วันพฤหัสบดี, กันยายน 01, 2559

นายกฯ เกรียงศักดิ์ เป็นบุคคล ที่น่าจดจำ แต่ถูกลืม - บทเรียน ล้ำค่า ‘เกรียงศักดิ์’ โมเดล ปลายปี 2522





ที่มา มติชนออนไลน์
30 ส.ค. 59

ยิ่งมีการอ้างอิงไปยัง “เปรมโมเดล” ยิ่งทำให้เงาสะท้อนการทะยานไปยังตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเดือนมีนาคม 2523

มากด้วยความโดดเด่น เย้ายวนต่อการศึกษา

เหมือนกับว่าฐานทางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือ ฐานของกองทัพ ฐานของทหารในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็น “ผบ.ทบ.”

ทั้งๆ ที่เหมือนกับการเข้ามาเท่ากับไปหัก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

อาจสร้างความแค้นเคืองให้กับบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งมาจาก “การแต่งตั้ง” เมื่อเดือนเมษายน 2522 โดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ด้านหลักของสมาชิกสภานิติบัญญัติคือ “ทหาร”

และฉันทามติของทหาร “ส่วนใหญ่” ในขณะนั้นเทคะแนนไปให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผ่านการเคลื่อนไหวของบรรดา “ยังเติร์ก”

ฐานกองทัพ ฐานทางทหาร ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงยังแกร่ง

ฐานของกองทัพ ฐานของข้าราชการประจำเป็นฐานทางด้าน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” อันถือเป็นสภาแต่งตั้ง คำถามก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เอาตัวรอดมาได้อย่างไรใน “สภาเลือกตั้ง”

นั่นก็คือ สภาผู้แทนราษฎร

ต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 คือ พรรคขนาดใหญ่ 2 พรรค

1 พรรคกิจสังคม 1 พรรคประชาธิปัตย์

2 พรรคนี้เองที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อประสบวิกฤตพลังงานตอนปลายปี 2522

2 พรรคนี้เองที่ “ยังเติร์ก” ต่อสายเข้าไป “เชื่อม”

พลันที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประจักษ์ในความร่วมมือกันระหว่าง 1 พลังในสภาผู้แทนราษฎร 1 พลังในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงรู้แล้วว่า “ไผเป็นไผ”

อย่าได้แปลกใจหาก 1 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะเดินทางเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร่วมเดินทางไปด้วย

1 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการประกาศลาออก

ผลก็คือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยุติลงโดยพื้นฐาน ผลก็คือ สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจไปยังการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแทน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

สปอตไลต์ฉายจับไปยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยพลัน

โดยโครงสร้างแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 คล้ายกับว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็น “สภาแต่งตั้ง” จะเป็นฐานกำลังให้กับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

อาศัยพรรคเสรีธรรมและบางส่วนจากสภาผู้แทนราษฎรก็จัดตั้ง “รัฐบาล” ได้

คำถามก็คือ แล้วรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมีเสียงข้างน้อยใน “สภาผู้แทนราษฎร” อยู่ได้อย่างเป็นสุขหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่เป็นสุข

การดำรงอยู่ของ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นับแต่เดือนมีนาคม 2523 เป็นต้นไป จึงเป็นสุขเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

เพราะว่ารัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค

ไม่เพียงแต่ได้พรรคกิจสังคม ไม่เพียงแต่ได้พรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังได้พรรคชาติไทย หากแต่ยังยื่นไมตรีไปยังพรรคประชากรไทย

“เอกภาพ” จึงเข้ามาแทนที่

เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า หากมองผ่าน “รัฐสภา” รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อาจแลดูแข็งแกร่ง แต่หากมองเฉพาะ “สภาผู้แทนราษฎร” รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กลับง่อนแง่น โงนเงน มิอาจสร้างผลงานการบริหารได้

ตรงกันข้าม รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แข็งแกร่งทั้ง “รัฐสภา” และ “สภาผู้แทนราษฎร”

อาจมีบางท่านแย้งว่า “ประยุทธ์โมเดล” ก็มากด้วยความแข็งแกร่งเพราะมีฐานจาก ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

แต่ความหวาดเสียวของ “ประยุทธ์โมเดล” ก็เหมือนกับที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ประสบมาแล้วและจบลงอย่างปวดเจ็บมาแล้ว

“ประยุทธ์โมเดล” จึงต้องศึกษา “เปรมโมเดล” มากกว่านี้

.....

นายกฯ เกรียงศักดิ์ เป็นบุคคล ที่น่าจดจำ แต่ถูกลืม
เขาทำรัฐประหาร ล้มรัฐบาลธานินทร์ ได้ทันการณ์
เขาอภ้ยโทษ เหยื่ออธรรม 6 ตุลา สร้างความปรองดอง
เขาผูกมิตรกับ 3 ประเทศอินโดจีน เวียดนาม เขมร ลาว

เขาทำให้ ไทยหลุดออกจากบ่วงกรรม สงครามเย็น
แต่อำนาจเดิม บารมีเดิม เงินทุนเดิม
ไม่รับผู้นำ อย่างเขา
เขาจึงถูก บีบออก ในสภาฯ เปิดทางให้ เปรม 8 ปี...ครับ


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ Charnvit Kasetsiri