วันอาทิตย์, มกราคม 07, 2561

ยุทธวิธีรื้อถอนทำลาย ระบบกึ่งอำนาจนิยมภายใต้ทหาร :หมอเลี้ยบแนะไว้เป็นนัย

ใครได้อ่านบทความของ 'หมอเลี้ยบ' อดีตรัฐมนตรีเทคโนโลยี่สารสนเทศ คลัง รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคพลังประชาชน อาจรู้สึกเพียงว่านั่นเป็นยุทธศาสตร์พรรคการเมืองรับมือการเลือกตั้งที่หวังว่าจะมาถึงในอีกราวเกือบปีหรือกว่านั้น ที่เฉียบคมและล้ำหน้า

หากแต่เมื่อถึงตอนลงท้าย มันเป็นคำชักชวนที่ยิ่งกว่ายุทธศาสตร์ มันเป็นยุทธวิธีตีหักด่านปราการ กึ่งเผด็จการทหาร ที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายลูกต่างๆ และการวางยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี กับแผนการปฏิรูปประเทศของ คสช. ต่อไปอีกนานยิ่งกว่าอายุขัยของเหล่าหัวหน้ารัฐประหารชุดนี้ก็ได้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เขียนในตอนท้ายบทความของเขาว่า "ไม่มีใครรู้ว่า คนที่เคยไปเลือกตั้งเมื่อ ๗ ปีที่แล้วยังคิดเหมือนเดิมไหม" เขาหมายถึงการเลือกตั้งกลางปี ๒๕๕๔ ที่ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส.กว่าครึ่ง ๒๖๕ ที่นั่งจาก ๕๐๐ ที่นั่ง และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

"และคนที่อายุ ๑๑-๑๗ ปีที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเมื่อ ๗ ปีที่แล้วอีกหลายล้านคน คิดอย่างไรกับอนาคตของเขาเมื่อไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง" ครั้งหน้านี้

"แต่ผมรู้แน่ว่าแนวทาง วิธีคิด วิธีบริหารจัดการ เป๊ะๆ อย่างที่พรรคไทยรักไทยเคยเริ่มไว้เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว และพรรคการเมืองอื่นทำตามอย่าง ไม่เพียงพอแล้วในวันนี้ วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก"

หมอเลี้ยบผู้เป็นหนึ่งในทีมงานของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ผลักดันโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคให้ประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลก เหมือนจะวางยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทยเมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว

"พรรคการเมืองต้องมี Platform ของการจัดการแบบใหม่ที่ใช้ศักยภาพของ Social Network ได้เต็มที่ในทุกระดับ ทั้งกระบวนการจัดการภายใน การทำนโยบาย การรณรงค์หาเสียง และการระดมทุน" เหมือนว่าเขาเพียง 'แนะ'

แต่ประโยคสุดท้ายนี่สิ มันร้อนแรงและเร่งเร้า ยิ่งนัก "วันนี้ผมเชื่อว่า พรรคการเมืองต้อง Disrupt or Die"

(https://www.facebook.com/surapongofficial/posts/1224577817642373)

'Disrupt' ในที่นี้หมายถึง "รื้อถอน" หรือ "ทำลาย" โครงสร้างทางการเมืองของอำนาจรัฐประหาร ที่ "ผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ จะเปลี่ยนระบบนิเวศของการเลือกตั้งไปมากขนาดไหน"
ซึ่ง อจ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ วิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดในการให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ 'ประชาชาติธุรกิจ' ตีพิมพ์เมื่อวันปีใหม่

"ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน...ระบอบเลือกตั้งถูกทำให้เจือจาง...มีระบบการแข่งขันของพรรคการเมืองกึ่งเสรี เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรม...เป็นระบอบที่อยู่ในสภาวะกึ่งกลางของระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย"

เธอเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า "hybrid" ซึ่งก็คือ "๑.รัฐบาลเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจเด็ดขาด เพราะมีทั้งกติกาที่กำกับ เช่น มาตรฐานจริยธรรม ยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ๒.มีอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งครอบงำ"

(https://www.prachachat.net/politics/news-95113)

นอกจากนั้น อจ.สิริพรรณยังพูดถึงกับดักต่างๆ ตั้งแต่เรื่องทำไพรมารี่เลือกผู้สมัคร อำนาจ กกต.ให้ใบส้มได้ทั้งปี กรรมการบริหารพรรคมีสิทธิถูกสั่งออกทั้งชุด แถมด้วยมาตรฐานจริยธรรมที่อาจถูกจับแพ้ฟาวล์ง่ายๆ และกรอบยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี กำกับการหาเสียงทุกกระเบียดนิ้ว

ล้วนเป็นกับดักที่ทำให้พรรคอันดับหนึ่งไม่อาจจัดตั้งรัฐบาล แต่กระนั้นพรรคเล็กพรรคน้อยที่จะคอยหนุนนายกฯ คนนอก ก็ยังมีเพียงเสียงปริ่มๆ รวมกับพรรคทหารถาวรในวุฒิสภา ๒๕๐ คนแล้วจะได้เพียงราว ๓๕๐ เสียง ไม่พอเป็นข้างมากโหวตเลือกนายกฯ ๓๗๕ เสียง

แต่กระนั้น อจ.สิริพรรณ ชี้ว่าเท่าที่เป็นมาสองพรรคใหญ่ (เพื่อไทยและประชาธิปัตย์) มักได้คะแนนเสียงรวมกันประมาณ ๗๘ เปอร์เซ็นต์ คราวหน้าอาจลดหย่อนไปหน่อยแต่ไม่น้อยกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์

สองพรรคนี่จะรวมหัวกันสกัดกั้นนายกฯ คนนอกได้ไหม น่าจะยากยิ่ง ใครจะยอมให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นนายกฯ มันเปิดช่องตาอยู่เข้ามากินพุงปลาอ้าซ่าอยู่แล้ว

ไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง จะมีโอกาสร่วมตั้งรัฐบาลโดยทหารอีกครั้ง ไอ้ที่พูดๆ กันตอนนี้ว่าเพิ่งเห็นสัจจธรรมที่โดน คสช.ปลิ้นปล้อนนั้น ถึงวันจะตั้งรัฐบาลได้รู้กัน ว่าทีมงานอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตระบัดเก่งแค่ไหน

ยุทธวิธีให้พรรคการเมือง (โดยเฉพาะเพื่อไทย) ล้มล้างวัฒนธรรมการเมืองที่ คสช. สร้างขึ้นมาให้คนที่อยากเลือกตั้งจึงได้ 'อยู่เป็น' มาสามสี่ปี ต่อนี้ไปจะ 'เล่นตาม' เกมที่ คสช.กำหนด หันมาฉุกคิดใหม่ว่าจะยินดีทนกันไปอย่างนี้อีกสี่ซ้าห้าปีละหรือ

รู้ทั้งรู้ว่าเลือกแล้วไม่ได้รัฐบาลอย่างที่วาดหวังค่อนข้างแน่ ไฉนไม่ 'ปฏิวัติ' ระบบกึ่งอำนาจนิยมภายใต้ทหาร ร่วมกันปฏิเสธนายกฯ คนนอกอย่างหัวชนฝา เพื่อที่จะได้แก้ปมกุมอำนาจที่ คสช.วางไว้ ต่อไป