วันอังคาร, มิถุนายน 09, 2558

[คลิป] ดาวดิน : ไม่มีกฎหมายใดจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนได้




ที่มา ประชาไท
Tue, 2015-06-09 00:02

หลังจากวันนี้(8 มิ.ย.58) 7 สมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุรำลึก 1 ปี 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเรียกรายงานตัวที่ สภ.ขอนแก่น ตามที่ พ.ต.อ.วิเศษ ภักดีวุฒิ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมืองขอนแก่น เป็นผู้นัด เพื่อส่งฟ้องอัยการทหารหลังจากได้มีการสรุปสำนวนและส่งฟ้องต่อศาลทหารก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ทั้ง 7 สมาชิกกลุ่มดาวดินได้ประกาศที่ลานจามจุรี หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า จะอารยะขัดขืน ด้วยการไม่ไปรายงานตัว ไม่หลบหนี และยินดีรับโทษทางกฎหมาย ไม่หลบหนี และระบุว่ากฎหมายที่ใช้กับพวกตนเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2558 รายการคืนความจริง ประเทศไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ 2 สมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยคือ จตุภัทธ์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่’ กับ พายุ บุญโสภณ สมาชิกกลุ่มดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน ในหัวข้อ “ดาวดิน : ไม่มีกฎหมายใดจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนได้” ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงเหตุผลที่คัดค้านการรัฐประหาร การไปชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งมุมมองของเขาทั้งคู่ในฐานะนักเรียนกฎหมายต่อสถานการณ์กฎหมายไทยในปัจจุบัน และภาพกฎหมายที่ควรจะเห็นของพวกเขา

“รัฐประหารครั้งนี้อำนาจมันไม่ชอบธรรมอยู่แล้วใช่ไหม ซึ่งถ้าเรากลัวในสิ่งที่เราคิดว่ามันถูกต้อง มันก็ไม่ใช่ ถ้าเราโดนจับในสิ่งที่เราทำที่มันถูกต้องอย่างนี้ ผมยังคิดว่ามันเป็นอะไรที่แย่มากเลย” พายุ กล่าว

“ผมว่าทหารน่าจะกลัวมากกว่า ไม่เช่นนั้นไม่เอาปืนมากดกันขนาดนี้หรอก” จตุภัทธ์ กล่าว

ที่ทำไปคิดว่าถูกหรือผิด?

จตุภัทธ์ : ผมยืนยันว่าผมตัดสินใจถูก และผมไม่เสียใจเลยในการตัดสินใจครั้งนั้น

พายุ : เรายืนยันอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง ถึงแม้ใครจะมองว่าผิด แต่สิ่งที่เราทำภายใต้จิตสำนึกมันถูก

ในฐานะนักเรียนกฎหมายคิดอย่างไรกับกฎหมายในปัจจุบัน?

จตุภัทธ์ : กฎหมายมันไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันตามสภาพสังคม อันที่หนึ่ง ส่วนอันที่ 2 กฎหมายที่ผมได้เรียนนั้นก็บอกว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพทื่อชนชั้นนั้น เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายหลังรัฐประหารก็เพื่อชนชั้นนำหรือผลประโยชน์ของพวกเขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมามันไม่มีการยึดโยงกับประชาชนเลย ผมคิดว่าเจ้าของปัญหาตัวจริงคือประชาชนต้องมีสิทธิในการที่จะออกกฎหมายด้วย เพื่อให้มันเกิดสมดุล

ผมคิดว่ากฎหมายที่มันออกมาไม่เป็นธรรมนั้น หนึ่งเลยคือต้องต่อต้าน หลายอย่างที่มันเป็นผลพวงหรือรัฐธรรมนูญที่จะออกมา ผมคิดว่าหนึ่งคือต้องต่อต้าน และยืนยันคัดค้านแน่นอน และผมเชื่อว่าในมิติทางกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรมแล้วเราเคลื่อนไหวเราผิดกฎหมายแน่นอนเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่ามันต้องพูดถึงเรื่องสิทธิ และเสรีภาพในความคิดเห็น เราต้องแสดงความคิดเห็นของเราไปว่ากฎหมายมันเป็นอย่างไร แล้วก็ใช้สิทธินี้ล่ะ ผมเชื่อว่าสิทธิมันเหนือกฎหมาย หมายถึงว่าไม่มีกฎหมายไหนสามารถจำกัดสิทธิของเราได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายไหนที่ไม่เป็นธรรมเราก็ต้องใช้สิทธิของเราที่จะยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม แล้วก็ต่อต้านและคัดค้านมันซะ

พายุ : ให้พูดถึงเรื่องแบ่งแยกอำนาจอย่างมาตรา 44 (ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557) มันออกมามันไม่ชอบธรรมแน่นอน ถ้าคุณได้อ่านในตัวเนื้อหาของมันแล้ว คุณจะเห็นว่ามันรวมอำนาจทั้งหมดทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รวมไว้ในตัวบุคคลคนเดียว แล้วถ้าให้ไปอธิบายว่าที่เราเคยเรียนมาว่าการแบ่งแยกอำนาจของรัฐ การถ่วงดุลอำนาจ ถ้าอำนาจ 3 อำนาจนี้มารวมในคนๆเดียว ทุกอย่าง ถ้าคนๆนั้นใช้ไปในทางไม่ชอบธรรมก็คือมันจะจบเสียหายทุกอย่างก็พินาศไปหมดเลย แล้วถ้าเรามาวิเคราะห์สังคมไทยในปัจจุบันนี้ คนที่ใช้อำนาจนี้ชอบธรรมขนาดไหนการที่เขาเข้ามาในรัฐบาลนี้ มีความชอบธรรมไหม ประชาชนได้มีความเห็นมีส่วนร่วมในการเลือกเขาเข้ามาหรือเปล่า คุณก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามันเป็นอย่างไร

คิดว่าอุดมคติของกฎหมายควรเป็นอย่างไร?

จตุภัทธ์ : ผมเชื่อว่านักกฎหมายก็เป็นวิศวกรสังคม ในอุดมการณ์แล้วต้องยืนยันในหลักการเจตจำนงของนักกฎหมาย คือหนึ่งไม่สามารถยอมรับกับการรัฐประหารได้ เพราะการรัฐประหารคือการตบหน้านักกฎหมาย เพราะฉะนั้นนักกฎหมายต้องยืนยันว่าต้องไม่ยอมรับกับการรัฐประหารหรือกฎอัยการศึกหรือผลพวงที่จะตามมาจากกฎอัยการศึก สอง ผมคิดว่าเราจะต้องสร้างความเป็นธรรมกับสังคมให้มันปรากฏชัด คือกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมมันมี เพราะฉะนั้นนักกฎหมายต้องแสดงให้เห็นว่าความยุติธรรมคืออะไร ที่แน่ๆ ไม่ใช่กฎหมายแน่นอน แล้วมันคืออะไร อย่างพวกผมเชื่อว่าสิทธินั้นคือความชอบธรรม ความคิดเห็นเราที่แลกเปลี่ยนหรือที่นำเสนอกับรัฐ หรือที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ มันวัดจากจิตสำนึกของเรา ด้วยหัวใจของเรา มันก็น่าจะชั่งใจได้อยู่ว่าอันไหนคือความเป็นธรรม

พายุ : ถ้าให้ผมพูดในนามนักกฎหมายหรือผู้ศึกษากฎหมาย กฎหมายจะแบ่งแยกเป็น 2 สาย คือสาย Positivism คือตาความตามตัวบท กับอีกสายคือสายธรรมชาติ Natural Law คือตามความตามเจตจำนงในใจในจิตสำนึกว่ามันถูกหรือผิด ซึ่งพูดถึงกฎหมายปัจจุบันก็คือกฎหมายต่างๆ ที่มันออกมานี้ มันมีความไม่ชอบธรรมอยู่สูง หลายมาตรา และที่เป็นในสังคมปัจจุบันก็คือผมจะถูกปลูกฝังมาเรื่อยๆ และเห็นมาด้วยกับตาตัวเองว่า คุกมันมีไว้ขังคนจน กฎหมายมันใช้กับผู้ที่มีอำนาจไม่ได้ ก็อย่างที่พูดมาว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น แต่เข้าไม่ได้พูดถึงคนที่ได้รับผลกระทบว่ามีใครบ้าง ซึ่งก็ได้เห็นว่าความไม่ชอบธรรมในสังคมนั้นมันยังมีอยู่

จตุภัทธ์ : เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลที่เราจะต้องชู 3 นิ้วหน้าประยุทธ์ หรือคัดค้านรัฐประหาร เพื่อที่จะยืนยันเจตจำนงว่าความชอบธรรมมันไม่ได้อยู่ที่นั้น ถึงแม้ว่าเราจะเป็นนักกฎหมายส่วนน้อยก็ตาม เป็นหยิบมือ เป็นติ่งหนึ่งก็ชั่ง แต่ว่าเราต้องยืนยันไม่เช่นนั้นในสังคมมันไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ หมายถึงอะไรที่เป็นหลักการให้สังคมไปต่อได้