วันพุธ, พฤษภาคม 02, 2561

ชำนาญ จันทร์เรือง ชี้ถ้ายกเลิกราชการบริหารส่วนภูมิภาคได้ "ท้องถิ่นเข้มแข็ง ชาติก็เข้มแข็ง"

จะกระจายอำนาจต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ชำนาญ จันทร์เรือง

เรื่องของการกระจายอำนาจได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อเปิดให้มีการจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่และให้ยืนยันสถานภาพของสมาชิกพรรคเดิม ที่เรียกกันในคำอังกฤษว่า ‘update’ หรือบางพรรคใช้คำว่า ‘reset’

และแน่นอนว่าทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าต่างก็พูดถึงการกระจายอำนาจกันเกือบทั้งสิ้น เพราะเรื่องของการกระจายอำนาจนั้นถือได้ว่าเป็นวาระร่วมที่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งต้องทำ แต่เมื่อไปดูในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรแล้ว พบว่าน้อยรายพูดถึงปัญหา การคงอยู่ของราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระจายอำนาจ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่าการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นของไทย นั้นเราหมายความถึงอะไร

ราชการส่วนกลาง
หมายถึงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อันมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทั้งหลายเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละกระทรวง ซึ่งรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะเป็นกระทรวงหนึ่ง แต่ไม่เรียกว่ากระทรวงเท่านั้นเอง และมีนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ

ราชการส่วนภูมิภาค
หมายถึงจังหวัดและอำเภอ ซึ่งเป็นการแบ่งอำนาจของราชการส่วนกลางบางส่วนลงไปในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในจังหวัด กับมีนายอำเภอซึ่งสังกัดกรมการปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในอำเภอ

ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจเฉพาะเพียงที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลาง และตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ประการสำคัญทั้งจังหวัดและอำเภอไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองแต่อย่างใด ต้องอาศัยการจัดสรรจากราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่

การบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้นเป็นการนำหลักแบ่งอำนาจมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยที่จริงแล้วหลักการแบ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหลักการรวมอำนาจปกครอง เพียงแต่ขยายไปยังราชการส่วนภูมิภาค โดยมีหลักการสำคัญ คือ

1) ใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง
2) บริหารโดยใช้งบประมาณจากส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติ
3) บริหารงานภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง

ราชการส่วนท้องถิ่น
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลแยกอิสระออกจากการบริหารราชการส่วนกลาง ทำให้มีสิทธิและอำนาจในการทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆ ตลอดจนเป็นเจ้าของหรือถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น

ทั้งนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่นเอง มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งของไทยเรามี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบทั่วไปได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กับรูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

เหตุใดจึงต้องยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านการเมืองและการปกครองเพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ไว้วางใจประชาชนในท้องถิ่น
2) เกิดความล่าช้า เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน
3) ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อท้องถิ่น เพราะถูกบริหารจัดการจากเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่น ในบางจังหวัดปีเดียวมีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอตั้ง ๒-๓ หน

เมื่อยกเลิกจังหวัดที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค เปลี่ยนเป็นราชการส่วนท้องถิ่นหรือจังหวัดจัดการตนเองแล้ว จังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำอะไร

อำนาจหน้าที่ของจังหวัดจัดการตนเอง มีดังนี้
(1) กิจการตำรวจ บริหารงานโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ
(2) การควบคุมดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางผังเมือง ถนนทางหลวง แม่น้ำ เคหะชุมชน
(3) บริหารจัดการโรงเรียนมัธยมปลาย การจัดสรรเงินเดือนและสวัสดิการของครู
(4) สวัสดิการสังคม ได้แก่ สวัสดิการเด็ก สวัสดิการผู้สูงอายุ
(5) การสาธารณสุขและอนามัย
(6) การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เช่น การสร้างศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการตนเอง มีดังนี้
(1) บริหารงานของจังหวัดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
(2) เสนอร่างกฎหมายต่างๆเพื่อให้สภาจังหวัดพิจารณา
(3) เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สภาจังหวัดอนุมัติ และบริหารงบประมาณตามที่ได้รับการอนุมัติอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่างๆ
(5) ควบคุมดูแลบัญชีการเงิน
(6) อนุมัติสัญญา จัดตั้ง บริหารกิจการสาธารณะและยุบเลิกกิจการสาธารณะ
(7) แต่งตั้งและปลดรองผู้ว่าราชการจังหวัด
(8) แต่งตั้งและบริหารเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น
(9)  อำนาจในการยุบสภาจังหวัด
(10) อำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลกลางเพื่อดำเนินกิจการบางอย่างแทนให้สำเร็จลุล่วงตามกฎระเบียบและแนวทางที่รัฐบาลกลางวางไว้

จะเห็นได้ว่าเมื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้ว จังหวัดจัดการตนเองซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่แทน ขั้นตอนต่างๆ ก็จะลดสั้นลง จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ด้วยด้วยตนเอง โดยให้ราชการส่วนกลางทำหน้าที่ในเรื่องสำคัญๆ เท่านั้น เช่น การทหาร การต่างประเทศ การเงินการคลังระดับชาติ และการศาล

เมื่อขั้นตอนสั้นลง ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น ประสิทธิภาพย่อมมากขึ้น และเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ชาติก็เข้มแข็ง หากปล่อยให้ท้องถิ่นอ่อนแอหรือหวงอำนาจอยู่อย่างนี้ จึงไม่มีทางที่ชาติจะเข้มแข็งได้อย่างแน่นอน
--------


หมายเหตุ ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 2 เมษายน 2561