วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 02, 2560

เปิดเปลือยห้องเช่าฯ ทำไมต้องเล่าเรื่องนักโทษ 112 + รายงานประจำเดือนมกราคม 2560 จาก ILaw





เปิดเปลือยห้องเช่าฯ ทำไมต้องเล่าเรื่องนักโทษ 112

วานนี้(29 มกราคม 2560) เวลา 17.00 น. ที่ร้านหนังสือ The Writer’s Secret iLaw จัดงานเสวนาเปิดตัวพ็อกเก็ตบุคเล่มใหม่ “ห้องเช่าหมายเลข 112” ภายใต้ชื่องาน “ห้องเช่าหมายเลขนี้ จะกี่ปีก็แสนนาน”

ก่อนเริ่มเสวนา มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังทยอยเดินทางมาที่ร้านราว 40 คน บรรยากาศในร้านเล็กๆเลยดูแน่นขนัดยิ่งขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาเดินตรวจตราพลางถ่ายรูปบรรยากาศในงาน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีการห้ามปรามการจัดกิจกรรมนี้แต่อย่างใด

และเมื่อถึงเวลาผู้ดำเนินรายการทั้ง ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จึงเชิญตัวแทนกองทุน สองกองทุนคือ สมาคมเพื่อเพื่อน และกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง ออกมาพูดถึงการดำเนินงานช่วยเหลือนักโทษการเมืองของแหล่งทุน โดยรายได้จากการขายหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งจะมอบให้กับทั้งสองกองทุนนี้

จากนั้นในวงเสวนา อานนท์ ชวาลาวัณย์ ตัวแทนคณะเขียนของ iLaw เริ่มเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ จุดเริ่มต้น คือการได้พบปะพูดคุยกับจำเลยที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และอยากนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งที่พาเข้าไปค้นพบอีกมิติหนึ่งของชีวิตคนที่หลากหลาย ผ่านสายตาการมองที่แสดงถึง “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งอาจจะถูกมองข้าม เมื่อเข้าสู่กระบวนการถูกให้มองเป็นคนผิด

นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้กำกับภาพยนต์สารคดี Mr.Zero(คนหมายเลขศูนย์) ได้เปลือยถึงความคิดและความสนใจในกฎหมายมาตรา 112 ว่า “สนใจและมีคำถามเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้อยู่แล้ว ทั้งความยุติธรรม ความเป็นกลาง ในการดำเนินกระบวนการมีอยู่จริงๆไหม คดีแรกที่สนใจคือ คดีของศศิวิมล สิ่งที่รับรู้ได้คือ รู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกฎหมายนี้เราไม่สามารถรู้ได้ว่า จำเลยมีความผิดจริงๆ เพราะเขานั้นถูกตัดสินไปแล้ว และหากพูดถึงตัวหนังสั้น ส่วนตัวเป็นคนที่สนใจทำสารคดี จึงเลือกลุงบัณฑิต เป็นตัวดำเนินเรื่อง ” และเมื่อทาง iLaw ได้ติดต่อให้มาเขียนเรื่องราวของลุงบัณฑิต จึงเป็นการทบทวนตัวเอง และสรุปทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวเขา และพยายามจะดึงความประทับใจ มุมน่ารัก และความอบอุ่นของลุงออกมา

อานนท์ ชวาลาวัณย์ เล่าถึงบางเรื่องราวภายในเล่มว่า บางกรณีไม่เคยจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นได้ บางกรณีหลักฐานอ่อนมาก แต่ก็ถูกดำเนินคดี และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวเสริมถึงหมุดหมายสำคัญของ หนังสือห้องเช่าหมายเลข 112 คือมิได้ต้องการให้ทุกคนเปลี่ยนแปลง หรือ ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 แต่ต้องการให้ทุกคนมองเห็นอีกมุมของนักโทษในคดีนี้

นอกจากผู้เขียนเเล้ว ในงานยังมีผู้มาเล่าประสบการณ์และผลกระทบหลังจากคนในครอบครัวถูกดำเนินคดีตามมาตรานี้ คือแพรว ลูกสาวสิรภพ หนึ่งในเจ้าของเรื่องเล่าในเล่มห้องเช่าฯนี้ แพรวพูดถึงชีวิตของพ่อ จากเดิมเป็นช่างรับเหมาก่อสร้าง ครอบครัวมี 4 คน พี่น้อง 3 คน และตัวคุณพ่อเอง 1 คน ตัวคุณพ่อ ไม่รับสารภาพโดยให้เหตุผลว่า มันไม่ยุติธรรม ซึ่งเราแค่คิดอยากให้เรื่องจบเร็ว อยากเจอพ่อเร็วๆ จึงอยากให้พ่อเลือกรับสารภาพ แต่ตอนนี้ก็พอเข้าใจพ่อบ้างแล้ว

แพรวยังกล่าวต่อว่า ความท้อยังมีอยู่บ้าง ท้อมาเรื่อยๆ แต่เราเองก็ต้องอยู่กับมัน ทางเยียวยาที่ดีที่สุดคือนึกถึงวันที่พ่อออกมา แล้วจะรู้สึกดี สิ่งที่อยากจะฝากบอกในอนาคต หากได้เปิดหนังสือ และลองเปิดใจรับรู้อีกมุมหนึ่ง อาจจะทำให้เขาเปลี่ยนความคิดอะไรได้บ้าง

ทั้งนี้ ระหว่างงานเสวนา ด้านนอกของร้าน ยังมีกิจกรรมรณรงค์เขียนจดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน อีกหนึ่งในผู้ต้องหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จากการแชร์บทความบีบีซีไทย ซึ่งขณะนี้ถูกจองจำในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น ในชั้นฝากขังด้วยเหตุที่ศาลสั่งเพิกถอนประกันตัว

*หมายเหตุสำหรับผู้ที่สั่งหนังสือแบบพรีออเดอร์ผ่านทางเพจ ทางiLaw กำลังทยอยจัดส่งให้ทางไปรษณีย์

ที่มา FB

iLaw

ooo

มกราคม 2560: ขังต่อไผ่ ดาวดิน - สั่งจำคุก บุรินทร์ในคดี 112 10 ปี หกเดือน – เดินหน้าฟ้องคดีล่าแม่มด





มกราคม 2560: ขังต่อไผ่ ดาวดิน - สั่งจำคุก บุรินทร์ในคดี 112 10 ปี หกเดือน – เดินหน้าฟ้องคดีล่าแม่มด





รายงานประจำเดือนมกราคม 2560

ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพที่สำคัญในเดือนแรกของปี 2560 ได้แก่ความเคลื่อนไหวของคดี 112 ทั้งกรณีการไม่ให้ประกันตัวจตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดินที่มีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวแสดงความกังวลต่อการพิจารณาคดี นอกจากนี้ก็มีความเคลื่อนไหวคดีของบุรินทร์ที่ศาลทหารมีคำพิพากษาแล้ว รวมถึงคดี 112 ที่เกิดขึ้นหลังในหลวงรัชกาลที่เก้าสวรรคตของหนุ่มโรงงานชาวจังหวัดชลบุรีซึ่งอัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว

ในส่วนของคดีเสรีภาพอื่นๆก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นเช่นกัน ได้แก่การพิพากษาคดีพ.ร.บ.ความสะอาดฯของสิรวิชญ์จากการโปรยกระดาษโพสต์อิทและการพิพากษาคดีฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมของธเนตรจากการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์

ขัง 'ไผ่ ดาวดิน' ข้ามปีจากกรณีแชร์บทความบีบีซี

วันที่ 6 มกราคม 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำสั่งศาลฎีกายกคำร้องของจตุภัทร์ที่ขอให้คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาคสี่ที่ตัดสินไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้จตุภัทร์ต้องจำคุกต่อไป คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้จตุภัทร์ไม่สามารถไปสอบวิชาสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษาของตนเองได้

ต่อมาในวันที่ 20 มกราคม 2560 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังจตุภัทร์ผลัดที่ห้า ขณะที่ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและการพิจารณาคดีลับโดยเห็นว่า การพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยจะเป็นการประกันหลักสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา แต่ศาลยังคงยืนยันในคำสั่งพิจารณาคดีลับ จตุภัทร์จึงขอให้ทนายออกจากห้องพิจารณาคดีเนื่องจากไม่ต้องการรับรองกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม หลังจากการไต่สวนคำร้องขอฝากขังเสร็จสิ้น ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ฝากขังจตุภัทร์ต่อไปอีก 12 วัน

การพิจารณาไม่ให้จตุภัทร์ประกันตัวสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอยู่บ้าง กลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมต่างเดินหน้าเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับจตุภัทร์

ในวันที่ 30 มกราคม 2560 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อประธานศาลฎีกา เนื้อความกล่าวถึงความเสื่อมถอยของระบบนิติรัฐและการเพิกถอนสิทธิประกันตัวโดยปราศจากข้อเท็จจริงรองรับ ขณะที่นักกิจกรรมก็จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวจตุภัทร์เช่น กิจกรรมจุดเทียนเรียกร้องให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ที่หน้าศาลอาญารัชดาและการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณสกายวอล์กแยกราชประสงค์

จตุภัทร์ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯด้วยการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีไทย จตุภัทร์เคยได้ประกันตัวในคดีนี้แต่ต่อมาถูกถอนประกันโดยศาลให้เหตุผลว่าจตุภัทร์มีพฤติการณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐบนโลกออนไลน์และไม่ลบโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีออกจากเฟซบุ๊ก

ความเคลื่อนไหวคดี 112 อื่นๆ

วันที่ 23 มกราคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การหฤษฎ์และณัฏฐิกา จำเลยคดีแปดแอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธที่ถูกฟ้องคดี 112 เพิ่มเติม จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 มีนาคม 2560

วันที่ 26 มกราคม 2560 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำสั่งให้รวมคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯกับคดีฉ้อโกงของนพฤทธิ์เข้าด้วยกันเนื่องจากทั้งสองคดีมีพยานหลักฐานชุดเดียวกันโดยนพฤทธิ์ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯด้วยการแอบอ้างพระนามของสมเด็จพระเทพฯเพื่อเรียกรับผลประโยชน์

เบื้องต้นศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐานช่วงวันที่ 16 หรือ 17 กุมภาพันธ์ 2560 อัยการแสดงความกังวลว่าเอกสารหลักฐานฉบับจริงเกือบทั้งหมดถูกส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาโดยไม่ได้คัดสำเนาเอาไว้อีกชุดหนึ่ง ศาลจังหวัดกำแพงเพชรจึงต้องเลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 โดยนพฤทธิ์ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558แล้ว

วันที่ 27 มกราคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดบุรินทร์ผู้ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯด้วยการสนทนากับบุคคลอื่นในโปรแกรมสนทนาของเฟซบุ๊กฟังคำพิพากษา บุรินทร์ถูกฟ้องว่าทำความผิดสองกรรม กรรมแรกจากการโพสต์สถานะบนเฟซบุ๊กส่วนตัว อีกหนึ่งกรรมจากการสนทนาแบบส่วนตัวกับบุคคลอื่น บุรินทร์ให้การรับสารภาพในความผิดทั้งสองกรรม

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษบุรินทร์ดังนี้

ความผิดกรรมแรกลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมจำคุก 9 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน

ความผิดกรรมที่สองลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน

รวมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน

ความเคลื่อนไหวคดี 112 ที่เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าท่ามกลางกระแสการ 'ล่าแม่มด'

ในเดือนมกราคมมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญของคดี 112 ที่เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าสองคดีโดยทั้งสองคดีเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสล่าแม่มดหรือการที่คนบางส่วนใช้'มาตรการทางสังคม'จัดการกับบุคคลที่พวกเขามองว่าแสดงออกในลักษณะที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการสวรรคต

ความเคลื่อนไหวคดีแรก ในวันที่ 11 มกราคม 2560 อัยการจังหวัดชลบุรีสั่งฟ้อง "เค" ชายชาวจังหวัดชลบุรีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯต่อศาลจังหวัดชลบุรี 'เค'คือบุคคลที่ถูกฝูงชนนำตัวมากราบพระบรมฉายาลักษณ์และถูกทำร้ายร่างกาย

ความเคลื่อนไหวคดีที่สอง ในวันที่ 18 มกราคม 2560 อัยการนัดอมรโชติซิงห์ ชายชาวซิกข์ที่สวมเสื้อสีชมพูไปเดินห้างสรรพสินค้าในช่วงหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าแล้วเกิดมีปากเสียงกับบุคคลที่เดินห้างอยู่จนเจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุและมีการดำเนินคดีในภายหลัง คดีนี้อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องในวันนัดและให้เลื่อนการฟังคำสั่งออกไปโดยยังไม่กำหนดวันนัดใหม่

ความเคลื่อนไหวคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพอื่นๆ

นอกจากความเคลื่อนไหวคดี 112 ที่เป็นความเคลื่อนไหวหลักของคดีเสรีภาพในเดือนนี้ ในเดือนมกราคมยังมีคำพิพากษาคดีที่เกิดจากการแสดงออกอีกสองคดีซึ่งทั้งสองคดีศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยจากการแสดงออกทางการเมือง และกรณีที่นักกิจกรรมถุกตำรวจปรับจากการใช้เครื่องเสียงระหว่างจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วย

วันที่ 12 มกราคม 2560 ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาปรับสิรวิชญ์ หรือ จ่านิวเป็นเงิน1,000บาท หลังถูกฟ้องตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ คดีนี้สิรวิชญ์ถูกฟ้องว่าทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนทางสาธารณะจากการทิ้งกระดาษโพสต์อิทลงพื้นเพื่อให้คนเก็บไปเขียนข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวแปดแอดมินเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์ระหว่างทำกิจกรรมที่ลานสกายวอล์กบีทีเอสช่องนนทรี ศาลพิพากษาว่าสิรวิชญ์มีความผิดเพราะแม้จำเลยจะไม่ได้มีเจตนาทิ้งสิ่งปฏิกูลแต่กระดาษที่โยนลงพื้นอาจมีคนเก็บไปเขียนข้อความไม่หมดและตกค้างเป็นสิ่งปฏิกูล

วันที่ 18 มกราคม 2560 ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปที่สน. ลุมพินี และปรับเป็นเงิน 100 บาทจากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตในกิจกรรม "อะไรก็ได้เพื่อไผ่" บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกราชประสงค์โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว "ไผ่ ดาวดิน"

ในวันเดียวกันศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันตัวณัฐดนัย ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาในความผิดฐานอั้งยี่ มาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ณัฐดนัยเป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมหลังเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการถูกโจมตีโดยกลุ่มแฮคเกอร์เพื่อประท้วงต่อการผ่านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับใหม่ มีข้อน่าสังเกตว่าในบันทึกการจับกุมไม่ได้ระบุพฤติการณ์ความผิดไว้อย่างชัดเจนนัก

วันที่ 25 มกราคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพสอบคำให้การธเนตร หนึ่งในจำเลยคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ธเนตรรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกันให้ลงโทษจำคุกธเนตรเป็นเวลาแปดเดือนแต่เนื่องจากธเนตรให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุกสี่เดือนโดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากธเนตรถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีเกินเวลารับโทษศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัว อย่างไรก็ตามธเนตรถูกอายัดตัวต่อเพราะเขาถูกดำเนินคดียั่วยุปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา116จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กอีกคดีหนึ่งซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ประเภทรายงาน:

รายงานประจำเดือน