วันอังคาร, สิงหาคม 04, 2558

การผลิดอกของขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย




บทความแปล: การผลิดอกของขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย

ที่มา ประชาไท
Sun, 2015-08-02 09:52
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เขียน
อิทธิพล โคตะมี และ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ แปล

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ทันทีที่นักศึกษาและบัณฑิตทั้ง 14 คนเดินออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พวกเขาก็ประกาศว่าจะเดินหน้าต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อไป “นักศึกษา 14 คน” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement) พวกเขาถูกจับกุม และจองจำในห้องขังเป็นเวลา 12 วัน จากคำตัดสินของศาลทหารต่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอย่างสันติของพวกเขา การปล่อยตัวดังกล่าวบ่งชี้ว่าเป็นการพักยกเพียงชั่วคราวมากกว่ารอดพ้นจากการลงโทษอย่างถาวร เนื่องจากพวกเขามีโอกาสต้องโทษจำคุกถึง 6 เดือนจากการประท้วงครั้งนั้น และอีก 7 ปี สำหรับข้อกล่าวหาที่คลุมเครือในการปลุกระดม ซึ่งรัฐบาลสามารถจะเลือกดำเนินคดีแก่พวกเขาในเวลาใดก็ได้

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและกองทัพ ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการ “ทำสำเร็จ” ครั้งที่ 12 นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ในห้วง 83 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับทั้งเผด็จการเบ็ดเสร็จ, ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยๆเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี "ประชาชนไทยและผู้ปกครองก็ยังถูกขังอยู่ในกับดักการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตย ในขณะที่ประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญถึง 19 ฉบับ (ฉบับที่ 20 กำลังถูกร่างฯ) ทุกฉบับยืนยันว่าอำนาจอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ประวัติศาสตร์การรัฐประหารอันยาวนานแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างอื่น จนถึงปัจจุบันรัฐบาลเผด็จการทหารไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการยึดอำนาจเลย ในทางกลับกัน การรัฐประหารอย่างต่อเนื่องทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินสำหรับคณะทหารผู้ยึดอำนาจ และปล่อยให้ภาระหนักอึ้งในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยตกอยู่บนบ่าของประชาชน

ในช่วงเวลานับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งโค่นล้ม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จวบจนกระทั่งรัฐประหารครั้งล่าสุด ความขัดแย้งมีลักษณะเป็นการแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างสีเสื้อ ระหว่างกลุ่มนิยมกษัตริย์-ชาตินิยมในนามเสื้อเหลือง ผู้ชื่นชอบการปกครองโดยศีลธรรมของคนส่วนน้อย กับ ฝ่ายมวลชนประชาธิปไตย-เสื้อแดง ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนทักษิณ และพวกเขาชื่นชอบระบอบประชาธิปไตย ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเหลืองและแดง ได้แสดงให้เห็นการแตกหักที่เยื้อเยื้อยาวนาน ระหว่างความเป็นเมืองที่มั่งคั่งและชนบทที่แร้นแค้น โดยความมั่งมี, โอกาสทางการศึกษาและการจ้างแรงงานกระจุกตัวอยู่ในเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งที่ในความเป็นจริงประชากรกว่าครึ่งนั้นอยู่ในภาคชนบท

ถึงแม้ว่าข้อมูลทางสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นความเสื่อมถอยเช่นกันในระหว่างที่ทักษิณ ชินวัตรครองอำนาจ (2544-2549) นักสิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหารและถูกทำให้สูญหาย ประชาชนกว่า 2,800 คนถูกสังหาร ภายใต้นโยบายที่เรียกว่า “การประกาศสงครามกับยาเสพติด” อย่างไรก็ดีทักษิณก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากในชนบท อันเป็นผลมาจากการริเริ่มทำนโยบายยกระดับชีวิตที่เป็นรูปธรรมให้กับฐานเสียงเขา ทักษิณขายนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย และจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวในสายตาชนชั้นนำจากการบริหารประเทศของทักษิณก็คือ ทักษิณปฏิบัติต่อฐานเสียงชนบทที่เลือกเขาเยี่ยงพลเมืองที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยไม่เคยทำมาก่อน

นับตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการก่อตัวของขบวนการเสื้อเหลืองขับไล่ทักษิณ พวกเขาได้อ้างว่าทักษิณและพวกพ้องกระทำการทุจริต คอร์รัปชั่น และมีความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีผู้ปกครองที่มีจริยธรรม แม้ว่าวิธีการนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งจะถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์หรือทหารแทนการได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ขบวนการเสื้อเหลืองอ้างอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาต่อต้านทักษิณ พวกเขาก็ต่อต้านประชาชนเพื่อนร่วมชาติของพวกเขาเองด้วย พวกเขากังขาว่าคนจำนวนมากเหล่านี้ยังไร้ศักยภาพที่จะเลือกผู้แทนที่เหมาะสม

การต่อสู้ระหว่างเสื้อแดง-เสื้อเหลืองดังกล่าว ขยายตัว ก้าวร้าวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามคนเสื้อแดงผู้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยรัฐบาลที่มีคนเสื้อเหลืองหนุนหลัง ในปี 2553 ผลที่ตามมามีผู้เสียชีวิตกว่า 94 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน และนี่คือบริบทที่นำมาสู่ข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ปี 2557 เพื่อสร้างระบอบที่จำกัดเสรีภาพในทางการเมือง

ในช่วง 1 ปีแรกหลังการรัฐประหาร การประท้วงต่อต้านถูกกำราบอย่างรวดเร็ว มีการจับกุมคุมขังพลเมืองโดยพลการ มีการซ้อมทรมาน และมีการไล่ล่าทางการเมืองในระดับที่อาจไม่ได้พบมาตั้งแต่เมื่อครั้งการสังหารหมู่ประชาชนโดยเผด็จการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และตามมาด้วยการรัฐประหาร

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไทย เปิดเผยว่าในเวลา 1 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557 มีนักโทษการการเมืองอย่างน้อย 751 ถูกกักตัวและ 428 คนถูกจับกุม (เกือบ 1 ใน 4 นั้นถูกจับกุมจากการประท้วงอย่างสันติ) สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อดีตสหายของพคท. และสมาชิกของขบวนการคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบวางระเบิด รายงานของประชาไทเปิดเผยว่าเขาถูกซ้อมทรมาน ถูกทำร้ายและช็อตไฟฟ้ากว่า 40 ครั้ง (โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาของเขาว่า “ไม่มีมูลความจริง”)

ศาลทหารที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตัดสินพลเรือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลจำนวน 143 คน นอกเหนือจาก 14 นักศึกษาและนักกิจกรรมที่กล่าวไปแล้ว พวกเขาเหล่านี้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและการหมิ่นฯกษัตริย์ คำตัดสินนี้มีตั้งแต่จำคุก 3 ปี จากการขีดเขียนกราฟฟิตี้ต่อต้านกษัตริย์ ไปจนถึง จำคุก 50 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค หรือการเผยแพร่ใบปลิวต่อต้านรัฐประหารก็เพียงพอที่จะถูกดำเนินคดีในการปลุกระดม ในข้อหาเดียวกับนักศึกษา 14 คน ที่เป็นไปได้ว่าจะถูกดำเนินคดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านคำสั่งของรัฐบาลทหารในรูปแบบการชุมนุมสาธารณะก็ยังเกิดขึ้น นักศึกษาที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่น ในภาคอีสานได้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารอย่างสงบเนื่องในวาระครบรอบ 1 การรัฐประหาร พวกเขาถูกควบคุมตัวแล้วปล่อยตัวไป แต่ก็ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 โดยทั้ง 14 คนได้ไปที่หน้าสถานีตำรวจ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่แทนที่พวกเขาจะเข้าไปรายงานตัว พวกเขากลับแจ้งความกลับแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงในการจับกุมพวกเขาในเดือนก่อน พวกเขาถูกปฏิเสธให้เข้าไปในพื้นที่ สน. ดังนั้นพวกเขาและผู้สนับสนุนนับร้อยจึงตั้งเวทีประท้วงอย่างสันติหน้า สน.

ก่อนการชุมนุมจะสิ้นสุด พวกเขาประกาศหลักการ 5 ข้อเป็นแนวทางในการต่อสู้ คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงเกิดขึ้น วันต่อมาพวกเขาได้จัดการประท้วงขึ้นอีก หลังจากนั้น 1 วัน พวกเขาถูกควบคุมและจับขังคุก

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไม่เพียงแต่เป็นภาพสะท้อนขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารที่โดดเด่นที่สุด ทว่ายังสะท้อนความเป็นไปได้ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในการจะปลดเงื่อนตายที่ครอบงำการเมืองไทยมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารในเดือนกันยายน ปี 2549

เหตุผลหนึ่งก็คือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นั้นอาจจะสามารถเป็นสะพานเชื่อม ช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ระหว่างประชาชนชาวเมืองและชนบท ดังที่ 7 คน ใน ขบวนการนั้น คือสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมบนฐานประเด็นสิทธิของทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีก 7 คนคือนักกิจกรรมจากกรุงเทพฯ

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับพรรคหรือบุคคลทางการเมือง พวกเขายืนอยู่นอกการเมืองสีเสื้อซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลา 8 ปี ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เพียงแค่เรียกร้องให้มีการยุติการปกครองโดยเผด็จการและให้มีการปกครองที่อยู่ภายใต้หลักการนิติรัฐ โดยที่กฎหมายต้องไม่เพียงบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม หากแต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การปล่อยตัวสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เกิดขึ้นภายหลังจากการประณามจากนานาชาติอย่างรุนแรง รวมไปถึงการขยายตัวของกลุ่มผู้ออกมาคัดค้านรัฐบาลทหารภายในประเทศ ซึ่งอย่างหลังนำไปสู่การสั่นคลอนอำนาจรัฐบาลทหารมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นการต่อต้านเริ่มจากการที่กลุ่มคณาจารย์และผู้ปกครองได้ไปเยี่ยมนักศึกษาทุกๆวัน และประชาชนจัดกิจกรรมจุดเทียนในยามค่ำคืนตรงหน้าเรือนจำนั้น

ธิกานต์ ศรีนารา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ เดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์ของเขาเป็นประจำ คือ ชลธิชา แจ้งเร็ว เธอเป็นเพียงผู้หญิงคนเดียวใน นศ. จำนวน 14 คน ธิกานต์เขียนบทความตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์สำนักข่าวอิสระประชาไท บอกเล่าเรื่องราวของชลธิชา ในการลงทะเบียนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยของเขา และแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเธอจากนักศึกษาธรรมดากลายเป็นผู้ต่อต้าน ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร เมื่อเธอได้พบกับเพื่อนนักศึกษา ต่างมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ธิกานต์เขียนว่า “เธอยิ้มยกมือไหว้กล่าวลา แล้วหันไปคุยกับเพื่อนๆหัวเราะร่าเริง ผมยืนมองจนกระทั่งพวกเขาเดินลับหายเข้าไปในเงามืด ลมเย็นพัดผ่านมาเบาๆ ผมรู้สึกมีความหวัง”

ผู้คนต่างเดินทางมาชุมนุมประท้วงในคืนก่อนที่ศาลทหารจะพิจารณาคดีนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนักศึกษา ในการเดินนำขบวนปิดฉากระบอบเผด็จการที่ยาวนานกว่า 15 ปี มีคน 500-600 คนพับนกกระดาษ ร้องเพลงที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน และแสดงข้อความเพื่อสนับสนุนนักศึกษา ผู้ร่วมกิจกรรมประกอบไปด้วย นักศึกษาในปัจจุบัน นักกิจกรรม อาจารย์หัวก้าวหน้า นักพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทุกเพศทุกวัย ในขณะที่ทหารและตำรวจส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์ กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้สั่งระงับกิจกรรม แม้ว่ากฎการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จะยังคงบังคับใช้ และการชุมนุมต้องขออนุญาตจากคณะรัฐประหาร การตัดสินใจอนุญาตให้มีการชุมนุมได้สะท้อนให้เห็นพลังของการต่อต้านที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนของการอนุญาตให้ประท้วงนั้นต่ำกว่าต้นทุนความเสี่ยงที่ผู้ต่อต้านจะเพิ่มมากขึ้นหากผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกจับในวันนั้น ถึงแม้จะมีฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฝูงชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างวิ่งหาที่บังฝนตามอาคารใกล้เคียง และไม่ได้แยกย้ายสลายตัว เช้าวันรุ่งขึ้นผู้สนับสนุนนักศึกษารวมตัวกันนอกศาลทหารและเพื่อให้กำลังใจนักศึกษา เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีดังขึ้นหลังศาลคัดค้านการฝากขังนักศึกษาผลัดที่สอง

เมื่อนักศึกษาถูกปล่อยตัว พวกเขาเดินออกจากกรงขังด้วยเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไปข้างหน้า แม้ว่าข้อกล่าวหาและการไล่ล่าโดยผู้มีอำนาจจะยังคงตามหลอกหลอนเป็นกระดูกชิ้นโตขัดขวางพวกเขา แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถหยุดพวกเขาได้ เมื่อมีการถามเกี่ยวกับประสบการณ์ในคุก

จตุรภัทร บุญภัทรรักษา สมาชิกกลุ่มดาวดิน กล่าวว่า “คุกไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว มันแค่น่าเบื่อ เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวคุก อยากให้ทุกคนมาลองติดกัน คือมันเป็นแค่เงื่อนไขสำหรับสิ่งที่มันถูกต้องที่เราจะสู้กับ คสช. เราสู้แล้วเราต้องติดคุก มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย แต่ถ้าเราปล่อยให้เผด็จการยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ วัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงอยู่ในสังคมไทยได้ อันนี้ต่างหากคือสิ่งที่น่ากลัว”

มีเจ้าหน้าที่ทหารไปเยี่ยมเยือนคณาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยบางคน จากจำนวน 281 คน ที่ลงนามท้ายแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวนักศึกษา กระนั้นพวกเขายังดำเนินการเปิดโครงการชุด “ห้องเรียนสาธารณะ”เพื่อนำนักศึกษา นักวิชาการ ประชาชนมาแบ่งปันความคิดในประเด็นเรื่องสิทธิและกฎหมาย

กว่า 1 ปีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและ คสช. ประกาศยึดอำนาจภายใต้คำขวัญ “คืนความสุข” เพื่อคนไทย บางทีการขัดขืนเมื่อเผชิญกับการกดขี่ ความกล้าหาญเมื่อเผชิญกับภยันตราย และสัจจะความจริงเมื่อเผชิญกับความกลัว ที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของรัฐบาลเผด็จการทหารก็เป็นได้


เกี่ยวกับผู้เขียน: ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการเปลี่ยนทางการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU)

ที่มา: dissentmagazine.org/blog/new-democracy-movement-thailand