วันอังคาร, มิถุนายน 02, 2558

ศึกษา การเมือง เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กรณี “คนขี่เสือ”


พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และคณะผู้แทนไทยเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาพจากผู้จัดการ

ที่มาเรื่อง ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตำราพิชัยสงครามของซุนวูอาจสรุปอย่างรวบรัดว่า “การศึกมิหน่ายเล่ห์” แต่ในความเข้าใจของคนรุ่นหลังมิได้จำกัดแต่เพียงในพรมแดนแห่ง “การศึก” เท่านั้น

หากแม้กระทั่ง “การเมือง” ก็ “มิหน่ายเล่ห์” เช่นกัน

การเมืองไทยยุคหลังรัฐประหารมี “ตัวอย่าง” จำนวนมากมายให้ได้ศึกษา ให้ได้เรียนรู้เพื่อนำมาเป็น “บทเรียน”

เป็นบทเรียนของ “คนขี่เสือ”

บทเรียน 1 ซึ่งน่าศึกษา เป็นบทเรียนจากกรณีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ต่อจาก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520

บทเรียน 1 ซึ่งไม่ควรมองข้ามก็คือ กระบวนท่าของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำเนินไปอย่างไรและจบบทบาทในทางการเมืองอย่างไร

สามารถ “ฆ่าเสือ” และลงจาก “หลังเสือ” ได้หรือไม่
..........................................................................

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มเข้าร่วมกับการรัฐประหารโดยตรงนับแต่สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519

ในฐานะเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

จากนั้น ในเดือนตุลาคม 2520 ก็ก่อรัฐประหาร “ซ้ำ” อีกครั้ง โค่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้วก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้น ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521

ผ่านการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522 ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งแต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องอำลาจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 น่าศึกษาอย่างเป็นพิเศษเพราะว่าคนที่เข้ามาแทนที่คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็น ผบ.ทบ.และรัฐมนตรีกลาโหม
............................................................................

กล่าวจากมุมของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คู่ปรปักษ์ทางการเมืองโดยตรงคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม

แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่

เป็นความจริงที่ว่าขณะนั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องการให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พ้นจากตำแหน่ง

แต่ปัจจัยชี้ขาดกลับเป็น “วุฒิสมาชิก” อันมาจาก “การลากตั้ง”

เป็นการลากตั้งโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่ภายหลังต่อมาได้แปรพักตร์ไปสามัคคีกับพรรคการเมืองและนักการเมือง

พวกนี้ต่างหากที่ “ขม้ำ” พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
.............................................................................

ปัจจัยอันมากด้วยความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง คือ ปัจจัยการเมือง ปัจจัยของ “การเลือกตั้ง”

อำนาจ “รัฐประหาร” อาจทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีความมั่นคง แต่พอผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” ปัจจัยหลังนี้จะเข้าไปบ่อนเซาะฐานอำนาจจาก “รัฐประหาร” ลง

ในที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ถูก “เสือกัด”