วันจันทร์, พฤษภาคม 14, 2561

โพลนิด้าสับสน บิ๊กตุ่นนายกฯ แต่อยากให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล



อ่านโพลวานนี้ (๑๓ พ.ค.) ดูเหมือนคนตอบคำถามนิด้าจะสับสนกระไรอยู่นะ เหมือนกับที่ ๔๑ เปอร์เซ็นต์ยังงง ไม่รู้ว่าโครงการเก๋ไก๋ ไทยนิยม ยั่งยืน ของ คสช. ตั้งมาทำไร

จาก ๑,๒๕๐ คำตอบ เรื่องอยากได้ใครมาเป็นรัฐบาลต่อไป (ในสถานการณ์เลือกตั้ง) กว่าครึ่ง ร้อยละ ๕๗.๕๒ ต้องการพรรคการเมืองใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ขณะที่อีก ๓๗.๓๖ เปอร์เซ็นต์ยังชอบพรรคเก่าๆ นัยว่าเพราะคุ้นกันดี เคยเห็นมีผลงาน

แต่แล้วพรรคใหม่ๆ ที่ว่าอยากได้นั่นอาจเป็นพรรคลูกไล่และพรรคลิ่วล้อ คสช. ก็ได้ เพราะเมื่อถามถึงตัวบุคคลอยากได้ใครเป็นนายกฯ คนต่อไป คำตอบจำนวนมากที่สุด ๓๒.๒๔% มอบให้พระเอกวิก คสช. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาวิน
 
อันดับสองเป็นของพรรคเพื่อไทย หญิงหน่อยสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่รู้ว่าเพราะเธอเพิ่งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางด้านพุทธศาสนาหรือเปล่านะ เชือดเฉือนนักประชาธิปไตย ‘Born-Again’ (อดีตไม่เอาเลือกตั้ง สนับสนุนรัฐประหาร และรอส้มหล่น) จากพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปได้ไม่กี่จุด (๑๗ ต่อ ๑๔ เปอร์เซ็นต์)

ผลโพลอันนี้น่าสนใจตรงที่ “คนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ พรรคการเมืองใหม่ๆ” จริงๆ อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนหลักสิบ “ไล่บี้มาติดๆ” สำหรับตำแหน่งนายกฯ แต่แล้วกลับพลิกผันเมื่อมาถึงคำถามว่าอยากได้พรรคไหนจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด

หวยไปออกที่ ของตายเต็งหนึ่งว่าจะได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด (แต่ชวดตำแหน่งนายกฯ ไม่มีหวังแม้กระทั่งเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล) คือพรรคเพื่อไทย ได้แต้มร้อยละ ๓๒ และที่ตามมาแบบ ห้อยๆอันดับสองเป็นของพรรคสนับสนุนบิ๊กตุ่นเป็นนายกฯ คือกลุ่ม พลังประชารัฐ


ก็เลยถึงบางอ้อว่าโพลนิด้าครั้งนี้เกาะกระแสการเมืองแบบใหม่ๆ ไม่จริงจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ยังคงติดยึดกับการเมืองอย่างเก่าๆ ทั้งพรรคการเมืองและตัวบุคคล

มิฉะนั้นถ้ามองในแง่ดี ไม่มีเจตนาร้าย ก็เพียงเพราะยังสับสนกันว่าการเมืองของประเทศจะไปอย่างไรกันแน่ เดินหน้า ถอยหลัง ละล้าละลัง หรือนั่งงง เหมือนไก่ตาแตก

งงแบบที่โพลนิด้าอีกเหมือนกัน ก่อนหน้านี้หนึ่งวันบอก ๔๑.๔๖% “เคยได้ยินชื่อโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน มาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าทำอะไร” ยังดีที่ในหมู่ผู้ตอบคำถาม ๒,๐๕๐ รายรู้จักโครงการนี้ของ คสช. ไม่น้อยกว่ากันมากนัก ๓๗.๘๑%

แต่ก็ไม่วายทำให้สับสนอีกหน เมื่อโพลเหมือนจะย้อนแย้งในตัว ที่มีคะแนนสำรวจ ความเข้าใจของผู้ถูกซักถามต่อ หลักการหรือแนวคิด ของโครงการไทยนิยมฯ ไว้ด้วย

ทั้งนี้ระบุว่าตั้ง ๔๐.๓๙%ค่อนข้างมีความคาดหวังต่อผลการดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ว่าจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”


ตีความโดยรวมได้ว่าเรื่องไทยนิยมยั่งยืนของ คสช.นี้ ทั้งๆ ที่คน ๔๑% ไม่รู้ว่าเป็นโครงการที่ใช้ทำอะไร คนจำนวนพอๆ กัน ๔๐% ก็ยังให้ความคาดหวังอย่างดีแก่โครงการ

ประเด็นย้อนแย้งอยู่ที่ ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งปกติหาก ไม่รู้ ก็ไม่น่าจะมีความเห็น หรือมิพักที่จะ ให้ ความเห็นกับสิ่งที่ตนไม่รู้ ฤๅ ผู้ตอบคำถามของนิด้ามีคุณธรรมพิเศษ ยอมรับในสิ่งที่เขาประทานมาให้โดยศิโรราบ แม้ไม่รู้ก็ยังหวังดี ชมชื่นไว้ก่อน