วันอาทิตย์, พฤษภาคม 13, 2561

เมื่อสามพรรคประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๖๐ ยกเว้น ปชป. ไม่ร่วม บอกหนูทนได้


ที่จริงรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบให้ คสช. ใช้สืบอำนาจนั้น หลังประกาศใช้ลายพรางด่างพร้อยออกมาชัดแจ้ง ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นแม่บทสำหรับหักแข้งหักขาพรรคการเมืองเก่าขนาดใหญ่ ไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ให้กลับมาโตใหม่

จึงไม่แปลกที่มีตัวแทนพรรคการเมืองซึ่งไปร่วมเสวนาวันปรีดี พนมยงค์ ที่ธรรมศาสตร์ ๓ ใน ๔ พรรคเผยว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย แล้วจัดการร่างฉบับใหม่เพื่อให้ได้ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศแน่วแน่ว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ผู้เขียนใส่สลักปิดล็อคห้ามแก้ เสียง ๓๐๐ เสียงแก้ไม่ได้ แม้จะมีถึง ๔๐๐ เสียงก็แก้ไม่ได้ ดังนั้นมีทางเดียวประชาชนต้องพร้อมใจกันยกเลิก

แล้วยังมีนายวราวุธ ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปฏิเสธข่าวลือว่าจะถูกดูดจาก คสช.อีกราย ตอบว่าถ้าได้เป็นนายกฯ จะตั้ง ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ)

เหมือนที่พ่อเขา (นายบรรหาร ศิลปอาชา) เมื่อครั้งเป็นนายกฯ ปี ๒๕๓๘ เคยแก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐ ขึ้น แล้วก็ยังไม่วายถูกทหารกระชากทิ้งดื้อๆ

ทางด้าน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ไม่ผิดหวัง เดินตามแนวเพื่อประชาชนไม่เฉไฉ นอกจากบอกว่า รธน.๖๐ ต้องยกเลิกแล้วร่างใหม่ ยังลงลึกรายละเอียดเล็กน้อยว่าเอา รธน.๔๐ มาใช้แทนชั่วคราวระหว่างการร่างฉบับใหม่
จะมีก็แต่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าหัวหน้าพรรคก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ๖๐ แต่ว่า “ยังไงเราก็ทนกับมันได้ แม้ว่ามันจะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ”

เธอบอกถึงรัฐธรรมนูญนี้ “ถ้ามีโอกาสก็ต้องแก้ไข” แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่เป็นวาระแรกสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องเร่งด่วนที่เธอต้อง “บนบานศาลกล่าว” เพื่อให้ได้ก่อนอื่นใดก็คือ การกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครใหญ่ๆ


จะ ปชป. แหวกม่านผ่านแนวก็ไม่ใช่ เพราะเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั่นพรรคอนาคตใหม่เขาชูมาแต่ยังไม่ได้เปิดหน้าตั้งพรรค ที่เขาเรียกว่า จังหวัดปกครองตนเอง ไง

ที่แหวกน่าจะเป็นแหวกว่ายทวนกระแสทั้งต่อประชาธิปไตย เสรีนิยม ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยอ้างเมื่อเดือนกว่าๆ มานี้เอง และต่อวิถีแห่งชนรุ่นใหม่

มิน่า นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ถึงได้วิเคราะห์การเมืองเลือกตั้งภายใต้ระบอบ คสช. เอาไว้ว่า “พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแปรหลักในการจัดตั้งรัฐบาล” ขึ้นอยู่กับว่า ปชป. จะเลือกข้างไหน คสช. หรือ เพื่อไทย

“หากพรรคประชาธิปัตย์เลือกไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย คาดว่าคะแนนเสียงอาจจะได้เกิน ๓๐๐ ถึง ๓๕๐ เสียง แม้พล.อ.ประยุทธ์จะมี ส.ว. ๒๕๐ เสียง และ ส.ส. ๑๕๐ เสียง รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของสภา”

การนี้หมายความว่า “พรรคเพื่อไทยสามารถทำจำนวน ส.ส.สัดส่วน และ ส.ส.เขตได้มากกว่า ๒๓๐ เสียง” เมื่อรวมกับเครือข่ายแล้วจะได้เกิน ๒๕๐ เสียง และถึง ๓๐๐ เสียง

แถมพรรคปลาซิวปลาสร้อยรอเสียบร่วมรัฐบาลอีก จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ คนนอก จะเป็นได้แต่นายกฯ คนใน

หมอระวีชี้ช่องอีกว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างสูง ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้พรรคเพื่อไทยจะยินยอมให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี” ไหม

“โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดพรรคทหารก่อน ปล่อยให้ ปชป.เป็นนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทยก็จะร่วมรัฐบาลไปก่อน”


อันนี้ไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะยินดีให้พรรคเสียงข้างน้อยไปเป็นนายกฯ เหมือนสมัยที่คึกฤทธิ์ ปราโมช นำพรรคกิจสังคมไปเป็นหัวหน้ารัฐบาล ยุทธศาสตร์เบื้องต้นของพรรคเพื่อไทยที่เห็นพูดๆ กันในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา แย้มว่ายินดีเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง

ส่วนยุทธศาสตร์ของประชาธิปัตย์ เท่าที่แสดงออกผ่านหัวหน้าพรรค ยืนหยัดจะเอาชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากให้ได้สักทีในรอบกว่า ๔๐ ปี และประกาศกันไว้แล้วลั่น ไม่ขอสังฆกรรมกับเพื่อไทย (ตราบเท่าที่ยังมีกลิ่นอายของทักษิณ)

ฉะนั้น ความฝันอันสูงสุดของ ปชป. คราวนี้มีแต่ รอร่วมหอลงโรงกับพรรค คสช. หัวหน้าพรรคได้ตำแหน่งรองนายกฯ กับอีกบางกระทรวงที่ทำงานด้วยปากได้ง่ายๆ หรืออาจได้กระทรวงมหาดไทยเพื่อผลักดันนโยบายกระจายอำนาจอย่างที่ น.ส.รัชดา ตั้งเป้า

ปัญหาอยู่ที่ ปชป.จะสามารถตีฝ่าปราการของพวกนักการเมือง งูเห่าที่รู้ว่าเขาดูดก็ยินดีให้ดูดได้หรือเปล่า ยิ่งพวกนี้กำลังจะได้ซี้ปึกกับพวกลิ่วล้อ คสช. สายกูรูเศรษฐกิจทำเงินจากงบประมาณเสียอีก

ปชป.อาจได้ดีแค่เป็นเมียน้อย แต่พ่อยอดชายแอบไปนอนกับกิ๊กประจำ