วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 09, 2559

บทเรียนจากอดีต ‘พันธมิตร’ แห่ง ‘แนวร่วม’ ฐานแห่ง ‘ชัยชนะ’





กรองกระแส
ฉบับวันที่ 3-9 มิ.ย.59


ไม่ว่าการยุทธ์ระหว่างคิงส์แลนดิ้งกับเวสเทอร์เฟลในยุคแห่ง "เจ็ดอาณาจักร" ไม่ว่าการยุทธ์ระหว่างวุยกับจกและง่อในยุคแห่ง "ต้าฮั่น" 

หลักการสำคัญ คือ "พันธมิตร" แห่ง "แนวร่วม" 

เช่นนี้เองข้อเสนอของ "สุมาอี้" จึงทรงความหมายต่อวุยก๊ก เช่นนี้เองข้อเสนอของ "ขงเบ้ง" ต่อจกก๊กจึงทรงความหมาย เช่นนี้เองข้อเสนอของ "โลซก" ต่อง่อก๊กจึงทรงความหมาย 

รับรู้ในนามแห่ง "การสนทนาเหนือยี่ภู่" 

รับรู้ในนามแห่ง "แถลงการณ์หลงจ้ง" 

การยุทธ์ในยุคแห่ง "เจ็ดอาณาจักร" จึงเห็นการต่อสายระหว่างลอร์ดไทวินกับลอร์ดเฟรย์กระทั่งสร้างปรากฏการณ์ "วิวาห์เลือด" ขึ้นภายในป้อมค่ายแห่งทวินส์ 

การยุทธ์ในยุคแห่ง "ต้าฮั่น" จึงเห็นการต่อสายระหว่างโลซกกับขงเบ้งเพื่อโดดเดี่ยวโจโฉ และสร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่จากการศึกที่ผาแดง อันคนไทยรับรู้ผ่านบทเรียนในหัวข้อเรื่อง "โจโฉแตกทัพเรือ" อย่างทุลักทุเล 

"วิวาห์เลือด" ก่อให้เกิดการเปลี่ยนดุลกำลังแห่ง "เจ็ดอาณาจักร" ชัยชนะจาก "ศึกผาแดง" ได้เปิดศักราชแห่ง "สามก๊ก" ขึ้นอย่างเป็นจริง 

นี่คือ พลานุภาพแห่ง "พันธมิตร" ของ "แนวร่วม" 

จากพันธมิตร มาถึง "กปปส." 

ไม่ว่าปรากฏการณ์แห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าปรากฏการณ์แห่ง กปปส. ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 

ล้วนสะท้อนพลานุภาพของ "พันธมิตร" แห่ง "แนวร่วม" 

เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเรือนแสน เรือนล้านไปห้อมล้อมคนอย่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก "มือ" มากมายหลายกลุ่ม 

เป้าหมายคือ โค่น "พรรคไทยรักไทย" 

ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในมหานคร ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในเครือข่ายราชการ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในแวดวงธุรกิจ 

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสมอเป็นเพียง "เครื่องมือ" 

เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเรือนแสน เรือนล้านไปห้อมล้อมนักการเมืองอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก "มือ" มากมายหลายกลุ่ม 

เป้าหมายคือ โค่น "พรรคเพื่อไทย" 

ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในมหานคร ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในเครือข่ายราชการ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงในแวดวงธุรกิจ 

กปปส. และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสมอเป็นเพียง "เครื่องมือ" 

เมื่อสถานการณ์สุกงอมจึงเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เมื่อสถานการณ์สุกงอมจึงเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 

เริ่มต้นจากปัจจัย "การเมือง" และปิดเกมด้วยปัจจัย "การทหาร" 

ยุทธวิธี บ่อนเซาะ ฐานกำแพง แนวร่วม 

ถามว่าทั้งๆ ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายสนธิ ลิ้มทองกุล คือกำลังสำคัญอันเหมือนกับเป็น "กองหน้า" ในลักษณะปูทางและสร้างเงื่อนไข 

เหตุใดหลัง "รัฐประหาร" เขาจึงถูกพยายาม "ลอบสังหาร" 

เป็นมือปืนจากเครือข่าย "พรรคไทยรักไทย" หรือที่ได้รับการว่าจ้างให้มาลั่นกระสุนนับร้อยนัดเข้าใส่รถและร่างของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล 

ไม่น่าจะใช่ 

สถานการณ์พยายามลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล อธิบายได้อย่างรวบรัดว่าเป็นสถานการณ์เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล 

นี่ย่อมเป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่ "สปสช." และ "สสส." ประสบ 

แม้ว่าฐานกำลังของ สปสช. และ สสส. อันดำรงอยู่ในรูปของ "ภาคประชาสังคม" จะเข้าหนุนช่วยการเคลื่อนไหวตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนถึงการร่วมมาตรการ "ชัตดาวน์" 

กรุงเทพมหานครกับ กปปส. แต่เมื่อรัฐประหารประสบผลสำเร็จ การรุกไล่เพื่อจัดระเบียบและวางระบบใหม่ให้กับ สปสช. และ สสส. ก็ปรากฏขึ้น 

กระทั่ง นพ.ประเวศ วะสี ออกมาแสดงความไม่พอใจไม่เพียงแต่จะตั้งข้อสังเกตถึงขั้นว่า ท่าทีที่กระทำต่อ สปสช. และ สสส. เป็นความผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์ หากยังวิพากษ์ว่าสะท้อนถึงความไม่เข้าใจในแก่นแท้และกระบวนการทางการบริหารของทหารซึ่งถนัดแต่การใช้กำลัง 

ปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นปรากฏการณ์อย่างเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายของ นพ.ประเวศ วะสี 

เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล 

ฐานกำลัง อ่อนแอ หมดพลัง บทบาท 

ไม่ว่าจะเป็นการยุทธ์ในยุคแห่ง "เจ็ดอาณาจักร" ของเวสเทอร์เฟล ไม่ว่าจะเป็นการยุทธ์ในยุคแห่ง "สามก๊ก" ของต้าฮั่น มีความจำเป็นต้องสร้างพันธมิตร สร้างแนวร่วม 

1 เพื่อรวมศูนย์กำลังไปทำลาย "ศัตรู" 

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ เพื่ออาศัยพลังและความสามารถของพันธมิตรและแนวร่วมในการพัฒนาและสร้างสรรค์อาณาจักร 

เป้าหมายก็เพื่อความสงบสุข ยังสภาวะ "กินอิ่ม นอนอุ่น" ให้กับปวงชน 

ขณะเดียวกัน ก็อาศัยความสำเร็จในการสร้างสรรค์และอวยความสงบ ความสุขให้กับปวงชนมาเป็นฐานกำลังใหม่ให้กับอำนาจทางการเมืองของตน 

ความสำเร็จจึงอยู่ที่ทำลาย "ปรปักษ์" ใหญ่ที่สุด แล้วสถาปนา "อำนาจ" ขึ้นแทนที่ 

การจะทำให้เกิดความสำเร็จอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนได้ลำพังกลุ่มของตนเพียงหยิบมือเดียวคงมิอาจทำได้ จำเป็นต้องพึ่งความสามารถและการเสียสละของคนอื่นอย่างมหาศาลเข้ามาหนุนช่วยจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น 

นี่คือพลานุภาพแห่ง "พันธมิตร" ของ "แนวร่วม" ในทางการเมือง การทหาร