วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 09, 2561

รำลึกครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 8-8-88 เมื่อประชาชนนับล้านรวมทั้งพระสงฆ์ มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ ในย่างกุ้ง



https://www.facebook.com/BBCThai/videos/2161451254075903/


อดีตแกนนำนักศึกษา ประชาชน และผู้เคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ 8-8-88 หรือเหตุการณ์ที่ทหารปราบปรามนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988

งานรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง สถานที่ซึ่งนักศึกษาซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ถูกยิงเสียชีวิต

การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 มีจุดเริ่มต้นจากการที่นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์นับล้าน เริ่มออกมาชุมนุมอย่างสันติในนครย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องให้ยุติระบอบเผด็จการภายใต้การปกครองของนายพลเนวิน ซึ่งต่อมาขบวนการเคลื่อนไหว เรียกร้องประชาธิปไตยนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ และถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 โดยนางออง ซาน ซู จี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการประท้วงในครั้งนั้น



ในช่วงแรก การชุมนุมประท้วงดูเหมือนจะนำไปสู่ผลสำเร็จ แต่ 6 สัปดาห์ให้หลัง วันที่ 18 ก.ย. กองทัพโต้กลับฝูงชนด้วยการปราบปรามอย่าง รุนแรงและเริ่มยิงใส่ฝูงชน ผู้ชุมนุมอย่างน้อยสามพันคนต้องเสียชีวิต คนหลายพันได้รับบาดเจ็บ บางส่วนโดนจับกุม หรือหลบหนีไปได้ และฝ่ายกองทัพเมียนมาก็สามารถกลับมายึดอำนาจไว้ได้สำเร็จ

มี ซู พ้วย อดีตแกนนำนักศึกษาหญิง เล่าประสบการณ์ในครั้งนั้นให้บีบีซีแผนกภาษาเมียนมาฟังว่า ในขณะนั้นนายพลเนวิน ประกาศว่าทหารไม่ใช่เพียงจะยิงปืนขึ้นฟ้า แต่ทหารจะเอาจริง และจะยิงผู้ชุมนุม หากมีการเดินขบวนอีก

อดีตแกนนำนักศึกษาหญิงบอกว่ารู้สึกกลัว เธอและเพื่อนนักศึกษาที่ร่วมประท้วงจึงเดินทางออกจากเมียนมา ไปยังแนวชายแดนไทย-เมียนมา ใกล้จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อรวบรวมอาวุธกับให้ชนกลุ่มน้อยฝึกการใช้อาวุธให้ และริเริ่มแผนปฏิบัติการล้มล้างเผด็จการ

"ฉันรู้สึกว่าทหารกดขี่พวกเรา เพราะเขาบอกว่าจะยิงเราหากมีการประท้วงอีก ในฐานะนักศึกษาพวกเราตัดสินใจว่าหากจะโค่นเผด็จการ และระบอบการเมืองที่มีพรรคการเมืองเดียวเราจะต้องมีอาวุธ"

ตอนนั้น มี ซู พ้วย ซึ่งอายุประมาณ 20 ปี ได้ร่วมกับหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) โดยหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ และร่วมมือกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของพวกเขาในการสร้างประเทศที่ปกครองแบบสหพันธรัฐ

ตอนนั้น มี ซู พ้วย ซึ่งเป็นกวีและนักเขียนได้ทำงานด้านข่าวสารและการศึกษาของ ABSDF ซึ่งนับแต่รัฐบาลเมียนมาเปิดการเจรจาสันติภาพกับบรรดาชนกลุ่มน้อยติดอาวุธเมื่อปี 2012 องค์กรของ มี ซู พ้วย ก็ตัดสินใจแก้ปัญหาทางการเมืองผ่านช่องทางการเจรจาและรักษากระบวนการสร้างสันติภาพกับทางการ ปัจจุบันเธอทำหน้าที่ตัวแทนของ ABSDF ไปร่วมประชุมสันติภาพอย่างต่อเนื่องด้วยความหวังว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นในประเทศสักวันหนึ่ง