วันอังคาร, มิถุนายน 21, 2559

ความคล้ายกันของวิธีการจัดการธรรมกาย กับวิธีการจัดการทักษิณ + คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ธรรมกาย




ที่มา FB

Vichak Panich

สิ่งที่น่าสังเกตคือ วิธีการจัดการธรรมกาย กับวิธีการจัดการทักษิณ
ดูจะมีความคล้ายกันมาก...
มากอย่างไม่บังเอิญ

ยิ่งตัวละครหลักเป็นตัวเดียวกัน นั่นคือ พุทธอิสระ
ทั้งการเรียกร้องให้ใช้กำลังทหารและมาตรการเด็ดขาด "จัดการ" ยังเหมือนกันอีกต่างหาก

ธัมมชโย คือ พระชั่ว
ชินวัตร คือ นักการเมืองชั่ว
ข้อกล่าวหาที่สร้างความชอบธรรม คือ "โกง"
การยึดอำนาจธรรมกายหรือยึดอำนาจพรรคเพื่อไทย คือ การปฏิรูป

ทักษิณ เลยกลายเป็นตัวแทนประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่นักประชาธิปไตย
เหมือนกับที่ธรรมกาย "จะไม่มอบตัวจนกว่าจะมีประชาธิปไตยสมบูรณ์" (โคตรตลก) ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าธรรมกายนี่เคยโปรประชาธิปไตยตอนไหน?

พวกเขาถูกผลักให้มาถือธงประชาธิปไตยสู้คล้ายๆ กัน ก็เพราะทั้งสองกลุ่มมีฐานมวลชนจำนวนมาก และกำลังถูกจัดการด้วยอำนาจพิเศษของเผด็จการทหารเหมือนกัน

คสช.ต้องการปฏิรูปศาสนาไปทำไม?

ผมมองว่า คสช. เชื่ออย่างสุดใจเหมือนความคิดของอีลีทพุทธหลายๆ คนว่า "พุทธศาสนาที่บริสุทธิ์" คือ พุทธศาสนาที่ไม่มีธรรมกาย ธรรมกายเป็นต้นเหตุที่ทำให้พุทธศาสนาแปดเปื้อน ศีลธรรมศาสนา ศีลธรรมคนดี ศีลธรรมความดี จะถูกล้อเลียนและหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปในทันที หากกลายเป็นศีลธรรมพุทธแบบธรรมกาย

ปลุกเสก ไสยศาสตร์ ลัทธิพิธีอะไรต่างๆ นั้นยังพออนุโลมได้ แต่พุทธไทยในฐานะสถาบันหลักของชาติ ต้องไม่ใช่ธรรมกาย

การปฏิรูปศาสนา ของคสช. จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้คงอยู่ต่อไป

การกำจัดผีธรรมกาย จึงสำคัญพอๆ กับ การกำจัดผีทักษิณ เช่นนั้นแล

.....

ความเห็นจากโพสต์.....

Kasian Tejapira -  วิธีออกเก่านะครับ เวลาจัดการ mass movement ที่มีผู้นำโดดเด่น ก็เลยลอกแบบเก่ามาใช้ กระบวนท่า วาทกรรมคล้ายกันเลย ทักสินเป็นผีประชาธิปไตย ธรรมกายเป็นผีพุทธ ต้องเอาออก จะได้มีประชาธิปไตยและพุทธแบบไทยดั้งเดิมเชื่อง ๆ ว่าง่ายต่อไป

กันต์ แสงทอง - พุทธศาสนาที่รัฐคุมได้

Vichak Panich - สมัยก่อนมีดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตาอยู่ 3 สำนัก: ธรรมกาย สวนโมกข์ สันติอโศก ในมุมมองของ status quo สองสำนักหลังนั้นเชื่องไปแล้ว สำนักแรกนั้นใหญ่โตขึ้น แข็งแรงขึ้น มีมวลชนมากขึ้น และยัง "ยังไงยังไงอยู่"

ooo

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ธรรมกาย




MATICHONWEEKLY - มติชนสุดสัปดาห์·
MONDAY, JUNE 13, 2016

คอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10-16 มิ.ย. 59


อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ปราชญ์ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานกล่าวไว้ว่า แต่เดิมทางฝ่ายมหายานและเถรวาทมีมติคล้ายๆ กันว่าพระพุทธเจ้านั้นประกอบด้วย "นิรมาณกาย" คือกายที่มีเลือดเนื้อแบบมนุษย์เรานี่แหละ และมี "ธรรมกาย" ได้แก่พระคุณต่างๆ เช่น พระปัญญาธิคุณ กรุณาธิคุณ ฯลฯ 

ชาวพุทธไทยคุ้นเคยกับข้อความในพระบาลีว่า "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา" 

นั่นแหละครับ ธรรมกายในมติของฝ่ายเถรวาท 

คือเป็นในลักษณะของการอุปมาว่า พระธรรมคำสอนเป็น พระพุทธเจ้า "ตัวจริงเสียงจริง" ยิ่งกว่า พระพุทธเจ้าที่มีแก่มีตายในโลกนี้ 

ต่อมาทางมหายานขยับขยายแนวคิดนี้ออกไปเป็นทฤษฎี "ตรีกาย" ว่าพุทธะนั้นมีสามกาย คือ นิรมาณกาย สัมโภคกาย และ ธรรมกาย 

พุทธองค์ที่เป็นมนุษย์อย่างเราคือระดับนิรมาณกาย ในระดับอันเป็นสภาวะทิพย์แต่ยังมีรูปลักษณะเรียกว่า สัมโภคกาย และระดับสุดท้ายคือธรรมกายนั้น คือระดับที่เป็นนามธรรม 

ธรรมกาย เป็นสภาวะอันนิรันดร์ อาจเป็นมูลการณะหรือแหล่งกำเนิดของสรรพชีพ เป็น "จิตสากล" หรืออะไรแบบนั้น บางครั้งนักปราชญ์ท่านก็ถือว่า เป็นสิ่งเดียวกับ "พุทธภาวะ" "ตถาคตครรภ์" 

เราจะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้นพยายาม "พัฒนา" ความหมายของ "พุทธะ" จากบุคคลในประวัติศาสตร์มาสู่ "สภาวะ" บางอย่างที่มนุษย์ทุกคนมีและเข้าถึงได้ 

หรือแม้แต่เป็นสภาวะที่แผ่ซ่านทั่วไปในจักรวาล "สรรพสิ่งล้วนพุทธะ" 

ความคิดเรื่องตรีกายนั้นยังเกี่ยวพันกับวิธีปฏิบัติและการเข้าใจธรรมชาติของจิต ในแนวคิดของพุทธศาสนาวัชรยาน (ฮินดูก็มีความคิดคล้ายๆ กันว่า) ในขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่นั้น เรามีประสบการณ์อยู่สามอย่างเสมอ คือการตื่นอยู่ การหลับสนิท และการหลับฝัน 

ภาวะนี้เป็นเช่นเดียวกับขั้นตอนของการตายของเรา ในคัมภีร์คัมมรณศาสตร์ของทิเบตพูดถึงสามสภาวะ คือภาวะขณะเราตายสนิท ขณะอยู่ในอันตรภพ (บาร์โด - ระหว่างกลางก่อนที่จะไปสู่ภพภูมิอื่น) และเกิดใหม่ 

คัมภีร์ยืนยันว่า ในขณะที่เรานอนทุกๆ คืน กระบวนการของการหลับเป็นเช่นเดียวกับเวลาที่เราตาย การหลับสนิทเป็นภาวะเดียวกับที่เราตายสนิท หลับฝันคือสภาวะบาร์โด และเกิดใหม่คือสภาวะแบบเดียวกับที่เราตื่น 

ในช่วงสามสภาวะนี้ จิตจะสำแดงตนเองออกเป็นลักษณาการต่างๆ สภาวะที่อยู่ในบาร์โดผู้ตายจะพบกับพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าในปางสันติและพิโรธ 

ที่จริงนิมิตดังกล่าวไม่ใช่สิ่งภายนอกแต่เป็นการสำแดงออกของจิตในลักษณะที่เป็น "สัมโภคกาย" การภาวนาโดยเพ่งนิมิตถึงพระสัมโภคกายในขณะที่มีชีวิตจะทำให้จดจำสภาวะนี้ของจิตได้ และกลืนกลายสู่ สภาวะ "ธรรมดา" 

ส่วนเมื่อตอนที่ตายสนิท (ซึ่งเกิดก่อนสภาวะบาร์โด) ธรรมชาติของ "จิตเดิมแท้" จะฉายกระจ่างขึ้นเพียงชั่วขณะ เป็นสภาวะนามธรรมที่ปราศจากรูปแบบ คือสภาวะ "ธรรมกาย" หากพระโยคาวจรเชี่ยวชาญการภาวนาสภาวะนี้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็อาจกลืนสลายไปพร้อมกับสภาวะ "ธรรมดา" นี้ 

พุทธศาสนาวัชรยานจึงพยายามให้เราเข้าถึงความ "ธรรมดา" คือสภาวะแท้จริงของจิต 

การภาวนาในระดับยึดพระพุทธเจ้าศากยมุนีจึงเป็นการยึดพระนิรมาณกาย นั่นคือจิตที่เข้าสัมพันธ์กับความจริงในระดับวัตถุ 

การภาวนาสร้างนิมิต-สลายนิมิตของพระพุทธเจ้าปางต่างๆ ในระดับสัมโภคกาย จึงเป็นการเข้าสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ต่างๆ ของจิตเองในระดับสำนึก 

และการเข้าสัมพันธ์ (ภาวนา) กับ "ธรรมกาย" คือการเข้าสัมพันธ์กับธรรมชาติ "เดิม" ของจิต โดยไม่ผ่านรูปลักษณ์และจินตภาพใด 

หรือในขณะเดียวกัน อาจหมายถึงการเข้าถึงสภาวะที่เป็นเนื้อแท้เบื้องหลังสรรพสิ่งทั้งปวง 

ท่านผู้อ่านคงคิดว่า หลงอ่านมาตั้งนานนึกว่าจะได้เจออะไรมันส์ๆ เกี่ยวกับ "สำนักธรรมกาย" ที่กำลังร้อนๆ อยู่ ที่จริงผมพูดเรื่องแนวคิดธรรมกายที่มีปรากฏในพุทธศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายมหายานและวัชรยานก่อน ท่านผู้อ่านจะได้ลองเปรียบเทียบกับความเข้าใจเรื่องธรรมกายในบ้านเรา 

แล้วค่อยวกไปที่ "วิชชาธรรมกาย" ของหลวงพ่อสดหรือพระมงคลเทพมุนี 

สุดท้ายค่อยแวะไปพูดถึง "สำนักธรรมกาย" สักนิดหน่อย 

ว่ากันว่าที่หลวงพ่อสดค้นพบวิชชาธรรมกายนั้น แกไม่ได้คิดเองนะครับ มีผู้ไปค้นคว้ามาว่า คำว่า "ธรรมกาย" นอกพระบาลี มีปรากฏในจารึกที่พระเจดีย์วัดเสือ จ.พิษณุโลก และยังมีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ "หนังสือพระสมถวิปัสสนาแบบโบราณ" พระมหาโชติ ปัญโญรวบรวมไว้และพิมพ์ในปี พ.ศ.2479 

ในหนังสือเล่มนี้ระบุถึงการภาวนาแบบหนึ่งว่ากันว่าสืบทอดมาในสมัยพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) มีลักษณะตรงกับวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสดมาก เช่น เรียกนิมิตพระพุทธว่าธรรมกาย ใช้คำภาวนาว่าสัมมาอรหัง มีการตั้งฐานกายสำหรับการภาวนา เป็นต้น 

อย่างที่เคยเล่าว่าที่จริงมีอะไรหลายอย่างในธรรมเนียมพระบ้านเรา ยังมีร่องรอยของวัชรยานอันเคยเจริญอยู่ในดินแดนนี้นะครับ รวมทั้งเทคนิควิธีภาวนาที่หลากหลาย 

ทว่าในปัจจุบัน ธรรมเนียมเหล่านี้ (โดยมากมักอยู่ตามต่างจังหวัด) หมดความสำคัญลงหลังจากการปกครองแบบรวมศูนย์ของคณะสงฆ์ไทย และความนิยมแพร่หลายของการปฏิบัติในสายวัดป่า 

วิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสด ก็น่าจะเป็นหนึ่งในเทคนิคปฏิบัติดั้งเดิมอย่างหนึ่งที่คงกลิ่นอายวัชรยานไว้ เช่น การมี "ฐาน" กาย เช่นเดียวกับ "จักร" การเพ่งนิมิต (ไม่ว่าจะเป็นดวงแก้วหรือพระพุทธรูป) การใช้คำว่า "ธรรมกาย" เป็นต้น 

แต่ถ้าเราลองเทียบกับฝ่ายมหายานจะพบว่า "ธรรมกาย" ในวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสดมีความแตกต่างกับแนวคิดเรื่อง "ธรรมกาย" ของฝ่ายนั้นหลายประการ 

หลวงพ่อสด (ที่จริงคือทั้งจารึกและในหนังสือเล่มนั้น) ใช้คำว่า ว่า "ธรรมกาย" ในความหมายของ "ภาพนิมิตของพระพุทธเจ้า" ที่ปรากฏในขณะทำสมาธิมากกว่า การพูดถึง "สภาวะ" บางอย่างที่เป็นนามธรรม
ถ้าเทียบกับคำสอนและเทคนิควิธีการของพุทธศาสนาฝ่ายอื่น การภาวนาวิชชาธรรมกายแบบหลวงพ่อสดคล้ายคลึงกับ การภาวนาในระดับ "สัมโภคกาย" มากกว่า และเป็นการตั้งนิมิตโดยไม่มีการสลายนิมิต 

ดังนั้น จึงเป็นการใช้คำว่า "ธรรมกาย" ในบริบทพุทธศาสนาแบบไทย โดยไม่เกี่ยวข้องกับความหมาย แนวคิดหรือทฤษฎีของพุทธศาสนาฝ่ายอื่น แม้ว่าอาจเป็นเข้าใจได้ว่าเป็น "ร่องรอย" ความสัมพันธ์บ้างก็ตาม 

จาก "วิชชาธรรมกาย" ของหลวงพ่อสด มาสู่ "สำนักธรรมกาย" อันกลายเป็น "สถาบัน" พุทธศาสนาที่ใหญ่โตมโหฬาร 

สำหรับผมในแง่ "คำสอน" ของสำนักธรรมกาย ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นปัญหาสำหรับผมนัก อย่างที่เคยเรียนซ้ำๆ แล้วครับว่า ถ้าเราอยู่บนจุดยืนของเสรีภาพทางศาสนา จะตีความจะว่าไงก็ว่าไปเถอะ เป็นสิทธิของทั้งคนสอนและคนที่เชื่อ 

และถ้าคำสอนนั้นไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิหรือก่อให้เกิดการกระทำความรุนแรงโดยเฉพาะทางกาย จะสอนอะไรก็สอนไปเถอะ จะรวยแค่ไหนก็รวยไป สาวกก็ต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองทั้งนั้น แลขอให้ตรวจสอบได้แล้วกัน 

แต่ถ้าบอกว่ากระนั้นเถอะ ธรรมกายก็ยังสังกัดเถรวาทลังกาวงศ์แบบสยาม จึงควรต้องมีคำสอนเหมือนกันกับวัดอื่นๆ 

ผมไม่แน่ใจนักครับที่บอกว่าต้องมีคำสอนเหมือนๆ กันนี่เหมือนใคร? 

เพราะแม้แต่พุทธศาสนานิกายเดียวกันเองยังมีการตีความ มีวัตรปฏิบัติ และคำสอนที่หลากหลาย ดูอย่างสำนักของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ พุทธะอิสระ วัดป่าสารพัดอาจารย์ พระสงฆ์ล้านนา พระปักษ์ใต้ ฯลฯ ทั้งหมดนี่ก็สังกัดนิกายเถรวาทและคณะสงฆ์ไทยทั้งนั้น 

ผมว่าจริงๆ คำว่า "สังกัดนิกาย" ที่มีใช้กันอยู่ในบ้านเรา น้อยนักที่จะคิดถึงการสังกัดในแง่คำสอน แต่สังกัดในแง่การ "ปกครอง" มากกว่า 

ธรรมกายเขาถึงไม่ยอมแยกนิกายดังที่หลายคนเสนอนะครับ เพราะผมคิดว่าเขายังมีสำนึกในแง่การสังกัดคณะสงฆ์ไทยทางการปกครอง ซึ่งเกี่ยวพันกับอะไรอีกมาก เช่นสมณศักดิ์และอื่นๆ 

ปัญหาของสำนักธรรมกายสำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องคำสอน แต่สำนักธรรมกายนั้นไม่รักษาระยะห่างระหว่างตนเองกับอำนาจรัฐ และพยายามที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐด้านศาสนาเสียเอง 

ดังเช่น ในสมัยรัฐบาลก่อนโครงการเกี่ยวกับพุทธศาสนาและจริยธรรมที่จัดโดยรัฐ ดูก็รู้ครับว่ามีเอี่ยวกับธรรมกาย ไม่ว่าจะบวชพระกันเป็นล้านๆ รูป อบรมครูทั้งประเทศอะไรแบบนี้ เพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่างธรรมกายกับผู้บริหาร 

นี่ต่างหากคือปัญหาจริงๆ ของธรรมกาย สำหรับรัฐสมัยใหม่ที่ควรเป็นกลางทางศาสนา 

ผมคิดว่าการเร่งจัดการกับสำนักธรรมกายในขณะนี้จึงไม่ใช่การปฏิรูปศาสนาที่แท้จริง แต่เป็นการจัดการกับฐานทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซะมากกว่า 

ทีพระบางรูปที่ทำผิดกฎหมายซึ่งๆ หน้า ยังลอยหน้าลอยตาเป็น "อิสระ" ขนาดนี้ ก็รู้ซะก่อนว่าใครเป็นใคร จะหวังให้รัฐบาลพิเศษชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์นี่เพ้อฝันเกินไปกระมัง 

ปัญหาวุ่นๆ เหล่านี้ ทางออกเดียวที่มี ผมขอพูดคำเดิมครับ 

แยกศาสนาออกจากรัฐ!