วันอังคาร, กรกฎาคม 01, 2557

ชมคลิปคุยกับ “เอิร์ธ-ลูกเกด” 2 ใน 10 นักศึกษา ถูกควบคุมตัวในวันครบรอบ 1 เดือน คสช.

https://www.youtube.com/watch?v=XycG3YD9kDA

ที่มา มติชนออนไลน์
ภาพ/เรื่อง : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ลำดับภาพ : นัฐพงษ์ โห้เฉื่อย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2557 เป็นวันครบรอบ 1 เดือน การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. บรรยากาศเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์ โดยนำตัวนักศึกษาที่ทำกิจกรรมรับประทานแซนด์วิช และกลุ่มนักศึกษาที่พยายามจะทำกิจกรรมแต่ถูกควบคุมตัวก่อน โดยคุมตัวทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตร 1 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนคริทร์วิโรฒน์ 1 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 1 คน และเพื่อนจากสถาบันการศึกษาอื่นอีก 2 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ประมาณ ตีสองของคืนวันที่ 22 มิ.ย.เข้าสู่เช้าวันที่ 23 มิ.ย.

“มติชนออนไลน์” พูดคุยกับ 2 ใน 10 นักศึกษา ที่ถูกคุมตัว คือ “ชลธิชา แจ้งเร็ว” ชั้นปี 3 ขึ้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒน์ และ “กิตติสัณห์ อุตสาหประดิษฐ” หรือ เอิร์ธ นักศึกษา ปี 1 ขึ้นปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-ช่วยเล่าเหตุการณ์ 22 มิ.ย.

เอิร์ธ – วันที่ 22 มิถุนายน ผมมาถึงสยามพารากอนประมาณ บ่ายสามโมงสี่สิบห้านาที มาตามที่มีโปสเตอร์ ที่ระบุกิจกรรมกินแซนด์วิชตรงลานพาราก่อน พอดีมาถึงพารากอน ยังไม่เริ่มกิจกรรม การกระทำยังไม่เกิด ก็โดนตำรวจควบคุมตัวในพารากอน ในเวลาประมาณสี่โมงเย็น โดยนำตัวไปที่ห้อง รปภ. ชั้นล่าง อย่างแรกที่เขาถามก็คือ “ในกระเป๋ามีแซนด์วิชไหม?” ผมก็บอกว่าไม่มี

ลูกเกด - วันที่ 22 มิถุนายน 2557 ทางกลุ่ม ศนปท. ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ได้มีการตกลงกันว่าเราจะจัดกิจกรรม “ไม่มีอะไรมาก แค่อยากกินแซนด์วิช” ซึ่งกิจกรรมก็จะจัดขึ้นที่ลานน้ำพุ โดยจะมานั่งกินแซนด์วิชเท่านั้น

ก่อนจัดกิจกรรมก็ได้ปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่าน โดยตกลงกันแล้วว่ากิจกรรม จะไม่มีการพูดถึงเรื่องการเมือง แต่จะเพียงแค่มานั่งกินแซนด์วิชด้วยกัน... รูปแบบงานจะเป็นประมาณนี้ โดยก่อนเริ่มกิจกรรม ช่วงเวลาประมาณบ่ายสามโมง ก็มีทหารติดต่อมาทางกลุ่มพวกเรา โดยอยากขอให้พวกเราไปพูดคุยเจรจากันถึงกิจกรรมวันนี้ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยกลุ่ม ส่งตัวแทนไป 3คน มีลูกเกด เป็น 1 ในตัวแทนกลุ่มไปนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทางทหาร ตอนแรกก็เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติทางการเมือง หลังจากนั้น ก็มีการพูด เพื่อให้เรายุติการเคลื่อนไหวกิจกรรมวันนี้ ซึ่ง เราก็ให้เหตุผลไปว่า มติการทำกิจกรรม เป็นมติของกลุ่ม ซึ่ง เรา 3 คน มีหน้าที่แค่มาเจรจา แต่ไม่สามารถที่จะตกลง หรือสั่งให้ยุติการทำกิจกรรมได้

พอใกล้ถึงช่วงเวลาที่จะทำกิจกรรม เราก็ขอตัวออกจากสถานที่พูดคุย แต่พี่ทหารบอกว่า น้องออกไปไม่ได้ ถ้าน้องออกไป ตำรวจข้างนอกจะควบคุมตัว ขอให้อยู่ตรงนี้ก่อน ซึ่งเขารับรองความปลอดภัย ในขณะนั้น ก็มีข่าวว่า เพื่อนที่จะทำกิจกรรมกับเราถูกรวบไปแล้ว 6 คน หนูก็เลยถามพี่ทหารว่า จะช่วยเพื่อนอย่างไรได้บ้าง ได้รับคำตอบว่าจะประสานให้ แต่ต้องยุติกิจกรรม หนูก็เลยบอกว่า คนที่โดนจับไปแล้วก็คงทำกิจกรรมไม่ได้ แต่คนที่เหลือจะทำกิจกรรมได้หรือเปล่าก็คงแล้วแต่คนที่เหลือ

ต่อมาช่วงใกล้6โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มทหารบอกว่าจะพาไปหาเพื่อนตอนแรกบอกว่าจะไปที่สน.ปทุมวันแต่ปรากฏว่าพาไปพบเพื่อนที่สโมสรทหารบก วิภาวดี แล้วเพื่อนที่เหลือก็ตามมา ระหว่างนั้น เราก็ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวในเอกสาร และให้เซ็นข้อตกลง 3 ข้อ

หลังจากนั้น ประมาณ 4 ทุ่ม อาจารย์ปริญญา (ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็เข้ามาพูดคุย เป็นพยาน ทางทหารก็ปล่อยตัวเราประมาณ ตี 1 เกือบตี 2

เอิร์ธ - แต่วันนั้นเข้าใจว่าผมโดนจับคนแรกเพราะหลังจากไปห้อง รปภ. ก็ไปที่ สน. ก็เจอเพื่อนอีก 5 คน ซึ่งไปถึง สน. ปทุมวันก่อนผม ทหารบอกว่า ตำรวจเป็นคนพาผมมาที่ สน.ปทุมวัน แล้วคนสุดท้ายที่มาก็คงจะเป็นพี่แชมป์ (หนุ่มกินแซนด์วิช ใส่แว่นดำ หน้าพารากอน)

จากนั้นสักประมาณ 6โมงเย็นก็ไปสโมสรกองทัพบก วิภาวดี ก็มีการ สอบประวัติทีละคนโดย อาจารย์ปริญญา ได้เข้ามาพูดคุยกับทหาร แล้วทหารปล่อยตัวประมาณ ตี 1- ตี 2 แล้วเราก็กลับบ้าน

-รู้จัก หนุ่มแว่นดำที่รับประทานแซนด์วิชหน้าสยามพารากอนวันที่ 22 มิ.ย.ไหม

เอิร์ธ - รู้จักในวันนั้น หลังจากถูกควบคุมตัวไปที่ สน. ปทุมวัน เข้าใจว่าเป็นคนเดียวที่ได้มารับประทานแซนด์วิช เขาเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้คุยกัน ซึ่งเขาเชื่อส่วนตัวว่าเขาทำไม่ผิดในความเชื่อของเขา

ลูกเกด - ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ระหว่างที่ถูกเชิญไปคุยกับทหารที่โรงแรมอินเตอร์คอนฯ ทางพี่ทหารได้ส่งรูป คุณแชมป์ หรือนิสิตจุฬาฯ ที่นั่งรับประทานแซนด์วิช ให้ดูว่าคนนี้เป็นใคร ใช่เพื่อนน้องหรือเปล่า แล้วก็ได้มารู้จักกันที่สโมสรทหารบกที่วิภาวดี ก็ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองกัน

-หลังจากนั้นถูกเชิญไปรับโทรศัพท์คืน ในวันที่ 24 มิ.ย. ใช่ไหม

เอิร์ธ - วันที่ 22 มิ.ย. โดนยึดโทรศัพท์ แล้วนัดให้ไปรับโทรศัพท์ วันที่ 24 มิ.ย.

ลูกเกด - ทหารก็ยึดโทรศัพท์ แล้วก็นัดวันที่ 24 มิ.ย. ตอน 9.00 น. ให้มารับโทรศัพท์ ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี แต่คืนวันที่ 22 มิ.ย. เมื่อไปถึงสโมสรทหารบก เขาอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ ติดต่อญาติในกรุงเทพฯ ที่จะมารับตัวเราได้ก่อนที่จะยึดไป พอวันที่ 24 มิ.ย. เวลา 9.00 น. เราก็ไปรับโทรศัพท์กัน ทีนี้ เขาบอกว่า มีผู้ใหญ่อยากพูดคุยด้วย เดี๋ยวจะพาไปที่เทเวศร์

เอิร์ธ - ก็ไปทหารบกเทเวศร์

-ผู้ใหญ่ที่มาพบนักศึกษา หมายถึงใคร

ลูกเกด - คือตอนแรกมีคนมาแค่ 8 คน จากทั้งหมด 10 คน เพราะอีก 2 คนไม่มีโทรศัพท์ ก็เลยไม่มารับ แต่ทางทหารพยายามให้เราติดต่อเพื่อนอีก 2 คน ให้มาให้ได้ครบ 10 คน

เอิร์ธ - จากนั้น ประมาณ เที่ยงหรือบ่ายโมง เขาก็ให้เราไปพบกับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ท่านพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ประมาณชั่วโมงครึ่ง

ลูกเกด - เป็นการเหมือนพูดคุยเรื่องทัศนคติทางการเมือง หลังจากท่านพล.อ.ไพบูลย์ ออกไปแล้ว ทางเราได้ยื่นข้อเสนอกับทหารที่นั่นว่า ขอเสนอให้เอากฎหมายในสถานการณ์ปกติมาใช้

เอิร์ธ - เช่น ในการควบคุมตัว ขอให้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ หรือใส่เครื่องแบบ เพื่อที่จะได้ทราบว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจหรือทหาร

ลูกเกด - นอกจากนั้น ได้เสนอให้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดที่แตกต่าง อาจจะกำหนดให้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ ที่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ เสนอกับทหารคนที่อยู่ในห้องระหว่างที่ พล.อ.ไพบูลย์ พบกับนักศึกษา เนื่องจากทหารท่านนี้ ได้มาพูดคุยกับเราหลังจากท่านไพบูลย์กลับออกไปแล้ว เข้าใจว่าจะนำข้อเสนอไปเรียนท่าน พล.อ.ไพบูลย์

เอิร์ธ – ในระหว่าง พล.อ.ไพบูลย์ คุยกับนักศึกษา ท่านก็กล่าวถึงความจำเป็น ที่ทหารต้องออกมา

ลูกเกด – พล.อ.ไพบูลย์ พยายามจะทำความเข้าใจว่า ปัญหาบ้านเมืองถึงทางตัน ดังนั้น ทหารจึงมีความชอบธรรมที่จะมาระงับปัญหาในจุดนี้

-ท่านได้ให้โอวาทอะไรเป็น เป็นแง่คิดพิเศษ

เอิร์ธ - วันนั้นท่านมีเวลาน้อย ท่านชี้แจงว่าทำไมต้องรัฐประหาร

ลูกเกด - ท่านบอกว่า ปัญหาบ้านเมืองมาถึงทางตันแล้ว เราไม่สามารถเดินต่อได้ ฉะนั้น ทหารย่อมมีความชอบธรรม ที่จะออกมาทำรัฐประหาร
พอได้พูดคุยกับทหารแล้วก็ได้รับการปล่อยตัวกลับประมาณ บ่ายสามบ่ายสี่

เอิร์ธ - ก่อน ปล่อยตัวก็ได้เสนอข้อเสนอไป

ลูกเกด - เสนอเปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง อาจจะเป็นในมหาวิทยาลัย ให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมกันได้ อาจจะกำหนดกรอบเวลาก็ได้ ว่า มีเวลาให้เราทำได้ช่วงไหน อย่างน้อยคือขอให้มีพื้นที่ได้แสดงออกกันบ้าง

เอิร์ธ - ส่วนผมก็เสนอให้มีการชี้แจงโครงการต่างๆ ต่อประชาชน และให้มีการตรวจสอบได้ แล้วก็เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ว่าการเรียนแยกออกมาเป็นวิชา คือการเรียนเยอะ ไม่ได้ทำให้เด็กมีคุณภาพ ก็เลยอยากจะเสนอ ไปว่า ขอให้มีคณะนักศึกษา มีส่วนเข้าไปปฏิรูป แต่ท่านบอกว่า ถ้าพวกเราอยากจะแสดงความคิดเห็นออกมา ก็ขอให้มีรัฐบาลก่อน หรือสภาปฏิรูป หรือมีรัฐธรรมนูญก่อน


-ที่มาของกิจกรรมแซนด์วิช

ลูกเกด- แซนด์วิชเดิมทีไม่ได้ตั้งใจให้มาเป็นสัญลักษณ์ แต่มันเกิดขึ้น จากวันนั้น จะจัดกิจกรรมปิคนิคแซนด์วิช ที่ ม.เกษตร โดยจะมีดูหนัง อ่านกวี พูดคุย แต่วันนั้น มีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังไว้ 350 นาย รถขังอีกประมาณ 4-5 คัน โดยพวกหนูจัดกิจกรรมกัน 5-6 คน โดยก่อนเริ่มกิจกรรมทางทหารได้มาคุยให้ยุติการทำกิจกรรม ซึ่งเราประเมินสถานการณ์แล้วว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกปิดกั้นหมด เราทำกิจกรรมไม่ได้ เราจึงขอว่า เราขอกินแซนด์วิชให้หมด และขอแจกแซนด์วิชที่เราเตรียมให้ประชาชนหมดก่อน

เอิร์ธ - แล้วก็แจกให้เจ้าหน้าที่

ลูกเกด - ใช่แจกให้เจ้าหน้าที่ แต่เขาก็พยายามปฏิเสธ แล้วเราก็แจกให้ประชาชน ส่วนที่มันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ เพราะสืบเนื่องมาจากการที่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้ออกมาพูดประมาณว่า ตอนนี้การกินแซนด์วิช เริ่มเข้าข่ายกระทำผิด

เอิร์ธ - เราก็มีกิจกรรมแจกแซนด์วิช อีกครั้ง หน้าธรรมศาสตร์ แค่บอกว่าเรามาแจกแซนด์วิช แต่มหาวิทยาลัย ปิดประตู ทั้งฝั่งท่าพระจันทร์กับฝางถนนพระอาทิตย์ เปิดข้างหน้าหอประชุมใหญ่ไว้ เพราะมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมอื่นของมหาวิทยาลัย แต่เราแจกข้างนอก ประชาชนที่เข้ามาร่วมก็รับแซนด์วิชไปกิน มีประชาชนคนหนึ่ง ตะโกนว่า แซนด์วิช เพื่อประชาธิปไตย

ลูกเกด - การเป็นสัญลักษณ์ เพราะเจ้าหน้าที่พยายามจะห้าม จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ไปโดยปริยาย ทั้งที่ตอนแรก ไม่ได้คิดว่านี่จะเป็นสัญลักษณ์

เอิร์ธ - เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตีความและบอกว่าแซนด์วิชอาจเข้าข่าย ทำให้สังคมคิดว่านี่คือสัญลักษณ์