วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 05, 2560

รื้อกันใหญ่ !!! เพราะกลัดกระดุมผิด





นี่มันผิดผีผิดไข้ ฤๅว่ากลัดกระดุมผิดเม็ดกันแน่ พ่วงนั่งห้างเดิมกลับมารื้อ scaffolds กันใหญ่

เริ่มด้วย พิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ค ถึงกรณีที่ม็อบนั่งห้างโดนคดีแพ่งคดีอาญาบ้าง

“มาวันนี้ ทหารกลับมองว่าประชาชนที่ออกมาชุมนุมเพื่อตรวจสอบรัฐบาล เป็นการ ‘ทะเลาะ’ กันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับนักการเมือง หรือประชาชนกับพรรคการเมือง

โดยใช้ กม.อาญาและ กม.แพ่ง มาจัดการแกนนำและประชาชนบางส่วน...ถ้าจะทำให้เป็นคดีความ ก็ควรจะเป็น ‘คดีความทางการเมือง’ ไม่ใช่คดีอาญา หรือคดีแพ่ง”

(http://www.komchadluek.net/news/politic/259022)

การนี้ คมชัดลึก พาดหัวว่า “พิภพ เหลืออด” เพราะ “ผิดหวังวาทกรรมนายกฯ” ตู่ ถ้าจะให้โยงย้อนรอยดุว่าอะไรเป็นอะไร สันนิษฐานว่าน่าจะเรื่อง “โฆษกรัฐบาลออกโรงแฉการประท้วงของเกษตรกรที่จังหวัดสงขลา มีอดีตนักการเมืองหนุนหลัง”

อันทำให้เกิดอาการ “ถาวรสอนมวยสรรเสริญ ถามกลับแล้วรัฐบาลเคยลงพื้นพูดคุยกับชาวบ้านหรือไม่ หากเป็นสภาปกติถูกตั้งกระทู้ถามไปนานแล้ว”

(http://prachatai.com/journal/2017/02/69912)





นั่นเป็นถ้อยถากของนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันเนื่องมาจากการชุมนุมของชาวนาภาคใต้ (ประเมินว่าถึง ๓ พันคน) ที่จังหวัดสงขลาเมื่อ ๒ กุมภาที่ผ่านมานี้เอง อ้างว่าเป็น

“ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนาใน จ.สงขลา โดยเฉพาะ อ.ระโนด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องสูบน้ำเข้านาจากทะเลสาบสงขลา แต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำเค็ม เมื่อสูบเข้านาก็ทำให้นาล่ม”

อดีต ส.ส.พรรค ปชป. อีกหลายคนออกมาเรียงคิวกันแก้บ้างโต้บ้าง ต่อข้อตำหนิของโฆษกห่านอู ส่วนใหญ่ในประเด็นว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้ข้อมูลมาผิด นี่เป็นการร้องทุกข์ของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่กระบวนหาเสียงตามถนัดของอดีตพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลชินวัตรแต่อย่างใด

“ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ พวกเราอยากเห็นการปรองดองที่ถูกวิธีและปรองดองโดยพูดถึงต้นตอรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง” เป็นคำของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส. สงขลา

พูดอย่างนี้ อาจตีความว่าพรรคนั่งห้างของ คสช. จนด้วยเกล้าต่อข้อมูลตัวเลขที่ทั่นโฆษกยกมาแปะหน้าเป็นนะจังงัง

“จังหวัดใช้เงินบริจาคไปจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนา ๓ ล้าน บ. ตามด้วยเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ ๓,๐๐๐ บ.และเงินทดรองราชการของจังหวัดอีก ๑,๑๑๓ บ.ต่อไร่ นอกจากนี้ กรมการข้าวยังจะส่งเมล็ดพันธุ์ไปช่วยเหลือเพิ่มอีก ๔๐ ตัน”

ตัวเลขเจ๋งๆ ทั้งนั้น ให้เห็นว่าเงินที่ คสช. เบิกออกมาจากคลังได้มีการใช้จ่ายให้แก่ประชากรในพื้นที่ฐานคะแนนเสียงของ ปชป. แล้วนะ ในขณะที่ใช้เป็นตัวเลขนำร่องไปสู่เรื่องเงินเรื่องทองอีกกรณี อันดูทีจะเป็นเผือกร้อนลูกใหม่ของ คสช.

“โฆษกรัฐบาลยืนยันรัฐไม่ได้ถังแตก ฐานะการคลังยังเข้มแข็ง ย้ำขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินเป็นไปตามกลไกตลาดและความเป็นธรรมในระบบภาษี”

นี่เก็บมาจากข่าว ‘โพสต์ทูเดย์’ (http://www.posttoday.com/biz/gov/479294)

ทั่นห่านอูบอกว่าเรื่องคลังถังแตกไม่เป็นความจริง “ เพราะจากข้อมูลฐานะการคลังของรัฐบาล ณ เดือน ธ.ค.๒๕๕๙ ยังมีเงินคงคลัง ซึ่งเป็นตัวเลขที่หักลบรายได้และรายจ่ายแล้วคงเหลือทั้งสิ้น ๗๔,๙๐๗ ล้านบาท”

ทั่นพยาย้ามพยายามเหลือหลายที่จะอธิบายด้วยตัวเลขให้ ‘ดูดี’ มีกึ๋น “การที่มีเงินคงคลังเหลือเป็นจำนวนดังกล่าว เพราะช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ๒๕๖๐ (ต.ค.-ธ.ค. ๒๕๕๙) รัฐบาลได้พยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงกว่าปีก่อนถึง ๗๘,๑๘๓ ล้านบาทและการจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการถึง ๒๗,๐๐๐ ล้านบาท”

ตัวเลขมหภาคทั่นให้ไว้แค่นี้ เพราะทั่นหันไปเล่นตัวเลขจุลภาคเรื่องราคาน้ำมันที่เราขอผ่าน ปล่อยให้เป้นเรื่องของนั่งห้างอีกกลุ่ม (พวกปฏิรูปพลังงาน) เขาเล่นกัน

ซึ่งปรากฏว่าตัวเลขมหภาคของทั่น ให้ความจริงแค่เสี้ยวเดียว





“ขออนุญาตช่วยท่านโฆษกชี้แจงเพิ่มเติมนะครับ” Decharut Sukkumnoed อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร เข้ามาเสริม

“ตอนเดือนกันยายน ๒๕๕๗ หลังจากรัฐบาล คสช. เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ตอนนั้นรัฐบาลมีเงินคงคลัง ๔๙๕,๗๔๗ ล้านบาท (หรือเกือบห้าแสนล้านบาท)

ผ่านไปสองปีกว่า เงินคงคลังของรัฐบาล เหลืออยู่ ๗๔,๙๐๗ ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาครับ
เพราะฉะนั้น รัฐบาลยังไม่ถังแตกครับ แค่มีเงินคงคลังลดลงไป ๔๒๐,๘๔๐ ล้านบาทเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมว่า ในระหว่างเดือน ก.ย. ๕๗ จนถึง ธ.ค. ๕๙ รัฐบาล คสช. ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก ๗๔๔,๑๘๗ ล้านบาทครับ

นึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก ๑๕ ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

เอ้อ อ้า ก็พอดีมี Thanapol Eawsakul มาช่วยคอมเม้นต์ต่ออีกคน “สรุปว่ารัฐบาลรัฐประหารถังแตกจริง ๆ” แถมว่า “แล้วคนที่เป็นห่วงเรื่องวินัยการคลังสมัยยิ่งลักษณ์ หายไปไหมหมด”

การนั้น เขาขุดเอารายละเอียดการสัมมนาเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖ มาฟื้นความหลัง ว่ามีระดับ ‘ชั้นนำ’ นักวิชาการ และนักบริหารหลายคนร่วมให้ความเห็นประเด็น “วิพากษ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง”

ซึ่ง ‘ไทยพับลิก้า’ นำไปเขียนรายงานในหัวข้อ “กูรูการเงิน การคลัง เสนอออกกฏหมายคุมประชานิยม ‘ล้อมคอก’ รัฐบาลมือเติบ”

(http://thaipublica.org/2013/03/economists-criticize-populis/)

ที่ซึ่งอาการ ‘มือเติบ’ สมัยนี้ยิ่งกว่าน่าดู จนทำให้ธนาพลโหยหาบรรดากูรูเหล่านั้น ไม่เห็นมาคอมเม้นต์กันหน่อยหรือ





โดยเฉพาะ “จะว่าไปคนที่น่ารังเกียจที่สุดคือ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล วิทยากรวันนั้นผู้ได้รับรางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒...

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ของคณะรัฐประหารด้วย ไม่พูดอะไรหน่อยหรือ”

นั่นสิ พวกนั่งห้างอีกกลุ่มหนึ่งเขาเหลืออดกันแล้ว พวกนั่งห้างระดับกูรูนี่ความต้านทานสูง มิหนำซ้ำบางทั่นบางรายกลายเป็นขนหน้าแข้งบ้าง ลิ่วล้อบ้าง มีกันเหลือเฟือไม่ต้องอด

คงต้องรอ ๑๕ ปี อย่างที่ อจ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ว่าละมัง