ถาม-ตอบ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิต มศว VS คณบดีคณะศึกษาฯ มศว pic.twitter.com/rht14eHB7g— VoiceTV21 (@Voice_TV) June 1, 2017
ooo
สาธิต มศว ยกทหารฝึกวินัยดีสุด โซเชียลแนะสร้าง ‘ทางเลือก’ นอกระบบโรงเรียน
Thu, 2017-06-01 20:09
วารีรักษ์ รักคำมูล รายงาน
ที่มา ประชาไท
ผู้ปกครอง โต้สาธิต มศว ประสานมิตร ฝึกทหารไม่น่าช่วยพัฒนาการศึกษา-ความคิดสร้างสรรค์ โซชียลฯ วิจารณ์เหตุ ผู้ปกครอง-ครูถูกทำให้เชื่อว่า การเรียนต้องเรียนในโรงเรียน แนะสร้างทางเลือกการศึกษา
ภาพบรรยากาศ ปฐมนิเทศนักเรียน ระดับชั้น ป.3 - ป.4 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม' รวมทั้งเว็บไซต์ของโรงเรียน)
จากกรณีมีภาพทหารปรากฏในวันปฐมนิเทศนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 และ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งในด้านของผู้ปกครองนักเรียน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว และในโซเชียลมีเดีย
โดยผู้ปกครองของเด็กหญิงนักเรียน ป.3 รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับรายการ Overview ทางช่อง Voice TV เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 ถึงความคาดหวังที่ส่งให้ลูกเรียนในโรงเรียนนี้เพราะอยากให้ลูกกล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นศักยภาพการศึกษาที่ดี ซึ่งลูกที่เป็นนักเรียนสาธิต มศว บอกกับตนว่า ไม่ชอบเพราะมีการใช้คำที่ไม่สุภาพกับเด็ก ส่วนจุดประสงค์ที่โรงเรียนทำโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของการฝึกวินัยนั้น ผู้ปกครองรายนี้เห็นว่า เป็นความเข้าใจวินัยคนละความหมาย วินัยที่ต้องใช้กับการศึกษานั้นไม่น่าเกี่ยวกับระเบียบทหาร และกิจกรรมนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการศึกษาและไม่ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาไม่เคยทราบว่ามีโครงการลักษณะนี้มาก่อน เข้าใจว่า เป็นกิจกรรมนอกวาระที่เพิ่มเข้ามาใหม่ และไม่ได้มีการชี้แจงมาก่อน จะมีก็แต่การเข้าค่ายลูกเสือ ซึ่งหากเป็นกรณีแบบนั้นพอเข้าใจได้ และเท่าที่สอบถามท่านอื่นๆ หลายคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่า เด็กคงไม่เข้าใจว่าให้ทำอะไร ผู้ปกครองท่านนี้ยังย้ำด้วยว่า วินัยเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยในกระบวนการศึกษา แต่วินัยลักษณะนี้ไม่น่าจะช่วยด้านการศึกษาหรือพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้
ด้าน รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว. ให้สัมภาษณ์กับรายการ Overview ในช่วงเวลาเดียวกันว่า ทางโรงเรียนจัดกิกรรมลักษณะนี้มากว่า 30 ปีแล้ว โดยให้ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่เฉพาะอาชีพทหาร เพื่อทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพนั้นๆ รวมทั้งทัศนคติด้านเพศ หรือศาสนาในทางที่ดี กิจกรรมนี้ทำให้เด็กได้เลือกและตัดสินใจ ที่ผ่านมาตนมองว่าเด็กอ่อนแอ เพราะผู้ปกครองสอนให้นักเรียนอ่อนแอ เช่น มารยาทเข้าคิวรับอาหาร ซึ่งผู้ที่จะฝึกระเบียบวินัยได้ดีที่สุดคืออาชีพทหาร และทหารที่มาก็คือ ทหารสาธิต หรือทหารที่เป็นดารา เพื่อให้นักเรียนรู้ว่า ทหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด กิจกรรมนี้เรานำมาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เพราะเห็นว่า การฝึกระเบียบเป็นเรื่องที่เด็กควรเรียนรู้ เพื่อใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีวินัย ซึ่งผู้ปกครองต้องขอบคุณโรงเรียนที่สอนวินัยให้ลูก และให้ได้รู้จักอาชีพทหาร เด็กผู้หญิงเองก็ต้องเรียนรู้ เพราะผู้หญิงที่มีอาชีพทหารก็มีเยอะ การจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้ คุณครูก็สอนได้ไม่ดีเท่าทหาร การใช้วิทยากรที่มีทักษะตรงมันดีกว่า อาจยังทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เด็กจะเข้าใจว่า การเข้าแถวอย่างมีระเบียบนั้นสง่างามอย่างไร ถือเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อเด็กเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ต่อไป
ภาพกิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ อดีตบรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยเปิดสถานะเผยแพร่กับสาธารณะ โดยวิจารณ์คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ว่า แม้ในบางเรื่องจะพูดมีเหตุผล เช่น ผู้ปกครองสอนลูกให้อ่อนแอ ไม่มีระเบียบวินัย กลายเป็นปัญหาสังคม จึงควรปลูกฝังวินัยเหล่านี้ในโรงเรียน และคนฝึกสอนวินัยได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นทหาร พิภพจึงเห็นว่า ไม่ควรไปตำหนิโรงเรียน หรือตำหนิคณบดีท่านนี้
พิภพ ยังเห็นว่า พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หลายคน เชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่า “พ่อแม่ไม่มีปัญญาสอนลูกได้หรอก” “เด็กจะดีได้ยังไงถ้าไม่เข้าโรงเรียน” “เด็กจะรู้จักวินัยได้อย่างไรถ้าไม่มีครู” ซึ่งความเชื่อแบบนี้มีมานานตั้งแต่เรามีระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกที่โตขึ้นทุกวัน ถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อถูกทำให้เชื่อในระบบโรงเรียนมาแต่เกิด ก็ต้องส่งลูกเข้าระบบโรงเรียนไป
“สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ การสร้างทางเลือก หรือ ‘choices’ และต้องให้ความรู้และกำลังใจกับคนที่เป็นพ่อแม่ เพื่อให้เห็นว่าระบบโรงเรียนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และถ้าไม่ต้องการเลือก “ชอยส์โรงเรียน” จะมีชอยส์ไหนอีกให้เลือก” พิภพ เสนอ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2559 มีกรณีของเด็กอนุบาล โรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น คอสเพลย์ชุดทหารทุกวันพฤหัสฯ โดยโรงเรียนให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างสีสัน และการเรียนรู้ระเบียบวินัย จากการเก็บขยะ เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ ยิ้ม ไหว้ ทักทาย จิตอาสา และปลูกฝังความเป็นระเบียบวินัยให้กับเด็ก โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมากว่า 4 ปี
ปีเดียวกัน วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กภาพกิจกรรม “อนุบาล เขียว" โดยระบุว่า “เข้าค่ายทหาร พล.ร.9 ซึมลึก ปลูกฝัง รักขาติ รักสถาบัน ยึดค่านิยม 12 ประการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อเรียนรู้รู้ภารกิจ การปฏิบัติของทหาร และยังเป็นการปลูกฝังความรู้รัก สามัคคี และความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยระบุด้วยว่า คุณครู ต่อคิว พาเด็กๆ อนุบาล มาทัศนศึกษา ในค่ายทหาร ร.29 พัน1 ค่ายสุรสีห์ กันยาวเลย”
ล่าสุด แม้จะไม่ได้เกิดกับเด็กนักเรียนและเยาวชน แต่เป็นประเด็นดังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือกรณี ‘อบรมข้าราชการที่ดี’ สาธารณสุขเขต 5 ประกอบด้วยจังหวัด สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และนครปฐม ซึ่งภายในการอบรม มีการเข้าฐานเหมือนฝึกทหาร อาทิ การใช้น้ำมันราดบนเส้นเล็กๆ บนถนนดิน แล้วจุดไฟ จากนั้นผู้เข้าอบรมวิ่งผ่านพร้อมจุดประทัด โดยบางส่วนได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กว่า “นี่ไม่ใช่การฝึก แต่เป็นการทารุณกรรม” หรือการโพสต์ลงทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นการอบรมว่า “ไทยแลนด์ 4.0 แต่อบรมข้าราชการแบบ 0.1” รวมถึงการออกมาโพสของผู้เข้าอบรม เผยว่า กิจกรรมการอบรมไม่ได้ทำให้เกลียดชังทหาร แต่ไม่ชอบที่เจ้าหน้าที่ทหารบางคนพูดจาดูถูกเหยียดหยามในอาชีพอื่นๆ อีกทั้งการฝึกไม่มีหน่วยรักษาพยาบาลที่รอรักษายามฉุกเฉิน ความปลอดภัยในการฝึกน้อย และการเข้าฐานก็อันตราย การแต่งกายของผู้เข้าอบรมหญิงบางคนก็เป็นกระโปรงซึ่งไม่เหมาะที่จะทำกิจกรรมลักษณะนี้ โดยที่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดของกิจกรรมดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้า