วันจันทร์, มิถุนายน 05, 2560

เรียนรู้จากอินโดนีเซีย... ตัวแบบการนำทหารกลับเข้ากรมกอง ประชาไทสัมภาษณ์ อรอนงค์ ทิพย์พิมล (2013)





สัมภาษณ์ อรอนงค์ ทิพย์พิมล : สภาปฎิรูปอินโดฯ ตัวแบบการนำทหารกลับเข้ากรมกอง


Thu, 2013-09-12 19:43
ที่มา ประชาไท

เทวฤทธิ์ มณีฉาย สัมภาษณ์

ในเดือน ก.ย. นี้ จะครบรอบ 7 ปี ของการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ในไทย ที่เป็นการเปิดฉากการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหารอย่างเป็นทางการ หลังจากเหตุการณ์ พฤษภา 35 ที่ด็ราวกับว่าทหารถูกทำให้กลับเข้ากรม กองไปแล้ว ปัจจุบันแม้จะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน กลับไม่มีการจัดระเบียบบทบาทของกองทัพ ทาทางตรงกันข้ามคือมีการเพิ่มงบประมาณทหารอย่าต่อเนื่อง อีกทั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการตั้งสภาปฏิรูปขึ้นมา แต่ไม่มีข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพอย่างชัดเจน ด้วยเหตุที่เดือนนี้จะครบรอบ 7 ปีการรัฐประหาร และเป็นช่วงที่มีกระแสการปฏิรูปการเมือง ประชาไทจึงชวนมาคุยกับ อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชียวชาญการเมืองอินโดนีเซีย ในฐานะที่เป็นประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทย มีประวัติศาสตร์ที่กองทัพมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก เพื่อศึกษาตัวแบบที่ประเทศนี้ใช้ในการปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปกองทัพของอินโดฯ

ประชาไท : แล้วมันนำมาสู่การลดบทบาทกองทัพได้อย่างไรในอินโดนีเซีย

อรอนงค์ : ปัจจุบันแม้กองทัพจะมีอำนาจอยู่ แต่ก็ไม่เท่าเดิม ตอนซูฮาร์โตขึ้นมานั้นกองทัพมีอำนาจสูงมาก และมีบบาทในทุกเรื่อง รวมถึงการเข้าไปปราบกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ เช่น ที่อาเจะห์ ที่อิเรียนจายา หลายที่ที่ทีความรุนแรงกองทัพจะเข้าไปปราบปราม จนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงมาก อย่างที่ติมอร์กองทัพก็เข้าไปปราบปรามชาวติมอร์ที่ต้องการเรียกร้องเอกราช

จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้ซูฮาร์โตหมดอำนาจ กลุ่มต่างๆจึงเข้ามาร่วมกันปฏิรูป และหนึ่งในประเด็นที่คนเรียกร้องคือการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องแรกๆของการปฏิรูปเลย เพราะมองว่ากองทัพนั้นมีปัญหา การดำรงอยู่ในแบบเดิมของกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้อีกแล้ว จึงต้องมีการปฏิรูป เมื่อซูฮาร์โตลาออกจึงเกิดการปฎิรูป

ทำไมคนอินโดฯ ถึงคิดว่าต้องปฏิรูปกองทัพ ทั้งที่ก่อนหน้าคนก็มองว่ากองทัพเป็นความจำเป็นของชาติ เป็นผู้มีพระคุณต่อชาติ โดยเฉพาะเป็นผู้มีบทบาทในการสถาปนาความเป็นเอกราชของชาติ รวมไปถึงรวมชาติอินโดฯ

เพราะ 32 ปี ที่ซูฮาร์โตอยู่ในอำนาจนั้น กองทัพทำเกินไป มันไม่ใช่แค่หน้าที่ปกป้องประเทศ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนเท่านั้น มันไม่ใช่แล้ว เพราะเข้าไปมีบทบาทในด้านต่างๆ ทุกด้าน มีการทุจริต มีการเข้าไปมีบทบาทในสภาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง คนก็รับไม่ได้โดยเฉพาะนักศึกษาที่เป็นหัวหอกของการต่อต้าน แต่ก็มีการปราบปรามนักศึกษาและผู้ต่อต้าน แต่ช่วงนั้นในช่วงทศวรรษ 1990 กองทัพก็เริ่มมีการแตกแยกทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มี ซึ่งคิดว่านี่น่าจะเป็นด้วยเรื่องวัยด้วย จากการที่ซูฮาร์โตที่เป็นคนแต่งตั้งผู้นำทหารเอง



ซูฮาร์โต ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย


เมื่อเข้าสู่ยุค 1990 เป็นต้นมาซูฮาร์โตเริ่มแก่แล้ว แม้ว่าซูฮาร์โตจะยังคงแต่งตั้งผู้นำทหารด้วยตนเอง แต่ทหารรุ่นเดียวกับซูฮาร์โตนั้นเริ่มเกษียณ เริ่มตายแล้วด้วย เพราะซูฮาร์โตอยู่นาน ทหารรุ่นใหม่ที่ขึ้นมานั้นไม่ได้ร่วมสมัยกับซูฮาร์โตแล้ว ความใกล้ชิด ความภักดีซื่อสัตย์ต่อซูฮาร์โตก็จะไม่เท่ากับทหารรุ่นเก่า เริ่มมีทหารที่รู้สึกว่าการที่กองทัพมีบทบาทแบบที่เป็นอยู่นั้นมันไม่โอเค มีทหารแบบซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เริ่มมีอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนซูฮาร์โตแล้ว เริ่มคิดว่าต้องมีการปฏิรูปกองทัพ และด้วยกระแสสังคมที่ต้องการปฏิรูป ซึ่งกองทัพเป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมต้อการปฏิรูป มีการแก้กฏหมายและรัฐธรรมนูญด้วยทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้น

การสิ้นสุดสงครามเย็น การลดบทบาทของคอมมิวนิสต์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้คนมองว่าบทบาทกองทัพที่เป็นอยู่ไม่มีความจำเป็นด้วยหรือไม่

คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียนั้นไม่ได้เป็นประเด็นเลย เพราะตอนที่ซูฮาร์โตขึ้นสู่อำนาจนั้น คอมมิวนิสต์ถูกปราบจนสิ้นซากไปแล้ว และมีการโฆษณาชวนเชื่อตลอดยุคสมัยของซูฮาร์โตว่าคอมมืวนิสต์เลวร้าย และคอมมิวนิสต์ก็ไม่เคยได้กลับมาเป็นภัยต่อระบอบของซูฮาร์โตได้อีกเนื่องจากถูกปราบไปหมดแล้ว แต่ก็มีการสร้างความทรงจำว่ามันเลวร้าย ห้ามมีการพูดถึงคอมมิวนิสต์หรือสอนทฤษฎีคอมมิวนิสต์ในมหาวิทยาลัย

รวมทั้งตอนที่ซูฮาร์โตจะลาออกนั้น อเมริกาก็ทิ้งซูฮาร์โตแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นมิตรกันมาก จะฆ่าคอมมิวนิสต์ก็ไม่ผิดไม่มีการออกมาประณาม กลับสนับสนุนด้วยซ้ำ จะฆ่าคนที่ติมอร์ตะวันออกก็ไม่ว่าอะไร ขอให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นมิตรในการต่อต้านการขยายตัวของภัยคอมมิวนิสต์ร่วมกัน

ตอนที่ซูฮาร์โตลงจากอำนาจปี 1998 ตอนนั้นเกิดวิกฤติวุ่นวายหมดแล้ว มีนักศึกษา 4 คนถูกทหารยิงเสียชีวิต เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่โต เพราะนักศึกษาประท้วง โดยก่อนหน้านั้นซูฮาร์โตออกกฏหมายหลายอย่างที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพ หนึ่งในนั้นคือนักศึกษาจะชุมนุมนั้นสามารถทำได้ แต่ห้ามออกไปชุมนุมนอกมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยตรีศักติรู้สึกว่าการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยมันไม่เกิดผลเท่าไหร่จึงตัดสินใจเดินออกนอกมหาวิทยาลัยไปรัฐสภาเพราะอยู่ไม่ไกลกัน ขณะที่เดินออกจากมหาวิทยาลัยนั้นก็ถูกทหารสกัด พวกเขาจึงเดินกลับเข้ามหาวิทยาลัย แต่ขณะที่กำลังเดินกลับจะเข้ามหาวิทยาลัยนั้นก็มีกลุ่มกองกำลังยิงเข้าไปในฝูงนักศึกษา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าคนที่สั่งการกลุ่มที่ยิงเข้าไปนั้นอยู่ภายใต้การบัญชาการของพันเอกปราโบโว ซูเบียนโต (ยศในขณะนั้น) ลูกเขยของซูฮาร์โต แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการสอบสวนว่าใครเป็นคนทำ แต่เหตุการณ์นี้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์มันระเบิดและเกิดการจลาจลทั่วประเทศ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1997 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศอินโดนีเซีย เริ่มมีการโจมตีคนจีน เริ่มมีการทำร้าย ปล้นข้าวของในร้านค้า และซูฮาร์โตก็พยายามดิ้นโดยการที่จะพยายามปฏิรูปโดยการเอาคนที่ดีๆเก่งๆเข้ามาทำงาน มีการเรียกคนเข้าไปคุยเยอะมาก แต่ทุกคนไม่เอาด้วย แม้แต่กองทัพที่เป็นเหมือนคู่ใจมาตลอดก็ไม่เอา

เป็นเพราะผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วเกิดชนชั้นกลาง มีคนกลุ่มใหม่ๆที่เกิดขึ้นมามากขึ้น จึงทำให้ไม่ยอมรับและออกมาเคลื่อนไหวต้านอำนาจนิยมมากขึ้นหรือไม่


แม้ชนชั้นกลางจะเกิดมากขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กลับเข้าใจว่าชนชั้นกลางในอินโดนีเซียก็บ่มีไก๊เหมือนชนชั้นกลางในไทย เพราะพวกเขาได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย เขาไม่ได้กระทบมาก แต่ปี 1997 – 1998 นั้นกระทบมากหน่อย แต่ก่อนหน้านั้นก็สามารถอยู่ได้ดีกับยุคระเบียบใหม่ได้ เพราะได้ผลประโยชน์ไปด้วย แต่เมื่อปี 1997 มันกระทบหนักจนเกิดคลื่นความไม่พอใจขึ้นมา

แม้จะมีความไม่พอในในการผูกขาดธุรกิจของกลุ่มทุนกองทัพ แต่ก็ไม่ถือว่ามีอิทธิพลเยอะ แต่นักศึกษามีอิทธิพลเยอะมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่กองทัพที่เป็นผู้ที่ถูกยกว่าเป็นผู้ให้กำเนิดประเทศ นักศึกษาก็มองว่าพวกตนเองก็มีส่วนให้กำเนิดประเทศด้วย นักศึกษาอินโดนีเซีย มีวัฒนธรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้ว มีการถูกส่งเข้าไปเรียนที่ฮอลันดา เข้าไปตั้งคำถาม เข้าไปคิดเรื่องประเทศอินโดนีเซีย แล้วกลุ่มเหล่านี้ก็กลับมาจัดตั้งขบวนการหลายอย่างขึ้นมา เขาก็ถือว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การให้กำเนิดประเทศเช่นกัน เพระฉะนั้นนักศึกษาจะออกมาเป็นกลุ่มแรกๆที่ตั้งคำถามและประท้วงรัฐบาล ถ้าเทียบแล้วขบวนการนักศึกษาในอินโดนีเซีย นั้น ถือว่ากระตือรือร้นมากเมื่อเทียบกับนักศึกษาทั่วโลก

เมื่อถูกบีบจากทุกกลุ่ม แม้แต่ทหารก็ไม่เอา มันมีเหตุการณที่ทำให้เชื่อได้เช่นนั้นเพราะว่าเมื่อนักศึกษาถูกยิงเสียชีวิตไป 4 คนแล้วก็เกิดการลุกฮือขึ้นมา นักศึกษาทั้งจาการ์ตาก็เคลื่อนออกมาหมดเลยจะไปยึดอาคารรัฐสภา หากทหารจะไม่ให้เคลื่อนมานั้นก็สามารถทำได้ แต่ทหารปล่อยจนทำให้ยึดสภาได้ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าทหารทิ้งซูฮาร์โตแล้ว สุดท้ายซูฮาร์โตจึงจำใจที่ต้องแถลงลาออก แต่ก็ลาออกแบบมีเงื่อนไข เพราะให้ฮาบิบีซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน ซึ่งก็สำเร็จอย่างน้อยทำให้กลุ่มที่ต่อต้านงงว่าจะเอาอย่างไรดี แม้จะมีกลุ่มที่มองว่าเอาฮาบิบีขึ้นมาก็ไม่ได้ต่างอะไรก็ยังเป็นเศษซากของยุคระเบียบใหม่อยู่ดี กลับบางกลุ่มที่คิดว่าภารกิจสำเร็จแล้วเพราะจุดมุ่งหมายคือโค่นล้มซูฮาร์โต เมื่อซูฮาร์โตลาออกแล้วนั่นหมายความว่าสำเร็จแล้ว

กระบวนการในการลดอำนาจของกองทัพอินโดฯ นั้นมีกระบวนการอย่างไร

มีกระบวนการที่เริ่มจากภายในกองทัพก่อน มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลังจากที่ซูฮาร์โตลงจากอำนาจไปแล้ว เนื่องจากกระแสสังคมที่บีบบวกกับคนข้างในกองทัพที่มีใจปฏิรูป เนื่องจากภาพลักษณ์เสียหาย คนไม่ชอบทหาร โดยคณะกรรมการปฏิรูปนี้รัฐบาลหลังจากซูฮาร์โตเป็นคนที่ดำเนินการจัดตั้งขึ้นมา แต่เวลานาน ต้องมีการผ่านมติที่ประชุม ส.ส. ก่อนจนนำมาสู่จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา

คณะกรรมการลดบทบาททหาร

ประการแรก สิ่งทีก่อให้เกิดการปฏิรูปบทบาทกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมคือ การออกกฎหมายโดยสภา ฉบับที่ VI ปี 2000 ว่าด้วยการแยกกองทัพกับตำรวจออกจากกัน, และกฎหมายสภาฉบับที่ VII ปี 2000 ว่าด้วยการจัดระเบียบบทบาทกองทัพกับตำรวจ และกฎหมายฉบับที่ 3 ปี 2002 เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกฎหมายฉบับที่ 34 เกี่ยวกับกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย

คือการปฏิรูปทางการเมืองมันเป็นประเด็นใหญ่ แล้วเรื่องปฏิรูปกองทัพก็เป็นหนึ่งในนั้น หลักๆ มีสองอย่าง คือคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญและปฏิรูปกองทัพ ที่นำไปสู่การแยกออกจากกันระหว่างทหารกับตำรวจ และในส่วนของกองทัพเองก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปภายในหน่วยงานของตัวเอง

ประการที่สอง ระเบียบประธานาธิบดี เกี่ยวกับการครอบครองธุรกิจของทหาร เลขที่ 43/2009 ลงนามโดยประธานาธิบดีซูซีโลบัมบังยูโดโยโนเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2009 โดยผู้รับผิดชอบคือรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่จะไปจัดตั้งคณะกรรมการในการจัดการเรื่องดังกล่าว ชื่อว่า Tim Pengendali Pengambilalihan Bisnis (PAB) TNI หรือ ทีมจัดการการครอบครองธุรกิจของทหาร โดยมี Silmy Karim เป็นประธาน Silmy Karim เป็นสมาชิกทีมผู้เชี่ยวชาญการจัดการของกระทรวงกลาโหมและเป็นประธานสมาคมผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ของอินโดนีเซีย

ซึ่งแผนการตอนแรกจะทำให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2010 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย มีหน่วยงานเอ็นจีโอออกมากระตุ้นรัฐบาลในประเด็นนี้เสมอๆ

อย่างกรณีไทย รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป หลังมีการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง เมษา-พ.ค.53 แม้มีคนไม่พอใจกองทัพ ไม่พอในทหารจำนวนมาก ก็แค่ด่า แต่ก็ไม่มีใครไปเรียกร้องให้กองทัพมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง หรือเพียงแค่รอวันเวลาว่าเมื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจหรือรัฐบาลแล้ว กองทัพก็จะอยู่ข้างฝ่ายตนในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม จึงไม่มีการจัดตั้งอะไรขึ้นมาเพื่อดำเนินการปฏิรูปกองทัพเลย แม้กระทั้งคณะกรรมการปฏิรูปในสมัยอภิสิทธิ์ก็ไม่มีการยกประเด็นเรื่องกองทัพขึ้นมา ในอินโดนีเซีย มีกลุ่มอะไรที่ไปผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกองทัพอย่างแข็งขันไหม

ในอินโดนีเซีย กลุ่มที่ผลักดันจริงๆ น่าจะเป็นประชาชนกับนักศึกษาในก่อนหน้านั้น โดยต้องเข้าใจว่ามันเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากไม่ใช่กลุ่มเล็กที่ออกมาเดินนิดหน่อย แต่เป็นกลุ่มที่ทั้งประเทศกดดันแล้วก็ออกมาเป็นแพคเกจ ไม่เฉพาะปฏิรูปกองทัพอย่างเดียว มีเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย การกระจายอำนาจ พูดรวมๆ มันคือกระแสการทำให้เป็นประชาธิปไตย แล้วทหารนั้นเป็นเป้าที่แย่ที่สุดในการขัดขวางประชาธิปไตยและเป็นเศษซากของยุคระเบียบใหม่ในตอนนั้น เมื่อซูฮาร์โตไปแล้วก็เหลือแต่กองทัพจึงต้องมีการปฏิรูป

กระบวนการปฏิรูปเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการ


ยังไม่ถึงกับมีการไปยึดทรัพย์ทหาร แต่ที่เป็นอย่างเป็นทางการคือ “ทหารจะไม่มีที่นั่งในสภาอีก” ซีงอันนี้สำคัญมาก เพราะว่าการตัดสินใจอะไรในสภาจะไม่มีทหารเข้ามาร่วมตัดสินแล้ว ที่ผ่านมาทหารเข้าไปมีที่นั่งในสภาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเป็นร้อยคน แต่ถ้าทหารจะเล่นการเมืองก็ต้องลาออกจากราชการแล้วไปลงสมัครรับเลือกตั้ง อีกอันหนึ่งที่ชัดเจนคือการแยกกองกำลังทหารออกจากตำรวจ เพราะก่อนหน้านี้ทหารคุมตำรวจด้วย



ซูซีโล บัมบัง ยุดโยโน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน


ถ้าในทางทฤษฏีนั้นมันเขียนเยอะ เช่น ต่อไปนี้กองทัพจะไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งความเป็นจริงมันต้องค่อยๆทำ แต่ที่เห็นคือในทางการเมืองนั้นกองทัพถูกลดบทบาทลงไปมาก ในบทบาททางเศรษฐกิจแม้จะยังมีบทบาทอยู่ แต่ก็มีความพยายามทำอย่างรัฐบาลซูซีโล บัมบัง ยุดโยโน ในสมัยที่ 2 ที่ไม่นานมานี้ในปี 2009 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่แปลเป็นไทยคลายๆกับลดธุรกิจของทหาร คือพยายามจะทำให้ธุรกิจที่เคยเป็นของทหารนั้นหมดไป เช่น เอาไปขายทอดตลาด การไม่ให้ทหารเข้าไปบอร์ดหรือคณะกรรมการ หรือธุรกิจที่ผิดกฏหมายต่างๆ ที่ทหารเข้าไปมีส่วนร่วมมากก็จะลดลงโดยมีการกวดขันมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องงานเพราะไม่ได้บอกว่ามีการปฏิรูปลดอำนาจแล้วทหารจะยอมถอนตัวง่ายๆ ตัวอย่างที่เห็นก็คือสมัยอับดุลเราะห์มาน วาฮิด ที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีที่มีการเลือกตั้งปี 1999 จริงๆ คนที่ได้รับเสียงข้างมากคือเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี แต่มันมีการเล่นการเมืองอยู่สูงมากสุดท้ายวาฮิดได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นพลเรือน เป็นผู้นำกลุ่มทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของอินโดฯ คือกลุ่ม นาห์ลาตุล อูลามา ที่มีฐานเสียงอยู่ในชวา และเป็นคนที่คอนข้างลิเบอรอลจึงมีการปฎิรูปหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องทหาร สุดท้ายก็ถูกพวกทหารบีบ และถอดถอนเขากลางสภาแล้วเอา เมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ขึ้นมาแทน



เมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของอินโดนีเซีย


สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าทหารยังมีอำนาจอยู่มาก คือ เมกาวาตี ต้องยอมทหารอยู่มาก เพราะยุคของเมกาวาตี เป็นยุคที่ทหารกลับเข้าไปมีอำนาจในการปราบอาเจะห์อีกครั้งหนึ่งในยุคนี้ มีการประกาศกฏอัยการศึกอีกครั้งหนึ่ง

เพราะว่ามีสถานการณ์ในอาเจะห์หรือไม่ ทำให้ทหารจึงมีความชอบธรรมในการมีบทบาทขึ้นมา


คิดว่าน่าจะเป็นผลมากกว่า คือเป็นเพราะว่าเมื่อเมกาวาตีขึ้นมาต้องประณีประนอมกับทหารมาก จึงต้องตามใจทหาร เพราะเมื่อเข้าไปอาเจะห์นั้นก็จะมีเรื่องของผลประโยชน์มาก เช่น น้ำมัน หรือธุรกิจอื่นๆ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าไปปฏิบัติการที่นั่น

เวลาเราพูดถึงผลประโยชน์ของทหารหรือกองทัพนั้นมันเป็นก้อนเดียว หรือเหมือนก่อนหน้าที่ที่เป็นก๊กเป็นกลุ่มต่างๆ

แบ่งไปตามภูมิภาค

แล้วมีการแบ่งกลุ่มตามแนวคิดหรือไม่ อย่างที่มีกลุ่มที่มีแนวคิดปฏิรูปหรือแนวคิดระเบียบใหม่


ก็มีเหมือนกัน แต่ทหารที่นิยมความรุนแรงหรือใช้การปราบปรามก็ยังคงมีอำนาจอยู่ในตอนนั้น

แม้เมกาวาตี มีการยอมทหาร ทำให้ทหารมีอำนาจมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้กลับไปเป็นเหมือนเดิม ไม่มีที่นั่งในสภาเหมือนเดิม ตัดสินใจนโยบายไม่ได้ หรือมามีส่วนร่วมในธุรกิจตรงๆ นั้นไม่ได้ หลังจากเมกาวาตีก็มีกระบวนการปฏิรูปกองทัพมาเรื่อยๆ ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน เป็นทหารมาก่อน แต่เป็นทหารสายพิราบ จริงๆ กองทัพอินโดนีเซีย ไม่เคยที่จะยึดอำนาจอีกเลย เพราะตัวเองมีอำนาจอยู่ในสังคมการเมืองเต็มที่อยู่แล้ว และยิ่งเป็นสมัยซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ก็ไม่มีกระแสความไม่พอใจถึงต้องล้มรัฐบาล

บทบาทในการแต่งตั้งผู้นำกองทัพอยู่ในมือของใคร


ในอดีตประธานาธิบดีมีบทบาทหลักในการแต่งตั้ง ส่วนปัจจุบันจะมีหน่วยงานภายในกองทัพที่เรียกว่า Dewan Jabatan dan Kepangkatan Tertinggi (Wanjakti) แปลเป็นไทยประมาณ “สภาตำแหน่งและยศสูงสุด” เป็นผู้แต่งตั้งตำแหน่งในกองทัพ แล้วเสนอให้ประธานาธิบดีลงนามรับรอง

และที่น่าสนใจคือปัจจุบันนี้คนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ไม่ใช่ทหารแต่เป็นพลเรือนซี่งคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสปฏิรูปที่ต้องทำให้ทหารถูกควบคุมโดยพลเรือน

กระบวนการลดอำนาจในภาคธุรกิจของกองทัพนั้นเป็นอย่างไรในปัจจุบัน


พึ่งจะออกมาเป็นมติของสภาเมื่อปี 2009

การที่ธุรกิจของกองทัพใช้ความได้เปรียบจากการผูกขาดมาอย่างยาวนานนั้น ความสามารถในด้านการแข่งขันกับองค์กรอื่นๆมีปัญหาเรื่องศักยภาพหรือไม่

ไม่แน่ใจ แต่ไม่เห็นนักธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของซูฮาร์โตมีปัญหาหลังจากที่ซูฮาร์โตลงจากอำนาจเลย รวมถึงธุรกิจของพวกซูฮาร์โตเองด้วย เพราะว่ามันวางความเข้มแข็งไว้ดีมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจอื่นๆไม่สามารถขึ้นมาได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโตสูงมาก แต่มีการพยายามสร้างธุรกิจเครือขายใหม่ๆ ขึ้นมากด้วย อีกด้านเพราะส่วนมากเป็นธุรกิจที่ผู้ขาดอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ป่าไม้

แล้วไม่มีคู่แข่งใหม่ๆที่เข้ามาบ้างหรือ

ก็มีการเข้ามาแต่ก็เข้ามาในฐานะพาร์ทเนอร์ ไม่ใช่มาเป็นคู่แข่ง สัญญาณโทรทัศน์นั้นแม้กองทัพจะเป็นเจ้าของช่อง แต่ก็ไม่ได้เป็นทั้งหมด มือถือแทบจะไม่มีของอินโดฯเลย เพราะเป็นการลงทุนของออสเตรเลียเป็นของนักลงทุนข้างนอก ทำให้ค่าโทรสูงด้วย

การลดบทบาทกองทัพเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่ามันจำเป็นและเป็นสิ่งที่ดี แม้กระทั้งวิรันโต ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดสมัยซูฮาร์โตคนสุดท้าย ตอนนี้ก็ยังออกมาอ้างว่าตนเองเป็นคนผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมันไม่จริง เพราะไม่มีทางที่จะปฏิรูปตัวเอง แต่ทุกคนก็พยายามบอกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าภาพของการปฏิรูปเป็นสิ่งที่ดีและทุกคนยอมรับ

บทบาทของทหารในฐานะที่ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการจัดการความมั่นคงอีกด้านหนึ่งในการเข้ามาควบคุมสังคมนั้น เป็นการไปใช้คำอื่นแทนไม่ใช้คำว่า “ดวีฟุงซี” (Dwifungsi) อีก เช่นว่าเมื่อไหร่สังคมต้องการเราก็พร้อม แต่ถอนตัวออกและไม่เข้าไปยุ่งมากที่สุด มีการถอยออกไปแล้วก็บอกตัวเองเป็นทหารอาชีพ

ความต่างกับของไทยที่เข้ามายึดอำนาจแล้วมีอำนาจในการจัดการ แต่ของอินโดนีเซียนั้นแม้ถูกแต่งตั้งเข้าไปในสภาแต่ถูกดำเนินการโดยผู้อื่น

ทำไมเมกาวาตี ขึ้นมากลับกลายเป็นคนที่ต้องประนีประนอมกับทหาร ทั้งที่สมัยพ่อตัวเองถูกล้มโดยทหาร

ทหารเองก็ต้องเลือกเมกาวาตี เพราะฝ่ายวาหิดนั้นดำเนินการปฏิรูปเต็มที่ และประเด็นที่ทหารไม่พอใจวาหิตมากเนื่องจากเขาพยายามรื้อฟื้นเรื่องการสังหารคอมมิวนิสต์ มีการไต่สวนหาคนผิดมาลงโทษ รวมทั้งกลุ่มศาสนาก็ไม่เอาด้วย ทหารจึงหนุนเมกาวาตี รวมไปถึงเมกาวาตีต่อรองง่ายกว่า ไม่มีนโยบายชัดเจน เพราะมุ่งไปทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สั้นจนยากจะประเมินว่าตั้งแต่ปี 2001 – 2004 นั้น เมกาวาตีทำอะไรบ้าง เหมือนคอยประนีประนอมกับกลุ่มทหารและกลุ่มอิสลาม แต่ด้านที่เด่นที่สุดหนึ่งของเธอคือการพัฒนาเศรษฐกิจ

เราสามารถพูดได้ไหมว่าในขณะนั้นแทนที่จะเป็นเมกาวาตี แต่ถ้าเป็นวาหิตเป็นประธานาธิบดีอยู่ต่อ ความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่เข้าอยากเข้าไปจัดการและชำระการสังหารคอมมิวนิสต์ของกองทัพและผู้เกี่ยวข้อง ในขณะที่ทหารเองก็รู้สึกว่าตนเองถูกรุกมากอาจมีการโต้กลับได้หรือไม่

จริงๆการที่มีการถอดถอนวาหิดกลางสภานั้นก็เป็นการโต้กลับของทหารด้วย แต่ถ้าจะทำแบบไทยโดยการเอารถถังออกมายึดอำนาจนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นในอินโดฯ

หลังจากถอดถอนวาหิด เมกาวาตีในฐานะรองประธานาธิบดีในขณะนั้นก็ขึ้นมาแทน แม้มีคนออกมาให้กำลังวาหิตโดยเดินทางมาจากชวาตะวันออก เนื่องจากฐานผู้สนับสนุนอยู่ที่นั่น แต่ถูกทหารบล็อกเอาไว้ และคนก็เบื่อวาหิดมาก เพราะเกิดความขัดแย้งสูง เนื่องจากวาหิดลิเบอรอลเกินไป ทำหลายอย่างที่นำไปสู่ความไม่พอใจและต่อต้านมาก แต่เรื่องที่หนักที่สุดคือเรื่องการรื้อฟื้นคดีฆ่าสังหารคอมมิวนิสต์ เพราะกลุ่มอิสลามก็กลัวว่าหากรื้อคดีแล้วก็จะโดนเช็คบิลไปด้วย

งบประมาณทางการทหารขณะนี้มีการลดลงหรือไม่อย่างไร

ตั้งแต่ปี 2007 งบประมาณทหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 81.8 ล้านล้านรูเปีย ถือเป็น 0.05 ของงบประมาณ มีกองกำลังประมาณ 467,000 คน ขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับยุคซูฮาร์โต ในปี 1998-1999 นั้นลดลงมาก แต่ก็เริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้เพิ่มมาก คิดว่าเป็นการเพิ่มไปตามงบประมาณ

มีการวิเคราะห์ว่าในประเทศอาเซียนอินโดนีเซีย ถูกมองว่าเป็นประเทศที่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปรกรณ์ต่ำกว่าประเทศอื่น อาจเป็นเพราะไม่มีปัญหาในหมู่เกาะสแปรตลีย์เหมือนประเทศอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกับเขาด้วย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้ออาวุธเยอะ แต่ช่วงหลังเริ่มมีการสะสมมากขึ้น พร้อมกับที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ปัญหาข้อพิพาทชายแดนของอินโดนีเซีย ถือว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ บริเวณนี้

มีประชาชนอินโดฯ ที่เรียกร้องทหารให้เข้ามาแทรกแซงการเมืองหรือไม่ เมื่อเผชิญกับปัญหาของนักการเมืองหรือรัฐบาล ความฝันถึงอดีตอย่างยุคระเบียบใหม่ยังคงมีหรือไม่

มีคนนึกถึงยุคระเบียบใหม่ แต่ไม่ใช่ในแง่ของทหาร คิดเพียงว่าอยากมีเศรษฐกิจที่ดี เพราะมีโพลล์สำรวจหลายสำนักมากเรื่องจะเอาใครเป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้า ปรากฏว่าคนบอกว่าจะเลือกคนที่ไม่ใช่ทหารเป็นอันดับ 1 ตลอด คนไม่เอาทหาร แม้กระทั่งลาออกมาจากทหารแล้วคนก็ยังไม่เลือก แต่กรณีซูซีโล บัมบัง ยุดโยโน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่คนเลือกนั้นเนื่องจากเขามีแนวคิดที่ลิเบอรัลมีแนวคิดเรื่องปฏิรูป มีความจริงใจและมีภาพเรื่องการไม่คอรัปชั่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในอินโดนีเซีย

พรรคการเมืองในอินโดฯนีเซีย นั้น พรรคใหญ่ๆ ประกอบด้วย พรรค Golkar (Party of the Functional Groups) ที่เป็นฐานเสียงของซูฮาร์โตมาก่อน และพรรคของเมกาวาตี PDI-P หรือ The Indonesian Democratic Party – Struggle และพรรค ซูซีโล บัมบัง ยุดโยโน คือ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ Democratic Party และมีพรรคน้องใหม่ อย่างพรรคของลูกเขยซูฮาร์โตที่อยู่เบื้องหลังการสังหารนักศึกษา ซึ่งเขาก็จะลงรับการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งปีหน้านี้จะเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่จะชี้ว่าคนจะเอาอะไร ว่าจะเอาทหารหรือไม่ แต่จากโพล์สำรวจก็ชี้ว่าคนไม่เอาทหาร



ป้ายรณรงค์หาเสียงของพรรค PDI-P


ในอินโดนีเซีย การเลือกตั้งมีเทคนิคใหม่ๆ เพราะทหารรวยๆ ที่เล่นการเมืองนั้นเอาเงินไปตั้งมูลนิธิและมูลนิธิก็ดำเนินกิจกรรมต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เหมือนต่อต้านสิ่งที่ทหารเคยทำ แต่ก็เป็นฐานเสียงของทหาร

โดยสรุปแล้วการปฏิรูปกองทัพมี 2 ประเด็นที่ชัดเจนคือการไม่มีที่นั่งในสภาของทหาร และการแยกทหารออกจากการเมือง การเอาทหารออกจากสภานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะในอดีตทหารมีอำนาจมาก โดยการเข้าไปโหวต เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรี ขณะนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว ไม่มีทหารเข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลแล้ว

"อย่างไรก็ตามการเข้าไปมีบทบาทของกองทัพในสภาก่อนหน้านี้นั้นเป็นการเข้าไปอย่างชัดเจน ไม่ได้มีลักษณะที่กระทำหรือสั่งการอยู่เบื้องหลัง แต่หลังจากยุคซูฮาร์โตนั้นทหารก็ไม่มีสิทธิที่จะออกมาพูดเรื่องการเมือง คำว่ายึดอำนาจนั้นเข้าใจว่าไม่ได้อยู่ในความคิดของทหารอินโดนีเซีย"

และที่สำคัญคือไม่เคยมีการรัฐประหารในอินโดนีเซียที่สำเร็จ ถ้าเราจะเรียกว่าเหตุการณ์ปี 1965 คือการพยายามทำรัฐประหารนั้นก็ไม่สำเร็จ

เหตุผลอะไรที่คนอินโดฯ มีความจำยาวกว่าคนไทยเกี่ยวกับทหาร

การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารของอินโดนีเซียนั้นรุนแรงมาก มีการเข้าไปปราบคนในหลายพื้นที่ คนก็ทั้งเกลียดและกลัว มีความรู้สึกกับคนที่เคยเป็นทหารว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว

อย่างไรก็ตามในอินโดฯ ก็มีฝ่ายขวาที่หนุนทหาร จนสามารถมีการตั้งขึ้นเป็นพรรคการเมืองใหญ่ๆ ได้ แต่วัฒนธรรมการเมืองมันต่างจากไทย ที่มีการเรียกร้องให้ทหารมายึดอำนาจ หรือให้ทหารเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น อินโดนีเซียไม่มีแนวคิดแบบนั้น แต่จะเป็นในลักษณะให้ลงเลือกตั้งแล้วให้คนเลือก

หากเกิดปัญหาทางการเมือง เช่น การคอร์รัปชัน รัฐบาลด้อยประสิทธิภาพ มีคนต่อต้านรัฐบาล ทางออกของคนอินโดฯที่เสนอคืออะไร

คือการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ โดยคนอินโดนีเซีย ค่อนข้างเชื่อมั่นในคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (Komisi Pemberantasan Korupsi – KPK) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปการเมืองอินโดฯ และทำงานดีสามารถเอาคนใหญ่ๆในพรรครัฐบาลติดคุกได้ คนก็พอใจ และคิดว่ามันสามารถใช้กลไกเหล่านี้ได้ ไม่ได้เอียงเข้าข้างรัฐบาลอะไร

สำหรับที่มาของคณะกรรมการตรวจสอบการคอรัปชั่นนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2003 เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น โดยสภาผู้แทนประชาชนเลือกตามที่เสนอชื่อโดยประธานาธิบดี



สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่จาการ์ต้า ภาพจาก wikipedia


คนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย จะเลือกพรรคเดิมที่เคยเลือก และไม่ได้มีลักษณะที่จะชนะแบบถล่มทลาย แต่จะเป็นรัฐบาลผสมทั้งนั้น

กลุ่มศาสนาไม่ค่อยเข้ามามีบทบาททางการเมืองแต่จะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวรอบนอก ตัวอย่างที่ชัดคือหลังยุคระเบียบใหม่ คนเริ่มมีอิสระในการตั้งพรรคการเมือง มีพรรคอิสลามลงสมัครรับเลือกตั้งเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้เสียงสนับสนุนมากเลย คนอินโดนีเซียโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เคร่งศาสนา

ปี 49 ของไทยทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองสูง และเมื่อมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะจัดการกับทหารได้ เช่นการหาความจริงลารเอาผิดทหารที่ผ่านมาได้ แต่ที่เกิดขึ้นเป็นการเจรจาประนีประนอมกัน ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเรียกรู้จากการปฏิรูปกองทัพที่ผ่านมาของอินโดนีเซียมีอะไรบ้างหรือไม่

คิดว่าไม่น่าจะมีเลย เพราะเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ต่างกัน หลังจากยุคซูฮาร์โต ทหารอินโดนีเซียไม่เคยเข้ามายึดอำนาจและปกครองด้วยตัวเอง ไม่เคยหนุนใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด และไม่มีอะไรที่เป็นสถาบันที่เหนือกว่าเพื่อที่จะอ้างถึง ทหารอินโดนีเซีย ไม่สามารถยกเหตุผลมาอ้างเพื่อทำการยึดอำนาจแล้วจะไม่มีการประท้วง คนส่วนใหญ่คงรับไม่ได้ คุณค่าที่สูงคือเรื่องความเป็นชาติ ทุกคนสามารถอ้างความเป็นชาติได้ไม่เฉพาะทหาร เพราะจะยกเรื่องการคอรัปชั่นมาเพื่อเป็นเหตุให้ทหารเข้ามาแทรกแซงนั้นไม่ได้ เนื่องจากคนอินโดนีเซียก็มองว่าทหารก็คอรัปชั่นเล่นกัน ของไทยอาจมองว่านักการเมืองเลวที่สุด แต่ของอินโดนีเซีย นั้นเขาก็มองว่าเลวพอๆกัน ทหารก็เลว นักการเมืองก็เลว

"คำว่าปฏิรูปของเรากับของเขามันต่างกันเยอะ ของเขาปฏิรูปก็มีการเปลี่ยนทั้งกะบิ ของไทยกลายเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อลดแรงกดดันทางสังคมมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลง"

การเมืองอินโดนั้น ฝ่ายบริหารที่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงในยุคแรกๆไม่กี่ปี หลังจากนั้นก็ไม่มีแล้ว มีเพียงประธานาธิบดี มีการเลือกตั้งทุกๆ 5 ปี เป็นได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน และเป็นการเลือกโดยตรงตั้งแต่ 2004


ประวัติกองทัพสมัยใหม่ของอินโดนีเชียก่อนปฏิรูป*

การเกิดกองทัพสมัยใหม่อินโดฯ

เกิดตอนอินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 โดยก่อนหน้านั้นอินโดนีเซียถูกฮอลันดา(เนเธอร์แลนด์)ยึดครองอยู่นานโดยที่ไม่เคยก่อตั้งกองกำลังที่มีคนพื้นเมืองเป็นทหาร แต่เอาทหารรับจ้างมาจากประเทศต่างประเทศ เนื่องจากว่ากลัวว่ากลุ่มคนพื้นเมืองถ้าเป็นทหารจะลุกขึ้นมาต่อต้านประเทศอาณานิคม

ก่อนมีกองทัพอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ กองกำลังจะคล้ายกับซุ้มเจ้าพ่อ ย้อนกลับไปหน้านั้นที่ญี่ปุ่นยึดอินโดนีเซียช่วง 1942-1945 ญี่ปุ่นก็เข้าไปจัดตั้งกองกำลังไว้มาก เพราะต้องการให้กองกำลังมาช่วยญี่ปุ่นรบ โดยที่ใครสามารจัดตั้งกองกำลังได้ญี่ปุ่นจะช่วย รวมถึงกลุ่มอิสลาม กลุ่มคนธรรมดาด้วย พอญี่ปุ่นออกไป กองกำลังที่ญี่ปุ่นตั้งไว้จึงกลายมาเป็นกองกำลังแห่งชาติอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 1945



ทหารอินโดฯ หน้าบุโรพุทโธ มี.ค.1947 ภาพจาก wikipedia


กองทัพในฐานะผู้ให้กำเนิดชาติ

กองทัพของอินโดนีเซียมีบทบาททางสังคมและการเมืองของอินโดนีเซียอย่างสูง เพราะเมื่อประกาศเอกราช ฮอลันดาไม่ยอมรับคำประกาศนั้นและพยายามกลับเข้ามายึดใหม่อีก ช่วงตั้งแต่ 1945-1949 จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า สงครามต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่งกลุ่มที่มีบทบาทที่สุดก็คือกองทัพอินโดนีเซีย จนกระทั่งได้เอกราชเต็มที่ในปี 1949 ฉะนั้นมันเหมือนกับเป็นความภูมิใจ ถือเป็นกลุ่มหลักของการให้กำเนิดชาติอินโดนีเซีย สถานะของกองทัพจึงสูงมากและทำให้คนรู้สึกว่าไม่มีกองทัพก็ไม่สามารถเป็นชาติได้แบบนี้ ซึ่งตรงนี้อาจจะต่างจากไทยในเรื่องจุดกำเนิด ของไทยกำเนิดมาจากการรักษาสถาบันพระมหาษัตริย์

บทบาทกองทัพในฐานะปราบพวกที่จะแยกเป็นประเทศใหม่

หลังจากปลดแอกประเทศได้แล้ว ก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีกลุ่มที่ต้องการจะแยกตัวออกไปเป็นประเทศใหม่ หรือกลุ่มที่ต้องการให้อินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลาม กองทัพจะเข้ามามีบทบาทในการปราบพวกที่จะแยกตัวเหล่านี้ ตั้งแต่สมัยซูการ์โน

ประชาธิปไตยแบบชี้นำยุคซูการ์โน

ยุคของซูการ์โนมันเป็นยุคที่มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี โดยซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ประกาศเอกราชเป็นต้นมา ในฐานะผู้นำในการประกาศเอกราช ยุคซูการ์โนถือเป็นเผด็จการเช่นกันเพราะประกาศใช้ประชาธิปไตยแบบชี้นำ และไม่มีการเลือกตั้งอยู่ช่วงหนึ่ง โดยฐานของซูการ์โนตอนแรกเป็นทหาร รวมทั้งคอมมิวนิสต์ด้วย แต่ตอนหลัง 2 กลุ่มนี้ขัดแย้งกันเอง ซูการ์โนก็ไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจได้ จึงนำมาสู่ความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรง

ไม่เพียงทหารจะเข้ามามีบทบาทมากเฉพาะในยุคซูฮาร์โต แต่ในสมัยซูการ์โนเองทหารก็มีบทบาทมากแล้ว เช่น มีบทบาทในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นยุคที่ชาตินิยมรุนแรงมากเพราะว่าตกเป็นอาณานิคมมานาน ดังนั้นเมื่อได้รับเอกราชจึงมีความเป็นชาตินิยมสูง เช่นการเอาธุรกิจที่เป็นของดัตช์(ฮอลันดา)ทำให้เป็นของอินโดนีเซียเสีย เช่น ธุรกิจด้านน้ำมัน สายการบิน แล้วทหารก็เข้าไปนั่งบริหาร นำมาสู่ปัญหาการคอรัปชั่น การไร้ประสิทธิภาพ ฯลฯ

ปัญจศีลา(pancasila)ในฐานะอุดมการณ์หลักของชาติ

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่มุสลิมของอินโดนีเซียค่อนข้างเป็นทางสายกลาง หรือ ลิเบอรัลก็พูดได้ ความเป็นอิสลามของอินโดนีเซียถูกกันออกไปจากการเมืองตั้งแต่ประกาศเอกราช เพราะมันมีการพยายามแย่งชิงพื้นที่มาก กลุ่มอิสลามก็ต้องการให้เป็นอิสลาม แต่กลุ่มอื่นไม่เอา โดยเฉพาะซูการ์โนซึ่งคิดว่าถ้าเป็นอิสลาม แล้วกลุ่มคริสต์ กลุ่มอื่นๆ ก็จะอยู่กันลำบาก จึงเสนอ “ปัญจศีลา(pancasila)” มาเป็นอุดมการณ์หลักของชาติ เป็นหลักที่ยึดถือร่วมกัน โดยมีหลักการ 5 ข้อ ข้อแรกคือ เปิดกว้างว่าเชื่อในพระเจ้าของเดียวตามศาสนาของคุณ ข้อสอง ให้เชื่อในมนุษย์ที่มีความอารยะ อินโดนีเซียมีหลักมนุษย์นิยมมาก คิดว่ามนุษย์ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชนั้นเป็นมนุษย์ที่แข็งแกร่ง เป็นมนุษย์ที่น่าชื่นชม ข้อสาม เอกภาพของอินโดนีเซีย จะแย่งแยกไม่ได้ เพราะกว่าจะเป็นเอกราชได้ต้องรวมอาณาจักรเล็กอาณาจักร 200-300 กลุ่มเข้าด้วยกัน โดยกระบวนการรวมนั้นเริ่มตั้งแต่อาณานิคมของดัตช์ ค่อยๆ ยึดไปเรื่อยๆ จนมาเป็นอินโดนีเซียในปี 1945

ข้อสี่ ประชาธิปไตยผ่านผู้นำที่ฉลาด เป็นประชาธิปไตยที่มีการตกลงกันแล้วผ่านผู้นำที่ฉลาด ข้อห้า สังคมที่มีความยุติธรรมสำหรับคนอินโดนีเซียทั้งหมด เพราะมันเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่หลากหลาย ฉะนั้นก็ต้องมีหลักประกันว่าจะมีความยุติธรรมสำหรับทุกคน




ตราปัญจศีลาหรือปัญจศีลที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์ 5 ประการ





ครุฑปัญจศีล สัญลักษณ์ในตราแผ่นดินของอินโดนีเซีย


กระบวนการสร้างชาติอินโดฯ

อาณาเขตที่ประกาศเป็นประเทศอินโดนีเซียคืออาณาเขตที่ฮอลันดาเคยครอบครอง ตอนที่ฮอลันดาเข้ามาโดยเอาภาษาตัวเองมาให้บังคับให้ทุกคนใช้นั้นเป็นเรื่องยาก หรือใช้ภาษาชวาซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดก็ไม่ได้เช่นกันเพราะคนกลุ่มอื่นพูดไม่ได้ ขณะที่ภาษามลายูก่อนหน้านั้นในยุคจารีตภาษามลายูเป็นภาษากลางในการติดต่อค้าขายบริเวณคาบสมุทรอยู่แล้ว จึงใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางและได้พัฒนากลายเป็นภาษาอินโดนีเซียในที่สุด

การเกิดของสาธารณูปโภคสมัยใหม่ที่ฮอลันดาสร้างขึ้น เช่น โรงเรียน หนังสือพิมพ์ หรือการขนส่ง รถไฟ ฯลฯ ทำให้คนรู้สึกมีสำนึกความเป็นชาติด้วย ขณะที่แบบเรียนนั้นเริ่มใช้เมื่อมีเอกราชแล้ว เป็นการปลูกฝังความรักชาติ รวมถึงปัญจศีลา(pancasila) ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติ แม้กระทั่งตอนนี้มันก็ยังมีบทบาทสำคัญในอินโดนีเซีย ทุกคนต้องรู้จัก ต้องท่อง ต้องเรียนเป็นเรื่องเป็นราว โดยสรุปการรวมชาติของอินโดฯ ใช้ทั้งแนวแข็งและแนวอ่อน แนวอ่อนคือ อัตลักษณ์ เพลงชาติ การศึกษา แบบแข็งคือการใช้กำลังปราบ

บทบาทกองทัพกับการปราบพรรคคอมมิวนิสต์

ปี 1965 มีการจับนายพลไปสังหารเกิดเหตุการณ์พยายามทำรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังถกเถียงกันว่าใครเป็นคนทำแน่เพราะมีนายพลในกองทัพร่วมอยู่ด้วย แต่กลุ่มที่ตกเป็นจำเลยจริงๆ ก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย รวมถึงแบบเรียนก็ระบุว่าคอมมิวนิสต์เป็นคนทำรัฐประหาร และหลังจากในเหตุการณ์นั้นกองทัพอินโดฯ จึงดำเนินการปราบพรรคคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ ถูกกวาดล้าง ถูกฆ่าตาย ถูกยุบพรรค กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายนับแต่นั้น ก็เลยยิ่งทำให้สถานะของกองทัพเด่นขึ้นมา



ซูการ์โนในการเลือกตั้ง 1955


ในสมัยซูการ์โนแม้กองทัพจะมีอำนาจมาก แต่ขณะเดียวกันคอมมิวนิสต์ก็ได้รับการยอมรับจากคนมาก ไม่ถือว่าผิดกฏหมายและลงเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียงสูงมากในปี 1955 ซูการ์โนประกาศว่าชาติจะอยู่รอด ต้องมี “นา ซา คอม” คือ ชาติ ศาสนา และคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเหมือนการให้สถานะคอมมิวนิสต์อย่างสูง กองทัพซึ่งก็มีสถานะสูงเช่นกันจึงไม่พอใจ เลยกลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง แล้วมันก็ไปปะทุในปี 1965



ซูการ์โนกับฟิเดล คาสโตร ที่ ฮาวานา ประเทศคิวบา


เหตุการณ์ปี 1965 หลากทฤษฎีว่าด้วยผู้ลงมือ

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และการประชุมที่บันดุง ในปี 1955 ในทางปฏิบัตินั้นดูราวกับว่าซูการ์โนเอียงไปทางค่ายคอมมิวนิสต์ เช่น ซูการ์โนจะไม่เปิดรับเงินลงทุน เงินช่วยเหลือจากโลกเสรีประชาธิปไตยเลย แต่จะไปสนิทกับอีกพวกหนึ่งแทน อาจเป็นไปได้ที่อเมริกาไม่พอใจ รวมทั้งซูการ์โนเองก็มีปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงต่ออเมริกา เช่นการพูดว่า “ไปลงนรกเลยกับเงินช่วยเหลือของคุณ” อย่างไรก็ตามมันก็มีหลายทฤษฎีมากว่า ทหารทำเอง ซูฮาร์โตเป็นคนทำ หรือซูการ์โนอาจจะยึดอำนจตัวเอง คอมมิวนิสต์เป็นคนทำ หรือเกิดขึ้นไปเอง ฯลฯ

เหตุการณ์ปี 1965 นั้น เกิดจากกองกำลังที่นำโดยนายพลอุนตุ้ง ซึ่งเป็นทหารอากาศ เขาไปจับตัวนายทหารระดับสูง 4 คนมา บางคนหนีรอด ลูกถูกยิง ทหารสนิทถูกยิง คนที่จับได้ก็เอาไปฆ่าทิ้งลงบ่อน้ำเก่าๆ หลังจากนั้นไม่นาน ซูฮาร์โตก็สามารถนำกองกำลังอีกส่วนหนึ่งมาปราบกองกำลังนี้ได้ โดยใช้เวลา ประมาณ 2 คืน

ตอนนั้นกองกำลังทหารในอินโดนีเซียเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอยุ่ เนื่องจากตอนญี่ปุ่นเข้ามาช่วยตั้งกองกำลังตามที่ต่างๆจำนวนมาก ทำให้เมื่อประกาศเอกราชกองทัพของอินโดนีเซียจึงมีกองกำลังเล็กๆ เต็มไปหมด รัฐบาลไม่มีเงินไปสนับสนุนทั่วถึง เพราะฉะนั้นแต่ละกลุ่มก็ต้องหาเงินมาบริหารกองกำลังของตัวเอง โดยที่ขณะนั้นกลุ่มของซูฮาโตโดดเด่นในแง่การหาเงิน จึงเป็นกองกำลังที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีบทบาทมาก แต่ก็ยังไม่โดดเด่นมาก จนกระทั้งเหตุการณ์ปี 1965 ที่เขาสามารถนำกองกำลังของเขามาปราบได้ จึงกลายเป็นฮีโร่ ที่ทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

ภาคประชาสังคมปราบคอมมิวนิสต์

กลุ่มที่อยากโค่นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่มีแค่ทหาร อิสลามก็ไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่ากลุ่มนี้ไม่เอาศาสนา และเป็นกลุ่มที่มีอำนาจเยอะมาก ฉะนั้น คนที่เอาคอมมิวนิสต์ไปสังหารไม่ได้มีเฉพาะทหาร แต่เป็นการกระทำของพลเรือนด้วยของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง มีหนังเรื่อง The Act of Killing เอาคนที่เคยฆ่าคอมมิวนิสต์มานั่งเล่าเลยว่าฆ่าอย่างไร เอาลวดรัดคออย่างไร พร้อมพาไปดูสถานที่จริง พวกเขาเป็นคนธรรมดา และรู้สึกภูมิใจมากกับสิ่งที่พวกเขาทำ แต่ตอนท้ายๆ ของเรื่องดูเหมือนสำนึกผิดเหมือนกัน มีคนที่ฆ่าหลายคนพูดกันเองว่าจริงๆ คนที่เราฆ่าไม่ได้เลวมากใช่ไหม เราหาข้ออ้างในการฆ่าเขาเท่านั้นใช่ไหม แล้วก็ถกเถียงกัน

สำหรับการปราบปรามในยุคนั้นเขารู้ว่าใครเป็นใคร เพราะตอนนั้นมันยังถูกกฎหมาย รวมทั้งทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ นักหนังสือพิมพ์ก็เข้ามาช่วยลิสต์รายชื่อว่าใครเป็นใคร แม้กระทั้งสถานที่ที่ใช้ฆ่าในหนังเรื่องนี้ก็คือ ที่ทำการของหนังสือพิมพ์ เอาคนไปฆ่าบนดาดฟ้า ไม่มีการสอบสวน ช่วงนั้นมีคนตายจำวนวนมากเกิดขึ้นทั่วทุกเมือง จนกลายเป็นสิ่งที่เหมือนถูกกฎหมายไปโดยปริยาย

อีกประเด็นที่คอมมิวนิสต์ถูกฆ่ามากนั้นเพราะว่าคอมมิวนิสต์มีนโยบายปฏิรูปที่ดิน ทำให้คนไม่พอใจและมองว่าคนเหล่านี้จะมาแย่งชิงที่ดิน โดยขณะนั้นเป็นการชูนโยบายผ่านรัฐบาลซูการ์โน่ เป็นนโยบายที่ได้รับการเลือกมากด้วย ในการเลือกตั้งก่อนหน้าที่จะถูกล้มไป

กองทัพอินโดฯ ในฐานกลุ่มทุน

กองทัพทำธุรกิจทั้งบนดิน ใต้ดิน มรดกที่ได้มาจนทุกวันนี้ก็ทำให้เส้นสายของทหารเหล่านี้อยู่ในธุรกิจใหญ่ๆ หลายอย่าง เช่น สื่อ น้ำมัน ฯลฯ และกลายเป็นธรรมเนียมว่า กองกำลังต่างๆ จัดตั้งสหกรณ์เป็นของตัวเอง สหกรณ์ดูเหมือนเล็ก แต่จริงๆ เงินเยอะมาก แล้วเอาบรรดาภรรยานายทหารมาบริหาร และเงินจากสหกรณ์ก็นำไปลงทุนธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งนั้น ปัจจุบันเขากำลังปฏิรูปเรื่องนี้อยู่ แต่ยังไม่เสร็จ มันใช้เวลานานมาก ทำให้ทุกวันนี้ก็ยังมีธุรกิจใหญ่ของทหารมากมาย นอกจากนี้ยังมีการเก็บเงินค่าคุ้มครองด้วย แบ่งตาโซน ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้จะมีกองกำลังหลายกลุ่มและแต่ละกลุ่มแสวงหาเงินกันนั้น แต่มีความเคารพกันมากตกลงกันได้ บวกกับการที่ทหารถูกฝึกมาให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาทำให้มีคนคุมอยู่จริงๆ ไม่มาก แต่เข้าใจว่าหลังจากซูฮาโตอาจจะคุมได้ไม่หมด ถึงมีกลุ่มที่คิดว่าอย่างนี้ไม่เวิร์คแล้ว จึงพยายามปฏิรูป

กองทัพยุคซูฮาร์โต

จากที่กองทัพดูเหมือนมีอิทธิพลมากอยู่แล้วเพราะไม่ใช่แค่มีหน้าที่ปกป้องประเทศอย่างเดียว แต่เมื่อซูฮาร์โตขึ้นมาก็ทำให้เป็นระบบมากขึ้น เริ่มมีการบัญญัติคำว่า ทวิหน้าที่ กองทัพนอกจากจะมีหน้าที่ปกป้องประเทศแล้ว ควรจะมีหน้าที่เข้าไปจัดการกับเรื่องทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจด้วย เหมือนทำให้คำนี้กลายเป็นลักษณะของทหารขึ้นมา

มีการนำกองทัพเข้าไปนั่งในสภาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง มีโควตาของกองทัพ 200 กว่าคน ตอนนั้นพรรคการเมืองแทบจะไม่มีบทบาท เพราะก่นหน้านั้นสมัยซูการ์โนก็ถูกคุมอยู่แล้ว เมื่อซูฮาร์โตขึ้นมาใช้ประชาธิปไตยแบบชี้นำทำให้พรรคการเมืองก็แทบจะหมดบทบาท รวมทั้งใช้วิธีการบีบด้วยกฎหมายทำให้พรรคการเมืองยุบรวมกันเหลือเพียง 3 พรรค

ส่วนกลุ่มมุสลิม มีบทบาทข้างนอก เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ แต่กลุ่มเหล่านี้ไม่มีบทบาทในทางการเมือง รวมทั้งไม่เข้มแข็งพอที่จะนำเสนอแนวคิดทางอิสลาม ทำให้เรื่องรัฐอิสลามจึงตกไป

บทบาทในทางเศรษฐกิจของกองทัพก็ยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น ธุรกิจของทหารยิ่งเข้มแข็ง ซูฮาโตยังเข้าไปจัดการแต่งตั้งโยกย้ายทหารด้วยตัวเอง

กระบวนการเหล่านี้ใช่เวลาตั้งแต่ซูฮาร์โตขึ้นมาอย่างเป็นทางการ 1966 จนถึงปี 1970-80 ยุคนั้นเรียกว่ากองทัพเป็นฐานค้ำจุนอำนาจของซูฮาร์โตที่มั่นคงที่สุด กองทัพแทรกซึมไปในกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน เหมือนตำรวจสันติบาล แต่ให้บทบาทกับทหาร แม้กระทั่งในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกล แล้วก็ยุคนี้ก็เอากองทัพกับตำรวจมารวมกัน

การเมืองในสมัยซูฮาร์โต

มีการเลือกตั้งทุก 5 ปี แต่เลือกเมื่อไหร่พรรคการเมืองที่ซูฮาร์โตก็จะชนะเพราะว่าใช้วิธีการควบคุมทุกอย่าง โดยซูฮาร์โตตั้งกลุ่มอาชีพกลุ่มปฏิบัติการ เอาพวกอาชีพต่างๆให้มาเป็นสมาชิก และเมื่อเลือกตั้งก็เลือกตามแบบนี้ และเอาทหารไปคุมตามหน่วยเลือกตั้ง ดังนั้นจะทราบว่าใครไม่เลือก และซูฮาร์โตมีนโยบายชูอุดมการณ์ปัญจศีลาและการพัฒนา

รวมถึงต้องยอมมรับว่าในยุคของซูการ์โน่นั้น เศรษฐกิจตกต่ำมาก เนื่องจากประเทศพึ่งเป็นเอกราช ปิดรับการช่วยเหลือจากตะวันตก และการพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่ดี ซูการ์โน่ลงจากอำนาจไปนั้นด้านหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไม่ดีด้วย และเมื่อซูฮาร์โตขึ้นมาก็ชูเรื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดรับตความช่วยเหลือจากตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกา และตอนหลังก็รับจากญี่ปุนด้วย ทั้งนี้อเมริกาเข้ามาช่วยหลายด้าน เช่น เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับของประเทศไทยในยุคนั้น รวมทั้งเอาพวคนเก่งๆหัวกะทิไปเรียนที่อเมริกา แล้วเป็นเทคโนแครตและเอานโยบายกลับมาพัฒนาประเทศ

ยุค “ระเบียบใหม่”

“ระเบียบใหม่” เป็นคำที่ซูฮาร์โตใช้เรียกยุคสมัยของตัวเอง เหมือนเป็นคำที่หยิบยืมมาจากอเมริกาที่ประธานาธิบดีอเมริกาใช้คำยุคระเบียบโลกใหม่ แล้วเมื่อซูฮาร์โตขึ้นมานั้นก็ประกาศว่าเป็นการเข้าสู่ยุคระเบียบใหม่ ยุคเก่าที่ซูการ์โนเป็นผู้นำนั้นเป็นยุคระเบียบเก่าซึ่งมันแย่มาก เศรษฐกิจไม่ได้ ดังนั้นภายใต้ยุคระเบียบใหม่เราจะมุ่งสู้การพัฒนา



*หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์อรอนงค์ ทิพย์พิมล ในคราวเดียวกัน