วันพุธ, กรกฎาคม 02, 2557

สำหรับผู้ที่ชอบอ้างป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการรับใช้รัฐประหาร...


ภาพจาก FB Charnvit Ks
เรื่องจาก FB Thanapol Eawsakul

สำหรับผู้ที่ชอบอ้างป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการรับใช้รัฐประหาร เหมือนที่ป๋วยได้ช่วยงานสฤษดิ์

แนะนำให้คนเหล่านี้อ่าน “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” ด้วย

ดังที่ปรากฎในเว็บไซต์ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
http://puey-ungphakorn.org/

พร้อมคำอธิบายเอกสารดังกล่าวว่า
......
เมื่อจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 และได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2511 ที่ใช้เวลาร่างร่วม 10 ปี ยุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วจัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น การกรำทำดังกล่าวเป็นการย้อนกลับไปหายุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กระทำเมื่อปี 2501 อ.ป๋วย เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวได้เขียน “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” กุมภาพันธ์ 2515 อ.ป๋วย เลือกใช้นามปากกา “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อที่ท่านใช้ในการปฏิบัติง่านเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจดหมายฉบับดังกล่าว อ.ป๋วย คัดค้านการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ โดยคาดการณ์ถึง ผลที่อาจเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งของสังคม อีกทั้งยังเสนอหลักการในการปกครองสังคมคือ หลักประชาธรรมซึ่งให้ความสำคัญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเสรี เพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ

จดหมายฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เศรษฐศาสตร์สาร ฉบับ ชาวบ้าน (ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2515) และได้มีการตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษลงในนิตยสาร Far Eastern Economics Review 77 (16 Septenber 1972) ปฏิกิริยาต่อจดหมายฉบับนี้มีหลากหลาย โดยผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยอ้างว่าอ.ป่วย ไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนั้น ทำให้อ.ป๋วย ต้องเขียนชี้แจงต่อมา ถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์ในการเขียน “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง” ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2515

http://puey-ungphakorn.org/wp-content/uploads/2011/03/3-nai-khem-1.pdf

...

จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ท้าวความ

อดีต “เสรีไทย” ผู้ว่าการธนาคารชาติ 12 ปีกว่า คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีบทบาทสำคัญส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนไทยกำลังจะลืม

และ บางคนก็เกิดไม่ทันรับรู้ความจริง

ดร.ป๋วย คนไทยกล้าหาญคนแรกที่เรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” จากเผด็จการ ถนอม –ประภาสและณรงค์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2515 ก่อนวันที่ประชาชนลุกฮือขับไล่สามเผด็จการออกจากประเทศไทย รัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐ อเมริกา ไปบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาประเทศ” ดร.ป๋วยถือโอกาสศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาสมัยใหม่

ประมาณหนึ่งปีกับอีกแปดเดือน

ในระหว่าง 1 ตุลาคม 2513 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2514 ดร.ป๋วย ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยปรินสตัน

ต่อจากนั้น ดร.ป๋วย เดินทางไปประเทศอังกฤษเป็น VISITING PROFESSOR ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และยังได้ฝากให้ผมนำความไปเรียน อาจารย์ปรีดีด้วย ผมก็รับเป็นสื่อให้และยังได้นำความจากอาจารย์ปรีดีมาเรียนจอมพลถนอมด้วย...” “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อรหัสเมื่อครั้งเป็น “เสรีไทย” สงครามโลกครั้งที่สองไปท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร

ดร.ป๋วย เล่าว่า “เมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ออกจากประเทศจีนมาอยู่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2513 ผมได้กำหนดไว้ก่อนแล้วว่า จะไปพักตากอากาศในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยไม่ได้ทราบล่วงหน้าว่าอาจารย์ปรีดีจะออกมา เมื่อท่านออกมาแล้วก็ได้คิดว่า สมควรจะไปเยี่ยมท่านเป็นการคารวะส่วนตัว ในฐานะศิษย์อาจารย์และในฐานะที่เป็นเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของท่าน ผมจึงได้เข้าพบจอมพลถนอมก่อนออกเดินทาง เพื่อเรียนท่านว่าผมจะไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดี จอมพลถนอมก็แสดงความยินดี

อริของดร.ป๋วย โจมตีว่า ดร.ป๋วยเป็นสมุนรับใช้ของอาจารย์ปรีดี ผู้รับแผนเข้ามาก่อกวนความสงบในเมืองไทย ครั้นเมื่อจอมพลถนอม และพรรคพวก ทำการรัฐประหารตัวเองในเดือนมิถุนายน 2514 ดร.ป๋วยได้เขียนจดหมายในนาม

“ผมเขียนด้วยความหวังดีต่อท่าน และได้จ่าหน้าซองมีหนังสือนำถึงท่านโดยตรงแจ้งให้ทราบแน่ชัดว่า จดหมายนี้มา จากผม ต่อเมื่อท่านไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างใดผมจึงนำเอาจดหมายนี้ออกตีพิมพ์เป็นจดหมายเปิดผนึก” ดร.ป๋วย เผยความในใจเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++

จดหมายจากนายเข้มเย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ

เรียน พี่ทำนุ ที่รักใคร่นับถือเป็นส่วนตัว

สักสองปีเศษก่อนที่ผมจะได้จากหมู่บ้านไทยเจริญที่รักของเรามาอยู่ห่างไกล พี่ทำนุในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้จัดการสองอย่างที่ผมและใครๆ เห็นว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับหมู่บ้านเราโดยเฉพาะสำหรับอนาคตของชาวไทยเจริญ คือได้จัดให้มีกติกาหมู่บ้านเป็นข้อบังคับสูงสุด แสดงว่าต่อไปนี้ชาวบ้านไทยเจริญ จะสามารถยึดกติกาหมู่บ้าน เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่า และทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตามอำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพี่ทำนุได้อำนวยให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกกันก็รวมกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับหมู่บ้านของเรา โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ-ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม-และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุด มาจากธรรมของประชาชน ในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่

เมื่อกติกาหมู่บ้านถือกำเนิดมาแล้วก็ดี และเมื่อได้มีสมัชชาหมู่บ้านขึ้นแล้วก็ดี ผมเองก็ไม่แน่ใจนัก ว่ากติกาทุกข้อถูกใจผม และไม่แน่ใจว่าสมาชิกของสมัชชาทุกคนเป็นคนดี แต่ผมก็ยังนิยมยินดีในท่านผู้ใหญ่บ้านทำนุ เกียรติก้อง ที่ได้อุตสาหะสร้างสรรค์ให้มีกติกา ดีกว่าไม่มี และให้มีสมัชชา ดีกว่าไม่มี

บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้าน และเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจ ของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุ กับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง

เหตุผลต่างๆ ที่พี่ทำนุกับคณะแถลงให้ทราบว่า เป็นอนุสนธิแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมได้พิจารณาใคร่ครวญ และทบทวนโดยละเอียดแล้ว กับได้ใช้เวลาพิจารณาด้วยว่า เมื่อได้เลิกกติกาหมู่บ้านแล้ว ข้อต่างๆที่ร้ายอยู่นั้น จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับกลายเป็นดีไปได้หรือไม่ ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะบันดาลให้กลับกลายไปอย่างที่อ้าง บางเรื่องกลับร้ายมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องความไม่สงบตามชายหมู่บ้านของเรา เป็นต้น ผมสังเกตเรื่องจากที่ห่างไกลแล้วก็ยังไม่พอ ยังไม่แน่ใจ เมื่อมีโอกาสผมก็มาแวะที่บ้าไทยเจริญสองครั้งเพื่อดูด้วยตา และฟังด้วยหู ผลลัพธ์ยังยืนยันตามความเห็นเดิมนั่นเอง เพราะปัญหาความสงบเรียบร้อยก็ดี ภัยจากภายนอกหมู่บ้านก็ปัญหาเศรษฐกิจก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ปัญหาเยาวชนก็ดี ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ไขได้ทั้งสิ้นถ้าได้ทำกันจริงจัง โดยไม่ต้องเลิกกติกาหมู่บ้าน ถ้าจำเป็นจริงๆ จะยุบสมัชชาเสียให้เลือกกันมาใหม่ก็ทำได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญ ได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย

พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้าน และประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆคือ ไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุก็ทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผมขอยืนยันว่า ผมเองก็เคยเป็นหัวหน้างานมาแล้ว จะทำถูกทำผิดหาคนแย้งหาคนโต้เถียงได้ยาก เพราะเขารู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีทั้งนั้น ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลงๆ ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร

อย่างไรก็ตาม ที่ผมบันทึกมา ก็หาได้ที่ประสงค์จะกล่าวแย้งพี่ทำนุเป็นสำคัญไม่ ผมใคร่จะเรียนเสนอข้อที่พี่ทำนุกับผมเห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้น นั่นคือ เราจะพัฒนาบ้านไทยให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

การพัฒนานั้นต้องพิจารณาให้สมบูรณ์ทุกด้าน จึงจะเกิดประโยชน์จริงจัง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านความสงบเรียบร้อย ด้านศีลธรรม ด้านปัญญาและการศึกษาและด้านการปกครองเป็นอาทิ

ในด้านการปกครอง ตั้งแต่ผมรู้จักพี่ทำนุจนรักใคร่นับถือเป็นส่วนตัวมากว่ายี่สิบปี ผมได้ยินอยู่เสมอว่าพี่ทำนุ (และคณะ) นิยมเสรีประชาธรรม (ฝ่ายแดงจำกัดเสรีประชาธรรม เราเคยอ้างอยู่เสมอซึ่งก็เป็นความจริง) จึงได้อุตส่าห์ใช้เวลา ความพินิจพิจารณา สมอง และเงินทองของหมู่บ้านร่วมสิบปี ทำกติกาของหมู่บ้านขึ้นมา ที่พี่ทำนุ (และคณะ) นิยมหลักประชาธรรมเสรีนั้น ผมก็นิยมด้วยอย่างจริงใจ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านที่เจริญทั้งหลาย เขามักจะสนใจกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งหากเป็นพิษ ก็จะเป็นภัยแก่ภัยแก่มนุษยชาติอย่างใหญ่หลวงเขาเกรงผลร้ายของวิทยาศาสตร์เมื่อเรานำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น กลิ่นไอน้ำมันรถยนต์ ควันดำจากโรงงาน การใช้สารเคมีในทางที่เป็นพิษแก่ลุ่มน้ำและดินป่าฟ้าเขา เป็นต้น

สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ(แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว

ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิงร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆหลายแห่ง ทุกวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช่สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ว่าเส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ ปรปักษ์ของเราจะถือโอกาสเราหลับตาเมื่อใด เขาได้เปรียบเมื่อนั้น

อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญมาก คือพี่ทำนุก็หกสิบเศษ ผมก็ใกล้จะหกสิบเข้าไปทุกที ต่างก็จะลาโลกกันไปในไม่ช้า ผมก็มีความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับพี่ทะนุ ที่จะทิ้งโลกและหมู่บ้านไทยเจริญไว้ให้ลูกหลาน เป็นโลกและหมู่บ้านที่น่าอยู่ มีความสงบสุขเป็นไทยสมชื่อ และเจริญสมหวัง ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย

บางคนอาจจะตั้งปัญหาว่า เยาวชนทุกวันนี้ควรหรือที่จะส่งเสริมให้มีสิทธิละเสรีภาพตามกติกาหมู่บ้าน น่าสนับสนุนละหรือ ทุกวันนี้ความประพฤติของเยาวชนมักจะเลวทรามน่าหมั่นไส้ ผมเองก็หมั่นไส้อยู่หลายครั้งหลายหน แต่พี่ทำนุเองก็มอบหมายให้ผมเกลือกกลั้วมากับเยาวชนเป็นเวลาหลายปี เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้ เขาสงบเสงี่ยมเจียมตัว และคารวะพวกเรามากกว่า และผิดกับที่เห็นมาในหมู่บ้านอื่นๆ ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม (ซึ่งก็ถูกต้องปรากฏในกติกาหมู่บ้านตลอดมาทุกกติกา) และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขาซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญตามกติกาของหมู่บ้าน แต่กระนั้นก็ตาม เยาชนของเราก็ยังตั้งอยู่ในความสงบ พยายามข่มความกลัวบ้างเมื่อพูดจาขอร้องแก่พวกเรา เพราะเขายังเชื่อในเจตนาอันดีของคนปูนเรา อย่างนี้จะไม่เอ็นดูจะไม่เมตตากรุณา และภาคภูมิใจในเยาวชนของเราได้อย่างไร

ด้วยเหตุผลนานาประการที่ผมได้เรียนมาข้างต้น และด้วยความรักใคร่เคารพในพี่ทำนุ ผมจึงขอเรียนวิงวอนให้ได้โปรด เร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้า หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล

ด้วยความเคารพนับถือ

เข้ม เย็นยิ่ง

ที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q4/2007october03p6.htm