วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 04, 2560

นักวิชาการสถาบัน ‘ไซน์โป’ แห่งปารีสชี้ พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของไทยทรงอำนาจเยี่ยงราชาธิปไตย





นักวิชาการสถาบัน ‘ไซน์โป’ แห่งปารีสชี้ พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของไทยทรงอำนาจเยี่ยงราชาธิปไตย

เป็นเนื้อหาสำคัญในบทความทางวิชาการชื่อ “Seeking more power, Thailand’s new king is moving the country away from being a constitutional monarchy.” ที่เขียนโดย เออเจนี่ เมริโอ อาจารย์ผู้บรรยายประจำสถาบันศึกษาการเมืองแห่งปารีส อันมีชื่อเสียงอันดับสี่ของโลกที่รู้จักกันในนาม ‘ไซน์โป’ ตีพิมพ์บนเว็บไซ้ท์ ‘เดอะคอนเวอร์เซชั่น’ ซึ่งทั้งไซน์โปและมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ให้การเกื้อหนุน

(http://theconversation.com/seeking-more-power-thailands-new…)





บทความกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงแทรกแซงกระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญ “ในขอบข่ายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการณ์ยุคใหม่ของชาติ”

ประการแรก ทรงยืนกรานที่จะปฏิรูปเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อที่จะได้ทรงเสด็จประทับนอกประเทศได้โดยไม่ต้องแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ ‘ชั่วคราว’ (Pro tempore) ทุกครั้งที่มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร

“นี่จะทำให้พระองค์ทรงราชย์ปกครองจากนครมูนิคในเยอรมนี ที่ซึ่งทรงประทับอาศัยตลอดสองปีที่ผ่านมา” บทความระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ด้วยมติเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะทหารฮุนต้าเป็นผู้แต่งตั้ง

ประการที่สอง ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระบรมราชโองการทุกอย่างไม่ต้องมีผู้รับสนอง (หรือ countersigns) ผู้เขียนชี้แจงว่ารายละเอียดในเรื่องนี้ยังไม่กระจ่างชัดนัก หากแต่ตีความได้ว่า ในกรณีพิเศษ พระมหากษัตริย์ทรงสามารถออกคำสั่งหรือมีพระราชโองการด้วยพระองค์เองได้

“ท่าทีเช่นนี้เทียบได้กับระบอบสมบูรณายาสิทธิราช” ผู้เขียนอ้างว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ๑๐ นายเพื่อทำการแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

ประการสุดท้าย พระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเรียกคืนพระราชอำนาจในการแก้ไขวิกฤตขัดแย้งในชาติ (หรือผ่าทางตันการเมือง) ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โอนไปให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติมาตรา ๕

“คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙ ที่แต่งตั้งโดยคณะทหารฮุนต้าทำการโอนอำนาจเช่นนี้เพราะกลัวว่าจะมีการใช้อำนาจที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างมุทะลุและไม่เหมาะสมโดยพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่

นี่รวมถึงอำนาจ ‘วีโต้’ ยับยั้งในทางบริหารและนิติบัญญัติ รวมทั้งอำนาจในการยุบสภา

อีกทั้งยังเป็นไปได้มากยิ่งว่าพวกผู้ร่างกลัวว่าการใช้พระราชอำนาจในการทะลวงทางตันทางการเมือง จะยิ่งทำให้วิกฤตขยายออกไปมากขึ้น

แท้จริงแล้วอำนาจแก้ไขวิกฤตดังที่นิยามไว้ในมาตรา ๕ เป็นอำนาจที่ไม่มีข้อจำกัดและไม่กำหนดขอบข่าย จะพบได้ในระบบกฎหมายประเพณี ที่ซึ่งข้อจำกัดของขอบข่ายอำนาจมอบให้กับ ‘การแก้ไขวิกฤต’ หนึ่งๆ เท่านั้น” เออเจนี่ เมริโอ ระบุ

ผู้เขียนกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญยุคใหม่ของไทยตลอดมา เป็นกระบวนการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรอง แต่ว่ากระบวนการเช่นนี้ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ความเห็นพ้องต้องกัน

“ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ พระมหากษัตริย์ภูมิพลเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงแสดงบทบาททัดทานอำนาจอิทธิพลของทหารด้วยการไม่ทรงรับร่างรัฐธรรมนูญและส่งพระราชวินิจฉัยไปยังนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ทรงมีพระราชโองการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านการสถาปนาแล้วด้วยซ้ำ”

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ดูเหมือนประเทศจะเข้าสู่ระบบที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy อย่างจริงจัง พระบรมราชโองการต่างๆ ของสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวต้องมีการสนองโดยนายกรัฐมนตรี

“ไม่มีการใช้พระราชอำนาจวีโต้ร่างกฎหมาย (ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น) ฝ่ายตุลาการแสดงความเป็นอิสระ และกองทัพดูเหมือนจะอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือน”

บทความทิ้งท้ายว่า “เมื่อพระมหากษัตริย์วชิราลงกรณ์ทรงแปลงพระราชอำนาจทางสัญญลักษณ์ในรัฐธรรมนูญไปเป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ด้วยพระองค์เองตามพระราชประสงค์ อันเป็นสิ่งที่มาตรา ๕ จงใจจะหลีกเลี่ยงละก็

การรื้อฟื้นแบบแผนดั้งเดิมในการปกครองโดยตรงของพระมหากษัตริย์ กำลังจะมาถึงสยามเมืองยิ้มแล้วละ”