ปัญหามีอยู่น้อย หรือไม่มีเลย บางพื้นที่มี 10 คน บางพื้นที่เป็นหมื่นคน แต่จำนวนเจ้าหน้าที่เท่ากัน" สุรพงษ์ กล่าว

สุรพงษ์ กล่าวว่าปัญหาการให้สัญชาติยังเกี่ยวพันกับทัศนคติของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการได้สัญชาติของบุคคลไร้รัฐ

สุรพงษ์ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่รับรองผู้ฟ้อง 351 คน ซึ่งทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ก่อนภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนี้และให้คืนสัญชาติไทยกับผู้ฟ้อง

คนไทยพลัดถิ่น คือ คนไทยที่ไร้สัญชาติซึ่งได้รับผลกระทบจากการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา กรมการปกครอง ขึ้นทะเบียนคนไทยพลัดถิ่นใน 6 จังหวัดชายแดนไว้ที่กว่า 18,000 คน หลังจากปรับปรุงกฎหมายสัญชาติ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) เมื่อปี 2555 เพื่อแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทยให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

"ผมเชื่อว่าคนไทยพลัดถิ่นอาจจะได้สัญชาติไทยคืนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หลังรัฐบาลแก้ปัญหาเมื่อ 5-6 ปีก่อน" สุรพงษ์กล่าว

การศึกษาฟรี รักษาฟรี

ที่หมู่บ้านข้างเคียงนางทอง ด.ช. อั้ม* วัย 14 ปี บอกกับบีบีซีไทยว่า การถือ "บัตรศูนย์" ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต นอกจากการ "ถ้าไปแข่ง[ฟุตบอลที่ต่างจังหวัด] บัตรไทยมันจะดีกว่า เวลาไปแข่งมันจะไม่ยุ่งยาก"

นายกิตติชัย เมืองมา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) เชียงราย เขต 3 กล่าวว่า สิทธิทางการศึกษาและโอกาสทางการไทยให้ต่อเด็กกลุ่มไร้สัญชาติอย่างเต็มที่ เช่น อาหารกลางวันฟรี และค่าเล่าเรียนฟรี 15 ปี นอกจากนี้พวกเขาสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ถึงขั้นปริญญาตรี ส่วนสิทธิทางการปกครองก็เป็นส่วนของกฎหมายปกครองไป


KAONA PONGPIPAT/BBC THAI
คำบรรยายภาพแม่ของอั้มเล่าว่า ลูกชายเกิดที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่ทีมหมู่ป่าอะคาเดมีพักฟื้นร่างกายหลังออกจากถ้ำ


"เขาต้องไปดำเนินการและพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนไทยอย่างไร จะได้สัญชาติด้วยการโอน หรือการเกิด ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายปกครอง" นายกิตติชัยกล่าว

ปัจจุบันเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 3 มีนักเรียนทังหมดราว 36,000 คน มีเด็กที่ไร้สัญชาติอยู่ราว 30%

ด.ช. อั้ม เองก็เคยสังกัดทีมหมูป่าอะคาเดมีและรู้จักกับสมาชิกทีมที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอย่างดี เขาบอกว่า รู้สึก "ดีใจด้วย" หากเพื่อน ๆ จะได้รับสัญชาติไทย และไม่ได้รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเพราะ "เดี๋ยวเราก็ได้"

แม่ของอั้มเล่าว่า ลูกชายเกิดที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่ทีมหมู่ป่าอะคาเดมีพักฟื้นร่างกายหลังออกจากถ้ำ เธอตอบคำถามด้วยความเข้าใจดีถึงระบบราชการของไทยในการให้สัญชาติ

"มันเป็นตามขั้นตอน แล้วก็ถ้าเกิดว่าเรารู้จักเส้น รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่หน่อย ก็จะยื่นเรื่องเราเร็วหน่อย ถ้าเกิดเราไม่รุ้จักเราก็ตามนั้นแหละ ปีหน้าก็คือปีหน้า สองปีก็คือสองปี รอไป" เธอบอกบีบีซีไทย


ANUPONG CHANGCHAI/BBC THAI
คำบรรยายภาพนางเอื้อน และลูกชายสองคนย้ายมาจากเมืองตองจี เมียนมา ตั้งแต่ปี 2540


ในทางเดียวกัน นางเอื้อน* ซึ่งย้ายมาจากเมืองตองจี เมียนมา ตั้งแต่ปี 2540 มารับจ้างขนของอยู่ที่ตลาดโชคเจริญ บอกว่า "เงิน" อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกชายของเธอทั้งสองคนได้สัญชาติจนได้ แม้ว่าเธอจะทำสูติบัตรของลูกชายคนเล็กหายไป เหลือแต่สมุดฝากครรภ์ และพยายามไปเดินเรื่องกับทางการมาหลายปีแต่ไม่เป็นผล

"เขาได้ แต่เราไม่ได้ ก็เซ็งนิดนึง" นางเอื้อนกล่าว เมื่อถามถึงข่าวเรื่องการขอสัญชาติของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี 4 คน และบอกว่าเริ่มถอดใจ ได้ "บัตรหัวศูนย์" ก็ดีแล้ว ดีใจแล้วที่ได้อยู่ประเทศไทย

"มีคนบอกว่า ไม่เป็นไร ขอให้มีตังค์เถอะ ถ้ามีตังค์ก็ไปอุดหนุนนายอำเภอมั่ง คนรับรองมั่ง มีคนที่แต่ก่อนทำงานด้วยกัน มีบัตรหัวศูนย์เหมือนเราเนี่ย ไปเปลี่ยนเป็นบัตรประชาชน ต้องมีคนค้ำเจ็ดคน หมดไปแสนกว่า คนนั้นไม่มีใบเกิด"


PANUPONG CHANGCHAI/BBC THAI
คำบรรยายภาพนางเอื้อนบอกว่า "เงิน" อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกชายของทั้งสองของเธอได้สัญชาติจนได้


*นามสมมติ ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อจริงด้วยความกังวลว่าจะส่งผลต่อการเดินเรื่องขอสัญชาติของตัวเอง