วันอาทิตย์, มกราคม 07, 2561

สัญญาณเตือนในเรื่อง "กองหนุน" จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้มาจากการเสกสรรปั้นแต่ง... มาจากความจริง






กรองกระแส / ลักษณะทางยุทธวิธี ของ ป๋าเปรม ติณสูลานนท์ ผลในทางยุทธศาสตร์


มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 5 - 11 มกราคม 2561


กรองกระแส

ลักษณะทางยุทธวิธี
ของ ป๋าเปรม ติณสูลานนท์
ผลในทางยุทธศาสตร์


หากไม่มองจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะไม่เข้าใจคำเตือนว่าด้วย “กองหนุน” จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เพราะว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2549 มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะว่าแผนบันได 4 ขั้นของ คมช. จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ต้องการให้พรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการบริหารประเทศต่อจากพรรคไทยรักไทย
แต่จุดต่างอย่างสำคัญที่ปรากฏผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ คสช. เข้าบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง
ไม่เพียงจะยืนยันการคืนความสุขในเวลา 4 ปีหรือ 1 สมัย ตรงกันข้าม กระบวนการของรัฐธรรมนูญ กระบวนการต่อเนื่องจากประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแสดงออกอย่างเด่นชัดว่าต้องการจะอยู่ในอำนาจอีกต่อไปไม่เพียงแต่ 1 สมัย
หากแต่แสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ผ่าน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
หลังจาก คสช. บริหารราชการแผ่นดินมา 3 ปีและกำลังย่างเข้าปีที่ 4 จึงมีการส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า “กองทุน” เริ่มถดถอย น้อยลง
เป็นการเตือนทาง “ยุทธวิธี” แต่มีผลสะเทือนทาง “ยุทธศาสตร์”

กองหนุนถดถอย
มาจากความจริง

ต้องยอมรับว่า สัญญาณเตือนในเรื่อง “กองหนุน” อันมาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้มาจากการเสกสรรปั้นแต่ง หากแต่มาจากความเป็นจริง
ทั้งมิได้เป็นความเป็นจริงในปัจจุบัน
ตรงกันข้าม หากดูกระบวนการปรับ ครม. เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งมีการเอา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะออก แล้วแทนที่โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคณะเข้าแทนที่
นั่นไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ หากที่สำคัญเป็นอย่างมากเท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า คสช. ได้ตัด “กองหนุน” ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ร่วมขับเคลื่อนในการปูทางสร้างเงื่อนไขให้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารออกไป
และยิ่งมาประสบกับการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเนื่องจากไม่พอใจที่มีการใช้มาตรา 44 อย่างหักหาญอันนำไปสู่การปรับ ครม. ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2560 ยิ่งทำให้บรรดา “กองหนุน” ต้องปรับเปลี่ยนกันอย่างขนานใหญ่
ทำไมบุคคลที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองระดับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะมองไม่ออกว่าสภาพของ คสช. และบรรดา “กองหนุน” เป็นอย่างไร
เพราะก่อนปรับ ครม. กระแสไม่ต้องการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังอึกทึกอย่างยิ่ง

ปมเงื่อนปัญหา
อยู่ที่ต่อท่ออำนาจ

ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 57/2557 ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เพื่อปรับแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ล้วนสะท้อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ออกมาอย่างแจ่มชัด
นอกเหนือไปจากการวาง “โรดแม็ป” เอาไว้อย่างรอบด้านผ่าน “รัฐธรรมนูญ”
แม้บทเพลงที่กระหึ่มหลังรัฐประหารจะเน้นบางท่อนว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ในการคืนความสุขให้กับประชาชน แต่เวลากว่า 3 ปีเด่นชัดอย่างยิ่งว่า แท้จริงแล้ว สัญญาที่ว่านั้นคือสัญญาณที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป
บนเจตจำนงที่ไม่อยากให้รัฐประหาร “เสียของ” เหมือนที่เข้าใจและรู้สึกว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทำไม่สำเร็จ
เพียงแต่ว่าในยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจนี้แม้ว่าเป้าหมายด้านหลักและในเบื้องต้น คือการโค่นล้ม ทำลาย ไทยรักไทย พลังประชาชนและรวมถึงเพื่อไทย ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่เมื่ออยู่ยาวอยู่นาน กรอบแห่งปฏิบัติการก็ขยายไปยังบรรดา “กองหนุน” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้พ้น
กระแสคัดค้าน ต่อต้าน การดำรงอยู่และสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงกระหึ่มขึ้นและหนาแน่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะที่มาจาก “กองหนุน” เดิม
เสียงเตือนจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงได้เกิดขึ้น

ลักษณะยุทธวิธี
สะเทือนยุทธศาสตร์

หากดูจากสถานะและความเป็นจริงของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คำเตือนนี้สัมพันธ์กับบทสรุปของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 อย่างแนบแน่น
นั่นก็คือ การเปล่งคำว่า “ผมพอแล้ว”
เพียงแต่ครั้งนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้เตือนอย่างชนิดตีกลางแสกหน้า หากแต่ดำเนินไปในความห่วงหาอาทร โดยเอาบทเรียนของตนมาเสนอให้ทหารรุ่นหลังได้พิจารณา
คำเตือนนี้อาจมีลักษณะในทาง “ยุทธวิธี” แต่ส่งผลสะเทือนด้าน “ยุทธศาสตร์”
เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ 1 ไปยัง คสช. และ 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ “กองหนุน” ที่เคยมีส่วนทำให้ คสช. ประสบความสำเร็จในการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เหมือนกับเป็นการบอกว่าถึงเวลา “นับถอยหลัง” ในทางการเมือง